People+

ครอบครัวฟาร์มสุข

เส้นทางฟูมฟัก และ หว่านสุข

คุณให้ความสำคัญกับพัฒนาการที่ล่าช้าของลูกมากแค่ไหน ?
มากพอที่จะพาไปพบแพทย์ นักจิตวิทยา นักกระตุ้นพัฒนาการ นักบำบัดต่างๆ ฯลฯ 
มากพอที่จะกู้เงินมาเพื่อจ่ายค่าบริการเหล่านี้
หรือ มากพอที่จัดเวลาเพื่อลงมือช่วยเหลือเขา

และถ้าคุณไม่มีเวลา…
เรื่องนี้สำคัญมากพอที่จะลาออกจากงาน เพื่อมีเวลาดูแลเขาใกล้ชิด และเปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ที่เหมาะสมให้ลูกไหมคะ   

เรื่องนี้สำคัญมากแค่ไหน..?

ตะวัน (24)

ก่อนที่เราจะเดินทางไปสัมภาษณ์ครอบครัวประเสริฐ เจ้าของร้านอาหารโฮมเมดที่ใส่ใจวัตถุดิบ รสชาติ การปรุง ที่ชื่อ ฟาร์มสุข ซึ่งตั้งอยู่ริมถนน 344 เส้นทางจากแกลง จ.ระยอง วิ่งเข้าสู่ จ.ชลบุรี เราค้นหาข้อมูลพบว่าร้านฟาร์มสุขได้รับความนิยมชื่นชอบจากบรรดาลูกค้า มีเมนูแนะนำหลากหลายทั้งอาหารคาว ของหวาน เครื่องดื่ม อีกสิ่งหนึ่งที่มีคนให้ความสำคัญคือบรรยากาศของร้านและความน่ารักของเจ้าของ

ตะวัน (20)


ครอบครัวประเสริฐไม่ได้มีพื้นฐานการทำร้านอาหารมาก่อน คุณพ่อสุมิต ประเสริฐ ลาออกจากงานที่กำลังก้าวหน้าในมหาวิทยาลัยของรัฐ กลับมาทำสวนที่บ้านเกิด จ.ระยอง ปัจจุบันนอกจากงานสวนแล้วคุณสุมิตเปิดร้านและเป็นพ่อครัวของร้านฟาร์มสุข อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี คุณแม่ศรีมาศ ประเสริฐ (แม่ปุ้ม) ยังคงทำงานประจำในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ทุกวันศุกร์จะเดินทางมาที่ชลบุรีเพื่อทำขนมเค้กวางขายในร้านฟาร์มสุข พร้อมทั้งให้ลูกๆ ต้นน้ำ และ ตะวัน (คุณภาณุพงศ์ ประเสริฐ) ช่วยเหลืองานที่ร้าน การตัดสินใจมาลงหลักปักฐานใน จ.ชลบุรี ไม่ใช่การหลีกหนีชีวิตวุ่นวายในเมืองหลวงตามกระแสคนเมืองแต่อย่างใด แต่มาจากการที่พวกเขาให้ความสำคัญกับเวลาคุณภาพที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดูแล คุณภาณุพงศ์ ลูกชายคนโตที่มีภาวะออทิซึ่ม

รู้เร็ว บำบัดเร็ว แต่…

คุณแม่ปุ้ม : ตะวันได้รับการวินิจฉัยเร็วเพราะช่วง 6 เดือน เหมือนจะเริ่มพูดเป็นคำแต่กลับหายไป 8 เดือน เราพาไปพบแพทย์รู้แล้วว่ามีภาวะออทิซึ่ม ตอนนั้นที่ฝึกต่างๆ ยังมีไม่มาก เราอ่านหนังสือฝึกลูกเอง แต่พ่อแม่ยังทำงานประจำทั้งคู่มีเวลาแค่ค่ำๆ และวันหยุด เวลาส่วนใหญ่ลูกต้องอยู่กับผู้ใหญ่ในบ้านที่เปิดโทรทัศน์ทั้งวัน พออายุ 14 เดือน เริ่มพาไปฝึกกระตุ้นพัฒนาการ ทำกิจกรรมบำบัด เรามีรายจ่ายพวกนี้มากจนไปกู้เงินมาลงกับลูกหมด แต่เราก็ไม่เห็นความก้าวหน้ามากนักโดยเฉพาะการพูด ในตอนนั้นเรารู้สึกว่ามันช้ามาก ตะวันมาพูดตอน 3 ขวบกว่า พอพูดได้ก็ดูเหมือนทุกอย่างเริ่มดีขึ้นโดยเฉพาะปัญหาทางอารมณ์

