Featured, Learning Space

ตามไปดูการศึกษาพิเศษที่สิงคโปร์

บทความโดย  ปิยะนุช ชัชวรัตน์ (ครูอ้อย)

สมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก เชียงราย

สมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก เชียงราย ร่วมกับภาคีเครือข่ายจะจัดการเดินทางดูงานการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคลพิเศษ เป็นการเปิดโลกและนำตัวอย่างประสบการณ์มาพัฒนางานของพวกเราอย่างสม่ำเสมอ ในปีนี้เราเดินทางไปยังองค์กรที่ทำงานเพื่อเด็กพิเศษ – คนพิการ และทำกิจกรรมวันรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลก ระหว่างวันที่ 1 – 4 เมย. 61 ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเราได้รับความช่วยเหลือจากคุณครูการศึกษาพิเศษชาวสิงคโปร์หลายท่านที่เคยมาเป็นอาสาสมัครที่ บ้านทอฝัน ทำให้การประสานเพื่อเข้าศึกษาดูงานในโรงเรียน หน่วยงานองค์กรต่างๆ เป็นไปได้อย่างราบรื่น ครูอ้อยจึงถือโอกาสอันดีนี้นำบันทึกการเดินทางของคณะมาแบ่งปันกับผู้อ่านทุกท่านค่ะ

29793783_1275262135906579_532213552543432704_n

วันแรก แกนนำ “ออทิสติกเชียงราย” และภาคีเครือข่ายที่ทำกิจกรรมเพื่อเด็กออทิสติกร่วมกันมากว่า 13 ปี อันประกอบด้วย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และ วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย รวมทั้งหมด 7 คน ออกเดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์ ซึ่งในการเดินทางครั้งนี้เรามี คุณวสุ สารภี (พี่เอิธ) บุคคลออทิสติก พร้อมทั้ง คุณดวงใจ สารภี (คุณแม่) ร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งเป็นการเดินทางโดยเครื่องบินไปต่างประเทศครั้งแรกของพี่เอิธ

คณะเรามีเรื่องตื่นเต้นเล็กๆ เมื่อเครื่องบินเทียบท่า ณ สิงคโปร์ จุดตรวจคนเข้าเมืองเขาต้องสัมภาษณ์ทุกคน เพราะคณะของเราไม่ใช่กรุ๊ปทัวร์ ครูอ้อยแจกตารางกำหนดการดูงาน และหนังสือตอบรับของแต่ละองค์กรไว้ให้เผื่อว่ามีใครถูกสัมภาษณ์จะได้ตอบถูก และเตรียมให้คนที่คล่องภาษาอังกฤษอยู่ใกล้ๆ พี่เอิธและคุณแม่เผื่อต้องช่วยพี่เอิธตอบหรืออธิบายบางคำถาม แต่สุดท้ายพวกเราก็โดนจับแยกกันหมด ทุกคนผ่านออกมา เหลือพี่เอิธและคุณแม่ยังติดอยู่ด้านใน ครูอ้อยจึงเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ขอให้เราเข้าไปช่วยดูแล ทีแรกเขาก็ไม่ยอมค่ะ แต่พอเราบอกว่า มร.วสุ เป็นคนออทิสติกนะ คุณจำเป็นต้องให้ฉันเข้าไปช่วย เขาจึงอนุญาต พบว่าพี่เอิธไม่เข้าใจประโยคที่เจ้าหน้าที่ถามว่ามีตั๋วกลับหรือไม่ ครูอ้อยจึงอธิบายกับเจ้าหน้าที่ว่า คณะเรามาดูงานออทิสติก และนี่เป็นบุคคลออทิสติก พอเราแสดงตั๋วกลับทั้งหมดของคณะเรา ทุกอย่างก็เรียบร้อยโดยไม่ต้องแสดงบัตรคนพิการแต่อย่างใด

เพื่อนๆ เจ้าภาพชาวสิงคโปร์ที่มารอรับคณะเราพามาส่งยังที่พักซึ่งเป็นอพาร์ทเม้นท์ให้พวกเราอยู่รวมกันอย่างสบาย ก่อนที่จะพาไปทานอาหารค่ำ ทั้งนี้วันแรกพวกเรายังทำตัวสบายๆ อย่างไทยแท้ ไม่ได้ตระเตรียมอะไรมากนัก เพราะคิดว่าร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารที่นี่น่าจะมากมายเหมือนที่บ้านเรา ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อพี่เอิธไม่น้อย…


prevalence-of-autism
ที่มา How Many People In Singapore Have Autism? http://www.autism.org.sg/living-with-autism/prevalence-of-autism-in-singapore

ประเทศสิงคโปร์มีประชากร 5,000,000กว่าคนเท่านั้น สถิติเฉพาะบุคคลที่มีภาวะออทิซึ่ม 1% เท่ากับ 50,000 คน สำหรับคนสิงคโปร์พวกเขาพูดเสมอว่า “ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศเขาคือ ทรัพยากรมนุษย์”

เด็กทุกคนคือ อัญมณี และ ครูมีหน้าที่เจียระไน

อันนี้เป็นประโยคสำคัญที่ครูอ้อยประทับใจมากค่ะ “เด็กคืออัญมณี มีค่าทุกเม็ด เขาอาจมีความแตกต่าง อัญมณีไม่ได้ใสไปเสียทั้งหมด เพราะเขาคือของแท้ ไม่ใช่ของที่ทำเทียมขึ้นมา  อัญมณีแท้อาจมีรอยหรือตำหนิบ้าง ครูทุกคนมีหน้าที่เจียระไน” ซึ่งจากการดูงาน ทุกแห่งตลอดทริปนี้ ครูอ้อยก็เห็นการทำงานที่สะท้อนความคิดนี้จริงๆ ลองติดตามกันนะคะ


Woodland Garden School

29789983_1271764646256328_7465206522737692392_nโรงเรียนนี้เป็น 1 ใน 4 โรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับคนพิการภายใต้การบริหารงานของ Movement for Intellectually Disabled of Singapore (MINDS) มีกลุ่มภาวะท้าทายทางสติปัญญา 171 คน ภาวะออทิซึ่ม 60 คน ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ครู รวมทั้งหมด 66 คน

โรงเรียนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ จัดโปรแกรมที่ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วม เช่น
PAPA Reading กำหนดให้พ่อต้องอ่านหนังสือให้ลูกฟัง แล้วโรงเรียนจะสื่อสารกับที่บ้านว่าอ่านได้หรือไม่อย่างไร
MAMA Counting กำหนดให้แม่สอนเรื่องจำนวน Concept Value เน้นเรื่องการใช้จ่ายเงิน Money Concept ผ่านการซื้อของ และการทำอาหารเปิดเป็นร้านชื่อร้าน “MAMA Express”
Grand Parent Brunch ที่เชิญ ปู่ย่า ตายายมาเยี่ยมโรงเรียนเพื่อให้เด็กเรียนรู้การเคารพผู้ใหญ่และสร้างสายใยผูกพัน เด็กๆ ฝึกทำอาหารว่าง และเสิร์ฟให้ คุณปู่คุณย่า เป็นต้น

โรงเรียนเน้นในเรื่อง Active Learning Experience กิจกรรมทุกอย่างที่เตรียมให้กับเด็กๆ ถูกออกแบบให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเองและขยายไปสู่ชุมชน โดยเริ่มจากงานที่เด็กๆ ทำได้
-โครงงาน Recycling Project , Green Movement การเก็บขยะในชุมชนใกล้ๆ โรงเรียน โครงการปลูกผักไฮโดรโปรนิค โดยทำครบวงจร ตังแต่ปลูก เก็บผัก แพ็ค และนำไปขาย ทำสวนดอกไม้เพื่อให้ผีเสื้อมาดมดอมดอกไม้ ตั้งชื่อว่า “สวนผีเสื้อ”
-แบ่งกลุ่มของเด็กๆ เป็นกลุ่มอัญมณีที่มีคุณค่า เช่น กลุ่มทับทิม (Ruby Group) กลุ่มไพลิน (Sapphire Group) และ กลุ่มมรกต (Emerald Group) เพราะเด็กทุกคนล้วนแต่มีคุณค่าทุกคนล้วนแต่เป็นสีสันของโรงเรียน เขาใช้คำว่า “COLOURS OF LIFE @ WGS” หน้าที่ของครูคือเจียระไนอัญมณีทุกเม็ดให้ส่องประกาย

ผู้บริหาร Mr. Chong และ Ms. Jenifer รองผู้อำนวยการ พาเดินชมโรงเรียนซึ่งเป็นอาคารสูงหลายชั้น มีประตูปิดกั้น ยามเฝ้าหน้าประตู ซึ่งครูอ้อยเห็นว่า ทุกๆ แห่งที่เราไป เขาเน้นเรื่องการรักษาความปลอดภัยสูงมาก ครูและเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่จะมีรหัสหรือการ์ดสำหรับเปิดปิดประตู ทั้งนี้ด้วยข้อจำกัดพื้นที่ของประเทศเขา ถึงโรงเรียนจะอยู่ใกล้สวนสาธารณะ แต่เกือบทุกแห่งเมื่อเปิดประตูมาก็จะพบถนนใหญ่ เขาจึงต้องระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ

ในห้องเรียนเน้นการใช้ระบบภาพ (PECS) ในการสื่อสารและตารางประจำวันที่เด็กๆ จะต้องทำในแต่ละวัน ห้องฝึกต่างๆ ฝึกทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก ตามือประสานสัมพันธ์แล้ว ห้องกระตุ้น ห้องยิม มีห้องฝึก Home Economy หน้าตาเหมือนห้องครัวที่มีอุปกรณ์ทำงานบ้านทั้งหมด เพื่อให้เด็กฝึกทำอาหาร ฝึกล้างจาน ซักผ้า เพราะว่าโรงเรียนเน้นในเรื่อง Functional Education and Home Economy

นอกจากนั้นยังมีการฝึกทำงานแผนกแม่บ้านทำความสะอาดห้องที่ตกแต่งเหมือนห้องพักในโรงแรม และพนักงานโรงแรมที่ช่วยหิ้วกระเป๋า Mr. Chong ผอ.โรงเรียนบอกว่า “นอกเหนือจากการฝึกอาชีพแม่บ้านโรงแรมแล้ว โรงเรียนยังมีแผนที่จะส่งนักเรียนไปเรียนการเพ้นท์เล็บ บางคนบอกว่าเด็กทำไม่ได้ แต่ผมคิดว่าเด็กๆ สามารถทำได้”


Yishun Training & Development Center : Yishun (TDC)

29695350_1272550749511051_6860836038268468521_n
Yishun คือ TDC แห่งที่ 7 ขององค์กร MINDS เป็นศูนย์ดูแลบุคคลออทิสติกอายุ 19 ปีขึ้นไป จนถึงตลอดชีวิต โดยที่รับนักเรียนอยู่ด้วยตลอดทั้งวันตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 4 โมงเย็น เพิ่งเปิดดำเนินการในเดือนกรกรฏาคม 2560 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมานี้เอง Ms. Jennifer ให้ข้อมูลกับคณะของเราว่าหนีชุนรับเด็กที่หลังจากจบการศึกษาภาคบังคับและไม่สามารถไปโรงเรียนเรียนร่วมได้ จะมีทางเลือก 3 โปรแกรม หลักๆ ได้แก่
1. School-to-Work กับ Hi! Job Program โปรแกรมนี้สำหรับบุคคลออทิสติกที่สามารถออกไปทำงานข้างนอกได้โดยมีการฝึกทำงาน และมี Job coached
2. Employment and Development Centre โปรแกรมนี้สำหรับบุคลลออทิสติกที่สามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้ กิจกรรมการฝึกจึงไปในทางการพัฒนาทักษะอาชีพ
3. Training and Development Centre โปรแกรมนี้จะเน้นในเรื่องทักษะชีวิตประจำวัน เพื่อให้บุคคลออทิสติกสามารถดำรงชีวิตอิสระทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้เอง พัฒนาทักษะทางด้านสังคม และทักษะในการเตรียมความพร้อมเพื่อฝึกอาชีพ
Yishun จึงเป็นศูนย์ที่ให้บริการ TDC 7 ด้านแก่คนบุคคลที่มีภาวะออทิซึ่มระดับกลางถึงรุนแรง ดังนี้
1. Social Skill
2. Community Life Skill
3. Activities of Daily Living
4. Home Living Skill
5. Leisure & Recreation
6. Health & Fitness
7. Vocational Skill

Ms. Dorothy ผู้อำนวยการ Ms. Marina รองผู้อำนวยการ และ Ms. Jenifer ให้การต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี พาไปชมห้องเรียน และห้องฝึกต่างๆ เนื่องจากบุคคลออทิสติกกลุ่มนี้เป็นผู้ใหญ่แล้ว และบางคนก็มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในแต่ละห้องก็จะมีห้องสงบ (Peace Room) เป็นห้องเล็กๆ ติดแอร์บุนวมทั้งห้อง มีห้องที่มีระบบ Sensory สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย

ทุกห้องจะมีตารางภาพกิจกรรมประจำวันของแต่ละคนชัดเจน เพื่อให้เข้าใจหน้าที่ของตนเอง งานที่ฝึกให้ทำ มีแบบง่ายๆ เช่น งานทำความสะอาดเช็ดหูฟังที่ใช้บนเครื่องบิน และแพ็คเก็บ ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ส่งงานมา ก็มีบางคนที่ทำไม่ได้ค่ะ แต่เขาจะไม่ปล่อยให้อยู่บ้านเฉยๆ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องความรุนแรง อย่างน้อยการมาที่สถาบันทำให้เขาไม่อยู่เฉยๆ แต่มีเพื่อน มีกิจกรรมง่ายๆ ร้อยลูกปัด ถักโครเช ปักเฟรม ให้ทำ

ที่นี่ทำให้ครูอ้อยคิดถึงพี่ก้ำ ลูกชายของครูอ้อย มีน้องคนหนึ่งตัวโตทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าหุ่นเหมือนพี่ก้ำเลย แนวทางของ Yishun น่าจะนำไปปรับใช้กับ พี่ก้ำและบ้านทอฝันให้เป็น learning Center มีกิจกรรม/งาน ให้เด็กโตได้ฝึกทำได้เช่นกัน

29595161_1272556976177095_948369013241609107_n

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือเราได้รับของที่ระลึกจากฝีมือบุคคลพิเศษหลายชิ้น เขาออกแบบหีบห่อสวยงามดูมีมูลค่า แต่ละชิ้นมีเรื่องราวเจ้าของงานที่น่าสนใจ บางชิ้นก็ทำจากงานศิลปะด้วยวิธีการเดียวกับที่เด็กของเราทำ เพียงแต่ที่นี่เขาจะเลือกวัสดุที่คำนึงถึงการเอาไปใช้งานต่อได้ เช่น แผ่นไม้ก๊อก วาดแล้วไปทำเป็นที่รองแก้ว ในขณะที่เราวาดลงกระดาษถ้าพ่อแม่ไม่เก็บก็ทิ้งไปเปล่าๆ เราน่าจะปรับและออกแบบได้ ถ้าผลงานมีคนสนใจอยากซื้อหรือกลายเป็นของที่ระลึกแบบนี้ก็จะสร้างความภูมิใจให้คนทำด้วย


Rainbow Center

29597345_1272560016176791_898358167363145620_nครั้งแรกที่ติดต่อไป  Rainbow Center ไม่อนุญาตให้เราเข้าเยี่ยม แต่พอได้อ่านเรื่องราวของเราและเห็นว่าเป็นองค์กรของพ่อแม่ก็เลยอนุญาตให้มาเยี่ยมชมได้ Ms. Jaizah เป็น Senior Manager เล่าให้พวกเราฟังว่า Rainbow Centre เปิดให้บริการมาได้ 30 ปีแล้ว ร้อยละ 60 ของนักเรียนที่นี่มีภาวะออทิซึ่ม และร้อยละ 40 เป็นนักเรียนที่มี Multiple Disability , Learning Disability และ Cerebral Palsy

Rainbow Centre ให้ความสำคัญกับการทำงานกับ partner เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลออทิสติก ได้มีส่วนร่วมกับสังคมอย่างมีความหมาย โปรแกรมของ Rainbow มี 5 โปรแกรม
1. Early Intervention สำหรับอายุต่ำกว่า 6 ปี และสอนให้ผู้ปกครองฝึกน้องที่บ้าน
2. Special Education School
3. Out of School Program (OOSH)
4. Family Life Service ที่ให้ความสำคัญกับพี่น้อง (sibling)
5. Training and Consultancy

อิชาห์พาเราไปดูห้องเรียนซึ่งดูทันสมัยมาก มีห้องต่างๆ มี Art Studio น่าเสียดายที่เขาไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพมากนักก็เลยได้ภาพผลงานศิลปะของเด็กๆ และภาพกับอิชาห์ และสถานที่เท่านั้น อิชาห์ให้หนังสือที่เขียนโดยผู้ก่อตั้งมาสองเล่ม เล่มหนึ่งเป็นการ์ตูนที่บอกเล่าเรื่องราวของออทิสติกที่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ

มีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับ ระบบการศึกษาและการสร้างครูการศึกษาพิเศษของประเทศสิงคโปร์ ครูอ้อยเห็นมีคุณครูหน้าตาเด็กๆ นั่งทำสื่อกันอยู่ ทีแรกเข้าใจว่าเป็นนักศึกษาฝึกงานเพราะดูเด็กเหลือเกิน แต่ปรากฏว่าเป็นครูที่จบปริญญาตรีแล้วหมาดๆ และต้องการเป็นครูการศึกษาพิเศษ

ระบบการสร้างครูการศึกษาพิเศษของเขาไม่ใช่ใครก็สมัครเรียนเป็นครูการศึกษาพิเศษได้ แต่เขากำหนดว่าผู้ที่สนใจต้องจบปริญญาตรี (สาขาใดก็ได้) และมีประสบการณ์ทำงานในองค์กร หน่วยงาน ที่ดูแลผู้พิการก่อน เมื่อทำงานครบหนึ่งปี ผู้บริหารขององค์กรนั้นจะเป็นผู้ประเมินว่าใครมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ผู้ที่ผ่านการรับรองแล้วจึงจะมีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อที่สถาบันการศึกษาพิเศษของรัฐ ซึ่งมีแห่งเดียว ครูการศึกษาพิเศษทุกคนต้องเรียนจบจากที่นี่ พวกเขามีวิธีการการจัดการเรียนการสอนระบบเดียวกันทั้งหมด

นั่นคือสิ่งที่แตกต่างจากเรา เขาคัดกรองคนก่อนว่ามีใจชอบทำงานนี้ และมีหลักสูตรที่รัฐควบคุมมาตรฐานโดยตรงเหมือนกันหมด ผู้ที่จบออกมาแล้วได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ มีเงินเดือนสูงกว่าครูทั่วไป ประจำในโรงเรียนเรียนร่วมที่มีอยู่ทุกเขตพื้นที่


Jurong West Primary School

29792753_1273610716071721_4152072343235671800_n

โรงเรียน Jurong West Primary School เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาเรียนร่วม ระดับประถมศึกษา มีนักเรียน 1,500 คน โรงเรียนที่สิงคโปร์ เริ่มเรียนแต่เช้าคือเริ่มเข้าแถวเคารพธงชาติตั้งแต่ 07.30น. แล้วเรียนไปถึง 10.00น. ก็พักรับประทานอาหาร 30 นาที กลับเข้าห้องเรียน 14.00น. ก็เลิกเรียนแล้วค่ะ

เด็กพิเศษที่เรียนเรียนร่วมจะเข้าเรียนในห้องเรียนปกติ ห้องหนึ่งมีนักเรียน 30 คน มีนักเรียนเรียนร่วม 1 คน แต่ไม่ได้มีทุกห้องนะคะ เพราะระบบการศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ให้สิทธิ์เด็กในพื้นที่รัศมี 2 ก.ม. เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลในเขตนั้นๆ เพราะฉะนั้นทุกโรงเรียนก็รองรับเด็กพิเศษในพื้นที่นั้นๆ เช่นกัน

29791562_1273608142738645_6703179189063109127_n
นักเรียนออทิสติกเรียนร่วมที่นี่มีอาการน้อยมากแทบจะดูไม่ออกเลย รองครูใหญ่และคณะครูการศึกษาพิเศษประจำโรงเรียน โดย Ms. Miao Jing ซึ่งเคยมาที่บ้านทอฝันเป็นหัวหน้าโปรแกรมและครูฝึกหัด พาพวกเราไปเยี่ยมชมห้องเรียนที่มีนักเรียนเรียนร่วม ห้องแรกเป็นชั้นประถม น้องเรียนพลศึกษาร่วมกับคนอื่น แต่น้องไม่ชอบการเคลื่อนไหว เพื่อนๆ ก็ช่วยกันกระตุ้นให้น้องพยายาม และโรงเรียนมอบหมายเด็กผู้หญิงอีกคนมาช่วยเป็น Buddy เราได้พูดคุยทักทายกัน น้องตอบคำถามได้เป็นอย่างดี ไม่กลัวคนแปลกหน้า ถึงแม้จะไม่ค่อยยอมสบตาพวกเราเท่าไหร่

ช่วงรับประทานอาหารกลางวันครูอ้อยไปสังเกตเด็กผู้ชายคนหนึ่งรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อน ซึ่งเด็กๆ ต้องซื้ออาหารเอง เขาก็ทำได้ หลังจากนั้นก็ไปเล่นที่สนามเด็กเล่นกลมกลืนกันไปหมด จนหมดเวลาพัก

