People+

รฐนนท์ ภูวจรูญกุล

เราพบ คุณรฐนนท์ ภูวจรูญกุล หรือ คุณธาม จากการประชุมสภาคนพิเศษก้าวไปด้วยกันในประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อนที่จังหวัดระยอง และ การประชุมครั้งล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่เราจดจำเขาได้แม่นยำ เพราะเขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เป่าขลุ่ย ซึ่งที่ประชุมใช้เป็นเสียงสัญญาณเริ่มต้นเชื้อเชิญทุกคนเข้าร่วมวงประชุมและกิจกรรมต่างๆ เขามักอยู่บนเวทีแสดงการเคลื่อนไหวแบบยูริทมี่ที่เขาสามารถเคลื่อนไหวอย่างมีจังหวะสอดคล้องสวยงาม

เขายังเป็นหนึ่งในตัวแทนบุคคลพิเศษจากประเทศไทยไปร่วมการประชุมสภาคนพิเศษโลก ครั้งที่ 1 ที่ประเทศรัฐเซีย อีกด้วย คุณธามมักร่วมเดินทางไปกับคณะทำงานฯ ทุกแห่งโดยไม่มีผู้ดูแล/ผู้ปกครองติดตามแต่อย่างใด

บุคลิกที่คนมักพูดถึงเขาคือ ฉลาด มีอัธยาศัยดี การตื่นรู้ของเขานำไปสู่การเป็นผู้ดูแลช่วยเหลือคนรอบข้าง ปัจจุบันคุณธามได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำของ บริษัทเทสท์ เทค จำกัด แม้จะเพิ่งเริ่มทำงาน แต่เขาวางแผนออมเงินเพื่อความฝันและเป้าหมายที่จะทำงานดูแลเด็กๆ และธรรมชาติหลังเกษียณ

มาติดตามชีวิตที่น่าสนใจเป็นพิเศษของคุณธามด้วยกันค่ะ

ธาม (40)

ความยากลำบากนำทาง…

คุณสุดารัตน์ ภูวจรูญกุล (คุณแม่ตุ๊ก) เล่าให้เราฟังถึงการเริ่มต้นดูแลลูกชายคนเล็กที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมคนนี้ การเริ่มต้นความทุ่มเทอาจไม่ต่างจากครอบครัวอื่นๆ คือต้องดูแลกระตุ้นพัฒนาการและทำกายภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ร่างกายพร้อม แต่ปัญหาของลูกๆ มักไปติดขัดเป็นคอขวดเมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียน

“คุณแม่พาไปฝากโรงเรียนที่พี่ชายเขาเรียนอยู่ คำพูดที่เขาไม่ยอมรับลูกเข้าเรียนทำให้แม่ช้ำใจมาก เขาว่าถ้ารับเข้ามาจะทำให้ภาพพจน์ของ รร.เขาเสีย ขากลับแม่นั่งร้องไห้มาตลอดทาง คุณพ่อ (คุณประเสริฐ ภูวจรูญกุล) ก็ปลอบใจว่าไม่เป็นไร เราต้องมีหนทาง ก็เสาะหาจนมาเจอ โรงเรียนวรรณสว่างจิต ตอนนั้นโรงเรียนมีแค่ระดับอนุบาลและนับว่าคุณครูให้ความเมตตามาก ธามเป็นเด็กพิเศษคนแรกของโรงเรียนเลย”