คุณพ่อสุมิต : ผมว่าโรงเรียนก็มีผลมาก ช่วงอนุบาลถึงประถม 1 ที่กรุงเทพฯ เราได้คุณครูที่เข้าใจ ไปไหนก็เอาตะวันไปด้วย แต่หลังจากนั้นเราเห็นว่าโรงเรียนที่เน้นการแข่งขัน เขาจะสนใจเฉพาะเด็กหัวดี เด็กหลังห้องก็โดนปล่อย เรียนประถม 3 แล้ว ตะวันยังบวกลบเลขไม่ได้ ภาษาไทยยังผันวรรณยุกต์ไม่ได้เพราะเขาจำเป็นภาพ แต่ผสมเสียงไม่เป็น เขียนก็ไม่ได้นานเพราะมือไม่มีน้ำหนัก เส้นออกมาเบามาก ช้า และเมื่อยล้าง่าย ในชั้นเรียนคุณครูมีแพทเทิร์นสอนแบบเดียว เรื่องเรียนเป็นโจทย์ใหญ่เพราะประเทศเราวัดมาตรฐานเดียว ถ้าเราไปเรียนร่วมกับเขาก็ต้องทำให้ได้ตามนั้น ที่สำคัญเราทำงานไม่มีเวลาช่วยเหลือลูกมากนัก

ผมตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อย้ายกลับมาที่ระยอง (ซึ่งเป็นบ้านของครอบครัวผม) เพราะค่าใช้จ่ายในเมืองมันสูง โรงเรียนก็ไม่ตอบโจทย์ มาที่นี่เราตระเวนหาโรงเรียนที่นักเรียนไม่มาก ครูมีเวลาดูแลและไม่เคร่งเครียดเร่งเรียนมากนัก ก็หายากอยู่ เพราะส่วนใหญ่เขาไม่มีวิธีรับมือกับเด็กพิเศษ เราก็เข้าไปคุยจนเจอ รร.พิทยรังสี คุณครูเขายินดีช่วยดูแล เป็นสังคมเล็กๆ ที่ไม่ได้คิดเรื่องการแข่งขันจนไม่ดูพัฒนาการของเด็ก

ย้ายมาปีแรก ตัวผมใช้เวลาช่วยเหลือเขาเริ่มต้นกันใหม่หนึ่งปีเต็ม ตีโจทย์ทำการบ้าน คณิตศาสตร์ ภาษาไทยที่มีปัญหา และทำงานใกล้ชิดกับโรงเรียน ก็ถือว่าโชคดีที่ครูใหญ่ ครูผู้จัดการมาช่วยสอนกลุ่มเล็กๆ ให้ต่างหากตอนเย็น ซึ่งสอนเนื้อหาเดียวกันจากในห้องเรียน แต่คนละวิธีเพราะเด็กน้อยลง จนผลการเรียนดีขึ้นมาอยู่ระดับต้นๆ

เริ่มสร้างฟาร์มสุข

คุณแม่ปุ้ม : มาอยู่ที่นี่เราจัดสภาพแวดล้อมใหม่ได้ ที่บ้านเราไม่มีโทรทัศน์มานานแล้ว จนถึงปัจจุบันนี้เราก็พบว่าลูกทั้ง 2 คนไม่ได้เรียกร้องหรือรู้สึกขาดที่ไม่มีโทรทัศน์ จากประถมมามัธยมตะวันเรียนร่วมมาตลอด ที่บ้านทำสวนพ่อก็ให้รดน้ำช่วยเก็บผลผลิต ทำสวนมาหลายปีเราพบว่าเกษตรกรตัวจริงมีรายได้ไม่ดีหรอก คุณพ่อก็เลยแลกที่บางส่วนกับพี่ชาย ซึ่งมีที่อยู่ริมถนนอยู่ในเขตของชลบุรีซึ่งเป็นเขตติดกับที่บ้านระยอง เอามาทำร้านฟาร์มสุขเพื่อเป็นทั้งที่ขายผลผลิตจากสวน และเป็นที่ที่ลูกจะได้ฝึกทำงานหลายๆ อย่าง