ครู Miao Jing พาเราไปดูห้องเรียนเด็กพิเศษที่ครูจะแยกนักเรียนมาสอนเดี่ยว โดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนหลักสูตรและสื่อการเรียนเหมือนกันหมดทุกโรงเรียนอย่างเด็กที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเรื่องการอ่านเขียน (แอล.ดี หรือ ดีสเล็กเซีย) กระทรวงศึกษาฯ ของเขาให้ความสำคัญมาก ครูไม่ต้องออกแบบหรือพัฒนาสื่อเองเลย เขามีหลักสูตรและคู่มือช่วยเรื่องการอ่าน บอกวิธีเป็นลำดับขั้นตอน  สำหรับครูการศึกษาพิเศษที่โรงเรียนนี้มี 5 คน ซึ่งครูไม่ต้องเข้าไปประกบเด็กในชั้นเรียน เพียงตามสังเกตการณ์ว่าเรียนร่วมได้ไหม

เขามีระบบการคัดกรองและแบบทดสอบ เด็กที่เข้าเรียนร่วมได้คือเด็กที่สามารถเรียนได้จริง สำหรับเด็กที่ไม่ผ่านก็มีโรงเรียนเฉพาะทางให้เลือกในพื้นที่ของตน เขาให้ความสำคัญกับการศึกษามาก ถ้าเราไม่ส่งลูกไปโรงเรียน เจ้าหน้าที่รัฐจะไปหาถึงบ้าน อายุครบต้องเข้าโรงเรียนเขามีระบบติดตามทั้งหมดค่ะ


ทุกๆ ที่ให้การต้อนรับเราเป็นอย่างดี เพราะเห็นว่าเราเป็นองค์กรที่ก่อตั้งจากการรวมตัวของพ่อแม่ เขาทุกคนให้กำลังใจและยินดีให้คำแนะนำช่วยเหลือเพื่อให้องค์กรของเราเติบโตในภายภาคหน้า

…ย้อนกลับมาที่พี่เอิธ วันแรกเขาไม่พูดกับคนแปลกหน้าเลย แต่วันต่อมาก็เข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่าง ตอบโต้ด้วยภาษาอังกฤษง่ายๆ พี่เอิธจำเป็นต้องปรับตัวตามสภาพแวดล้อมและกิจวัตรที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งช่วงแรกก็มีความหงุดหงิดบ้างเพราะ หิว ! ใช่ค่ะ พี่เอิธทานอาหารตามเวลา แต่การเดินทางทำให้เวลาอาหารคลาดเคลื่อนไป และที่สิงคโปร์ เขาไม่อนุญาตให้เราเอาขนมหรือของว่างมาทานรองท้องบนรถ หรือเดินทานตามใจชอบเหมือนเมืองไทยนะคะ เมื่อถึงจุดสั่งอาหารคนเยอะมาก หิวแค่ไหนก็ต้องต่อคิวรอ

30127577_1275310765901716_4485548038739197952_n

วันต่อมา ครูอ้อยเตรียมอาหารใส่ตู้เย็นไว้ เพื่อที่มื้อเช้าทุกคนได้ทานให้อิ่มเรียบร้อยจากที่พักก่อนออกเดินทาง การเข้าคิวซื้ออาหารพี่เอิธก็ปรับตัวได้ มาถามก่อนว่าอันนี้เรียกอะไร เขาก็เข้าคิว สั่งทำได้ทุกอย่าง ครูอ้อยดีใจที่พี่เอิธได้มีประสบการณ์ใหม่ และเรียนรู้การปรับตัวในครั้งนี้

ประเทศสิงคโปร์มีระบบการศึกษาที่ก้าวหน้าและใส่ใจกับทรัพยากรมนุษย์ดังที่ได้กล่าวไว้จริงๆ ครูอ้อยหวังว่าประสบการณ์ที่แบ่งปันมานี้ อาจจะช่วยให้ผู้อ่านทั้งผู้ที่อยู่ในองค์กรของรัฐ หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนและครอบครัว เห็นทางเลือกในการช่วยเหลือและพัฒนาเด็กของเราค่ะ


ขอขอบพระคุณ

ภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ค “ออทิสติกเชียงราย” สมาคมพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก เชียงราย


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ

Beaming Story

หัวใจพิเศษของ วริศรุตา ไม้สังข์

มุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นโอกาสการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับกลุ่มบุคคลพิเศษและครอบครัวด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการบำบัดจนถึงสนับสนุนการผลิตอย่างเป็นระบบ ของคุณวริศรุตา ไม้สังข์ (โปสเตอร์) เศรษฐศาสตร์บัณฑิตวัย 26 ปี ผู้สะท้อนคุณค่าและศักยภาพของบุคคลพิเศษผ่านผลิตภัณฑ์  Heartist  (Heart+Artist)

องค์ประกอบของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยมีอะไรบ้าง ?  มีหัวใจอาสา เชื่อมั่นในความเสมอภาคและศักยภาพของมนุษย์ แสวงหาองค์ความรู้และประสบการณ์ใหม่ ไม่กลัวความเสี่ยง กล้าลงทุนลงแรง ใช้เทคโนโลยีส่งเรื่องราวที่น่าสนใจสื่อสารเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมสู่สังคมเป็น คุณสมบัติเหล่านี้เราถอดออกมาจากตัวคุณวริศรุตาทั้งหมด ซึ่งผลงานของเธอในงานประจำที่ Minute Videos Thailand เป็นคำยืนยันได้อย่างดี

ก่อนสร้าง Heartist

คุณวริศรุตา : เราทำงานสื่อและเห็นศักยภาพของมัน เคยมีคนเข้ามาบอกว่าเขามีกำลังใจที่มีชีวิตอยู่เพราะดูวิดีโอของเรา ด้วยเครื่องมือนี้น่าจะช่วยคนกลุ่มอื่นๆ ได้อีกมาก เช่นอีกงานหนึ่งของเราร่วมก่อตั้ง Listen by Heart วิดีโอและสื่อภาพสอนภาษามือ “ภาษาอเมริกันกลาง” สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน คนหูหนวกในบ้านเรานี่ถือเป็นกลุ่มคนพิการที่ถูกลืมมากที่สุด ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่เหมือนคนทั่วไปและคนคิดว่าเขาน่าจะอ่านออกเขียนได้ ชีวิตไม่ได้มีความยากลำบากอะไร แต่มีนักเรียนหูหนวกจำนวนมากที่เพิ่งมารู้ตัวว่าพอจบมัธยมเขาต้องไปฝ่าฟันสู่รั้วมหาวิทยาลัย และถ้าหลุดออกจากระบบ คนรอบตัวก็คาดหวังให้เขาทำงานมีอาชีพ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ถูกเตรียมความพร้อมมาเลย งานสื่อชุดนั้นเราไม่มีโมเดลสร้างรายได้ อยากทำให้ฟรี แต่ปัญหาคือ เราทำไปไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะถึงบริษัทจะสนับสนุน แต่มันกินเวลางานประจำจนเรารู้สึกว่าต้องหารายได้เพื่อกลับมาจ้างบริษัทให้อย่างน้อยเขาไม่ขาดทุนไปกับเรา

ระหว่างนั้นก็ทราบข่าว โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ ประกาศรับอาสาสมัครร่วมทอผ้ากับบุคคลพิเศษ ส่วนตัวชอบทำงานอาสาและชอบงานฝีมือ (Craft) เป็นทุนก็เลยเข้าไปเป็นอาสาสมัคร ทำให้ได้เปิดโลกมีประสบการณ์และเข้าใจบุคคลพิเศษมากขึ้น ว่าเขามีความหลากหลายและพัฒนาได้ กระบวนการทอผ้าทำให้แต่ละคนนิ่งขึ้น เป็นเครื่องมือถ่ายทอดสื่อสารอารมณ์ออกมา งานผืนเดียวเสมือนสมุดบันทึกอารมณ์ที่ต่างกันของเขาในแต่ละช่วงที่ทอ

เราทำงานกับน้องๆ ต่อเนื่อง เห็นได้ชัดว่า ถึงคุยกันไม่เข้าใจแต่จากกระบวนการทำงานน้องมีพัฒนาการดีขึ้น แสดงว่า การทอผ้า ภาษาไม่ใช่อุปสรรค และเป็นตัวช่วยพัฒนาทั้งด้านอารมณ์ ร่างกาย สติปัญญา ซึ่งเราดีใจมากเพราะคิดว่าน่าจะนำกระบวนการนี้ไปใช้กับน้องหูหนวกได้  เลยปรึกษาแม่เปา (คุณขนิษฐา ชาติวัฒนานนท์ ผู่ร่วมก่อตั้งโครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ) ซึ่งแม่เปาก็ยินดีช่วยสอนฟรี เราก็ทำหลักสูตรสอนทอผ้าให้คนหูหนวกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พอประกาศรับสมัครปรากฎว่าไม่มีคนมาเรียนเลย ทำไมล่ะ ? มารู้ทีหลังว่าถ้าคนพิการไปฝึกอาชีพตามที่หน่วยงานของรัฐจัดให้ เขาจะได้เบี้ยเลี้ยงค่ะ ของเราเป็นงานบำบัดถึงจะฟรี แต่เขาต้องเสียค่าเดินทางมาเอง ตรงนี้ทำให้เราต้องกลับมามองกระบวนการทำงานใหม่

ก้าวแรกสู่ Social Enterprise

โปสเตอร์ (74)

คุณวริศรุตา เข้าร่วมอบรม SE – 101 ซึ่งเป็นหลักสูตรพื้นฐานของผู้ที่สนใจการทำกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise จัดโดย G-Lab (School of Global Studies มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ร่วมกับโครงการ SET Social Impact ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากประสบการณ์หลักสูตรทอผ้าเพื่อคนหูหนวกล่มไป อาจารย์ท่านหนึ่งตั้งคำถามกับเธอว่า ในเมื่อ “รายได้ ” เป็นประเด็นสำคัญ ทำไมจึงไม่ตั้งต้นจากการสร้างรายได้ให้กลุ่มเป้าหมายก่อน

เธอมองเห็นความงามทั้งจากกระบวนการทำงานและผลงานผ้าทอฝีมือบุคคลพิเศษ และเชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้ ซึ่งคือศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าใคร เมื่อลงมือทำงานสมควรได้ผลตอบแทน เพียงแต่จะออกแบบการทำงานอย่างไรให้ เหมาะสม และ พอดี กับทุกฝ่าย

คุณวริศรุตา : ช่วงแรกที่ไปทำงานอาสากับโครงการอรุโณทัยฯ แม่เปากลัวเรามาก เพราะเราทักว่าผ้าสวยๆ  ทำไมไม่แปลงมาเป็นสินค้าขาย แกคงคิดว่าเราอยากจะมาขายของอะไรวุ่นวาย ตอนนั้นยังไม่มีความคิดว่าจะทำอะไรขายนะคะ แค่เห็นว่าผ้าสวยมาก แทนที่จะรอการบริจาค ถ้าเป็นเราจะเอาไปทำนั่นทำนี่ขาย จนผ่านไปเกือบปีถึงแน่ใจและเอ่ยปากว่าอยากทำผลิตภัณฑ์นี้ ก็เป็นจังหวะที่เหมาะสมคือแม่เปารู้สึกไว้วางใจ

19959144_1513658145344668_6665074506681537727_n

ช่วงแรกเหมือนเราเอาเงินไปละลายน้ำ เพราะไม่มีความรู้เรื่องผ้าเลย ซื้อมาชิ้นละ 3,000 – 5,000บาท เอามาตัด เสียแล้วต้องทิ้งไม่รู้เลยว่าตัดแล้วหลุดทั้งผืน คิดจะทำกระเป๋าก็นึกว่าง่าย เดี๋ยวไปจ้างคนออกแบบ ขึ้นรูปกระเป๋าแล้วเอาไปขาย จบ / แต่ไม่ใช่เลย ล็อตแรกผ้าเสียทั้งหมด ก็จ้างคนออกแบบนะ แต่ไม่ยอมขึ้นต้นแบบ (mock up) มันแพงเราไม่มีเงิน และมั่นใจว่าไม่ต้องขึ้นหรอกเพราะแบบของเราสวย อะไรอีกล่ะ… เราไม่รู้ค่าแรง ไม่รู้ราคาตลาด เป็นคนไม่ต่อราคาอีกต่างหาก แล้วยังเลือกวัสดุตามใจตัวเองอีก ทำให้ต้นทุนต่อชิ้นสูงมาก เรียกว่าบางล็อตขายเท่าทุนได้ก็เอาแล้ว อาจจะดูโง่มาก คือราคานั้นยังไม่ได้รวมค่าแรงเรา แต่ในเมื่อยังไม่พอใจกับงาน คิดว่าได้ราคาเท่านี้ พอแล้ว แพงกว่านี้เป็นเราเองก็ไม่ซื้อหรอก

เราไม่อยากเอาเรื่องเล่าที่มาในงานของน้องๆ (storytelling) มานำสินค้า ทั้งๆ ที่ทุกคนบอกว่ามีเรื่องเล่าที่ดีอย่างนี้จะขายพันสองพันก็ได้ แต่ขายไปคนใช้ครั้งเดียวหรือเอาไปเก็บ เราไม่อยากได้แบบนั้น ถ้างานที่เรายังไม่พอใจก็ขอคิดแค่ต้นทุน มีคนซื้อช่วยให้เรามีเงินมาหมุนทำต่อไป แน่นอนในทางธุรกิจมันไม่เวิร์ค แต่เราตั้งเป้าไว้ว่า วันหนึ่งแบรนด์เราจะขายแพงได้ ไม่ใช่เพราะเอาเรื่องเล่านำ แต่เพราะสินค้ามันถูกวิจัยพัฒนาคุณภาพสินค้าดี จนเรามั่นใจที่จะตั้งราคาสูงได้

ตอบโจทย์ Stake holder

การทำกิจการเพื่อสังคม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอคือ  Stake holder หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งกลุ่มหลักที่สำคัญ คือ กลุ่มบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัวของเขา นอกเหนือจากกระบวนการบำบัดพัฒนาจากการทำงานทอแล้ว เป้าหมายที่ต้องบรรลุคือ การสร้างงานมีอาชีพและรายได้

คุณวริศรุตา : การทำงานกับกลุ่มครอบครัวในโครงการอรุโณทัยฯ เขาใช้การทอผ้าเป็นงานบำบัดตามหลักวอลดอร์ฟเน้นคุณค่าความเป็นมนุษย์และเป็นกระบวนการทำงานบุคคลต่อบุคคลพัฒนากันไปตลอดชีวิต งานทอจึงบรรลุเป้าหมายการพัฒนาบุคคล จบด้วยตัวมันเอง และกว่าจะได้ผ้าแต่ละผืนกินเวลาไม่ต่ำกว่า 4 – 6 เดือน ตอนนี้เราใช้ผ้าของโครงการฯ น้อยลง คือตั้งใจว่าจะต้องพัฒนากระบวนการผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพก่อนที่จะนำผ้าของน้องมาใช้ ไม่อยากทำผ้าเสียอีก เราเคยทอเอง รู้ดีว่าแต่ละผืนมันมีค่ามากขนาดไหน

จังหวะนั้นเราอยากได้ผ้าย้อมธรรมชาติจากกลุ่มแม่บ้านมาผสมในงาน ค้นไปเจอกลุ่มแม่บ้านชุมชนหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี ก็เดินทางไปหลายรอบ จนไปเจอว่าที่นี่มีโรงเรียนอุบลปัญญานุกูลสอนเด็กพิเศษหลากหลายกลุ่มผ่านการงานอาชีพต่างๆ การทอแบบซาโอริก็เป็นหนึ่งในทางเลือก แน่นอนการสอนเด็กพิเศษในโรงเรียนต่างจากการทำงานเพื่อบำบัด เขาฝึกเด็กเพื่อให้มีอาชีพสร้างรายได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราเคยตั้งใจไม่ทำงานกับมูลนิธิหรือองค์กรอะไรก็ตามที่ช่างทอเราไม่ได้เงิน แต่ที่ รร.อุบลปัญญานุกูล เขาแบ่งรายได้จากการขายให้น้องครึ่งหนึ่ง

งานเดิมที่น้องทำอยู่ใช้ไหมพรม พอใช้ไปมันเป็นขุยง่าย แต่เขาไม่มีทุนซื้อไหมหรอก คุณครูบอกว่าโครงการนี้จะปิดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เช่น ปิดเมื่อไหมหมดเพราะเขาสู้ราคาไม่ไหว และของจะขายได้เมื่อมีคนมาเยี่ยม ปริมาณซื้อไปแต่ละครั้งก็ไม่เยอะ เราก็เลยตกลงกับโรงเรียนด้วยการรับซื้อทั้งหมด และขอจัดส่งไหมไปให้ (โดยที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าไหมที่เราเห็นๆ นี่กระสอบละเป็นหมื่นนะคะ หัวเราะ..)

หน้าที่เราคือสนับสนุนอุปกรณ์ ช่วยดูลวดลาย เปลี่ยนจากไหมพรม ซื้อไหมมาให้ทดลองเยอะมาก เพราะเรายังไม่รู้ว่าตัวไหนดีที่สุด น้องๆ ช่างทอ เขาไม่เคยได้จับไหมแบบต่างๆ ก็เลยสนุกมากชอบมาก ชอบไหมฟูๆ เดิมมีน้องมาเรียนทอแค่ 3 – 4 คน ตอนนี้มี 10 คน ครูก็อยากสอนเพราะอยากให้เด็กมีรายได้ จากเดิมรับงานกลุ่มแม่เปางานแต่ละชิ้นใช้เวลาหลายเดือนเราก็ไม่ต้องเตรียมทุนอะไรมาก แต่ตอนนี้งานกลุ่มที่อุบลฯ เริ่มเยอะ เพราะเป็นโรงเรียนประจำ ช่างมีเวลาทอมาก บางเดือนเราได้งานมา 4 ลังใหญ่ ถ้าเราไม่มีเงินหมุนคือตายแน่

เราทำงานตั้งแต่ต้นทางคือเลือกไหมส่งไปให้ แต่ไม่กำหนดสี อยากเล่นสีไหนก็เล่นเลยตามที่น้องอยากทำ และรับซื้อทุกผืน บางผืนอาจเอาไปทำอะไรไม่ได้ แต่เรารับหมด เป็นการการันตีรายได้พื้นฐานให้เขาแน่นอน ในอนาคตเรามีแผน เมื่อเราอยู่ตัวจะมีคอมมิชชั่นต่อชิ้น เพราะตอนนี้เราไม่รู้ว่าหนึ่งผืนใครทอบ้างเกิดจากการสามัคคีร่วมใจกัน แต่ต่อไป เรามีกระบวนการที่จะรู้ว่า ใครทำบ้าง แล้วแบ่งรายได้ไป ขายได้ รายได้ก็เพิ่ม

คนมักคิดว่าเราขายดี ขายแพง เงินไปไหน ทำไมต้องมีกำไร ?