…สู่ทางเลือก ที่ดีกว่า

คุณสุดารัตน์ : โรงเรียนเปิดระดับประถมศึกษาเมื่อธามจบอนุบาล๓ ก็ได้ขึ้นป.๑ พอดี การเป็นโรงเรียนที่เรียนรู้ผ่านกิจกรรม ทำให้ธามเรียนที่นี่อย่างมีความสุข ชั้นเรียนค่อนข้างยืดหยุ่นชั่วโมงไหนเขาไม่เรียนคุณครูก็จะจัดให้ทำอย่างอื่นแทน แม่เชื่อว่าการที่มีโอกาสเรียนร่วมกับเพื่อนๆ มีผลต่อบุคลิกภาพของเขา ซึ่งมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วงเข้าวัยรุ่นหรือประถมปลายนี่อาจมีความแตกต่างที่เห็นชัดขึ้น เพราะเพื่อนๆ เข้าวัยรุ่นก็เริ่มมีช่องว่างห่างออกไป การเรียนแบบบูรณาการต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ธามเขาไม่ทัน แต่ก็เข้าร่วมฟัง ซึ่งแม่ก็ว่าโอเคแล้ว เรื่องอื่นๆ ที่แม่เห็นว่ามีประโยชน์คือ ให้เรียนดนตรีไทยเสริม ธามเรียนขิมซึ่งช่วยเรื่องสมาธิได้

พ่อแม่ร่วมสร้างห้องเรียน

คุณสุดารัตน์ : พอเรียนถึงอยู่ป.๖ เราก็กังวลอีกครั้ง จะให้ไปเรียนต่อที่ไหนดี เด็กเราส่วนใหญ่ถ้าหาที่เรียนต่อไม่ได้ ครอบครัวจะให้อยู่บ้าน ไม่ได้เรียนหรือทำงาน ป.๖ รุ่นธามตอนนั้นมีเด็กพิเศษแค่ ๒ คน แต่รุ่นที่จะจบตามกันมาก็มีอีกค่ะ พวกเราจึงดีใจมากที่คุณครูกลาง (คุณครูสิริมิตร ทวีปรังษีนุกูล) ซึ่งเป็นคุณครูที่ดูแลเด็กพิเศษของโรงเรียนในช่วงนั้น ชวน คุณครูอุ๊ (คุณครูอัญชนา สุนทรพิทักษ์) และครอบครัวของเด็กพิเศษ ที่กำลังจะเรียนจบระดับประถม มาร่วมกันก่อการก่อตั้งมูลนิธิต้นรักเพื่อบุคคลพิเศษขึ้นมา สร้างห้องเรียนสำหรับลูกๆ ได้เรียนต่อในระดับมัธยมและจัดการศึกษาในแนววอลดอร์ฟ ซึ่งโรงเรียนวรรณสว่างจิตใจดีมากเอื้อเฟื้อให้พื้นที่ และอนุญาตให้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในโรงเรียนได้

พวกเราพ่อแม่ก็เข้ามาอาสาเป็นครูด้วย ใครถนัดทำอะไรได้ก็มาสอน เช่น การฝีมือ ทำอาหาร วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ร้อยลูกปัด ถักนิตติ้ง สิ่งที่คนไม่เห็นความสำคัญนี่แหละ จริงๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก ช่วยพัฒนาเด็กๆ ได้เยอะ อย่างการทำอาหารนี่สอนตั้งแต่แรกเลย ผักแต่ละชนิดเรียกว่าอะไร พาไปเดินซื้อผักที่ตลาด ซื้อมาทุกชนิด ผักที่มีกลิ่นเราให้เขาปิดตา ดม ว่านี่คือผักอะไร หุงข้าว ทอดปลา มีผู้ปกครองพาออกไปทำสวน ทำร่องผัก ในพื้นที่จริง การเดินทาง การใช้เงิน คุณครูพาเรียนรู้จากของจริงทั้งหมด (น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้ห้องเรียนต้นรักยุติการทำงานไปแล้ว)

ก่อนจบป.๖ ธามอ่านออกเขียนได้บ้าง แต่เรื่องการใช้ชีวิตมาได้เยอะมากที่ห้องเรียนต้นรักเขาเรียนจนจบม.๖

(ชมสารคดีที่ถ่ายทอดกระบวนการเรียนการสอนบางส่วนของ ห้องเรียนต้นรัก ในช่วงที่คุณธามเรียนอยู่)