คุณพ่อสุมิต : ตั้งแต่ย้ายมาเรามีเวลาให้เขามากขึ้นและเจอครูที่ให้โอกาสแสดงออก ทำให้ตะวันมีความมั่นใจมากขึ้นว่าทำได้ เป็นตัวแทนไปแข่งตอบคำถามวิทยาศาสตร์ ครูให้ความสำคัญว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของทีม สอบเข้ามัธยมได้เป็นอันดับหนึ่งวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทยที่เคยมีปัญหาได้คะแนนสูงมาก พอกลับมาปูพื้นฐานให้เขาเข้าใจ เขาก็ไปได้ดี ตอนนี้เรื่องเรียนก็ปล่อยให้เขาไปด้วยตัวเอง มาเสริมเรื่องสังคมแทน

เขามีโลกส่วนตัว ถ้าปล่อยไว้เฉยๆ ก็จะวิ่งไปวิ่งมากระตุ้นตัวเองตลอด เราต้องเอาไปช่วยงาน ต้องหาอะไรให้ทำ เขาไม่เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน ทำให้พัฒนาการเรื่องสังคมช้า ก็ต้องให้เจอคนหลากหลายจะได้ไม่กลัว พาลงสวนเจอคนงานบ้าง เอาผลผลิตไปขายเจอลูกค้า ให้เฝ้าหน้าร้าน จนถึงวันนี้เขาอดทนทำได้ ถึงจะไม่เนียนเหมือนเด็กคนอื่น แต่ก็เป็นก้าวที่สำคัญ

ตะวัน (49)

คุณแม่ปุ้ม : เราไม่มีเวลาพาไปฝึกอะไรๆ ในกรุงเทพฯ แล้ว ก็ให้เขาฝึกผ่านการทำงานแทน มือยังไม่แข็งแรงก็ฝึกล้างจาน จากเดิมถือจานแค่ใบเดียวก็มือสั่น เดี๋ยวนี้เก็บจานทั้งโต๊ะได้แล้ว แม่ทำขนมจะให้ตะวันช่วยตีแป้ง เขาตีแป้งเค้กอบออกมาแล้วเนื้อเค้กดีนุ่มรสอร่อย เขาก็รู้สึกภูมิใจที่ตัวเองมีสิ่งที่ทำได้ดี ก่อนหน้านี้รู้สึกว่าตัวเองเกะกะอยู่ในร้านไม่รู้จะช่วยตรงไหน  แรกๆ เขาไม่กล้าอยู่หน้าร้าน ไม่กล้าคุยกับคนอื่น โดยเฉพาะการทักทายลูกค้าตอนแรกที่มันอาจจะมีประโยคที่นึกไม่ถึง ก็ลองว่าตะวันเก็บเงินได้ไหม เขาก็ทำได้แต่ไม่ชอบ ใช้เครื่องคิดเงินได้แต่จะช้าหน่อยลูกค้ายืนรอก็จะมองเขาแบบไม่เข้าใจ ต่อมาลองให้เช็คอาหารในครัวที่คุณพ่อทำก็ทำได้ดีกว่าเพราะเป็นคนที่ชอบลงรายละเอียด ตอนนี้ตะวันจะคอยคอนเฟิร์มออเดอร์ ดูว่าอะไรทำไปแล้ว ต้องทำอะไรต่อ เขาทำได้ดีเป็นการฝึกวางแผนเล็กๆ ที่จะต้องบอกรายการอาหารที่ต้องทำต่อ

ผลผลิตจากฟาร์มสุข

คุณภาณุพงศ์ (ตะวัน) ประเสริฐ : อายุ 16 ปี   ม.5 โรงเรียนมัธยมวังจันทร์วิทยา จ.ระยอง 