เอาความพิการมาหากินหรือเปล่า ?
ใช่ค่ะ เราเอาคนพิการมาหากิน

เพราะเราต้องการให้เขา หากินได้

ทอฝันให้ยั่งยืน

การลงไปทำงานในพื้นที่ทำให้คุณวริศรุตาเห็นอุปสรรคต่างๆ ที่ต้องนำมาปรับ/ขยายรูปแบบการทำงานที่ตอบสนองความต้องการหรือโจทย์ใหม่ในเส้นทางที่บุคคลพิเศษต้องเติบโตขึ้น

โปสเตอร์ (46)

คุณวริศรุตา : น้องๆ ในโรงเรียนอุบลปัญญานุกูลถือเป็นแหล่งผลิตหลักของเรา ปีนี้มีน้องบางส่วนที่กำลังจะเรียนจบพวกเขาต้องกลับไปอยู่บ้าน เป็นจังหวะชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งกิจวัตรที่เปลี่ยนไป ครอบครัวที่ไม่เคยดูแลหรืออยู่ด้วยกันนานๆ เพราะน้องอยู่รร.ประจำมาตลอด การทำงานทอต่อที่บ้านก็แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะกี่ตัวหนึ่งราคาหลายหมื่น ยังจะค่าไหมอีก เราเลยริเริ่มเอากี่ทอมือพกพาและจัดครูเดินทางไปทดลองสอน เพื่อให้น้องทำงานที่บ้านได้ กี่ขนาดเล็กลง ดูเหมือนง่าย แต่ไปครั้งแรกน้องบางคนปาทิ้งเลย มันมีรายละเอียดที่ต้องฝึกใหม่ และเขาอยู่กับกี่ใหญ่มาตั้งแต่เด็ก

ซึ่งในการเรียนรู้ครั้งใหม่นี้ พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมเพราะน้องต้องฝึกซ้ำ เราไปสอนทุกบ้านไม่ได้ พ่อแม่ต้องรู้วิธีทำ เดิมออกแบบการสอนไว้ 5 ครั้ง เอาเข้าจริงต้องไป 10 ครั้ง เริ่มสอนไป 2-3 บ้านแล้วค่ะ เขาส่งงานมาให้เราเช็คคุณภาพ ทำจากชิ้นเล็กๆ ก่อน เราก็โอนเงินขวัญถุงไปให้ ที่สนุกคือเขาเล่นอะไรก็ได้ คิดลายเอง

โปสเตอร์ (34)

มีบางขั้นตอนที่เขาลืม เราก็เลยคิดจะทำคอร์สเรียนที่ดูได้ทั้งแบบออนไลน์และแผ่นซีดี ถ้าทำได้อย่างนี้เราจะสัญจรไปตามจังหวัดต่างๆ ในอนาคตเราอาจจะเก็บเงิน เช่น กี่เราได้ราคาทุนมาก็ขายราคาทุน เพื่อให้เขารู้สึกว่า นี่คือการลงทุนนะ เราการันตีว่ารับซื้อจริง แต่เอาของไปก็ต้องทอส่งมา ยังมีขนาดของกี่อีกที่ต้องทำวิจัยว่าขนาดไหนจึงจะเหมาะ

ตอนนี้งานของเราแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ งานทอเพื่อการบำบัด งานทอเพื่อฝึกอาชีพ และงานทอจากกลุ่มที่อยู่บ้าน Heartist ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มบุคคลพิเศษเท่านั้น แต่เป็นงาน สำหรับคนที่มีความต้องการพิเศษ  ยกตัวอย่าง มีคุณแม่ท่านหนึ่งติดต่อเรามา ลูกอายุ 11 ปี เป็นมะเร็งสมอง คุณแม่อยากให้น้องมีกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ เราเริ่มกระบวนการกับเขาด้วยการทอก่อน แล้วก็วางแผนกิจกรรมอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ให้น้องทำงานบนเฟรม from waste to worth คือให้ใช้ผ้าจะติด จะแปะ มัด ทำอย่างไรก็ได้ แต่ห้ามตัดออก น้องขยับได้แค่แขน เดินไม่ได้แล้ว เขาก็เป็น Heartist ได้ใช่ไหม เขาไม่ยอมแพ้ ยังทำงาน แบบนี้เป็นแรงบันดาลให้คนที่ยังอยู่ในบ้านอีกมากมาย กี่ทอมือนี่มีงานวิจัยเลยว่า ช่วยทั้งโรคซึมเศร้า สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอีก มันขยายต่อไปได้อีกมากมายค่ะ

โปสเตอร์ (66)

มีอะไรใน Heartist Hub

คุณวริศรุตา : เราไม่ได้เก่งกว่านักออกแบบ แต่เรารู้จักธรรมชาติของผ้าดีกว่าเขา เรารู้ว่าต้องโชว์จุดเด่นในงานของน้องอย่างไร ไม่ให้งานออกแบบมากลบไป รู้ว่าจะทำให้ผ้าแข็งแรงขึ้น มี 3 ขั้นตอนเป็นอย่างน้อย ซักเสร็จแต่ละชิ้นจะซับอย่างไร บางชิ้นรีดผ้ากาวสองรอบ บางชิ้นบอบบางมากต้องต่อผ้าแล้วเข้าเครื่องรีดร้อนประกบผ้าอีกทีถึงจะตัดได้ องค์ความรู้พวกนี้เราต้องจัดการให้เป็นความรู้ที่ส่งต่อ ทำซ้ำได้

อยากให้ Heartist เติบโตไปเป็น Hub หรือ ศูนย์กลางที่เป็นต้นแบบมีองค์ความรู้ (Know How)  กิจกรรมต่างๆ ขยายต่อไปถึงคนที่ขาด คนที่อยู่บ้าน ไปให้ถึงคนที่เห็นคุณค่าของงาน ครอบครัวเอาไปสอนลูกได้ วันหนึ่งเมื่อลูกทำได้ เอาของมาให้เราขาย มีโชว์รูมสินค้าที่ฝากขาย เราเป็นตัวกลางในการทำแบรนด์ให้ หรือน้องที่มาเวิร์คช้อป เราอยากให้เขามีโอกาสเป็นครู มีประสบการณ์ทำงานกับคนอื่นๆ  ให้เราเป็นตัวกลางระหว่างโลกของคนพิเศษหรือคนที่ขาดโอกาส กับโลกของคนทั่วไป

โปสเตอร์ (75)

บทเรียนสำคัญ

ในวัยเพียง 26 ปี คุณวริศรุตาเติบโตจากการทำงานร่วมกับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษอย่างไรบ้าง

คุณวริศรุตา : เราเคารพซึ่งกันและกันทั้งตัวน้องและงานของน้อง การออกแบบทั่วไป นักออกแบบจะออกแบบก่อนแล้วค่อยไปหาวัสดุ แต่งานนี้คือน้องคือผู้ออกแบบลายผ้ามาให้ เราคือผู้ช่วยน้องอีกที ทำอย่างไรให้ของมีมูลค่าเพิ่ม การใช้สีสันบางกลุ่มเขาทำงานเพื่อบำบัด เรากำหนดไม่ได้ งานไม่สมบูรณ์มีตำหนิ รับได้ไหม สำหรับเราตำหนิคือความแตกต่าง การกำหนดราคาเราไม่มองทุกอย่างเป็นต้นทุน เพื่อต่อรองกดให้ถูกลง แต่เราเห็นคุณค่าในงานแต่ละชิ้นที่กว่าจะทำออกมาได้มันคือเวลาสี่ถึงหกเดือน มันคืองานฝีมือ คือราคาที่เขาควรได้รับ ไม่สื่อสารแบบสร้างเรื่องราวให้น่าสงสารที่มองว่ามันขายได้ การขายอย่างเดียวหรือเปล่าที่เขาต้องการ น้องไม่ใช่เครื่องจักรที่ผลิตงานมาเพื่อขายอย่างเดียว น้องอยากได้การสนับสนุนอะไรอีกไหม ทั้งหมดนี้คือ ความเคารพ (Respect) และ วางตัวตน (Ego) ของตัวเองลง

ตอนนี้อายุ 26 บางทีคนอาจมองว่า เราควรเอาตัวเองให้รอดก่อน ค่อยไปช่วยคนอื่น แต่เราคิดว่ามันไปด้วยกันได้ แน่นอนเราหวังว่า วันหนึ่ง Heartist เลี้ยงดูครอบครัวคนอื่นได้ และเลี้ยงดูครอบครัวเราเองได้ด้วย และอยากให้ทุกคนที่มาเกี่ยวข้องได้รับผลตอบแทน.

โปสเตอร์ (19)


ขอขอบพระคุณ

Heartist , Minute Videos Thailand , ภาพประกอบบางส่วนจาก โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ 

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์ 


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

People+

THAI ART BRUT ARTIST

อะไรคือ ART BRUT อาร์ตบรุตมาจากภาษาฝรั่งเศสโดยศิลปิน “Jean Dubuffet” (ฌอง ดูบูฟเฟต์) ในปี ค.ศ.1945 แปลว่า ของเดิมหรือดิบหรือของที่ยังไม่ได้ขัดเกลา ในทางศิลปะจึงหมายถึง ศิลปินที่มิได้ผ่านทางสถาบันศิลปะโดยตรง สร้างผลงานขึ้นจากจิตใต้สำนึกของตนแสดงออกโดยไม่สนใจขนบวิธีหรืออิงสมัยนิยม ทั้งนี้มีผลงานมากมายที่มาจากกลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ผู้ที่มีความล่าช้าด้านเชาว์ปัญญา ผู้ที่มีความต้องการพิเศษด้านจิตใจ หรือ ผู้ที่วาดภาพโดย สปิริต(Spirit) อันหมายถึงจิตวิญญาณหรือแก่นแท้ในตัวตน

17200980_1438915946181271_3318350997200535076_n.jpg


เส้นทางอาร์ตบรุตในประเทศไทย

ปี 2015 ผลงานศิลปะนับร้อยชิ้นของ คุณพศิน สิงห์เสน่ห์ (Pasin Singhasaneh) มีโอกาสได้สื่อสารสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกผ่านนิทรรศการศิลปะ Self+Art Exhibition Therapy จัดแสดงขึ้น ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับครอบครัว และ Self+Art Borderless Art Museum (พิพิธภัณฑ์ศิลปะไร้พรมแดนเซลฟ์อาร์ต) ซึ่งกำลังก่อตัวอยู่ในเวลานั้น

16996018_1424619897610876_3003278930120294388_n

และในปีเดียว Social Welfare Organization GLOW (องค์กรสวัสดิการทางสังคมโกรว์) และ Borderless Art Museum NO-MA (พิพิธภัณฑ์ศิลปะไร้พรมแดนโนมะ) เดินทางเข้ามาทำการศึกษาค้นคว้าวิจัย ART BRUT (อาร์ตบรุต) ที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก

10653343_1023654057707464_3524597095984956560_n

ปี 2016 ที่จังหวัดชิกะประเทศญี่ปุ่นมีการแนะนำ คุณพศิน สิงห์เสน่ห์ ในฐานะ ศิลปิน ART BRUT ประเทศไทยคนแรก พร้อมผลงานศิลปะในนิทรรศการ ART BRUT FORUM’2016 จึงเป็นปีแรกที่ประเทศไทยได้รับเชิญ และหลายประเทศเริ่มรู้จัก ART BRUT ประเทศไทย

17553593_1462944110445121_4125686543741939548_n

ปี 2017 ที่ประเทศไทย ART BRUT เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในนิทรรศการศิลปะ ART BRUT IN THAILAND AND JAPAN เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ART BRUT JAPAN กับ ART BRUT THAILAND จัดแสดงผลงานศิลปะสู่สาธารณะของศิลปิน ART BRUT จากประเทศญี่ปุ่น 6 ท่าน จากประเทศไทย 2 ท่าน คือ คุณพศิน สิงห์เสน่ห์ และ คุณพิชญา (มะณอย) เลิศทรัพย์เจริญ (Pichaya (manoy) Lertsapcharoen) จัดขึ้นที่ Chulalongkorn University Museum จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปี 2018 ประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้มีการพัฒนา ART BRUT อย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศญี่ปุ่นภายใต้การส่งเสริมสวัสดิการด้านสังคมของรัฐบาลจากที่ผ่านมาและเพิ่มมากขึ้น


รู้จักศิลปินอาร์ตบรุตคนแรกของประเทศไทย

คุณพศิน สิงห์เสน่ห์ (อัย)


DSC_0095

ครอบครัวสิงห์เสน่ห์พบว่า คุณพศิน สิงห์เสน่ห์ (อัย) มีภาวะออทิซึ่ม เมื่อได้รับคำแนะนำจากคุณครูโรงเรียนอนุบาลที่เพิ่งเข้าเรียนว่า ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจการได้ยินของคุณพศิน ด้วยลักษณะบ่งชี้ คือ เขาแยกตัวจากกลุ่มเพื่อน ไม่ฟังคำสั่ง แม้จะมีการสื่อสารเป็นคำๆ แต่มีพฤติกรรมอื่นๆ เช่น เขย่งเท้า ชอบดูพัดลม ของหมุนๆ ฯลฯ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นออทิสติก คุณพศินจึงได้รับการดูแลกระตุ้นพัฒนาการต่างๆ จากโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และมีโอกาสเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนจบระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครอบครัวคือ คุณพ่อพิธาน และ คุณแม่กนกเลขา สิงห์เสน่ห์ ตัดสินให้คุณพศินออกจากระบบการศึกษาหลัก โดยครอบครัวจัดกิจวัตรประจำวัน กิจกรรมต่างๆ ให้เองตามที่เห็นเหมาะสมต่อพฤติกรรม ช่วงวัย เพื่อค้นหาความสนใจ พัฒนาความสามารถ ในขณะเดียวกันก็นำไปสู่เส้นทางที่ครอบครัวมีความสุขจากการใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน ปัจจุบันคุณพศินอายุ 26 ปี มีผลงานศิลปะที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น ศิลปินอาร์ตบรุตคนแรกของประเทศไทย

คุณพิธาน : ตอนที่ยังอยู่ในโรงเรียนเขาก็มีโอกาสทั้งเรียนร่วม และเรียนเฉพาะกลุ่มเด็กพิเศษ ช่วงที่ยังเล็กๆ อัยมีภาษาส่วนตัว วิ่งวน สมาธิสั้น ทำกิจกรรมได้ไม่นาน เขาไม่มีพฤติกรรมรุนแรง ไม่ทำร้ายเพื่อน แต่ก็เรียนรู้ได้ยาก ถึงม.3 โรงเรียนยังยินดีส่งต่อระดับมัธยมปลาย แต่ความจริงที่เราเห็นคือ อัยเขาเรียนวิชาการไม่ได้ การตีโจทย์เลขระดับประถมเขายังทำไม่ได้เลย ถ้าดันให้เขาไปต่อ เราคิดว่าน่าจะก่อความเครียดให้กับทุกฝ่าย

คนมักบอกว่าเด็กพิเศษมีอะไรบางอย่างให้หาให้เจอ หน้าที่เราก็คือ ช่วยจัดหาช่องทางให้เขาทดลองดูว่าไปได้ไหมทั้ง ดนตรี ไวโอลิน ขลุ่ย กลอง เปียโน ส่วนเรื่องกีฬาหรือการออกกำลังกายที่บ้านเราเน้นเป็นพิเศษมาตั้งแต่เล็กๆ เพราะคุณหมอก็เตือนไว้ว่าออทิสติกมีแนวโน้มจะหมกหมุ่นเมื่อฮอร์โมนเพศทำงานช่วงวัยรุ่น ก็เลยให้เขาฝึกตีเทนนิส ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ตั้งแต่เล็กจนทุกวันนี้กิจวัตรเขาคือออกกำลังตามตารางเช้า เย็นทุกวัน

คุณกนกเลขา : ส่วนเรื่องศิลปะ เราเปิดโอกาสให้เขาลองทุกอย่างทั้งงานไม้ งานปั้น และก่อนอัยจะออกจากสาธิตเกษตรฯ เขาเคยทำงาน ศิลปะบำบัดกับ อ.จุมพล ชินะประพัฒน์ (ครูแป๊ะ) อยู่แล้ว เราเลยขอให้อาจารย์มาช่วยสอนต่อที่บ้าน

Ajarn-2

จากครู สู่เพื่อน

จากการใช้ศิลปะเพื่อบำบัด สู่ การเปิดพื้นที่ให้ตัวตนได้เติบโต

คุณจุมพล : ผมรู้จักพศินตั้งแต่เขาอายุ 12 ปี ตอนนั้นเราเจอกันสัปดาห์ละครั้ง สองครั้ง ลักษณะของการทำงานเป็นศิลปะบำบัดโดยตรง หมายถึงเราทำงานกับข้อด้อยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตหรือการทำงานของเขา ยกตัวอย่างเช่น ภาพชุดนี้

เริ่มจากผมวาดภาพพฤติกรรมต่างๆ ของเขาที่เห็น แล้วก็ชวนคุย เขาตอบได้หมดว่าเป็นภาพกำลังทำอะไร จากนั้นให้เขาวาดเอง และชวนคุยต่อว่า ‘พศินกำลังทำอะไร’ เขาก็ตอบ และพูดต่อเองว่า ‘ทำไม่ได้’ (คาดเดาได้ไม่ยากว่าเขาคงถูกเตือนหรือห้ามอยู่เป็นประจำ) ช่วงที่เขาตอบว่าทำไม่ได้ ผมก็ส่งมาร์คเกอร์ให้เขากากะบาทลงบนรูปภาพ (ออทิสติกทำงานกับสัญลักษณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก)

หลังจากนั้นเราก็ติดภาพเหล่านี้ไว้ใกล้ๆ พื้นที่ทำงานศิลปะ ระหว่างทำงานผมคอยสังเกตเวลาที่เขาขยับท่าทางจะแสดงพฤติกรรมอะไร เราก็ชี้ภาพที่เขาเขียนไว้ แต่ไม่ได้ห้าม / แสดงอารมณ์ พฤติกรรมใดๆ ที่ดูเป็นการตำหนิ หรือควบคุม ใช้เวลาเป็นปีครับ พฤติกรรมค่อยๆ หายไปทีละอย่าง พฤติกรรมไหนหายเราก็จะนำรูปภาพนั้นออก แล้วก็ดูว่าจะกลับมาใหม่ไหม ปัจจุบันหายเกือบหมดแล้วเหลือบางอย่าง เช่น ยังชอบดูน้ำวนในโถส้วม ชอบเข้าห้องน้ำ แต่อยู่ในลักษณะที่เขาสื่อสาร บริหารจัดการ หรือควบคุมตัวเองได้

ทำศิลปะบำบัดมา 6 -7 ปี ข้อด้อยต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น บางเรื่องหายไปเลย ผมตั้งใจว่าจะหยุด ตอนนั้นพศินอายุ 18 – 19ปี แต่ผลงานศิลปะที่เกิดขึ้นจากกระบวนการบำบัดของเขาหลายๆ ชิ้นทำให้ผมเกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าเขาเป็นลูกเรา ทิศทางของเขาในวันข้างหน้าจะเป็นไปอย่างไร ด้วยความรู้สึกนี้ทำให้ผมตัดสินใจทำงานกับพศินต่อ

แต่ครั้งนี้ผมออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ที่ให้ความสำคัญกับตัวตนของพศิน ให้ความสำคัญกับผลงานศิลปะที่เขาสร้างขึ้น กระบวนการค่อยๆ สร้างสัมพันธภาพใหม่ คือ เพื่อน ไม่ใช่ผู้ให้-รับ การบำบัดอีกต่อไป

อาร์ตบรุตเคาะประตูบ้าน

คุณกนกเลขา :  บอกตรงๆ เราไม่รู้หรอกว่างานของเขาดีหรือไม่ดีอย่างไร พ่อแม่ก็เห็นว่าเขาวาดแต่ รูปบ้าน ทุกวัน อ.จุมพลอธิบายว่าแต่ละภาพมีความแตกต่างนะ อันนี้สีทึม สีสวย หลังคาใหญ่เล็ก หน้าต่าง … คือแต่ละชิ้นที่วาดมีความหมาย ก็ชวนว่า น่าจัดนิทรรศการแสดงงานนะ เพราะผลงานเขาใช้ได้

16939619_1424620184277514_1682414896924651924_n

คุณพิธาน : พ่อมองว่ามันคืออีกหนึ่งวิธีในการจัดหาโอกาส ความเป็นไปได้ให้เขา อันไหนไปได้ดีจะได้ไปต่อ พอ อ.จุมพล บอกว่างานของเขาน่าสนใจ ถ้าไม่ลองเราก็ไม่รู้ ซึ่งพอจัดนิทรรศการผลการตอบรับค่อนข้างดีนะครับ เราเจอศิลปินหลายท่านในงานบอกว่างานของพศินใช้ได้ พองานได้เผยแพร่ผ่านสื่อ ทางญี่ปุ่นก็ติดต่อเข้ามาทาง อ.จุมพล เขามาหาศิลปินอาร์ตบรุตในไทย อาจารย์ก็แนะนำพศิน ทางญี่ปุ่นก็ขอเข้ามาดู สรุปว่าเราก็ส่งจนถึงที่สุดล่ะครับ ว่าความเป็นไปได้มันจะไปถึงจุดไหน

DSC_0005

คุณจุมพล : ผลงานของพศินเค้ามีเสน่ห์มากมีแรงดึงดูดบางอย่างโดยเฉพาะการทำงานกับสี และฝีแปรง ยิ่งตอนผสมสีนี่สนุกและน่าทึ่งมาก มันเป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้ของเขาเอง พศินไม่เคยเรียนทฤษฏีสี ตอนทำงานศิลปะกันเรามีให้เพียงห้าสีเท่านั้น แต่เขาผสมสีได้ทุกสีที่ต้องการให้ปรากฏในผลงาน งานของพศินไม่เน้นรายละเอียดในเนื้อหา อาจเรียกว่าความคิดสร้างสรรค์ในรูปภาพของเขา คือ เรื่องสี

พศินชอบวาดรูปเป็นสัญลักษณ์โดยเฉพาะ บ้าน มีคำถามมากมายเกิดขึ้นว่าทำไมไม่วาดอย่างอื่น และช่วงแรกเป็นบ้านหลังเดียว รูปทรงเดียว ผมก็ตอบไม่ได้ แต่อยากชวนมองว่ามันก็ไม่ได้เสียหายตรงไหน และงานมีเรื่องราวสีสันสมบูรณ์ ถ้าเราไม่คาดหวังและต้องการแต่ศิลปะตามขนบทั่วไป

มองอีกมุม บ้าน อาจเป็นตัวแทนในหลายเรื่องราวของชีวิต จิตใจ เป็นความรู้สึกปลอดภัย เป็นสิ่งมีค่ามากที่สุดก็เป็นได้ เป็นทั้งเพื่อน เป็นความเหงา ความรักความอบอุ่น ความปลอดภัย ความสุข ความทุกข์ ความโดดเดี่ยว อื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งมันมากกว่า เป็นที่อยู่ที่กินที่นอน

คุณกนกเลขา : เราพาพศินไปร่วมงาน ART BRUT FORUM’2016 ที่ญี่ปุ่น ที่นั่นเขาไม่เน้นการดูผลงาน แต่เน้นกระบวนการขั้นตอนที่มาของงาน จุดเด่นที่เขาพูดถึงพศินคือ องค์ประกอบของภาพใช้สีได้ดี ผสมสีแม่นยำ เพราะอัยผสมใหม่ทุกทุกครั้งและออกมาเหมือนเดิม

คุณพิธาน : การไปแสดงงานในที่ต่างๆ ผมว่าพศินเขารู้แค่ว่าได้ไปทำงาน ไปวาด ไปกิน คิดว่าเขาไม่รู้หรอกว่าอะไรเป็นประโยชน์กับใคร เขาเป็นศิลปินที่มีความสุข เพราะว่าสร้างสรรค์งานที่ตัวเองอยากสร้าง ใครชม ไม่ชม เขาไม่รับรู้ ไม่ได้แสวงหาตรงนั้น ในแง่มุมนี้เขาอยู่เหนือศิลปินทั่วไปที่ทำงานออกมาอย่างน้อยคนชมซักคนก็ชื่นใจใช่ไหม แต่คนนี้ทำ เสร็จคือจบ ไม่แคร์แล้ว จะเก็บจะทิ้งยังไม่แคร์เลย