พร้อมสู่โลกกว้าง

คุณสุดารัตน์ : ธามเขาเป็นเด็กอารมณ์ดี ชอบร้องรำทำเพลง ชอบแสดงออก  แต่ถามว่า เราเห็นไหมว่าจะให้เขาไปทางไหน แม่ก็ไม่ทราบหรอก แต่รู้ว่าลูกอ่านออกเขียนได้ 70 – 80% คำยากๆ อาจยังไม่ได้ เห็นเขาชอบพวกคอมพิวเตอร์ก็พาไปเรียนที่ศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับคนพิการอยู่หนึ่งปี ก็คิดว่าดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ

งานแรกธามมีโอกาสได้ทำอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร จากคำแนะนำของคุณอาให้ลองไปสมัครโควตาคนพิการ เขาเขียนใบสมัครเอง สัมภาษณ์งานเอง ก็ได้เป็นลูกจ้างรายวันทำแผนกแพ็คกิ้งอะไหล่รถยนต์ การเดินทางที่ทำงานมีสวัสดิการ รถตู้รับ – ส่ง หน้าซอยหมู่บ้าน ก็เลยให้ไปทำซึ่งเขาชอบมากค่ะ (คุณธามเสริมว่าชอบนั่งรถตู้เพราะหลับได้) เขาชอบทำงาน ชอบที่มีเพื่อนร่วมงาน เห็นต้องเดินทางไกลๆ อย่างนี้ เขากระตือรือร้นตื่นได้เองทุกเช้า ทำได้สองปีหมดสัญญาจ้าง ตอนธามออกมีเพื่อนบางคนร้องไห้ด้วย

งานล่าสุดนี้โชคดีมากอีกครั้งคือได้ที่ทำงานใกล้บ้านมาก กรมจัดหางานแนะนำให้เราทำเรื่องเปิดแฟ้มประวัติไว้ที่สำนักงานเขต แม่ก็ขอว่าอยากให้ได้บริษัทที่ใกล้บ้าน เป็นงานที่ไม่อันตรายต่อสุขภาพ ไม่นานเขาก็โทรมาบอกว่ามีบริษัทหนึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านเลย พอไปพบสัมภาษณ์ เขาให้ธามทดสอบพิมพ์เอกสาร ทำได้เขาก็รับเลย

DSC_2074

ปัจจุบันคุณรฐนนท์ ภูวจรูญกุล (ธาม) ทำงานประจำในตำแหน่งธุรการของ บริษัทเทสท์ เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการตรวจคุณภาพน้ำจากหน่วยงาน โรงงาน องค์กรต่างๆ ทุกเช้าคุณธามจะขี่จักรยานจากบ้านออกมาฝากจอดไว้ที่ร้านค้าหน้าปากซอย เดินข้ามสะพานลอยไปฝั่งตรงข้าม ซึ่งเดินต่อไปเพียงป้ายรถเมล์เดียวก็ถึงที่ทำงาน

ธาม (47)

คุณนงนุช คัมภิรานนท์ ผู้จัดการแผนกบุคคล เล่าถึงขั้นตอนการพิจารณาจัดจ้างว่าผู้บริหารบริษัทฯ มอบนโยบายให้พิจารณาจัดจ้างบุคคลพิเศษ ด้วยสถานที่มีข้อจำกัดยังไม่พร้อมรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ และไม่มีที่พักรองรับหากพนักงานต้องเดินทางไกล เมื่อได้ชื่อคุณรฐนนท์ จากสำนักงานจัดหางานเขต และเรียกสัมภาษณ์ ผลออกมาลงตัวทั้งสองฝ่ายเพราะบ้านของคุณรฐนนท์อยู่ใกล้ที่ทำงาน และมีความสามารถทำงานตามที่ได้รับมอบหมายได้