คุณตะวัน : ที่นี่เป็นร้านของครอบครัวเราพูดถึงความผูกพันที่อยากทำงานที่นี่ มันยังไม่มากขนาดนั้น ผมไม่ได้ทำอาหารอะไรเยอะ หลักๆ จะหยิบของส่งของ กดเครื่องคิดเงิน เงินทอนเงินเข้า ชงกาแฟให้พ่อเป็นหลัก ช่วยทำเค้กก็ทำได้โอเคอยู่ ตีเค้กไม่เมื่อยแต่เขียนหนังสือยาวๆ ทุกวันนี้ก็ยังล้าง่ายอยู่ แต่ก่อนผมชอบไปหลบหลังครัวไปอ่านเมนูให้เพราะคนครัวคนเก่าเขาอ่านหนังสือไม่ได้เลย ทำอาหารถ้าเอาตั้งแต่เริ่มต้นหมัก มันมีรายละเอียดของมันอยู่ ผมยังไม่ได้ขนาดนั้น ถ้าจับแค่วิธีทำเอาไปย่างทอดนี่ก็พอทำได้ ชอบที่สุดคืองานเบื้องหลังที่ไม่ใช่งานต้องสัมผัสของมีคม ล้างจานทำได้แต่ช้า งานจุดไฟเตาแก๊สก็ยังกลัว

ตอน ม.2 – ม.4 มีปัญหาเรื่องงานค้างเยอะ ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว ผมพยายามแก้ไข ทำงานให้เสร็จเราต้องส่งให้ทันเวลา ปรับปรุงเนื้อหาให้ดีขึ้นและใช้ลายมือที่ดูดีสะอาดขึ้น ผมอยากปรับปรุงแก้ปัญหาตรงนี้ ผมตามหลังเพื่อนมากเรื่องพื้นฐาน อนาคตผมมีทางเลือก 2 – 3 ทาง คือวิศวะยานยนต์ ผมชอบรถมากแต่ยังลังเล คณิตศาสตร์ผมตามหลังเพื่อนอยู่เยอะ ตอนนั้นยังค้นหาตัวตนไม่เจอ สมาธิจะหลุด

ทางที่สอง คือ เป็นบุคคลสาธารณะให้ความบันเทิง ผมเป็นตัวแทนโรงเรียนไปประกวดร้องเพลง เวลาขึ้นไปร้องเห็นคนปรบมือและยิ้มให้ เขามีความสุขและเชียร์เรา ผมรู้สึกมีความสุข ตอน ม.1 ร้องเพลงชอบตอนที่คนยิ้มให้กำลังใจ แต่พอลงมากลายเป็นคนในโรงเรียนจำได้ ผมรู้สึกอึดอัดมาก พอมา ม.4 – ม.5 ก็ชินขึ้นมานิดนึง หลังๆ ผมกล้าที่จะสบตากรรมการเวลาที่เราร้องเพลง ไม่ว่าจะร้องเพราะหรือสั่น ให้มันรู้ไปจ้องมองไปหลายๆ คน เลย ไม่มองแบบเบลอๆ แล้ว พยายามจ้องไว้และทำสมาธิร้องไปด้วย เหมือนเผชิญกับมัน ทุกวันนี้ที่ยังรู้สึกเหนื่อยลำบากใจอยู่คือ หลังเวทีที่ยังมีคนมาทักชีวิตส่วนตัวหายไปรู้สึกอึดอัด หรือเวลาซ้อมมันจำเป็นที่ต้องซ้อมเพลงซ้ำๆ เดิมๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด ความพยายาม ความอดทนของผมยังไม่สูงมากพอ