12745990_1018068034932733_9048885891233148691_n

คุณจุมพล : คุณค่าของการนำพศินไปสู่ศิลปินอาร์บรุต เขาอาจไม่รับรู้อะไร สิ่งที่เขาได้คือ มีโอกาสทำงานศิลปะที่แสดงความรู้สึกจากจิตใจอย่างอิสระ ได้คิดสร้างสรรค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสี ผมว่ามันเป็นการทำงานที่บริสุทธิ์มาก พศินไม่สนใจทฤษฏีศิลปะใด ไม่อิงสมัยนิยม อยากทำแบบไหนก็แบบนั้น เรียนรู้และสร้างพัฒนาการด้วยตัวเอง เรียกว่าเป็นแก่นแท้ในตัวตนของเขาเลยก็ว่าได้

เราทำแบบนี้มานาน 7 – 8 ปี แล้วอาร์บรุตก็มาหาเขา ครอบครัวไม่ได้ไปเสาะแสวงหา และวิธีการทำงานขององค์กรที่แสวงหาศิลปินนี้ เขามีการทำวิจัยต่อเนื่องเป็นสิบปี กระบวนการเก็บข้อมูลการทำงาน,ผลงาน เขามาดูการทำงานจริง คุยกับครอบครัว  นี่นับเป็นศักยภาพของตัวพศินเองโดยแท้ (อาร์ตบรุตเรียกว่าของเดิมหรือของที่ไม่ได้มีการปรุงแต่ง หรือดิบ) คุณค่าที่ผมเห็น คือ ความงดงามของชีวิตที่จริงใจ ใสสะอาดบริสุทธิ์ อาร์ตบรุตอาจเป็นส่วนเสริม ส่งต่อให้ผู้คนได้เรียนรู้ และเข้าใจกับความหมายของความงดงามแห่งชีวิตบนโลกใบนี้ได้บ้าง

เปิดพื้นที่..เป็นไปได้อีกมากมาย

คุณพศิน และ คุณพิธานมีโอกาสแสดงงานร่วมกันในงาน Thailand International Kite Festival 2018 ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยคุณพศินเพ้นท์ว่าวร่วมกับกลุ่มคนหนุ่มสาวที่รักงานศิลปะ นำว่าวมาต่อกันเป็น ‘ว่าวสาย’ แสดงงานในพื้นที่ Wind Garden ซึ่งเป็นงานอดิเรกตามความสนใจของคุณพิธานWorkshop-2

JFlag

คุณพิธาน : อ.จุมพลแนะนำว่าพศินน่าจะทำงานศิลปะมารวมกับงานของพ่อ ผมชอบและมีโอกาสทำงาน Wind Garden แสดงในงานว่าวหลายแห่ง ก็ให้เขาทำธงมาประดับในงาน เพ้นท์ว่าว ดีนะครับ คือเราไม่ต้องรอให้มีงานนิทรรศการก่อนค่อยเอางานเขาไปแสดง ถือเป็นการเปิดช่องทางให้ทั้งคนพิเศษและศิลปินหรือคนที่ชอบทำงานศิลปะ มีพื้นที่ทำงานร่วมกัน

คุณกนกเลขา : ถือเป็นงานแรกที่ให้เขามานั่งทำงานในพื้นที่อย่างนี้ อุปสรรคคืออากาศที่ร้อนมาก ครั้งต่อไปอาจให้ทำงานสะสมไว้ส่วนหนึ่ง ไปวาดเพิ่มในงานเพื่อรวมงานขึ้นแสดง แต่โดยรวมเขาทำได้ดีค่ะ เพราะในพื้นที่อำนวยความสะดวก มีร้านอาหาร ห้องน้ำ ฯลฯ

การที่คุณพศินมีโอกาสได้ทำงานศิลปะที่เผยศักยภาพบางอย่างในตัวออกมา สร้างสรรค์งานแก่สังคมโดยรวม และสังคมของคนพิเศษเอง หากเขาจะเป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ ให้ใครบ้าง เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว 

บุคคลที่มีความต้องการพิเศษแต่ละคนเสมือนต้นไม้แต่ละชนิด ที่ต้องการ การดูแลอย่างเข้าใจ เมื่อเขาพร้อมก็จะผลิดอกไม้ที่งดงาม ‘ ในแบบเฉพาะของเขา ‘

ดั่งเช่นต้นไม้ของ คุณพศิน สิงห์เสน่ห์ ที่ได้ผลิดอกเบ่งบานแล้ว


ขอขอบพระคุณ

ครอบครัวสิงห์เสน่ห์  ภาพประกอบบางส่วนจาก Self+Art Borderless Art Museum 

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์ (บ้านสิงห์เสน่ห์)  นัทที บุญสงค์ (Thailand International Kite Festival 2018)


Beam Talk คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

Midnight Beam, People+

Outsider Music: Wesley Willis

สูตรสำเร็จไร้พรมแดน : ดนตรีคนนอกของศิลปินพิเศษ เวสลี่ย์ วิลลิส

  บทความโดย ธรรมชาติ จันทพลาบูรณ์

ในบรรดาศาสตร์และศิลป์จำนวนมากของวงการดนตรี กลุ่ม “ดนตรีคนนอก” (Outsider Music) นั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นหมวดหมู่ดนตรีที่แปลกพิสดารที่สุดหมวดหมู่หนึ่ง จากการเล่นดนตรีที่อยู่นอกกรอบธรรมเนียมการร้องเพลงหรือเล่นดนตรีที่คนทั่วไปจำกัดความว่า “ไพเราะ” อย่างสิ้นเชิง ซึ่งเหล่านักดนตรีคนนอกเองไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าพวกเขากำลังแหกกฎทฤษฎีดนตรีอย่างสุดโต่งอยู่

เหล่า “ศิลปินคนนอก” ไม่ได้อยู่นอกกรอบดนตรีกระแสหลัก เพราะพวกเขามีแรงจูงใจที่จะปฏิวัติวงการด้วยเทคนิคการเล่นใหม่ๆ เหมือนศิลปินเพลงทางเลือกทั่วไป แต่พวกเขาสร้างดนตรีรูปแบบพิสดารด้วย ‘สัญชาติญาณ’ ที่มาจากปูมหลักที่ ‘แตกต่าง’ ของพวกเขาล้วนๆ สิ่งที่พวกเขาเล่นออกมาอาจประหลาดเสียจนไม่มีนักดนตรีมืออาชีพคนไหนเล่นตามได้ หรืออาจเกิดจากการปล่อยให้ ‘อาการพิเศษ’ ของพวกเขานำทางเสียงดนตรีที่เล่นให้ออกมา จนผิดแผกจากดนตรีปกติอื่นๆ แทบทั้งหมด

เวสลี่ย์ วิลลิส (Wesley Willis, 1963-2003) เป็นตัวอย่างของศิลปินคนนอกที่น่าสนใจมากคนหนึ่ง เขาเป็นชายแอฟริกันอเมริกันร่างใหญ่ ผู้หากินกับศิลปะและดนตรีตามท้องถนนของเมืองชิคาโก้ รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เขาเดินทางไปไหนมาไหนพร้อมวอล์คแมนและคีย์บอร์ดคู่ใจติดเนื้อตัวที่ไม่ได้สะอาดนัก เพื่อไปอัดเพลงที่เขาแต่งเองลงเทปขายตามคอนเสิร์ตต่างๆ ทั้งในฐานะผู้ชมและผู้แสดง

เมื่อเวสลี่ย์ถูกใจใครเข้า เขาจะทักทายพวกเขาด้วยการโหม่งหัวที่หน้าผากของพวกเขา ซึ่งเขาทำเป็นกิจวัตรเสียจนห้าผากของเขามีรอบด่างอยู่ตรงกลางเป็นริ้วรอยประจำตัว

นอกจากงานดนตรีของเขาแล้ว เวสลี่ย์มีงานอดิเรกคือการนั่งรถเมล์ชมทิวทัศน์ในเมืองชิคาโก้ แล้ววาดภาพทิวทัศน์เหล่านั้นด้วยปากกาลูกลื่น ซึ่งเขามักนำภาพเหล่านี้ไปขายหรือใช้เป็นปกอัลบั้มของเขา

แม้เวสลี่ย์ วิลลิส ดูเป็นคนที่กระตือรือร้นและบ้าบิ่น แต่เขามีปูมหลังที่แร้นแค้นเป็นอย่างมาก เขาเกิดในครอบครัวที่ยากจน ในการดูแลของพ่อนักธุรกิจริมถนนที่ไม่ค่อยจะดูแลเขากับพี่น้องอีกเจ็ดคนเท่าไหร่นัก ในปี ค.ศ. 1986 เวสลี่ย์ถูกหมอวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง (Chronic Schizophrenia) อันเป็นต้นตอที่ทำให้เขามีพฤติกรรมประหลาด อารมณ์ไม่คงที่ และระดับสติปัญญาไม่สูงนัก

อาการของเวสลี่ย์รุนแรงขึ้นเมื่อแฟนใหม่ของแม่ขโมยเงินเก็บของเขาไป และเอาปืนจ่อหัวเขาไม่ให้ขัดขืน ตั้งแต่นั้นมาโรคจิตเภทของเวสลี่ย์ก็กำเริบหนักจนทำให้เขาได้ยินเสียงในหัวของตัวเองเป็นกิจวัตร และเขามักเรียกเสียงเหล่านี้ว่าเป็น ‘เสียงของปีศาจ’ ที่ตามหลอกหลอนเขา

ด้วยเหตุนี้ ดนตรีที่เวสลี่ย์ร้อง เล่น แต่ง และอัดเอง จึงออกมาพิสดาร แตกต่าง และไม่มีใครลอกเลียนได้… ยกเว้นแต่ตัวเขาเอง เวสลี่ย์มักกล่าวกับคนที่มาสัมภาษณ์ว่า เขาเคยแต่งเพลงมาเป็นหมื่นๆ เพลงด้วยตัวเอง การพูดแบบนี้อาจดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าคุณได้ลองฟังเพลงของเขาสักสองสามเพลง ก็อาจไม่แปลกใจเลยที่เวสลี่ย์กล่าวอ้างอะไรแบบนั้น

ถึงเวสลี่ย์จะเป็นศิลปินใต้ดินทุนต่ำที่มีชื่อเสียงอยู่ในระดับรากหญ้า แต่สิ่งที่ทำให้ดนตรีของเขาแตกต่างกลับเป็น “สูตรสำเร็จ” เพลงของเขามีโครงสร้างเหมือนกันมากเกือบร้อยทั้งร้อย การนั่งฟังอัลบั้มของเขาทำให้ผู้ฟังปั่นประสาทตัวเองไปกับสิ่งที่ศิลปินคนหนึ่งอยากจะพูด พูด และ พูดอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดหย่อน
เพลงเดี่ยวทุกเพลงของเวสลี่ย์ วิลลิส มีดนตรีประกอบมาจากคีย์บอร์ดของเขาทั้งหมด ซึ่งเวสลี่ย์ไม่กลัวที่จะใช้เมโลดี้เดิมในเพลงหลายๆ เพลง กระทั่งใช้ดนตรีประกอบเดิมซ้ำทั้งดุ้นในเพลงใหม่ แต่เปลี่ยนความเร็ว เปลี่ยนคีย์หลัก หรือใส่เอฟเฟกต์แปลกๆ เข้าไปประกอบเพลงหรือดัดแปลงเสียงร้องของเขา ซึ่งเสียงที่เพิ่มเข้าไปก็มีทั้งที่เข้ากับเพลงบ้าง ไม่เข้าบ้าง

นอกจากนี้ การร้องเพลงของเวสลี่ย์เองก็มีสูตรสำเร็จตายตัวเช่นกัน เขาร้องเพลงในแบบแผน/ท่อนกลอนสลับท่อนสร้อย (verse-chorus-verse-chorus-verse-chorus) เหมือนกับเพลงป๊อปกระแสหลักทั่วไปทุกเพลง แต่ว่าในท่อนกลอนนั้น เวสลี่ย์จะพูดเนื้อร้องเป็นประโยคคำพูดเร็วๆ รัวๆ เหมือนท่องบทพูด และตะโกนร้องชื่อเพลงนั้นซ้ำๆ กันให้เป็นท่อนสร้อย เมื่อเขาจะจบเพลงทุกเพลง เขาจะกล่าวประโยคติดหูประจำตัว

“Rock over London, rock on, Chicago”

ตามด้วยประโยคโฆษณาของผลิตภัณฑ์อะไรซักอย่างที่เขาจำได้ (เช่น “Wheaties, the Breakfast of Champions”, หรือ “Mitsubishi, the word is getting around”) ตามลำดับแบบนี้ทุกครั้งไป

เวสลี่ย์ต้องใช้เวลาดิ้นรนกับเสียงในหัวของเขาจนไม่มีเวลามานั่งคิดว่าเขาจะร้องเพี้ยนหรือหลงแค่ไหน เขาเน้นการร้องเพื่อถ่ายทอดอารมณ์หลุดๆ ป่วยๆ แต่น่าเอ็นดูของเขาไปเต็มที่
จุดเด่นที่ชัดเจนที่สุดในเพลงของเวสลี่ย์ วิลลิสนั้น คือเนื้อร้อง/เนื้อหาของเพลงที่เขาแต่ง (แน่นอนว่าทั้งมีสาระบ้าง ไร้สาระบ้าง แล้วแต่ว่าอารมณ์ในหัวที่ปั่นป่วนของเวสลี่ย์จะพาไปทางไหน) เขามักจะใช้ ดนตรีเป็นรูปแบบการบันทึก และสื่อสาร เกี่ยวกับผู้คน เหตุการณ์ต่างๆ ที่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนของเขา (“Tammy Smith”, “Rick Sims”) หมอที่เคยดูแลและให้ยาเขาในศูนย์บำบัด (“Aftab Noorani”) นักดนตรีชื่อดังในยุค 1990s (“Radiohead”, “Kurt Cobain”) หรือรายละเอียดการแสดงคอนเสิร์ตของวงใต้ดินที่เขาเคยไปดู (“Urge Overkill”, “Skrew”) เวสลี่ย์สามารถนำสูตรเพลงสำเร็จของเขามาเปลี่ยนให้เป็นความบันเทิงตามสไตล์ของเขาเองได้หมดทั้งสิ้น

ผลงานสำคัญ เขาเคยแฉเรื่องโทษของการกินฟาสต์ฟู้ดทำให้เสียสุขภาพออกมาเป็นเพลง “Rock n’ Roll McDonald’s” ซึ่งอาจเป็นเพลงที่คนรู้จักมากที่สุดของเขา เพราะได้กลายเป็นเพลงประกอบสารคดีสุดเกรียน “Super-size Me!” ของ Morgan Spurlock

เพลงบางเพลงของเวสลี่ย์ยังถูกแต่งออกมาเพื่อระบายเล่าเรื่องภายในหัวของเวสลี่ย์เอง ทั้งประหลาดและเหมือนเรื่องโปกฮาตามจินตนาการของเขา เช่น เรื่องของสัตว์ประหลาดครึ่งไก่ครึ่งวัวที่ไล่แทงก้นเขาในฤดูหนาวของเพลง “The Chicken Cow” และเพลงระบายความแค้นส่วนตัวของเขาต่อฮีโร่คนหนึ่งที่ล้อเลียนเขาและเรียกเขาว่าขอทาน ในเพลง “I Whupped Batman’s Ass” (ฉันหวดตูดแบทแมน) ความห่ามแบบไม่เกรงใจใครของเวสลี่ย์เป็นเสน่ห์แบบดิบๆ ในเนื้อร้องของเขา การไร้ความยับยั้งชั่งใจในหัวทำให้เขาตะโกนเนื้อร้องขวามผ่าซากสุดๆ อันกลายเป็นเรื่องปกติในเพลงของเขา

แต่เพลงของเวสลี่ย์ไม่ได้มีแต่ความตลกและความห่ามเท่านั้น บางเพลงเขาเปิดใจระบายความทุกข์จากอาการจิตเภทอย่างตรงไปตรงมา เช่น ในเพลงช้าอย่าง “Outburst” และ “Chronic Schizophrenia” (เพลงประกอบของทั้งสองเพลงนี้เหมือนกันหมด ราวกับถูกคัดลอกมา มีแต่คีย์ทำนองที่เปลี่ยนไป ส่วนตัวเวสลี่ย์เองก็ยังคงพูดท่อนกลอนที่ไม่ได้คล้องจองกัน และยังร้องท่อนสร้อยเพี้ยนบ้างหลงบ้างเหมือนเดิม)

ซึ่งผมคิดว่า คุณอาจกำลังหลอกตัวเอง ถ้าบอกว่าไม่รู้สึกถึงความเศร้าของเวสลี่ย์ที่แสดงผ่านเพลงเหล่านี้ Chronic Schizophrenia: “But when I have bad luck, I’ll always hear evil voices talking to me vulgar. Everywhere I go riding on the CTA bus, all I hear is vulgarity. I hear no music at all” แต่เมื่อฉันโชคร้าย ฉันจะได้ยินเสียงชั่วร้ายพูดหยาบคายใส่ฉันตลอดเวลา ได้ยินแต่เรื่องหยาบคายทุกที่ๆ ฉันนั่งรถเมล์ชิคาโก้ไป ฉันไม่ได้ยินดนตรีอะไรเลย

บทเพลงของเวสลี่ย์ไม่ใช่งานที่ค่ายเพลงขนาดใหญ่สนใจ ไม่ว่าเขาอาจจะถ่ายทอดอารมณ์ในรูปแบบใหม่ได้มากแค่ไหน เขาไม่มีวันผ่านรอบคัดเลือกของรายการประกวดแข่งร้องเพลงทั่วไปแน่ๆ

แต่เขาไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น

วงการดนตรีพั้งค์ (punk) เป็นพวกที่ไม่สนใจเรื่องความเป็นมืออาชีพ มากกว่าความแตกต่าง และชุมชนชาวดนตรีที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมนี้ได้กลายเป็นแหล่งรวมแฟนคลับและผู้สนับสนุนที่สำคัญของเวสลี่ย์
อีริค รีด เบาวเชอร์ หรือ เจลโล่ เบียฟรา (Jello Biafra) อดีตนักร้องนำวงพั้งค์หัวการเมือง เดด เคนเนดี้ส์ (Dead Kennedys) เป็นแฟนคลับตัวยงของเวสลี่ย์ และรับเขาเข้าค่ายเพลง ออลเทอร์เนทีฟ เทนทาเคิลส์ (Alternative Tentacles) ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง เพื่อนำเพลงของเขามาเรียบเรียงเป็นอัลบั้มรวมเพลง Greatest Hits ถึง 3 อัลบั้มด้วยกัน (*Greatest Hits Vol. 1 เป็นอัลบั้มที่ผู้เขียนใช้เป็นแหล่งอ้างอิงหลายเพลงในบทความนี้)

MI0000078382

นอกจากความประทับใจในความซื่อสัตย์ และตรงไปตรงมาที่ไม่เหมือนใครในเพลงของเวสลี่ย์แล้ว พวกเขายังชื่นชมแรงใจและความสู้ชีวิตของเขา เพราะเขามีแรงผลักดันที่จะประสบความสำเร็จสูงมาก และไม่ปล่อยให้ความยากจน ปัญหาครอบครัว การเหยียดสีผิว อาการจิตเภทเรื้อรัง หรือโรคอ้วนมาหยุดยั้งเขาได้

เวสลี่ย์ยังเคยทำงานร่วมกับวงดนตรีร๊อคของตัวเองในระยะหนึ่ง ใช้ชื่อว่า เดอะ เวสลี่ย์ วิลลิส ฟิอาสโก้ (The Wesley Willis Fiasco) ในช่วงปี ค.ศ. 1996 ทำให้เขาได้แต่งเพลงที่ต่างจากเพลงเดี่ยวของเขาเล็กน้อย (ดนตรีเต็มวงสตริงคอมโบ ท่อนกลอนนานขึ้น ท่อนสร้อยซ้ำมากขึ้น) แต่เขายังกลับมาบันทึกเพลงเดี่ยวขายอยู่เรื่อยๆ

เวสลี่ย์ วิลลิส เสียชีวิตด้วยโรคลูคีเมียในขณะที่เขามีอายุเพียง 40 ปี แต่เรื่องราวชีวิตและดนตรีของเขายังคงเป็นที่กล่าวถึงในหมู่คนดนตรีนอกกระแส บางคนชื่นชมในความเป็นนักร้องและนักแต่งเพลงของเขาที่ไม่มีใครเหมือน ในขณะที่บางคนอาจมองความสำเร็จของเขาเป็นการขายอาการทางจิตเหมือนงานโชว์ตัวประหลาดในละครสัตว์

การเข้าวงการดนตรีสำหรับคนอย่างเวสลี่ย์นั้นไม่ใช่เรื่องที่สวยหรูเลย เขาไม่รู้มารยาทสังคมมากนัก เมื่อมีคนมาสัมภาษณ์เขาตอบแค่ประโยคสั้นๆ เสียส่วนใหญ่ และเขายังเคยโดนนักต้มตุ๋นหลอกซื้อคีย์บอร์ดแบบกดราคา และกลับมาขายใหม่เต็มราคาอยู่หลายครั้ง

แต่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า การที่เขาเลือกเป็นนักดนตรีร็อคเป็นการใช้ชีวิตที่คุ้มค่ากว่าการอยู่ในสถานบำบัด เวสลี่ย์ได้ใช้มันสมองที่แปลกแยกของเขาสร้างสรรค์บทเพลงสูตรสำเร็จไร้พรมแดน ที่นำความสุขมาให้คนที่พร้อมจะรับฟังเขา เท่านั้นก็ทำชีวิตของเขามีคุณค่าความเป็นมนุษย์ในแบบฉบับของตนเองได้แล้ว

“Rock over London. Rock on, Mr. Willis.”