DSC_1998

“ธามถือเป็นกรณีทดลองจ้างโควตาพิการคนแรกของบริษัทค่ะ ตอนนั้นบริษัทฯ เรายังมีพนักงานไม่ถึงร้อยคนเลย สำหรับการมอบหมายงานเราดูตามความสามารถของเขา ซึ่งทีแรกคิดว่าทีมอาจต้องช่วยปรับเรื่องการสื่อสาร แต่ปรากฎว่าเขาอ่านเขียนได้ เข้าใจงาน ทำงานตามขั้นตอนที่หัวหน้างานมอบหมายได้ เช่น สแกนงาน ติดฉลากหน้าขวดประเภทต่างๆ จัดใส่ถุง รับส่งเอกสารระหว่างชั้น เราแนะนำธามให้พนักงานชั้นต่างๆ รู้จักน้องเพื่อที่จะได้แนะนำได้ เวลาเขาไปส่งงาน ส่งเอกสาร ธามเขามีความสามารถอื่นๆ เยอะนะคะ ชอบเข้าร่วมกิจกรรมของบริษัทฯ มาก  ขยัน ไม่สบายก็ยังไม่ค่อยอยากหยุด” – คุณนงนุช คัมภิรานนท์ ผู้จัดการแผนกบุคคล

ธามเป็นฝ่ายสนับสนุนปฏิบัติงานได้ตามที่เรามอบหมาย ดูจากที่หัวหน้าเขาไม่ได้ขอคนเสริม เป็นคนขยัน เชื่อฟัง หัวหน้า ถึงงานไม่ซับซ้อนมากไม่ต้องพบลูกค้า แต่ลักษณะงานที่ทำมีความละเอียด ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องแยกฉลากสี หรือตัวอักษรช่วย เขาทำได้เหมือนผู้ปฏิบัติงานคนอื่นๆ ในระดับเดียวกัน ที่จบ ปวช.มา ก็ถือว่าคุณสมบัติเทียบเท่าคนในตำแหน่งนี้คุณณัฐวุฒิ ใจสุภาพ  ผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้า

DSC_7115

ทีแรกคิดว่าน้องจะเข้าใจช้า แต่พอได้คุยเขาเข้าใจปกติแทบทุกเรื่อง อาจมีบางเรื่องที่ช้ากว่านิดเดียวซึ่งเราไม่ต้องพูดซ้ำ พูดครั้งเดียวน้องเข้าใจปฏิบัติงานได้ เมื่อฝ่ายบุคคลส่งคนมาเรามีหน้าที่จัดสรรงานให้เหมาะสม พยายามให้ทำงานที่เป็นรูทีน (routine) และน้องทำได้ไม่เบื่อ พนักงานธุรการมีสองสามท่านที่ทำงานด้วยกัน ธามอัธยาศัยดี เข้าได้กับทุกคน ก็ค่อยๆ ดูว่าจะให้เขาทำอะไรได้อีก เดิมไม่คิดว่าเขาจะสแกนได้ แต่เขาก็ทำได้ดี – คุณรัตรินทร์ ก้องสุรินทร์ หัวหน้าส่วนสำนักงานฝ่ายบริการลูกค้า

ธามมีพัฒนาการดีขึ้น ช่วงแรกอาจจำไม่ได้ยังงงอยู่ เดี๋ยวนี้คล่องจำได้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน รู้หน้าที่ตั้งแต่เช้ามาต้องทำอะไร ถ้าไม่มีงานก็จะเดินมาถามว่า “มีอะไรให้ผมทำไหม” เขาชอบเล่นอยากเข้าร่วมทุกอย่าง ก็คิดว่าไม่มีอะไรที่ต้องปรับปรุงนะคะ –  คุณกัลยาณี บุญสูง หัวหน้างานธุรการฝ่ายบริการลูกค้า

ธามเข้ามาทำงานก่อนผมเดือนนึง เราอายุเท่ากันครับ ผมสอนเขาเรื่องสแกน เราคุยกันทั้งวัน เขาเป็นเด็กช่างพูดช่างคุยและเป็นเด็กฉลาด รู้เยอะ ในงานปีใหม่ของบริษัทเราก็แสดงด้วยกันเขาชอบร้องเพลงกับเต้น กีฬาสีก็ตีแบตฯ ด้วยกัน – คุณวสินธุ์ แทนวันดี เพื่อนเจ้าหน้าที่ธุรการและไอ.ที.