ทางที่สาม คือ กลับมาช่วยทำงานที่ร้านทำอาหาร ทำขนม ก็ต้องลองดูไปเรื่อยๆ ว่าเราชอบเค้กจริงๆ ไหม เราชอบกิน แต่เราชอบทำหรือเปล่า ตรงนี้ที่เป็นเรื่องสำคัญ เหมือนวิศวะนั่นล่ะ ผมชอบรถ แต่จะชอบสร้างสรรค์มันหรือเปล่า ผมชอบเรื่องเอกลักษณ์ของรถ รถต้องสมรรถนะดีแต่ไม่จำเป็นต้องแรงที่สุด รถที่ดีของผมคือ มีเอกลักษณ์ชัดเจน คนยอมรับมันได้ เช่น แมกซ์ลาเลน เอวัน เพราะมันเป็นรถที่คนขับนั่งตรงกลางมีราคาสะสมสูงมากและเคยเป็นรถที่แรงที่สุดในโลก ถ้ารถญี่ปุ่นผมชอบซูบารุเพราะมีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อและเครื่องยนต์สูบนอน เป็นแบรนด์ที่คนเล่นรถเขาค่อนข้างยอมรับกัน  แม่ผมจึงอยากให้ผมลองเข้าค่ายวิศวะว่าเราชอบมันจริงๆ หรือเปล่า ถ้าชอบจะได้กลับมาดันคณิตต่อ ฮึดสู้ ถ้าไม่ไหวก็มาลองดูเรื่องดนตรีให้ความบันเทิง ซึ่งการเป็นบุคคลสาธารณะนี่ มันมีประเด็นสำคัญคือเราต้องรับสภาพที่เราเป็นที่เราต้องถูกคนอื่นทักตลอด ซึ่งผมไม่รู้ว่าตรงนั้นจะมีความสุขหรือเปล่า คือ อยากทำอะไรก็ได้ที่เรามีความสุข มีเงินมาเล่นรถ และได้ให้ความสุขกับคนอื่นด้วย ก็พอแล้ว

เรื่องเพื่อนผมก็ฝึกสังเกตมากขึ้นว่า นี่เขาไม่ชอบแล้วนะ เวลาเราเล่าอะไรยาวเกินไปหรือเล่าเรื่องเดิม ก็ดูจากสายตา เขามองเราไหม หรือทำหน้ายังไง มีบางช่วงที่ผมเอาโทรศัพท์ไปที่โรงเรียนใส่หูฟัง ฟังเพลง มีความสุขกับตัวเองบ้าง วันไหนไม่ได้เอาไปเห็นคนอื่นไม่สนใจก็เหงาทุกข์มากเลย เดี๋ยวนี้ก็มีเพื่อนที่คุยกันได้ คุยเรื่องดาราบ้าง ไปเที่ยว เรื่องส่วนตัวที่เราไม่ได้ไปก้าวก่ายแต่เป็นเรื่องรอบตัวที่เรารู้กันคุยกันได้

ข้างในจิตใจผมรู้สึกว่าตัวเองยังอยู่ระหว่างเด็กกับวัยรุ่นบางส่วนยังหาตัวเองไม่เจอ บางส่วนก็พิจารณาคิดได้แล้ว บางเรื่องยังมีความกลัวที่จะลงมือทำ หรือเหนื่อยที่จะพยายาม

ตะวัน (55)

ฟูมฟัก…

คุณพ่อสุมิต : เราจะคุยกันคอยถามว่าอันนี้เป็นยังไงก็จะพูดคุยปรับกันเป็นระยะๆ ถือว่าดีที่ผมไม่ได้ทำงานประจำเหมือนแต่ก่อน ผมไปรับลูกที่โรงเรียนได้ทุกวันกลับมาก็คุยกันตลอด อย่างน้อยเราช่วยให้คำแนะนำเขาทัน โชคดีที่เขาเป็นคนเปิดเผย บางเรื่องมันยากถ้าเขาไม่พูดมาก็ไม่รู้ว่าจะช่วยเขาแบบไหน เรื่องเพื่อน เรื่องแฟน เราก็ให้คำแนะนำเขาได้ อย่างน้อยเขาพูดออกมาก็ดีขึ้น ไม่อึดอัด

ถ้าพิจารณาตามบุคลิกภาพของเขา เขาเป็นคนตรงๆ เก็บความลับไม่ได้ เรื่องปฏิสัมพันธ์แม้เราจะพยายามช่วย แต่ก็ได้ในระดับหนึ่ง ถ้าทำงานเกี่ยวข้องกับสังคมคิดว่าอยู่ไม่นานอาจจะไม่มีความสุข แต่งานทางเทคนิคที่ทำคนเดียวได้อยู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์ งานออกแบบ ทำแล็บห้องทดลอง ทำงานที่ใช้ความชำนาญ ความจำที่เขามีมันง่ายกว่าในการจัดการ เจอคนบ้างแต่ไม่ใช่ตลอดเวลา น่าจะดีกว่าสำหรับเขา