อ้างอิง
– Irwin Chusid – Songs in the Key of Z: The Curious Universe of Outsider Music. A Capella Books, 2000 หน้า xi-xi, 93-99
– Video documentary: https://www.youtube.com/watch?v=FVE1ZWT_rc0
– Noisey article: “Remembering Wesley Willis, Ten Years Later” https://noisey.vice.com/en_au/article/rqwpwr/remembering-wesley-willis-10-years-later
– บทความการเสียชีวิตใน Rolling Stone: https://www.rollingstone.com/music/news/wesley-willis-dies-20030822
– Wesley Willis – Greatest Hits, Vol. 1. 1995, Alternative Tentacles [CD].
ที่มาภาพประกอบ
-https://www.discogs.com/artist/309959-Wesley-Willis
-http://www.monzy.org/wesley
-https://www.allmusic.com/album/greatest-hits-mw0000177965
-https://www.flickr.com/photos/antipyrine


Beam Talk คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

People+

SUNFUN WEAVING

จุดเด่นผ้าทอของ SUNFUN WEAVING คือ สีสันที่เล่นกันอย่างสนุกสนานสดใส สะท้อนบุคลิกนิสัยเจ้าของงานได้อย่างชัดเจน ชวนคุณติดตามเส้นทางที่มาของการทำงานในสตูดิโอร่วมกันของครอบครัวสกุลดิษฐ์ คุณไกรลาศ สกุลดิษฐ์ (ซัน) และ คุณเกษณี สกุลดิษฐ์ (คุณแม่เกด)

พวกเขาต้องเตรียมพร้อมและละทิ้งบางอย่าง ก่อนที่จะพบกับรอยยิ้มและความสุขที่แตกต่าง

DSC_9563
คุณไกรลาศ สกุลดิษฐ์ (ซัน)
ผู้สร้างสรรค์งานทอ และเจ้าของสตูดิโอ
บ้านซันทอสนุก
SUNFUN WEAVING
Creative Weaving & Hobby studio

“ซันทำงานแฮปปี้ครับ แม่กับซันทอผ้าทุกวัน ทอผ้าไม่ยากครับ ปกติตื่นเจ็ดโมงเช้าจะอยู่บนห้องดูทีวีเล่นคอมก่อน (ดูอะไรบ้างคะ) ดูยูทูป (YouTube) ไม่ได้ดูหนังครับ ซันดูการ์ตูน โทมัส นอร์ดดี้ เบ็นเทน ลงมาอาบน้ำ ทานข้าวกับจับฉ่าย ไข่เจียว ปลานึ่ง เริ่มงานตอนสิบโมงครับ ช่วยแม่ทำงานไม่อยากให้แม่เหนื่อย งานอดิเรกอื่นๆ ซันชอบเล่นดนตรี เล่นเปียโนซันอ่านโน้ตได้ แล้วก็ตีแบตทุกวัน แม่มีความสุขมากเวลาเล่นแบตด้วยกัน

คุณเลือกคู่สีอย่างไรคะ สีถึงออกมาสนุกอย่างนี้ คุณนึกหรือเห็นสีในหัวก่อนจะเลือกไหมคะ ?
คุณซันไม่ตอบ แต่ทดลองเลือกและวางให้เราดู
DSC_9663
องค์ประกอบสีงานของคุณซัน มักจะมีคู่สีที่ดูเหมือนไม่น่าไปด้วยกันได้ บางทีมีสีสะดุ้ง แต่พอดูแล้วองค์ประกอบทั้งหมดแล้ว นอกจากสีสวยสดใส งานของเขามีเสน่ห์และเอกลักษณ์ชัดเจน

คุณชอบงานชุดไหนมากที่สุดคะ ? : ทำมา ชอบทุกอย่าง เลือกไม่ถูกเลย
งานของคุณมีสาวๆ ชื่นชอบ มาซื้อบ้างไหม ? : ไม่มีสาวๆ มาซื้อ มีแต่แม่วัยรุ่น (หัวเราะ)
พี่ช่างภาพเอ่ยว่าอยากได้ซักชิ้น ขอได้ไหม ? : นี่เป็นเวลาทำงาน ไม่ใช่เวลาพูดเล่นนะครับ (หัวเราะกันใหญ่)


คุณเกษณี สกุลดิษฐ์ (คุณแม่เกด)
ผู้จัดการ บ้านซันทอสนุก
SUNFUN WEAVING
Creative Weaving & Hobby studio

DSC_9604

“เราเปิดสตูดิโอทำงานร่วมกันมาจะครบ 3 ปีแล้วค่ะ ปีแรกดีมากเพราะพอเปิดสตูดิโอมาได้ไม่นาน ก็มี ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และรายการทีวี มาขอสัมภาษณ์ จากที่แรกๆลูกค้ามีแต่เพื่อนฝูงและคนรู้จัก ก็เริ่มทำให้มีคนวงนอกสนใจสั่งผ้าทอเข้ามา รอกันร้อยกว่าคิวเลย  ปีที่สองเป็นปีที่ทุกคนไว้ทุกข์เราทำงานโทนขาว ดำ เทา ซึ่งก็ไปได้ดี พอไม่มีสีให้เล่นเยอะ คุณแม่ก็เลยสอนแพทเทิร์นง่ายๆ ให้ซันได้ฝึกนับ วัด จากสีที่กำหนด พอมาปีนี้คุณแม่ก็เลยบอกให้ซันเลือกสีที่อยากทอ แล้วจัดเป็นเซ็ทๆเอาไว้ มีทั้งเซ็ทสีแรงๆ และเซ็ทสีหวานๆ งานก็จะมีสีและลายเส้นสนุกๆ มากขึ้น

เราทำงานคู่กัน ซันขึ้นเส้นยืนได้เองและมีหน้าที่ทอ ส่วนแม่ต้องช่วยร้อยฟืม ร้อยตะกอให้ ต้องร้อยสลับหน้าตัว หลังตัว ให้เรียงตามช่องฟืม งานค่อนข้างละเอียดพลาดไม่ได้ แม่เองก็ยังมีพลาดบ้าง พอซันทอไปจนถึงช่วงปลายด้ายที่ผูกกี่เอาไว้ ซันเขาจะเหยียบไม่ค่อยขึ้น แม่ก็ต้องปิดงานให้ เพราะเราอยากใช้ด้ายให้หมดจริงๆ ไม่ให้เสียเศษ

ส่วนการเลือกสีเขาจัดการเอง นอกจากลูกค้ากำหนดมาว่า อยากได้สีเขียวทั้งหมด น้ำเงินทั้งหมด หรือไม่เอาสีแดงนะ พอรู้โทนสีแม่ก็จะเตรียมพันด้ายเชดสีนั้นไว้ให้เขาเยอะๆ แล้วเขาก็มาเลือกในการต่อสลับเอง และถ้าเป็นงานอื่นๆ ก็จะปล่อยเขาเลือกสีอิสระเลย”

 

ก่อนซันทอแสง

คุณเกษณี : ตั้งแต่ซันยังเล็กๆ เราโชคดีที่ได้คุณครูพี่เลี้ยงที่ช่วยเตรียมความพร้อมและดูแลเขาต่อเนื่องจนซันได้เข้าเรียนที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ที่บ้านก็ขอให้ ครูเอ๋ (คุณครูศิริพร โชคประดับ) เข้าไปประกบซัน เสมือนผู้ช่วยครูในห้องเรียนจนซันเรียนจบ ปัจจุบันครูเอ๋ได้เป็นครูเต็มเวลาที่โรงเรียนช่วยดูแลเด็กพิเศษที่เรียนร่วมคนอื่นๆ ไปแล้ว  ครูเอ๋เขาเป็นครูพละ เขาจึงฝึกให้ซันทั้งเรื่องร่างกาย วินัยการจัดตารางเวลา การดูแลช่วยเหลือตัวเอง พาซันฝึกขึ้นรถเมล์ก็ทำมาแล้ว


คุณครูศิริพร โชคประดับ (ครูเอ๋) 

เจอซันตั้งแต่ยังคลาน ลุกเดินไม่ได้ ต้องฝึกฐานกายกล้ามเนื้อต่างๆ เพื่อให้ลุกพยุงตัวเองให้ได้ ทั้งการกะน้ำหนัก กะแรง เราฝึกทุกอย่าง ว่ายน้ำ ยืน เดิน วิ่ง การเล่นเกมต่างๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ออกแรงทำงาน ดำเนินชีวิตได้ตามวัย น้องซันเข้าเรียนที่รุ่งอรุณแล้วครูเอ๋ยังกลับมาดูแลช่วงเสาร์อาทิตย์ ฝึกร่างกายต่อเนื่อง เราเล่นแบตมินตันกัน ซึ่งซันฝึกได้คล่องแคล่วจนน่าจะเป็นนักกีฬาได้เลย เขาเล่นได้ดี แต่ช่วงแรกยากค่ะ เราฝึกจากใช้ กิ่งไม้ ใบไม้ ลูกโป่งก่อน เพื่อให้เขากะแรง กะสายตาได้ พอเราเอาลูกแบตเข้าทีนี้เขารู้แรง รู้จังหวะแล้ว ที่โรงเรียนเราเข้าไปประกบทำงานกับครูประจำชั้น ช่วยแยก ย่อยงาน วิชาต่างๆ พอมาระดับมัธยมเน้นทำงานเป็นกลุ่ม มัธยมปลายเน้นการฝึกทักษะชีวิต การงาน ทำอาหาร งานเกษตร ขายของ พบปะผู้คน

การเตรียมฐานกายให้พร้อมมีความสำคัญส่งผลต่อการเรียนรู้มาก กายที่มั่นคง มีความอดทน จะเรียน หรือ ทำงาน ทักษะร่างกาย กล้ามเนื้อต่างๆ ต้องใช้หมด ถ้าเราไม่ฝึกเลย เขาใช้งานไม่คล่องหรือไม่มีความอึด เด็กจะอยู่กับงานได้น้อย สังเกตก็เห็นว่ายืนแล้วไม่มั่นคง กายไม่พร้อมก็เรียนรู้ลำบาก

พัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิด เราต้องทำให้ทันกับเด็กปกติ ต้องฝึกค่ะช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร เพราะมันเชื่อมโยงกับการทำงานของสมอง สติปัญญา ประสาทสัมผัส ไม่ควรขาดขั้นใดหนึ่ง ซึ่งสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษถ้าเราย่อยขั้นตอน มีสายตามองเห็นพลิกแพลงให้เหมาะกับแต่ละคน เขาสามารถทำได้เหมือนเด็กทั่วไป

DSC_9747
งานของคุณซัน เทียบเส้นทอระหว่างที่เรียนกับเส้นทองานปัจจุบัน

เมื่อต้องเลือก…

คุณเกษณี : ช่วงที่ซันอยู่มัธยมปลาย ที่จริงครอบครัวเรายังไม่ได้วางแผนอะไร ยังตื้อๆ อยู่ ก็มีปรึกษาคุณพ่อเขา (คุณธีระศักดิ์ สกุลดิษฐ์) ว่าเราจะเอาอย่างไรดี จะให้เรียนต่อไหวไหม ตอนนั้นในโรงเรียนมีรุ่นพี่บางคนเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา คุยกับครูเอ๋เขาก็คิดว่าซันน่าจะไปไหวโดยเฉพาะเรื่องดนตรี ซันอยู่ในวงโยธวาทิต คุณครูก็ชมว่าหูดี ตีกลองจังหวะแม่น สอนอะไรก็จำได้ ไปได้เร็ว เรายังไม่ได้นึกถึงงานทอผ้า แต่ก็จำได้ว่าครูอ้อม (คุณครูสุริศรา บัวนิล ครูประจำชั้นห้องเรียนชั้นคละ ระดับมัธยม รร.รุ่งอรุณ) เคยชมว่าผ้าทอของซันสีสวยนะ พอแขวนโชว์ในงานศิลปะมีคนซื้อประจำ แม่เองเคยเห็นเขาทอผืนแรก ยังคิด เอ๊ะ นี่ซันทอเหรอ ตอนนั้นยังเด็กๆ ทอออกมาสีสวย ซึ่งแม่ไม่เคยสอนอะไร ((คุณเกษณี ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษสอน วิชาสีและการออกแบบ ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

พอขึ้นมัธยมปลายคุณครูก็เห็นว่ามีสองทางคือ ดนตรีกับทอผ้า ซึ่งครูอ้อมก็จัดหลักสูตรทอผ้าให้เต็มทั้งสัปดาห์ ซันจะได้งานทอยาวกว่าเพื่อนคือ 5 เมตร คุณครูบอกว่าซันเขาทอไปได้เรื่อยๆ นอกจากทอผ้าและดนตรี ก็ได้ลองทำอาหารด้วย ซันก็ทำได้ดี


“ซันเขามาเริ่มทอผ้าจริงจังตอน ม.6 คุณแม่มาขอคุยด้วย ครูอ้อมก็ให้คุณแม่ได้ลองทอผ้าเอง มาเป็นผู้ช่วยสังเกตการณ์ ลูกเราอยู่อย่างไร ลูกคนอื่นอยู่อย่างไร ถ้าต้องอยู่กับงานนี้จริงๆ จะอยู่ได้ไหม คุยกันผ่านการทออยู่สองเทอม จนคุณแม่ทอผ้าแล้วเริ่มเข้าใจว่าลูกทำงานแล้วเจอภาวะอะไร พอซันเรียนจบคุณแม่ก็ลาออกจากงานประจำมาทำงานคู่กัน ครูอ้อมมีหน้าที่หากี่ทอ หาอุปกรณ์ต่างๆ ให้ นี่คือคุณแม่ได้ทำความเข้าใจลูกในบริบทจริงที่สุด” : คุณครูสุริศรา บัวนิล ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๒) คุณค่าแท้ของการเรียนรู้


จุดที่ทำให้คุณเกษณีตัดสินใจทิ้งงานประจำในบริษัทตัวแทนโฆษณาเงินเดือนสูงลิบ และกำลังก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด เพื่อมาทำงานเต็มเวลาคู่กับลูกชาย คือ อะไร ….?

…แม่ต้องเลือกก่อน

คุณเกษณี : ตราบใดที่เรายังทำงานอยู่ พอเขาจบม.6 แล้วไม่มีที่เรียนต่อจริงๆ จะทำอย่างไร จะให้ลูกอยู่บ้านไปเรื่อยๆ นั่งดูทีวี เล่นเกมส์ ดูคอมพิวเตอร์ มันก็ไม่ใช่น่ะ หนึ่งปีก่อนเขาเรียนจบ เราต้องเตรียมแล้วว่าจะไปทางไหน ดังนั้นพอซันขึ้น ม.6 เราตัดสินใจออกจากงานประจำในตำแหน่งผู้บริหาร ช่วงนั้นมี Head Hunter (บริษัทจัดหาบุคคลากรระดับผู้บริหาร) โทรติดต่อมาเสนอตำแหน่งกรรมการผู้จัดการถึง 2-3 ครั้ง ก็ต้องตัดใจปฎิเสธไปหมด เค้าก็ยังงงๆ ว่าเราทิ้งอาชีพนักโฆษณามาทอผ้าเนี่ยนะ

ตัวแม่เองเชื่อว่า คนทุกคนจะต้องมีคุณค่า ลูกควรอยู่แบบมีความสุขเหมือนคนทั่วไป ถ้าลูกเราต้องอยู่บ้าน มีแม่บ้านเฝ้า หาอะไรทำให้หมดไปวันๆ อย่างไม่มีประโยชน์ มันไม่น่าใช่

เงินทองที่เราคิดว่าต้องมี ต้องหามาเยอะๆ ให้ลูก

ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว

ก็เลยคุยกับคุณพ่อ เขาก็สนับสนุน คิดว่าถ้าลูกไม่มีที่เรียน เราก็สอนมาเยอะแต่ไม่ใช่ครูโดยอาชีพนะคะ เคยมีประสบการณ์ทำฝึกอบรมให้กับบริษัท ให้ลูกค้าบางองค์กร และเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย อยู่กับลูกก็น่าจะสอนวิชาชีพเขาได้บ้าง ค่อยๆ ลองฝึกกันไป

ตอนนั้นยังไม่รู้จะทำอะไร พ่อแม่บางคนเขาก็ไปซื้อที่ไว้ต่างจังหวัด พอลูกโตก็ออกมาทำเกษตร ถ้าลูกเลือกแบบนั้นก็ได้หมดนะคะ แต่พอความถนัดของเขามาเป็นดนตรีกับทอผ้า แม่คิดว่าดนตรีจะทำเป็นอาชีพยาก เขาเล่นได้ แต่ไม่ได้เก่งมาก ถ้าไปเล่นโชว์ในโรงพยาบาลแผนกเด็กน่าจะพอโชว์ได้ แต่คงไม่ใช่อาชีพ

ทอผ้าน่าสนใจเพราะในตลาด ผ้าทอมือเหมือนถูกลืมยังไม่มีใครไฮไลท์ขึ้นมา ถ้าเราทำให้น่าสนใจก็น่าจะมีจุดขาย ถามซันเขาก็ยืนยันว่าชอบสองอย่างนี้ ‘ทำงานนี่คือต้องทำทุกวันเลยนะ ทอผ้าทำทุกวันได้ไหม’ เขาก็ว่าได้ ‘ชอบ’

ครูอ้อมก็บอกว่ามาเลยค่ะ ดีเลยเพราะซันชอบและทำได้ดี แต่คุณแม่ต้องมาฝึกด้วยนะ เพราะเขาทำได้แค่บางขั้นตอน เวลาเขาเจอปัญหา ด้ายขาด ติดปม พันกันอิรุงตุงนัง เราต้องคอยช่วย ให้แม่เข้าไปฝึกทำอาทิตย์ละครั้ง ครั้งละสองชั่วโมง ก่อนหน้านั้นไม่เคยทอผ้าค่ะ แต่ชอบทำงานอาร์ตอะไรกระจุ๊ก กระจิ๊กอยู่แล้ว เลยคิดว่าไม่น่าจะยากมาก เข้าไปดูก็เห็นเขามีความสุขสนุกสนานดีในห้องเรียน แม่เริ่มเรียนทุกอย่างตามขั้นตอน

ก่อนตัดสินใจเปิดสตูดิโอ ช่วงที่ไปเรียนบางครั้งกี่ไม่ว่าง ไม่ได้ทอ ถามครูอ้อมว่ามีผ้าอะไรบ้างไหม ครูก็รื้อมาให้เป็นงานของเด็กพิเศษที่ยังไม่ได้ใช้ เลยขอมาลองแปรรูป จากที่ไม่เคยจับจักร ไม่เคยเย็บ ก็ซื้อจักรมา ทดลองเย็บ ออกมาเป็นกระเป๋า กางเกง เป้ ปลอกหมอนบ้าง ขึ้นมาให้ครูเอาไปขายในงานศิลปะของโรงเรียน ก็ขายได้นะคะ ลองเอาภาพขึ้นเฟซบุ๊คของตัวเอง มีคนบอกว่าสวยสนใจ ใครทำ ใครทอ ตอนนั้นเองที่เริ่มมั่นใจว่า มันน่าจะเป็นอาชีพได้

เมื่อซันเรียนจบแล้วจึงไม่ได้ไปสอบเข้าที่ไหนเลย เพื่อนผู้ปกครองบางคนเห็นซันเล่นดนตรีได้ดี ถามว่าทำไมไม่ส่งไปเรียนต่อ แม่คิดว่าดนตรีมันมีทฤษฎี ไม่ได้เรียนง่ายๆ ไม่ได้กลัวตัวเองลำบากที่ต้องไปประกบนะคะ แต่เราคงช่วยเขาได้ยากเพราะไม่มีพื้นฐาน แต่งานอาร์ตเรายังพอได้ เดี๋ยวจะกลายเป็นทั้งคู่ไม่มีความสุข

ปริญญาตรีเหรอ ได้ก็ดี แต่ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

เพราะถ้าได้ ความภูมิใจมันมาอยู่ที่เรา

ลูกเขาไม่สนว่า ตัวเขาจะจบ ป.ตรีหรือไม่

ในที่สุดเราก็ตกลงกับคุณพ่อกันว่าเอาที่มีความสุขดีกว่า ไม่ดิ้นรนไม่หาที่เรียนต่อ แต่เปิดสตูดิโอเลย ครูอ้อมน่ารักมาก บอกมีปัญหาอะไรก็มาตาม จะช่วยแก้ให้ เริ่มตั้งแต่ติดตั้งกี่ ไม่ดีก็เข้ามาดูให้ว่าต้องแก้ยังไง เกิดปัญหาก็คุยกันบ้าง ครูอ้อมบอกว่าแม่เกดทำไปเรื่อยๆ นะ เดี๋ยวก็รู้เอง ซึ่งก็จริงด้วยความที่มันจับทุกวัน ผิดๆ ถูกๆ มันก็เรียนรู้ซะจนคิดว่า วันนี้เราแก้ได้ทุกจุด ถ้าเจอปัญหา