สิ่งสำคัญในโลกของธาม

ตอนนี้ธามอายุ ๒๖ ปีแล้ว ทานมื้อเช้าแล้วก็ห่อข้าวเอาไปทานมื้อเที่ยงที่ทำงานด้วย ป๊าสอนธามขี่จักรยาน ธามขี่เอาไปจอดไว้ที่ร้านหน้าปากซอยคล้องโซ่ไว้ ข้ามสะพานลอยไปฝั่งนู้น เดินต่อไปไม่ไกลก็ถึงที่ทำงาน เพื่อนๆ ดีมาก แบ่งงานให้ธามทำ ตรวจคุณภาพของน้ำจากลูกค้าที่ส่งมา ธามมีหน้าที่ยกน้ำเข้าลิฟท์ ส่งไปให้ข้างบนตรวจ ส่งเอกสารชั้น ๒-๓  ธามไม่ได้ดูแลงานเอกสารที่ต้องตรวจสอบ เพราะเป็นงานสำคัญของลูกค้า

เย็นกลับมาถึงบ้าน ถ้าแม่ยังไม่กลับจากรำมวยจีน ธามก็รดน้ำต้นไม้ให้ จัดโต๊ะอาหาร พอป๊ากลับมาก็จัดน้ำ จัดอาหารให้ป๊า จัดยาให้แม่ ทำงานจันทร์ถึงเสาร์ ส่วนวันอาทิตย์ไปเรียนซ่อมคอมพิวเตอร์กับป๊าที่สวนลุม

ธามทำอาหารทานเองได้ ทำให้ที่บ้านทานได้นะ อย่างแกงจืด ข้าวผัด ไข่ดาว ไข่เจียว ทอดปลา ตอนเรียนต้นรักธามชอบทำงานไม้ แกะไม้ ชอบสีชมพู เล่นดนตรีได้หลายอย่าง เปียโน ขิม ชอบที่สุดก็ขลุ่ย

ตอนที่ไปรัสเซียพวกเราไปแสดงอะไรที่เป็นไทยๆ อย่าง รำวง ธามชอบท่าเต้นรำของอาร์เจนติน่า ไปฟังกลุ่มต่างๆ พูดคุยกัน ธามมีแฟนคลับแลกที่อยู่กัน เช่น คุณปีเตอร์ ชาวเยอรมัน ทุกคนชอบที่ธามทำ วัฒนธรรมไทยดึงดูด ชาวต่างชาติชอบที่เรารำ ชอบปุ๊บเขาก็เดินมาหาเราเอง

ธามทำงาน หาเงิน เก็บเงิน อยากเก็บไปสร้างพิพิธภัณฑ์ผีเสื้อ ผีเสื้อน่ารัก ดูดน้ำหวานทำให้ต้นไม้โตขึ้นได้ มีต้นไม้ ช่วยลดพายุน้ำท่วม ธามชอบยูริทมี่ อยากไปสอนเด็กๆ ที่ศูนย์เด็กเล็กที่ขอนแก่น พอเกษียณ แล้วจะไปทำงานที่นี่ เก็บตังค์เอาไปซื้อที่ดินทำพิพิธภัณฑ์

ธามอยากเป็นคนดี เป็นผู้ใหญ่คนช่วยเหลือในบ้าน ช่วยเหลือแม่กับป๊า ยากหรือไม่ยากไม่สำคัญ แต่เราต้องสู้ ไม่มีอะไรยาก ธามอยากให้ครอบครัวมีความสุข เพราะครอบครัวสำคัญกว่าธาม ทำให้ธามผ่านความยากไปได้

ธาม (34)


ขอขอบพระคุณ

ครอบครัวภูวจรูญกุล  บริษัทเทสท์ เทค จำกัด มูลนิธิต้นรักเพื่อบุคคลพิเศษ โรงเรียนวรรณสว่างจิต รายการโทรทัศน์ครู  (ที่มา Special Plaza)

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์ 


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น