ตะวัน (31)

คุณแม่ปุ้ม : เขายังมีแพทเทิร์น ความยืดหยุ่นยังมีไม่มากนัก เรื่องต่างๆ เราเตรียมกับเขาล่วงหน้า เช่นว่าจะมีลูกค้าเข้ามากลุ่มใหญ่ เขาไหวไหม ถ้าไม่ไหวหลบไปช่วยหลังร้าน ถ้าไหวให้มาช่วยหน้าร้าน การพูดคุยพบปะคนแปลกหน้ายังไม่มีตรงกลาง เขายึดกฎระเบียบ เช่น ร้านปิดทุ่มครึ่ง ตามเวลาตะวันจะปิดร้านกั้นรั้วแล้ว วันหนึ่งมีลูกค้ามาหลังจากร้านปิดแล้ว เดินข้ามรั้วเข้ามา ตะวันพูดว่าเราปิดแล้ว ลูกค้ารู้สึกว่าพนักงานเราพูดจาไม่ดี แต่เราก็ไม่ได้อธิบายลูกค้า แค่แก้สถานการณ์เฉพาะหน้าไป แล้วกลับมาพูดคุยกับตะวันทีหลังทั้งเรื่องความยืดหยุ่น การสมมติตัวเองเป็นลูกค้า เอาใจลูกค้ามาใส่ใจเรา การถูกตัดสินโดยที่ไม่มีโอกาสจะอธิบาย หรือ วิธีคิดการทำธุรกิจที่เป็นมิตร

ตะวัน (75)

หว่านสุข…

คุณแม่ปุ้ม :  แถบนี้เราและครอบครัวอื่นๆ ไม่มีทางเลือกฝึกอะไรมากนัก ตะวันโชคดีที่คุณครูนักจิตวิทยาที่เคยฝึกและสอนกันมา (คุณนรพันธ์ ทองเชื่อม) ยังคงติดตามพัฒนาการของตะวัน และแวะมาเยี่ยมบ่อยๆ พอเห็นตะวันทำเค้กได้ ก็ชวนตะวันว่าลองสอนเพื่อนทำเค้กบ้างไหม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาหลายส่วนและผลก็ออกมาดี หากมีใครสนใจอยากมาเรียนรู้ร่วมกันแบบนี้ เราก็ยินดี

32267501_10208954049367607_5320390394322616320_o


บันทึกของคุณแม่ปุ้ม จาก Workshop ทำชีสเค้กเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ
โจทย์คือ พัฒนาการ / ชีสเค้ก คือเครื่องมือ

เราสังเกต..การแบ่งปัน..ความเข้าใจ..การสื่อสาร
การแลกเปลี่ยนความรู้สึก
เราได้จัดชั้นเรียนทำช็อคโกแลตชีสเค้กเพื่อเป็นสื่อกลางการฝึกพัฒนาการ
โดยน้องภูมิเป็นคนเลือกเค้กที่ตัวเองชอบ น้องชอบช็อคโกแลต
และตะวันเป็นผู้สอนส่วนผสม วิธีการทำ แล้วเริ่มลงมือทำไปด้วยกัน
ครูต้นนักจิตวิทยา เป็นผู้ช่วยแนะนำ ปรับท่าทาง ปรับพฤติกรรมการแสดงออก พร้อมกับพูดคุยทัศนคติอื่นๆ
เราพบว่าเด็กๆ ไม่เครียด และตะวันจำวิธีการที่ฝึกกับแม่บ่อยๆ ได้

วันนี้สอนเป็นไงบ้างลูก?
ตะวัน : ผมมั่นใจประมาณ 70% บางขั้นตอนที่ผมเคยทำด้วยตัวเองน้อยเกินไป ผมก็จะไม่มั่นใจในการสอน

ถ้าต่อไปต้องสอนอีก คิดว่าจะพัฒนาส่วนไหน?
ตะวัน : อะไรที่ผมจะต้องสอน ผมจะต้องฝึกบ่อยกว่านี้ แล้วมีอะไรติดขัดตรงไหนผมต้องหาคำตอบก่อน