DSC_9486
คุณเกษณี : ตอนสร้างสตูดิโอต้องลงทุนนี่ คุณพ่อบอกอย่าคิดเยอะ ถ้าไม่ได้เป็นกิจการขึ้นมา เราก็มีที่ทำงานหรือเป็นโรงเรียนของเราสองคน เริ่มตั้งแต่พาเขามาเดินดูที่ดินเปล่าๆ ‘นี่เป็นออฟฟิศของซันนะ’ เขาก็ไม่เข้าใจ ‘ทำไมผมต้องทำงานด้วย แม่ก็มีเงินแล้วนี่ ?’ แม่บอกซัน ‘คนทุกคนจบการศึกษาแล้วต้องทำงาน ซันอยากไปทำที่อื่นไหม หรืออยากจะทอผ้ากับแม่ที่บ้านอยู่ตรงนี้’ เราก็เลยวางแผนทำนามบัตรให้ เพื่อให้ซันรู้ว่านี่คืออาชีพจริงๆ นะ ก่อนเรียนจบเขาเอานามบัตรไปเดินแจก ครูและผู้ปกครองว่าเขาจะมีสตูดิโอชื่อนี้ ชื่อก็เอามาจากตัวเขาที่ สนุก ร่าเริง เป็นบ้านซันทอสนุก

กิจวัตรประจำวันหลังจากเปิดสตูดิโอกันแล้ว เราต้องรู้จักเข้มงวดกับลูกเป็น ที่ผ่านมาครูเอ๋เขาฝึกกำหนดกฎเกณฑ์อะไรมาให้ตลอด ดังนั้นทุกอย่างซันเขาจะเป๊ะๆ เป็นเวลา เมื่อจะเริ่มทำงานกัน ครูเอ๋ก็แนะนำให้ทำเป็นตารางเวลาก่อนช่วงแรกๆ ถ้ามีอะไรก็บอกให้ครูเอ๋ช่วยโทรมาคุย บางวันบ่นขี้เกียจมันต้องมีอยู่แล้ว แต่เราก็พยายามให้อยู่ในกฎระเบียบ มียืดหยุ่นบ้างอย่างสิบโมงเป็นเวลาลงมาทำงาน เขาขอขยับเป็นสิบครึ่ง เราก็ทำงานกันถึงห้าโมงครึ่ง เย็นก็ไปออกกำลังตีแบตกัน ทำกันมาเข้าปีที่สามแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร

คุณเกษณี : พอคิดจะทำก็ให้เขาทอขึ้นมาผืนสองผืน แล้วเอาขึ้นเฟซบุ๊ค SUNFUN WEAVING บอกกันปากต่อปากไป ช่วงแรกลูกค้าคงมีแต่คนรู้จักอุดหนุนค่ะ จนตอนนี้มีคนติดตามเราสองพันกว่าก็เป็นคนอื่นแล้วล่ะไม่ใช่แค่เพื่อน นี่ก็เพิ่งจะลองไปออกงานออกร้านขายมา 2 งาน ซันเขาชอบขาย ลูกค้าก็ชอบให้เขาเลือกสีให้

บางเดือนก็เงียบๆ ไม่มีรายได้เลยก็มี และพอเริ่มเอาผ้ามาแปรทำเป็นสินค้าอื่นๆ งานก็มาติดที่แม่ เพราะทุกชิ้นเป็นงานทำด้วยมือ จะตัดผ้าทีก็ต้องทั้งดูและเล็งว่าจะตัดช่วงไหน ที่จะสวย และบางทีก็ต้องใช้อารมณ์ศิลปินเลยทำช้าหน่อย (หัวเราะ) บางคนยอมรอตั้งสามเดือน บางคนแนะว่าน่าจะเปิดร้านเป็นเรื่องเป็นราว หรือไปฝากขาย ตามห้าง แต่คุณพ่อก็ท้วงว่าถ้าอยากจะทำถึงขนาดนั้น ก็น่าจะกลับไปทำงานประจำไม่ดีกว่าเหรอ เขาอยากให้เราทำสบายๆ และมีความสุขกับสิ่งที่ทำมากกว่า

มีคนติดต่อมาอยากให้ซันทอเป็นชิ้นๆ เขาจะเอาไปแต่งเสื้อ ก็นึกๆ หรือเราควรไปทำงานร่วมกับเพื่อนนักออกแบบไหม แต่ผ้าทอมันมีข้อจำกัดอยู่เหมือนกันซึ่งคนที่จะทำงานด้วยต้องพอเข้าใจ ใจฝันอยากสร้างแบรนด์ SUNFUN WEAVING ให้มันเกิด คิดว่าน่าสนใจและน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ หากเด็กพิเศษมีแบรนด์ของตัวเองได้ ยังไม่แน่ใจว่าจะพาไปถึงไหมนะคะ ตอนนี้คนเห็นก็พอรู้แล้วว่านี่งานของซัน เพราะสีมีเอกลักษณ์ และพยายามออกแบบสินค้าให้แตกต่างจากสินค้าผ้าทอทั่วไป คือ ดูเป็นไฮแฟชั่นหน่อย ทันสมัย ให้คนเห็นว่าผ้าทอก็แปลก สวยได้ อันนั้นคือสิ่งที่มองว่าจะเดินไป แต่ก็ไปแบบก้าวช้าๆ

ตอนนี้แม่เปิดสอนทอประเภทต่างๆ ที่สตูดิโอบ้าง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สำหรับเด็กพิเศษก็มีมาเรียนค่ะ เราเริ่มแบบง่ายๆ และขอให้ผู้ปกครองมาเรียนด้วยจะได้ช่วยลูกได้ถ้ากลับไปทำที่บ้าน บางคนยังไม่เรียนมาซื้ออุปกรณ์ไปทำที่บ้าน เราก็แนะนำวิธีทำ รอให้ลูกเขาชอบก่อนค่อยมาเรียน

แสงของครอบครัว

คุณเกษณี : สมัยก่อนเคยฝันไว้มากกว่านี้ อยากให้เขามีชีวิตอิสระ มีครอบครัวเหมือนคนทั่วไป แต่ก็คงเป็นไปได้ยาก ถ้าเราไม่อยู่แล้ว ก็ฝากน้องชายให้มีบ้านพี่ซันหลังเล็กๆ อยู่ในบริเวณ ต่างคนต่างใช้ชีวิตอิสระ เพราะซันเขาก็ดูแลตัวเองได้

สำหรับน้องชาย (คุณโซน)  ช่วง ป.5- ป.6 เขาถามว่าทำไมพี่ซันดูแปลกก็เลยอธิบายทุกอย่างให้ฟัง พี่ซันอาจไม่เท่าคนอื่น แต่พี่เขาทำได้ขนาดนี้เราต้องภูมิใจในตัวพี่นะ เขาคงเห็นอย่างนั้นเพราะอยู่ด้วยกันนี่ ซันตีแบตเก่งกว่าโซน และไม่กลัวความมืด ดึกๆ น้องจะไม่กล้าลงมาเอาอะไร ต้องให้พี่ซันลงมาเอาให้
ช่วงวัยรุ่นมีช่องว่างก็เริ่มห่างออกไป แต่พอมีสตูดิโอโซนเขาเห็นงานของซันเป็นที่ยอมรับในสังคม เขาก็รู้สึกดี คือเขาไม่อายพี่ เพื่อนมาก็พามาแนะนำนี่พี่ชาย คิดว่าเขาก็ภูมิใจในตัวพี่ เสื้อที่เขาใส่พี่ทอแม่ตัดให้ เขาก็ใส่ติดเลย ‘ใส่ไปมหา’ลัย เพื่อนชมทุกคนเลยแม่’ แล้วก็ชวนเพื่อนมาถ่ายแบบ เพราะงานที่ผ่านมามีแต่ผู้ใหญ่รุ่นแม่ หรือรุ่นน้าๆ ใส่ ลองเอาสาวๆ มาใส่บ้างซึ่งก็ออกมาดูดีใช้ได้เลย

ซันกับคุณพ่อเขาแหย่เล่นกันทุกวัน จุดที่น่ารักคือซันเขาห่วงใยใส่ใจครอบครัว พ่อแม่จะไปทำงาน กลับเมื่อไหร่ ไม่สบายอย่าลืมทานยา ดีขึ้นหรือยัง ไม่อายที่จะบอกรัก บอกคิดถึง

ตอนออกจากงานเคยกังวลว่าจะอยู่อย่างนี้ได้ไหม วันนี้เพิ่งรู้ว่าเรามีความสุขจริงๆ ที่ได้ใช้เวลาทุกวันกับเขา นั่งทำงานด้วยกัน ไปตีแบต มีทั้งเสียงหัวเราะ รู้สึกทึ่งกับบางคำพูดและสิ่งที่เขาทำ 

เงินเดือนหายไปเหมือนกับจะทุกข์ แต่ไม่เลย เพราะความสุขเราอยู่ตรงนี้.

DSC_9690


ขอขอบคุณ

ครอบครัวสกุลดิษฐ์ , บ้านซันทอสนุก , มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ , คุณครูศิริพร โชคประดับ , คุณครูสุริศรา บัวนิล

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talk คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

Featured, Learning Space

ถอดรหัสรุ่งอรุณ (๓)

รุ่งอรุณ (199)

ทุกครั้งที่เรามีโอกาสได้พูดคุยเรื่องการดูแลช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่เรียนร่วมใน โรงเรียนรุ่งอรุณ : โรงเรียนที่เปิดโอกาสให้เข้าเรียนร่วมตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา ทั้งคุณครู ผู้ปกครอง ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การสร้างความสมดุลและความแข็งแรงให้ “ฐานกาย” ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยพัฒนาเด็กพิเศษในระยะยาว

[อ่านเพิ่มเติม ถอดรหัสรุ่งอรุณ ตอน (๑) พื้นที่ของกัลยาณมิตร และ ตอน (๒) คุณค่าแท้ของการเรียนรู้ ]

ดังนั้น นอกจากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ผู้เชี่ยวชาญมักแนะนำให้จัดช่วงเวลาฝึกฝนเด็กอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทั้งระบบการประมวลประสาทรับสัมผัส  (Sensory Integration) กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) การทำกิจกรรมที่สมองซีกซ้ายขวาได้ทำงานสอดประสานกัน เช่น Brain Gym  แล้ว

วันนี้เราอยากชวนคุณทำความรู้จัก ‘องค์ความรู้ที่มีชีวิต’ ของผู้ที่สะสมประสบการณ์ตรงจากการใช้ฐานกายพัฒนาผู้เรียนทุกคนรวมทั้งเด็กพิเศษ อย่างรอบด้านทั้ง จิตใจ อารมณ์ สังคม และการเรียนรู้ ผ่านงานสอนที่ ‘ใส่หัวใจออกแบบ’ ของครูพละ โรงเรียนรุ่งอรุณ


คุณครูปาญิกา ปลั่งกลาง (ครูเป๊ก)
: ประสบการณ์ ครูพละระดับอนุบาล ครูสอนว่ายน้ำระดับมัธยม และ เคยเป็นครูประจำชั้นห้องเรียนชั้นคละระดับมัธยม
รุ่งอรุณ (109)

รู้กาย เกิดสติ

การดูแลพึ่งพาตัวเองได้ของเด็กไม่ว่าจะหยิบจับ ติดกระดุม การแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ล้วนจำเป็นต้องใช้ร่างกายสรีระของเราสำคัญนะคะ นั่งหลังไม่ตรงก็มีผลต่อการคิด หลังงอหายใจไม่เต็มปอดก็ทำให้สมองตื้อดูเหมือนขี้เกียจ ชอบลงไปนอน จากเดิมเป็นครูพละก็คิดว่าเราสอนเด็กเล่นกีฬาเพื่อให้เด็กแข็งแรง สนุก ทำอะไรๆ ได้ แต่ในเด็กพิเศษพอเราให้แล้ว เขาไม่ได้ ก็ต้องกลับมาดู ตั้งคำถาม ทำไมหลายคนชอบนอน กระดูกสันหลังบางคนไม่ตรง จะทำอย่างไรให้แข็งแรงขึ้น

เด็กเล็กเขาสนุกสนานตามวัย ชอบปีนป่าย ห้อยโหน แต่เราให้เล่นแบบสร้างเงื่อนไข ส่งเสริมให้การเคลื่อนไหวร่างกายสัมพันธ์กับวิธีคิด ลองโหนเชือกจากด้านหลัง เล่มเกมแบบซุปเปอร์แมน กระโดดไปกระโดดมา พอเล่นสนุกแบบนี้ เขานั่งได้นานขึ้น หาวน้อยลง

กลิ้ง ม้วนตัว ตีลังกา หกสูงบนเชือกแบบสไปเดอร์แมน ยิ่งยากยิ่งสนุก กลายเป็นความเพียร เขามีความสุขกับความพยายาม พอฝึกไปเรื่อยๆ ให้ทำเรื่องอื่นๆ เขาก็ทำได้

เวลาเด็กทำอะไรแล้วกลัวไปต่อไม่ได้ เพราะเขายังไม่รับรู้ร่างกายตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองยืนอย่างไร หรือเกาะอะไรอยู่ เราก็ฝึกเริ่มต้นให้รู้ตัว มืออยู่ตรงไหน.. กลัวก็กำ.. เราดูได้ว่าเด็กพร้อมไหม ตรงที่เขารู้จักให้สัญญาณตัวเอง กำก่อนปล่อย และถ้ายังทำไม่ได้ เขาก็รู้ตัวเองอีก เราแค่บอกว่า ขึ้นได้แค่ไหนแค่นั้น ไม่ไหวก็ลงนะ แล้วเราชื่นชมเขาถึง คุณค่าในการรู้จักตัวเอง เพราะเราทำบนความสุข ไม่ได้ทำจากความสำเร็จ

มนุษย์มีข้างในเหมือนกัน อาจต่างกันที่กระบวนการคิด เซลสมอง แต่เราเติมได้ด้วยการรับรู้ร่างกาย คือสติสัมปชัญญะมาจากร่างกายที่เคลื่อนไหว

This slideshow requires JavaScript.

ที่เราพบบ่อยคือ เด็กที่ฐานกายไม่แข็งแรงหรือมีข้อติดขัดเรื่องระบบประสาทรู้สึกบูรณาการ (Sensory Integration) เขาอยากจะเคลื่อนที่ไป แต่ไปไม่ได้ ร่างกายมันแข็งเกร็ง เราช่วยแตะขาให้ทำซ้ำ ‘หนูจะเคลื่อนขาก็ต้องรู้สึกที่ขา’ เด็กที่ใช้ความคิดและเหตุผลมากเวลาแนะให้ทำกิจกรรมเราไม่ใช้คำสั่งมาก แต่เปิดโอกาสให้เขาทำและดูท่าที อย่าด่วนตัดสินว่าเขากลัวแน่ เพราะการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย เด็กเขาจับเชือกกำลังพยายามจะกลับตัว แต่เราเขาไปแทรกแซงช่วยเขา เขาพูดว่า ‘ครูครับไม่ต้องบอกผม มันดูวุ่นวาย’ คือเขากำลังพยายามจัดการตัวเองอยู่ เรายังมาพูดเพิ่มภาระความกังวลให้เขา นี่คือเราต้องรู้รอ และรู้ฟัง

เด็กอนุบาลสอนเราหลายอย่าง บางคนสังเกตมาก ถ้าไม่แน่ใจจะไม่ทำ ครูเห็นบุคลิกการเรียนรู้ของเขาแล้วใช้โจทย์หรือเงื่อนไขช่วยดึงศักยภาพ หรือคลี่คลายข้อติดขัดให้เขา บทบาทของเราคือโค้ช ไม่ใช่ผู้นำที่บอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเราไม่สามารถผลักหรือดึงเขาให้ไปตามเป้าหมายที่เราต้องการได้

ครูต้องมีสายตา ขณะที่เขาทำมันมีประกายอะไรออกมา บางคนกลัวมากแต่ไม่เคยถอย เพราะเขาเห็นเพื่อนทำได้เขาต้องทำได้ หรือถ้าใครถอยเราจะไม่ดัน แต่ให้ทางเลือกที่ยังอยู่ในกระบวนการแทน บางคนมาขอดูเชือกอยากเอาไปฝึกที่บ้าน เด็กเขารับรู้สภาวะปัญหาของตัวเอง และเขาหาช่องทางพัฒนาตัวเองได้

30415607_974099479415719_8005499296608681984_n

ธรรมชาติของเด็กๆ ชอบน้ำอยู่แล้ว ครูจะวางเงื่อนไขหรือโจทย์อะไรก็จะง่าย เป้าหมายของการว่ายน้ำ คือ การช่วยเหลือดูแลตัวเองในน้ำได้ ฝึกลอยตัวได้ดี ได้นานตามเวลาที่กำหนด ถ้าตกน้ำแล้วพุ้ยๆ ขึ้นมาขอบสระเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้ สำหรับเด็กโตฝึกให้อยู่กับตัวเองเป็น ฝึกว่ายแบบนับแขนยกเป็นชุด ชุดละสิบรอบ ทำซ้ำๆ บ่อยๆ เมื่อเข้าใจร่างกาย รับรู้จุดตั้งของร่างกาย ระบบหายใจ ท่าต่างๆ จะมาเอง คุณค่าที่ลึกไปกว่าการว่ายน้ำได้คือ การรู้จักตัวเองขณะเคลื่อนไหวในน้ำ เขาจะไม่จมน้ำตาย ถ้าเหนื่อย ผ่อนแรงอย่างไร ไม่ไหวแล้ว เมื่อย จะจัดแขนตัวเองอย่างไร คือการรับรู้สภาวะการเคลื่อนที่ของตัวเองขณะอยู่ในน้ำ


คุณครูคมสัน เสมวิมล (ครูเอก)  
: ประสบการณ์ ครูพละ ครูกีฬาไทย ครูรักบี้ฟุตบอล
DSC_9863

กายพร้อม สมองตื่น

ผมใช้กีฬาไทยพื้นบ้านสำหรับเด็กประถม อย่างป.1 ป.2 ให้เล่นเดินไม้โทกเทก กระโดดเชือกหมู่ – เดี่ยว กระต่ายขาเดียว เราเอามาเล่นผสมผสาน มีฝึกมวย เตะกระสอบ สร้างกล้ามเนื้อและผิวสัมผัส ฝึกตีดาบสร้างสัมพันธ์ซ้าย ขวา ทุกๆ ปี ผมจะฝึกดาบให้เด็กชั้นป.3 เพราะในวิชาสังคมเขาเรียนเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสิน จะมีการโชว์รำดาบ เด็กในชั้นมี 100 คน และปีนี้จากที่สอนดาบเดี่ยว ผมเพิ่มเป็นดาบสองมือ เด็กชอบมาก แต่ครูก็สอนยากมาก โชคดีที่มีโอกาสจัดกลุ่มย่อย ฝึกทีละ 25คน เด็กพิเศษทุกคนทำได้หมด อาจจะไม่คล่องมาก แต่ทำได้ ยิ่งตัวเรารู้จักปรับอารมณ์ตัวเองไม่เครียด ไม่บ่น เด็กก็ยิ่งสนุก

img_20170915_141759.jpg

ผมมีประสบการณ์ที่ดีตอนที่ทดลองเอาดาบมาฝึกให้ เหมียวและเอื้อย ตอนที่อยู่ระดับมัธยม เราเห็นเขาตั้งแต่ช่วงประถมทั้งสองคนมีภาวะด้านการเรียนรู้ ลักษณะกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงทำให้เขาไม่ค่อยอยากเรียนอะไร ผมค่อยๆ สอนทั้งมวยและดาบสองมือ โดยเริ่มจากกิจกรรมพื้นบ้านเพื่อให้กล้ามเนื้อมีแรงก่อน พาเดินลานทรายรอบบึง เล่นครกกระเดื่องไปท่องสูตรคูณ ท่อง ก.ไก่ ไป เราโต้ตอบกันมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีผ่านการเล่น ตอนให้ฝึกกระโดดชือก ช่วงแรกยังทำไม่ได้ก็วางเชือกให้กระโดดข้าม พอร่างกายเขาเริ่มมีแรง ใจเขามาเอง ทีนี้เตรียมชุดอุปกรณ์มาเลย มีนวม ใส่ชุดแบบจัดเต็ม เขาเริ่มมีความรักในกีฬานี้ด้วยตัวเอง

30412112_973986056093728_7446880289424408576_n

จากนั้นจะฝึกหลบหลีกอะไรได้หมด ถึงจุดนี้เราไม่ต้องยุ่งมาก เขาพร้อมจะเรียนแล้ว เขาทำทุกอย่างได้เหมือนเพื่อน เรามีพิธีไหว้ครูใหญ่ ผมตั้งใจฝึกซ้อมให้ทั้งคู่ไปตีดาบโชว์ในงาน การตีดาบสองมือได้ไม่ง่าย เขาต้องได้เรื่องสัมพันธ์ซ้ายขวา มือซ้ายที่ไม่ถนัดต้องยกรับได้ เวลารุกเข้าไปต้องเหวี่ยงแขนตีเป็นชุด เขาต้องรู้ว่าต้องตีท่าอะไรบ้าง เราตีกันสามคนคือ ผม เหมียว เอื้อย ทุกคนต้องรู้คิว แล้วเขาทำได้ มือ ขา สมาธิ สติ อยู่กับตัว สมองเรียนรู้จดจำมีความคล่องแคล่วว่องไว ดีใจที่สิ่งที่ฝึกมานี้ช่วยเขาได้ เอื้อยนี่ใจมาก่อนเลย ครูให้ทำอะไรก็ทำจากเป็นคนไม่กล้า เคลื่อนไหวช้า สุดท้ายเขาทำได้ สำหรับเหมียว ผมเห็นเขาในรายการทีวีต่างๆ เขารุ่งไปแล้วก็ภูมิใจกับเขามาก

ผมเชื่อว่าสมองเราพัฒนาได้ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย สิ่งที่เราทำช่วยได้ ขอให้ดูว่าเด็กคนนี้ติดขัดอะไร จุดไหน แล้วใส่กิจกรรมของเราเข้าไปช่วย