ได้อะไรจากกิจกรรมวันนี้บ้าง?
ตะวัน : 1. เรื่องการเคลื่อนไหวของร่างกาย บางช่วงภูมิก็ทำได้ดีกว่าผม เช่น การใช้ข้อมือ
บางช่วง ภูมิจะทำอยู่อย่างนั้นซ้ำๆ เช่น การคนอยู่ที่เดิม ไม่เปลี่ยนทิศทาง และไม่ได้มองจริงๆ ว่าส่วนผสมมันเข้ากันทั่วไหม อาจเป็นเพราะภูมิทำครั้งแรก (ตะวันวิเคราะห์ เหมือนเป็นกระจกสะท้อนตัวเอง)
2. เรื่องการมีสติสมาธิในการทำงานทุกขั้นตอน เช่น บางขั้นตอนเราทำครบแต่จริงๆ แล้วยังไม่ดี เป็นเพราะเราคิดอย่างอื่นอยู่
3. การฟังและการไม่ฟัง ผมพูดไม่ค่อยทันภูมิ ภูมิอาจจะมีเรื่องในใจที่ตั้งใจมาแล้วว่าจะเล่าให้ผมฟัง แต่ผมก็เก็บรายละเอียดได้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น อาจเป็นเพราะเป็นเรื่องที่ผมไม่ได้สนใจมากเหมือนเขา
4. สิ่งที่ได้คือ ความภูมิใจและดีใจ

เราจะเห็นว่าการทำงานกับเด็กพิเศษ เช่น ทำเค้ก เป้าหมายไม่ใช่ให้เด็กทำเค้กเก่งได้ 100% ในครั้งเดียว แต่เราเฝ้ามองพัฒนาการความสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อ สมอง และพฤติกรรมมากกว่า ถ้าเราตั้งเป้าที่เค้กที่ต้องทำได้ดีมากๆ ทุกขั้นตอน เราอาจจะได้เด็กที่เกลียดการทำเค้กเพราะถูกบังคับ มาแทน

ฟาร์มสุขวันนี้
คือการตัดสินใจวันนั้น

คุณพ่อสุมิต : ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ เราเองยังทำไม่ได้แล้วจะไปฝากให้คนอื่นทำ ให้หมอทำ ครูทำ มันไม่ใช่ ผมลาออกจากงานเพราะเหตุนี้แหละ ป.3 แล้วยังอ่านเขียนไม่ได้ ถ้าปล่อยไปอนาคตจะเป็นอย่างไร ผมเพิ่งสอบปริญญาโทได้กำลังจะเรียนต่อ ผมก็ไม่ลงทะเบียนและลาออกจากงานย้ายกลับมาที่นี่ การตัดสินใจนี้เกิดในช่วงไม่กี่เดือน จังหวะนั้นการงานก็เติบโตดี ที่ทำงานก็ทัดทานผู้ใหญ่บอกให้ทำคู่กันไปได้ไหม ผมทำไม่ได้ ทำอะไรผมทำเต็มที่ ลูกผมอยู่บ้านไม่มีคนดูแล บางทีเราต้องเลือก ถ้าเราเลือกที่จะทำงาน ลูกเราจะอยู่ต่อไปในอนาคตลำบาก เป็นภาระให้สังคม นี่เป็นความรับผิดชอบ บางคนโทษสังคม แต่ไม่ได้โทษตัวเอง ถ้าเราปล่อยเขาไปมีปัญหาแน่

เงื่อนไขของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่มีสูตรตายตัว ไม่มีอะไรช่วยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ความรู้เรื่องนี้ยังจำกัด คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจ เราอ่านและดูมาเยอะ บางเรื่องก็ยังไม่เข้าใจ ที่สำคัญคือเป้าหมาย เราจะช่วยเหลืออะไรเขา ต้องมีเวลา และ ต้องสังเกต ถ้าใครบอกว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ ครู หมอ หรือ นักจิตวิทยานี่ ไม่มีทางเลย ก่อนที่จะมาที่นี่เรารักษาตั้งแต่ก่อนขวบปีอีก พาไปฝึกที่ต่างๆ มากมาย แต่ความก้าวหน้าจำกัด เพราะเราไม่ได้มีเวลาช่วยลงรายละเอียด

ตะวัน (64)