23593618_896040957221572_5476571354985251843_o

กาย ปะทะ กติกา

ผมนำกีฬารักบี้ฟุตบอลมาใช้กับเด็กประถมปลาย ซึ่งช่วยเด็กที่มีภาวะยากลำบากในการควบคุมอารมณ์และแรงของตัวเองได้มาก จากเดิมที่เขามักเล่นกับเพื่อนแรงๆ และ ถ้าเริ่มเล่นอะไรแล้วอารมณ์จะเตลิดเอาลงยาก แต่หากเราให้เขาวอร์มร่างกายก่อน จนถึงจุดที่ได้เหงื่อ เขาจะอารมณ์ดีไปตลอดชั่วโมง และพบว่าภาวะอารมณ์แบบนี้ลงตัวกับกีฬารักบี้ฟุตบอลมาก คือการใช้แรงที่มีเป้าประสงค์ รักบี้เป็นกีฬาที่ต้องใช้การปะทะ แต่จุดที่เขาต้องฝึกคือ การปะทะตามกติกา ต้องมีความสุภาพในการเล่น ซึ่งช่วงแรกเขาชอบเล่นเดี่ยววิ่งคนเดียววางไทร์ได้ เพื่อนไม่ได้เล่นเลย พอเราบอกว่าต้องส่งต่อให้เพื่อน และเพื่อนทำลูกเสียก็ไม่พอใจ ตรงนี้ถือเป็นการฝึกและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันไปในตัว ครูก็ฝึกเพื่อนๆ เพิ่มขึ้น เขาเองก็ต้องฝึกที่จะอดทนและเล่นเป็นทีมให้เป็นเช่นกัน


คุณครูอมร รักษาทรัพย์ (ครูต้น)
: ประสบการณ์ ครูพละ ครูกีฬาไทย เคยเป็นครูประจำชั้นห้องเรียนชั้นคละระดับมัธยม 

ฝึกกาย ฝึกชีวิต

DSC_9871

จากประสบการณ์เราพบผู้เรียนมีความหลากหลาย เด็กบางกลุ่มหมอบอกว่าเป็นสมาธิสั้น เรียนรู้ช้า แต่เขาได้ยามาก็ไม่ทานนะ เขาบอกเราว่า ‘ผมรู้หมดแหละว่าหมอจะถามอะไร ก็ตอบไปตามนั้น’ ภายนอกเขาไม่ต่างจากเพื่อนเลย มีเพื่อนเล่น มีสังคม แต่เรียนแบบเพื่อนไม่รู้เรื่อง เขาอาจมีช่องทางการเรียนรู้คนละแบบกับคนทั่วไป การเอาไม้บรรทัดเดียวหรือแบบทดสอบมาวัด เขาเลยแตกต่างจากคนอื่น ซึ่งผมไม่มีคำตอบนะ เราแค่รับฟังเขาเวลาที่เขาไปหาหมอกลับมา กลุ่มนี้หลายคนไปได้ดีกับกีฬา

ครูการศึกษาพิเศษแนะนำเรื่อง SI. (ระบบการประมวลประสาทรับสัมผัส Sensory Integration) ก็คือ การใช้ร่างกาย ผิวสัมผัสต่างๆ ทำงาน ข้าม โหน จับ ดึง ยึด ทำอะไรๆ เพื่อให้ร่างกายมีความสมดุล อันนี้มันก็แนวทางเดียวกับพละที่เราสอนเด็กเล่นกีฬาในเชิงทักษะคือ ให้เขาคล่องแคล่วใช้ร่างกายเป็น ซึ่งในโรงเรียนเราจัดสภาพแวดล้อมได้ง่ายด้วยอุปกรณ์ต่างๆ แต่มันก็เป็นการฝึกแค่ช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวัน

ในห้องเรียนชั้นคละระดับมัธยมผมสังเกตจากการพาเด็กทำกับข้าว เห็นชัดเลยว่าเด็กพิเศษเราตอกไข่ไม่เป็น ซื้อไข่มาทั้งแผงตอกได้แค่สองฟอง หั่นผักกะระยะสมดุลพอได้บางคน บางคนหั่นหมูไม่ได้ มือเขาไม่มีแรงซึ่งพวกนี้มันส่งผลเวลาเรียน จะเขียน จะวาด ลำบาก ดังนั้นผมก็เอาวิถีการงานปกติในบ้านนี่แหละมาใช้ฝึก SI

เราทำกับข้าว กวาด ถู ซักผ้า ในชั้นเรียน ดูเหมือนง่าย อย่างล้างจานนี่มันลื่นนะ ถ้าจับจานไม่ถูก หน้าที่เราต้องช่วยย่อย ซอยงานให้เขา กวาดบ้านอย่างไร นี่ต้องเริ่มตั้งแต่วิธีจับไม้กวาดให้ถูก โกยเศษผง กว่าเขาจะค่อยๆ ทำได้ ทุกอย่างกินเวลาเป็นเทอม เป้าหมายที่เราทำกับเด็กพิเศษคือให้เขาช่วยเหลือตัวเองและพึ่งพาคนรอบข้างน้อยที่สุด

ส่วนการทำงานร่วมกับครูฝ่ายอื่นๆ ก็ช่วยกันสังเกตว่าเขาทำอะไรได้ดีที่สุดที่จะไปต่อได้ บางคนชอบกีฬา ศิลปะ ก็หาทางลงลึกไปตามทรัพยากรที่โรงเรียนเรามี ถ้าเขาเรียนไม่ได้จริงๆ การส่งต่อก็มีทางเลือกที่เราต้องคุยกับผู้ปกครอง เช่น วิทยาลัยในวังชาย วิทยาลัยในวังหญิง ที่เขาจะได้ฝึกทักษะเฉพาะทาง


คุณครูเรวัติ อภินันท์พร (ครูโม่)
: ประสบการณ์ หัวหน้าครูพละ ครูสอนว่ายน้ำ 
DSC_9887

ท้ากาย ยกใจ

ทีมครูพละเราพาเด็กพิเศษในห้องเรียนชั้นคละมัธยมเดินขึ้นภูกระดึงมาแล้ว เราให้โอกาสเด็กทุกคน เพราะเราย้อนถามตัวเองเสมอว่า ถ้าเป็นลูกเราแล้วเขาไม่ได้โอกาสเหมือนคนอื่น เราจะรู้สึกอย่างไร ใจเขาใจเรา ทั้งๆ ที่รู้ว่าเมื่อเดินขึ้นไปจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

เราให้โอกาสเขาดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด ขาเดินขึ้นแม่ค้าเขาว่า ‘ครูรุ่งอรุณใจร้าย ไม่แบ่งปันรายได้ให้คนพื้นที่’ เพราะเราให้เด็กแบกเป้เองไม่ให้จ้างลูกหาบ เด็กก็บ่นเกลียดครู ขาลงเราออกตั้งแต่เช้าหกโมงครึ่ง เด็กคนอื่นๆ มาถึงข้างล่างบ่ายสี่โมงครึ่ง แต่กลุ่มเด็กพิเศษที่ลงมากับผมถึงราวหกโมงครึ่ง เพื่อนต้องนั่งรอสองชั่วโมง เพราะเด็กคนหนึ่งตอนเดินขึ้นเขาไม่มีปัญหา แต่ขาลงลำบากมากเพราะมีปัญหาการรับรู้มิติทางสายตา เขาก้าวลงไม่ถนัด แต่ก็ไม่ยอมให้ใครช่วยจับตัว ไม่ขี่หลัง ไม่ให้อุ้ม

แต่รู้ไหมครับระหว่างทางมีคุณแม่เด็กพิเศษนอกโรงเรียนคนหนึ่งเข้ามาคุยกับน้องคนนี้ตลอด ถามว่าอยู่โรงเรียนทำอะไรบ้าง หนูทำอะไรได้บ้าง เพราะเขาไม่เคยพาลูกของเขาออกนอกบ้านเลย เด็กเราก็ช่างพูดช่างคุย คุยจนคุณแม่คนนี้มีความอยากกลับไปฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง ให้อยู่ในสังคมได้เหมือนน้อง ขาลงนี่แม่ค้าก็มาชื่นชมเด็กๆ (หัวเราะ..)

30530612_975025875989746_3423661561426739200_n

สำหรับการเรียนเรือใบเด็กพิเศษทุกคนก็มีโอกาสเรียนเช่นกัน เด็กเป็นครูให้เรามาก ว่าความท้าทายต้องพอดีกับความสามารถของเด็ก ยิ่งเก่งมาก ต้องหาการบ้านแบบฝึกที่เหมาะ เด็กที่ชอบปะทะเขาเรียนรู้ไว พอทำได้ก็แล่นพุ่งใส่เรือลำอื่น ครูต้องวางแผนใหม่ ท้าทายด้วยกติกาใหม่ คนชนะคือลำที่ไปถึงจุดหมายก่อนโดยที่บังคับทิศทางให้ไม่โดนเรือลำอื่นเลย คนนี้ก็ได้ที่สอง สำหรับเด็กที่สัมพันธ์ซ้ายขวาไม่ดี ยังจัดการตัวเองได้ยาก ก็ต้องวนง่ายๆ อยู่หน้าหาด แต่เราก็รอเขาทำได้ก็ชื่นชม ครูต้องปรับแกะกันเป็นรายบุคคล กีฬาเรือใบทำให้เด็กบางคนที่ไม่เคยมีโอกาสเป็นผู้นำในชั้นเรียนเลย มีโอกาสช่วยเพื่อน เขาภูมิใจ รู้สึกว่าตัวเองทำได้ ได้รับการยอมรับ รู้สึกตัวเองมีพื้นที่ ทั้งหมดนี้ทีมครูเราช่วยกันมองและออกแบบกันเป็นขบวนการ

This slideshow requires JavaScript.

 หัวใจครู

การได้พาเด็กออกภาคสนามเป็นประโยชน์มาก มันคือความสัมพันธ์กับผู้คน การตื่นตัว สังเกต รับรู้ ใช้ชีวิตจริงในสังคม เราเห็นสีหน้าแววตาที่จริงจังของเขา ต้องถามตัวเองว่าเราจะช่วยเขาอย่างไร ให้กำลังใจเขาแบบไหน ทุกอย่างที่สะสมมาจะถูกนำมาใช้  ใจต้องนิ่ง กายต้องเคลื่อนไหว หัวใจ สมองของเขาต้องการของจริง การที่เขาดูแลตัวเองได้ ด้วยตัวเขาเองจริงๆ มันคือศักดิ์ศรีคุณค่าที่เกิดขึ้น เมื่อเราหรือพ่อแม่ตั้งเป้าหมายไปที่เด็ก ไม่ใช่เป้าหมายที่ปักเอาไว้ตามที่ใจเราต้องการ
คุณครูปาญิกา ปลั่งกลาง (ครูเป๊ก)

พวกเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา การย่อยงานเกิดจากความต้องการให้ชั้นเรียนมันราบรื่น ผมมองเด็กพิเศษว่า คนๆ นี้คือ คนหนึ่งในชั้นเรียน ถ้าเขาไม่มีความสุข ชั้นเรียนเราก็ไม่ราบรื่น ผมไม่ได้เริ่มจากความเมตตา แต่มองหาจุดที่จะทำให้เกิดความราบรื่น เดินไปให้ถึงเป้าได้ใกล้เคียงกันที่สุด แต่พอทำไปๆ สิ่งที่สะสมจากการทำงานกลับทำให้เรามีเมตตา และเมื่อมีความเมตตา วิธีการจัดสรรมันมาเอง เด็กพิเศษทุกคนเมื่อจบป.6 สามารถลอยตัวเอาตัวรอดในน้ำได้ งานที่ท้าทายที่สุดคือ เด็กที่ขาลีบ กลัวน้ำ เราให้กำลังใจลงน้ำกับเขา ไม่เน้นทักษะ แต่ยกระดับใจให้ก้าวข้ามความกลัวได้ก่อน ตอนนี้ในระยะไม่เกินสองเมตร เขาลอยตัวมาหาเราได้แล้ว คุณค่าทางใจที่เกิดไม่ได้แค่ตัวเขา แต่ไปถึงครอบครัวเขาด้วย
คุณครูเรวัติ อภินันท์พร (ครูโม่)

ตัวผมเองเป็นคนอารมณ์ร้อน หงุดหงิด ถ้าควบคุมตัวเองไม่ได้ก็ระเบิดลง มาถึงจุดที่เราอยากเปลี่ยนแปลงจริงๆจังๆ โรงเรียนเราให้โอกาสไปศึกษาปฏิบัติธรรมตลอด ผมอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองจากข้างใน ทำอย่างไรเราจึงมีความสุขและเผื่อแผ่ไปถึงเด็กให้ได้ ผมสังเกตว่าถ้าเราดูแลเขาด้วยความสุภาพ มีเมตตา เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน เขาจะเข้าหาครูมากขึ้น ความลนลาน หรือกลัว นั่นคือภาวะอารมณ์ครูส่งผลต่อเด็ก การให้เด็กป.3 ทั้ง 100 คน ไหว้ครูขึ้นพรหม ตีดาบโชว์ในการแสดงพระเจ้าตากได้ เกิดจากการที่เราให้โอกาสเด็ก บางคนไม่ได้เก่งกว่าเพื่อน แต่ตั้งใจมาก และครูก็ไม่ไปคาดคั้นคาดหวัง แต่ผลกลับออกมาดี

การที่เราย้อนกลับมาดูตัวเองว่าเราขาดตกบกพร่องอะไร หามาเติม ทำให้เรามีความสุขกับการเป็นครู
คุณครูคมสัน เสมวิมล (ครูเอก) 

ผมว่าหัวใจสำคัญของการดูแลเด็กพิเศษ คือ หนึ่งเวลาเจอปัญหาผมมักตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำอะไรต่อ ถ้าเราไม่ตั้งคำถาม ก็มักจะทำงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป คำถามที่เราตั้งมันอาจไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาเฉพาะหน้าก็ได้ แต่จะเป็นแนวทางให้เราว่าจะทำอะไรต่อไป ผมใช้กับเด็กเช่นกัน เช่น ตั้งคำถามกับเด็กที่โดนเพื่อนทุบ ว่าถ้าเพื่อนมาทำแบบนี้ เรามีวิธีอื่นไหมนอกจากนั่งเฉยๆ เด็กก็คิด ตอบ ‘ก็เดินหนีครับ’ มีวิธีอื่นอีกไหม ‘บอกครูครับ’ การตั้งคำถามก็เป็นวิธีช่วยชี้ให้เขาเห็นจุดที่ควรแก้ แต่เขาต้องเป็นคนคิดวิธีแก้ไขเอง

สองครูต้องมีเมตตา เมตตาไม่ใช่ปล่อยปละละเลย เมตตาแล้วต้องมีสายตาด้วย มีจังหวะจะโคนที่จะหยุดหรือพอ เช่น เด็กอารมณ์หลุดไปแล้ว หน้าที่เรามีแค่ กอดเขาไว้ ถ้าเขาโวยวาย แล้วเราโวยวายด้วย มันไม่ช่วยอะไร

สามเรามีความเชื่อว่าเขาพัฒนาได้ แต่จะในช่องทางไหนแค่นั้นเอง และ เราไม่ตั้งความคาดหวังว่าเขาจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เพราะมันควบคุมไม่ได้
: คุณครูอมร รักษาทรัพย์ (ครูต้น)

DSC_9884


ขอขอบพระคุณ

มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ  คุณครูอมร รักษาทรัพย์  คุณครูปาญิกา ปลั่งกลาง  คุณครูคมสัน เสมวิมล  คุณครูเรวัติ อภินันท์พร
(หมายเหตุ ภาพประกอบจากการเรียนการสอนทุกภาพมีทั้งนักเรียนและนักเรียนพิเศษเรียนร่วม จัดหาโดย คุณครูปาญิกา ปลั่งกลาง)

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talk คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

Community, Featured

ชมรมมิตรสหายผู้ใหญ่พิเศษ

การรวมตัวของครอบครัวผู้ใหญ่พิเศษและมิตรสหาย ครั้งแรกของประเทศไทย

Xtrability (1)_Page_02“เพราะการหล่อเลี้ยงบุคคลพิเศษให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพนั้น ไม่ได้เสร็จหรือจบแค่เรื่องการศึกษา มันเป็นเรื่องของชีวิต เป็นการส่งต่อ เป็นการทำงานระยะยาว ไม่ใช่แค่ ครู หมอ พ่อแม่ เท่านั้นแต่เป็นเรื่องของเราทุกคนในสังคม”

คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า)
ผู้ก่อตั้งชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษ

มิตรสหายผู้ใหญ่พิเศษ
โครงการมิตรสหายผู้ใหญ่พิเศษ โดยการสนับสนุนของชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษ

มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายพ่อแม่ เสริมสร้างความเข้มแข็ง และสนับสนุนให้ครอบครัวและผู้ดูแลของบุคคลพิเศษที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเข้ามามีส่วนร่วม พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สะท้อนความเป็นจริงจากมุมมองของครอบครัว สำรวจประเด็นปัญหารวมถึงแนวทางและข้อเสนอเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตในสังคมของผู้ใหญ่พิเศษในประเทศไทย ซึ่งเกิดการรวมตัวขึ้นครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 25 มีนาคม 2561 ณ ห้องนนทรี 2 โรงแรมเคยูโฮม ม. เกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ


คนพิเศษในสังคมไทย

คนพิการที่ลงทะเบียนในปี พ.ศ. 2560 มีจำนวน 1,800,000คน คิดเป็น 3% (โดยประมาณ) ของจำนวนประชากรทั้งหมด เด็กพิการ 2.5% ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ 93% จบในระดับประถมศึกษา มีเพียง 5% จบระดับมัธยมศึกษา และ 0.05% จบระดับอุดมศึกษา

เมื่อเด็กหลุดจากระบบการศึกษาออกมาอยู่บ้านกับครอบครัวระหว่างช่วงวัย 12-18 ปี หากพวกเขาไม่ได้รับการฝึกฝนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องทั้งการดูแลตัวเอง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการบ่มเพาะพัฒนาศักยภาพซึ่งมีแตกต่างกันไป โอกาสที่เขาจะเข้าสู่วัยทำงานมีอาชีพทั้งในองค์กรหรือในบ้านและชุมชนจะเป็นไปได้ยาก [ข้อมูลของคนพิการในวัยแรงงาน (อายุ 15 – 60 ปี) ปีพ.ศ.2560 มีจำนวน 769,327 คน มีงานทำ 41% ไม่มีงานทำ 46% และ ทำงานไม่ได้ 13% ]

จากสถานการณ์นี้เราพบว่า ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับผู้ใหญ่พิเศษ หน่วยงานภาครัฐเองมีงานล้นมือ ในขณะที่อีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้ใหญ่พิเศษวัยแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 390,000คน ซึ่งอาจต้องอยู่ในความดูแลของครอบครัว ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย … ? จะกลายเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะเขาเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตหากได้รับโอกาส มีพื้นที่เรียนรู้ตามศักยภาพเพื่อเคลื่อนสู่วัยผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ได้

This slideshow requires JavaScript.