ต้องมีความรับผิดชอบต่อเขา ปล่อยไปเขาก็จะอ่านหนังสือไม่ออก ประเทศไทยวัดคนที่การศึกษา การสอบ เกณฑ์ของรร.ต้องได้ อย่างน้อยให้เขาไปต่อได้ และสิ่งที่เน้นมากคือ ทักษะชีวิต เราทำไปพร้อมๆ กัน
ทักษะชีวิตไม่ใช่แค่ การหุงหาอาหาร ซักผ้า กวาดบ้าน เท่านั้น แต่ทักษะชีวิตหมายถึง อยู่คนเดียว แล้วต้องตัดสินใจเอง ที่จะกิน อยู่ คบกับเพื่อนอย่างไร โดนเขาเอาเปรียบหรือเปล่า เราเหมือนเป็นโค้ช ถามเขาว่า สีหน้าเพื่อนเป็นอย่างไร ได้ลองถามคุยกับเขาแบบนี้ไหม แนะให้เขาลองเอากลับไปใช้ที่ รร. คิดว่าตอนนี้เขามองออก ส่วนการตอบโต้เราก็ต้องสอน อยากให้ลูกเป็นแนวไหน ไม่ยอมใคร หรือ อันไหนเลี่ยงได้ก็เลี่ยง
เราไม่ยอมให้ใครเอาเปรียบ แต่เราก็ไม่ใช้วิธีรุนแรง ซึ่งก็ต้องให้ทางเลือกเขาหลายๆ แบบ เราเชื่อว่าลูกเราพื้นฐานเป็นคนจิตใจดี

คุณแม่ปุ้ม : ครอบครัวเราต่างคนต่างเป็นปัจจัยบวกให้กัน ตอนเด็กๆ ต้นน้ำ น้องชายของตะวันมีพี่เป็นไอดอลทางวิทยาศาสตร์ เพราะพี่จำตารางธาตุเก่ง ไปอุทยานวิทยาศาสตร์น้องจะภูมิใจว่าพี่ฉันรู้หมดทุกอย่าง ที่น้องยอมย้ายโรงเรียมาอยู่ที่นี่เพราะพี่มา เราเน้นเรื่องนี้ว่ามีกันแค่นี้นะ เขารักกันมาก เราบอกต้นน้ำเสมอว่าไม่ใช่แค่ให้ใครดูแลเรา เราเองต้องดูแลใส่ใจคนอื่นด้วย เพราะตะวันจะช่วยดูแลต้นน้ำตลอด เราอยากให้ต้นน้ำเขาดูแลพี่เขาด้วยในอนาคต ตะวันจะอาบน้ำเป็นคนสุดท้ายของบ้านและมีหน้าที่ดูแลปิดไฟปิดทุกอย่างให้เรียบร้อย เขาเป็นคนละเอียดและชอบความปลอดภัย ก็เอาจุดเด่นของเขามาสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเขาเอง

ตะวัน (94)

ในครอบครัวคุณพ่อทำอาหาร ทำให้ลูกรับรู้ว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น ร้านที่ทำเราก็ใส่ความรับผิดชอบต่อลูกค้า ใส่ใจในขั้นตอนการทำอาหาร ทำให้เขาซึมซับมาตลอดว่าการจะเป็นร้านอาหารคุณภาพก็ต้องมีวัตถุดิบที่ดี เมื่อลูกค้าเลือกเรา เราต้องตอบแทนเขาด้วยอาหารที่อร่อยและมีคุณภาพ การปลูกผักทำอย่างไรให้ได้ดี แม้ดินจะไม่ดี เราจะปรับปรุงให้ดีได้อย่างไร

ปรัชญาฟาร์มสุข :

ดินไม่ได้สมบูรณ์หมดทุกที่
แต่ทำอย่างไรให้ที่ที่เรามีอยู่
ทำประโยชน์ได้ดีที่สุด

เช่นเดียวกับที่ครอบครัวใช้เวลาดูแลกัน

จนเป็นฟาร์มสุขในวันนี้

ตะวัน (90)


ขอขอบพระคุณ : ครอบครัวประเสริฐ และ ร้านฟาร์มสุข (facebook: @FarmSukCafe)

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

ใส่ความเห็น