เสียงของครอบครัว

การพบกันของชมรมมิตรสหายผู้ใหญ่พิเศษครั้งแรกนี้มีบุคคลพิเศษและครอบครัว 12 ครอบครัวและมิตรสหายจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่สนใจ พวกเขาเชื่อมโยงนัดหมายผ่านทางโซเชียลมีเดีย และแม้จะมีความหลากหลายของช่วงวัยทั้งครอบครัวของเยาวชนพิเศษอายุ 13-18 ปี ไปจนถึงผู้ใหญ่พิเศษ วัย 19-30 ปี พวกเขาต่างมีความสนใจร่วมกัน คือการสร้างพื้นที่ โอกาสทางสังคม และการพัฒนาคนพิเศษให้เติบโตเต็มศักยภาพ


ครอบครัวของคุณเจเจ (อายุ 17 ปี) : ปัญหาที่เจอคือ ไม่ใช่แค่คนพิการแต่ทุกคนต่างต้องการที่ยืนในสังคม และการให้เงินเบี้ยคนพิการทุกเดือนๆ มันสร้างที่ยืนในสังคมให้พวกเขาไม่ได้ แน่นอนเรารอให้คนอื่นสร้างให้คงลำบากคงต้องสร้างเอง แต่อยากเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐเกื้อหนุนเราได้ไหม ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น จัดพื้นที่สวนอาหารหรือตลาดเพื่อรวมร้านค้า ผลผลิตและบริการของคนพิเศษ ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพให้หลายกลุ่ม บางคนทำอาหารได้ คนที่ทำเกษตรก็ส่งผลผลิตมาขายมาใช้ในร้านอาหาร บางคนถนัดทำเสื้อผ้า ข้าวของต่างๆ นอกจากมีสถานที่แล้วควรมีองค์กรบริหารแบบมืออาชีพให้ขายได้ น่านั่ง ถ้าเราเริ่มและบริหารจัดการได้ดีก็ทำเป็นต้นแบบขยายออกไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ


ครอบครัวของคุณขมิ้น (อายุ 30 ปี) : ครอบครัวคนพิเศษก็เหมือนครอบครัวอื่นๆ คือต้องทำงานหาเงิน เรามีภาระเยอะและลูกทุกคนจะพิเศษหรือไม่เราก็ต้องให้เท่าๆ กัน กว่าเราจะมีเวลาดูแลได้เต็มที่คือหลังเกษียณ ก็มีพ่อแม่เท่านั้นที่จะดูแลสอนใกล้ชิดซึ่งใช้เวลา ถ้าเราทำเป็นระบบ เขาจะทำได้ทุกอย่างที่เราสอน แต่ช้าหน่อย

ส่วนของกฏหมายที่สนับสนุนเรื่องอาชีพของคนพิการถ้าใครต้องการคำแนะนำ ติดต่อสมาคมผู้ปกครองผู้พิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย เรามีชมรมฯ ในแต่ละจังหวัด ช่วยเรื่องส่งเสริมงานอาชีพ ติดต่อกระทรวงต่างๆ แนะนำการทำเอกสารยื่นเรื่องขอเงินสนับสนุนตามมาตราต่างๆ เป็นต้น

img_6862

ครอบครัวของคุณเบส (อายุ 27 ปี) : เรามุ่งมั่นให้เขาอยู่รอดด้วยตัวเอง ไม่ได้สนใจภายนอกเท่าไหร่ เตรียมความพร้อมให้เขา ถ้าแม่ไม่อยู่ก็ให้เขาอยู่ในสังคมได้ เราก็ฝึกให้เขาทำทุกอย่างเหมือนคนทั่วไป เรียนมาได้แบบลุ่มๆ ดอนๆ จบปวส. สุดท้ายแม่ฝึกอาชีพตัดเสื้อให้เขาเอง พอเขาชอบ มีรายได้ ก็อยากทำงาน แบ่งเงินไว้ใช้ ไว้เก็บ ที่บ้านเน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้ มันช่วยให้เขาดูแลตัวเองได้มากขึ้น อยากทานอะไรอร่อยๆ ก็ใช้ตัวช่วยต่างๆในมือถือสั่งเป็น ปัจจุบันเบสขายเสื้อคอกระเช้า อ่านหนังสือทุกวันหาความรู้ มีลูกค้ามาซื้อ เขามีความสุข


ครอบครัวของคุณแจ๊ค (อายุ 21 ปี) : เราไม่ตั้งความหวังสูง ตอนนี้สอนให้เขาทำกิจวัตรดูแลตัวเองได้ ตอนนี้ยังไม่กล้าพาขึ้นเครื่องบิน อยากให้มีชุมชนที่เกื้อกูลกัน ถ้าเรามีธุระไม่อยู่ เพื่อนบ้านพอช่วยดูได้


กลุ่มครอบครัวในชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข : เรารวมกลุ่ม 9 ครอบครัว ทำเกษตรและฟาร์มในมวกเหล็ก ก็ขึ้นอยู่กับครอบครัวนั้นๆ ว่าอยากทำอะไร ไก่ ไข่ นมวัว ทุกอย่างเป็นออร์แกนิค และยังเป็นที่เรียนรู้ของหลายๆ คน เรามีพื้นที่มากพอเปิดให้ครอบครัวที่สนใจมาทดลองว่าการงานแบบนี้ใช่หรือไม่ใช่สำหรับเขา

กลุ่มเยาวชนที่นี่ เราใช้งานเป็นตัวสอน วินัย ระเบียบ ความรับผิดชอบ การอยู่ร่วมกันมีกติกา สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่พิเศษก็ต้องมีอาชีพ เราคุยกับเขาว่าต้องการอะไร งานอะไรที่เขาชอบ อะไรที่ทำได้ดี อะไรที่ยังต้องฝึก ก็คุยกัน เหมือนผู้ใหญ่คนหนึ่ง


เราต่างต้องเติบโต

ในช่วงที่สองการสนทนาระหว่างกลุ่มผู้ปกครอง ผู้ดูแล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ดูแลคนพิเศษในช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง ความสนใจเรื่องเพศ และทักษะด้านการเงิน ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหว บางคนอาจคิดว่าคนพิเศษไม่สามารถเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ จึงละเลยไม่สอนหรือพูดถึง ทั้งนี้หากเรามีความเข้าใจและใช้โอกาสนี้สร้างกรอบคิดที่สำคัญ คนพิเศษจะเติบโตทางความคิด การวางแผน และตัดสินใจ ตระหนักรู้ขอบเขตอำนาจของตัวเองและผู้อื่นได้

ประสบการณ์ของแต่ละครอบครัวที่มาแลกเปลี่ยนกันในครั้งนี้จึงไม่สามารถหาอ่านได้จากตำราใดๆ และเราค้นพบว่า คนพิเศษมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ เข้าใจทั้งสองเรื่องนี้ได้ “ในแบบของเขาเอง” ขอเพียงคนรอบข้างเชื่อมั่นและเปิดโอกาสให้เขา

First meet 250361_๑๘๐๔๐๗_0012

เสียงของคนพิเศษ

กลุ่มเยาวชนและผู้ใหญ่พิเศษมีวงสนทนาแลกเปลี่ยนกันโดยมี คุณกรกฎ ธีรสวัสดิ์ ช่วยนำกระบวนการแลกเปลี่ยน ความคิด ความหวัง และบทบาทของพวกเขาในการอยู่ร่วมกับสังคมที่อยากให้เป็น

สิ่งที่คนพิเศษอยากเห็นในสังคมคือ ทุกคนเป็นเพื่อนกัน ยิ้มแย้ม ไม่ว่าร้ายกันและกัน เราอยากเจอกันบ่อยๆ และอยากให้มีคนรับฟังพวกเรามากขึ้น
สิ่งที่พวกเราในฐานะคนคนหนึ่งในสังคมสามารถทำได้คือ เราอยากเป็นเพื่อนกับทุกคน อยากถ่ายทอดความรู้ สอนน้องๆ เป็นครูหรือเป็นตัวอย่าง ช่วยเหลือคนอื่น.

This slideshow requires JavaScript.

มิตรสหายผู้ใหญ่พิเศษที่มาพบกันในครั้งนี้แม้จะมีความหลากหลาย แต่จุดร่วมที่เข้มแข็งของพวกเขาคือ “พลังของครอบครัวที่ผ่านภารกิจสำคัญอันยากลำบากมาอย่างเข้มข้น” จึงเป็นที่น่าจับตาดูว่าพวกเขาพร้อมที่จะร่วมมือร่วมใจ เกื้อกูล สร้างโอกาสและพื้นที่ในสังคมให้กับคนพิเศษอย่างไร


ครอบครัวที่สนใจเข้าร่วมชมรมมิตรสหายผู้ใหญ่พิเศษ ติดต่อ 

ชุมชนเพื่อพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษ

และติดตามข่าวสารได้ที่

Line@ Extrability Club  30020137_2081722651843251_2083880265_n


Beam Talk คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ

Learning Space

การศึกษาเพื่อการเยียวยา

ตัวอย่างแนวคิดกิจกรรมตามหลักสูตรของวอลดอร์ฟ

การศึกษาวอลดอร์ฟเป็นเรื่องของ ความธรรมดา ความปกติ จังหวะชีวิตที่สมดุล ไม่มากไม่น้อยเกินไป เหมือนพระอาทิตย์ที่ขึ้นและตกทุกวัน เปลี่ยนแปลงจังหวะบ้างตามฤดูกาล

This slideshow requires JavaScript.

ห้องเรียน จัดให้เรียบง่ายดูดี ครอบครัวก็นำไปจัดทำได้ ห้องเรียนที่ 1 สำหรับเด็กอายุ 0-6 ปี  มนุษย์เรียนรู้โลกรอบตัวผ่านประสาทสัมผัส ตา หู สัมผัสแรกของเด็กเล็กคืออ้อมกอดของแม่ มั่นคงปลอดภัย มีความวางไว้ใจ โลกกว้างใหญ่ไพศาล ในห้องจึงมีซุ้มบ้าน ถ้าเราสังเกตเด็กเล็กชอบมุดใต้โต๊ะ การเล่นของเขาคือสร้างบ้านหลังเล็กๆ ทุกวัน

This slideshow requires JavaScript.

ชีวิตที่มีจังหวะสมดุล เด็กเล็กชอบเพลงกล่อมเด็กแบบย่ายายร้อง เราทำอะไรก็ร้องเพลงไปด้วย เด็กรับรู้ความดี ความงาม ความจริง จากแม่และครู ดี จากที่เราตั้งใจทำอะไรดีๆ ให้เขา งาม คือมีจังหวะจะโคนนุ่มนวล ครูก็อ่อนโยนไปด้วยเปลี่ยนแปลงจากข้างใน

birth

การตื่นขึ้น จะเกิดเมื่อเขาพร้อม ผ่านการทำกิจกรรมตามนาฬิกาชีวิต การศึกษาวอลดอร์ฟรู้ว่า อาหารจิต อาหารกาย อาหารสมอง อาหารจิตวิญญาณคืออะไร …
การใช้นิทานที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ เสมือนปุ๋ยธรรมชาติที่ช่วยให้เด็กเติบโต / เด็กได้เล่นจนอิ่มพอดี ถึงเวลาเลิกเล่นก็ไม่งอแง / งานศิลปะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของชีวิตของมนุษย์ เริ่มต้นจากการจัดสภาพแวดล้อมที่ดีให้บ้าน / กิจกรรมทำอาหาร เช่น การอบขนมปังมีกลิ่นหอม เห็นกระบวนการทำ และยังมีนิทานที่สอนเรื่องการแบ่งปัน เริ่มต้นสวยงามจบอย่างมีความสุข เด็กอิ่มทั้งกายและใจ / ดนตรีบำบัด มนุษย์เรามีจังหวะ เด็กเรียนรู้ผ่านดนตรี ห้องเรียนที่ 1 ใช้พิณ ซึ่งมีเสียงเบาเด็กต้องตั้งใจฟัง ถ้าเป็นกลอง ครูตีเขาก็จะตี ถ้าครูลูบกลองเขาก็ลูบ เรียนรู้ผ่านการเลียนแบบการกระทำของครู เด็กบางคนไปหยิบกลองเพื่อจะมาเป็นครูให้เพื่อนได้ด้วย ฯลฯ


ข้อมูลจากศูนย์การศึกษาพิเศษ จังหวัดลำพูน


นิทาน
“ได้เวลาของโลกนิทาน ได้เวลาของโลกนิทาน
สะพานสายรุ้งทอดยาว จากดวงดาวสู่ตัวเจ้า
จากดวงดาวสู่ตัวเจ้า”
“มานั่งฟัง มาล้อมวง”

“อาหาร” เป็นสิ่งจำเป็นในการหล่อเลี้ยงร่างกายเด็กฉันใด
“นิทาน” ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเด็กฉันนั้น

นิทานที่เหมาะกับวัยของเด็กนั้นจะทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องของนามธรรมผ่านการเล่าเรื่อง เช่น เด็กปฐมวัย เป็นเทพนิยายหรือนิทานกริม และเด็กอายุ 8 ขวบ ควรเป็นนิทานอีสป หรือ นิทานเกี่ยวกับโพธิสัตว์ เป็นต้น
ในวัยเด็ก เด็กชื่นชอบการฟังนิทานเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อย้อนไปอ่านนิทานเหล่านั้นเมื่อโตขึ้น ก็รู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งที่พบว่า นิทานแสนสนุกที่เคยฟังอย่างไม่รู้เบื่อสมัยยังเป็นเด็กนั้น กลับมีความจริงแห่งชีวิตที่ลึกซึ้งแฝงเร้นเอาไว้อย่างมากมายในทุกๆ เรื่อง

This slideshow requires JavaScript.


ศิลปะจากดอกไม้ : การจัดดอกไม้
ในชั้นอนุบาล เด็กได้ร้อยพวงมาลัย ครูพาเด็กเก็บดอกไม้ที่ร่วงหล่นลงมา โดยเริ่มจากทักทายดอกไม้ ขอเก็บดอกไม้ใส่ตะกร้า พร้อมทั้งขอบคุณและพาดอกไม้กลับไปที่ห้องเรียน เด็กค่อยๆ นำดอกไม้มาเรียงร้อยทีละดอกๆ จนเป็นพวงมาลัยที่สวยงาม และนำไปถวายพระด้วยจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข
ในชั้นเด็กโต เด็กได้สำรวจธรรมชาติ การสังเกตต้นไม้ดอกไม้ เปลือก กิ่ง ใบ สีสัน ขนาด รูปร่าง ความร้อน ความเย็น สิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน แต่ละฤดูกาล นำไปสู่การค้นพบความจริงของธรรมชาติ เด็กได้วาดต้นไม้ ดอกไม้ เรียนรู้คำศัพท์ เรื่องราวและเก็บดอกไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ที่หล่นมา นำมาสร้างสรรค์เป็นรูปต่างๆ อย่างสวยงาม

542601795.327702


งานปั้น
“โลกปั้นเรา เพื่อให้เราปั้นโลก”
ศิลปะงานปั้นทำให้เราอ่อนโยนต่อโลก และสังเกตโลกอย่างเข้าใจ งานปั้นในเด็กเป็นการนำโลกแห่งจินตนาการถ่ายทอดมาเป็นชิ้นงานผ่านขี้ผึ้ง หรือดินเหนียวที่ได้มาจากธรรมชาติ
เมื่อสัมผัสโลกอย่างเข้าใจ เราจะโอบอุ้มธรรมชาติและดูแลโลกใบนี้ และส่งให้คนรุ่นต่อๆ ไปอย่างรู้คุณค่า
งานปั้น เชื่อมโยง กาย ใจ เข้ากับธรรมชาติในรูปแบบมิติสัมพันธ์ ผ่านประสาทสัมผัสหลายด้านที่สอดประสานกันอย่างลงตัว นำไปสู่การพัฒนาจิตวิญญาณภายในต่อไป

img_6346.jpg


วาดภาพระบายสี
“สะพานสายรุ้งเรืองรอง
ทาบทอท้องฟ้าอำไพ
แต้มสีเหลือง แดง น้ำเงิน สดใส
สายรุ้งในใจงดงาม”

สีมีความสัมพันธ์กับความรู้สึก เด็กอายุ 1 – 6 ปี (ปฐมวัย) สามารถรู้สึกถึงคุณสมบัติของสีแท้ๆ โดยไม่ต้องโยงสีกับวัตถุ การใช้สีเป็นการจงใจให้เกิดจินตนาการและพัฒนาการด้านการมองให้เข้าไปถึงความรู้สึก ครูจะส่งเสริมให้เด็กระบายสีและมีความสุขกับสี โดยไม่จำเป็นต้องวาดเลียนแบบของจริง

TTT_7053


การจัดสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่อยู่รายรอบตัวเด็กมีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อพัฒนาการทุกด้าน สิ่งแวดล้อมที่ดีปลอดภัยจะช่วยให้เด็กๆ วางใจที่นำพาตนเองออกไปโลดแล่นสัมผัสธรรมชาติเพื่อเติมพลังชีวิต และนำกลับมาใช้ในการเรียนรู้โลก
การจัดการสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับฤดูกาลและเป็นธรรมชาติ เปรียบเสมือนการเตรียมห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ที่อุดมไปด้วยขุมพลังแห่งชีวิต และเชื้อเชิญให้เด็กๆ ออกมากระโดดโลดเต้นอย่างสนุกสนาน สร้างพลังความแข็งแกร่งให้กับกายและใจควบคู่กันไป อีกทั้งยังทำให้โลกแห่งจินตนาการของเด็กๆ ค่อยๆ เผย ออกมา

This slideshow requires JavaScript.


ดนตรีบำบัด
ดนตรีช่วยให้ทุกอย่างสมดุล การเข้าใจและการรับรู้ผ่านดนตรี ความรู้สึกที่ประกอบด้วยทุกสิ่งที่เกี่ยวกับอารมณ์ การผ่อนคลาย ดนตรี คือการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของจังหวะสอดคล้องกับการเต้นของหัวใจ สิ่งที่สะท้อนถึงดวงจิตด้านในของเด็ก เช่น การตีกลองกับเด็ก เราสามารถรับรู้ว่าเด็กเป็นอย่างไร จิตใจข้างในเป็นอย่างไร

TTT_7374


จิตตลีลา
กิจกรรมการเคลื่อไหวเพื่อการศึกษา คือ การนำพาเด็กให้เคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบต่างๆ อย่างมีจังหวะและสมดุล เพื่อให้เด็กฝึกฝนความรู้สึกตัว รู้จักระยะห่างของพื้นที่รอบตัวระหว่างตัวเองและคนอื่น หรือสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกับคนอื่น
การเคลื่อนไหวในรูปแบบของจิตตลีลาหรือยูริทมี่ คือ ศิลปะการเคลื่อนไหวที่แสดงออกถึงความมุ่งมั่นจากภายในที่จะนำพาร่างกาย เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ต้องการอย่างรู้สึกตัวอยู่ทุกขณะ
การทำยูริทมี่ ช่วยให้คนเราเรียนรู้วิธีนำการเคลื่อนไหวมาใช้กับดนตรี หรือเสียงพูด ได้ในลักษณะที่จะมีผลในทางจัดระเบียบและสร้างความกลมกลืนขึ้นทั่วทั้งตัวตนทั้งจิตและกาย
ในโรงเรียนวอลดอร์ฟนักเรียนทุกคนจะเรียนยูริทมี่ อันเป็นวิชาที่มีหลักสูตรของตนเอง ซึ่งสอดคล้องและช่วยเสริมสร้างวิชาอื่นๆ ทั้งปวง โดยเริ่มเรียนตั้งแต่อนุบาลต่อเนื่องไปจนจบการศึกษาในโรงเรียน

TTT_6992


สังคมบำบัด
ผ่านงานฝีมือ งานบ้าน งานสวน สู่อาชีพและการมีงานทำ

งานสวน
การสัมผัสธรรมชาติ คือ การถ่ายเท พลังชีวิตระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ งานที่ทำให้เด็กๆ ได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดคือ งานสวน งานที่ได้ย่ำเท้าบนดินที่ชุ่มชื้นไปด้วยน้ำ ได้สัมผัสแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าได้เฝ้ามองการเจริญเติบโตของพืช ผัก ที่ลงมือปลูกด้วยตนเอง เด็กๆ ได้เรียนรู้วงล้อแห่งชีวิตผ่านการลงมือทำ และมีส่วนร่วมในทุกๆ ขั้นตอน เด็กๆ จะรู้จักโลก รักและดูแลด้วยความหวงแหนตลอดไป
“การทำสวน ช่วยให้เด็กได้สัมผัสกับพื้นโลก
เรียนรู้คุณค่า และความยิ่งใหญ่ของแผ่นดิน”

This slideshow requires JavaScript.


งานครัว
เป็นเรื่องใกล้ตัว การได้มีประสบการณ์ทำงานครัว เป็นบทเรียนแห่งชีวิตบทใหญ่ ทุกๆ กิจกรรมในงานครัวทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้มากมาย มิใช่แค่การทำอาหารเพื่อรับประทาน มิใช่แค่งานล้างทำความสะอาด แต่เป็นงานแห่งชีวิตที่คละคลุ้งไปด้วยกิลิ่นไอของความสุขอุดมไปด้วยสีสัน รสชาติ และแปรเปลี่ยนเป็นพลังสร้างสรรค์โอบอุ้มโลก

This slideshow requires JavaScript.


งานฝีมือ
เมื่อเด็กใช้มือสร้างหรือประดิษฐ์ของเล่น เขาจะได้ฝึกสมาธิ ความวิริยะ อุตสาหะ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความรู้สึกชื่นชมในสิ่งที่ตนสร้างขึ้น เด็กจะตระหนักถึงความยากลำบาก ในการคิดและการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้เห็นคุณค่าของคนทุกคนและสรรพวิ่งรอบตัวเขา

This slideshow requires JavaScript.


ทัศนศึกษา
การได้มีประสบการณ์กับสิ่งใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นสร้างความตื่นตาตืนใจกับเด็กๆ ประสบการณ์เดิมจะถูกนำมาใช้อีกครั้งเมื่อต้องเผชิญกับโลกใหม่ที่ต้องเรียนรู้ การเปิดโอกาสให้กับเด็กๆ ได้ออกไปสำรวจโลกใบใหม่ที่ไกลออกไป จะช่วยให้เป้าหมายแห่งการดำรงอยู่ของชีวิตมีความสำคัญมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้เด็กๆ เห็นคุณค่าของการมีชีวิตTTT_7387


อ่าน : เมื่อฉันตื่นขึ้นที่ลำพูน


ขอขอบพระคุณ 

ดร.จิตประภา ศรีอ่อน คุณอัมรินทร์ พันธ์วิไล คุณอนุสรา จันทร์ตาธรรม คุณธรรมพร มณีกุล คุณวิภาวี บุญนาคคุณวารินทร์ โชคอำนวยกูล คุณดำรงสิน เชียงวัดเกตุ และคณะทำงานศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talk คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ

Community, Featured

เมื่อฉันตื่นขึ้นที่ลำพูน

img_6211
พวกเราดั้นด้นมาถึงจังหวัดลำพูนเพื่อขอเข้าศึกษาดูงานศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน ที่จัดการศึกษาวอลดอร์ฟ (การศึกษาเพื่อการเยียวยา แนวมนุษยปรัชญา) สำหรับเด็กพิเศษและครอบครัวในพื้นที่ ซึ่งเริ่มดำเนินงานมากว่า 5 ปีแล้ว แต่ก็ยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับศึกษาพิเศษในบ้านเรา โดยเฉพาะเป็นการดำเนินงานโดยหน่วยงานภาครัฐ

เราพบกระบวนการเรียนรู้ที่หลอมรวมผู้คน ก่อร่างความเข้าใจ และเคลื่อนขยายสู่ชุมชน พวกเขาเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่เบ่งบานได้ด้วยความรักและจังหวะชีวิตที่สมดุลสอดคล้องกับธรรมชาติ ทุกตารางนิ้วแวดล้อมด้วยความงามที่เรียบง่าย สะอาดประณีต ศูนย์การศึกษาพิเศษแห่งนี้กลายเป็นที่เยียวยาให้จิตวิญญาณที่หลับใหลกลับตื่นขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

TTT_7203


เข้าใจ มนุษย์

ดร.จิตประภา ศรีอ่อน ที่ปรึกษาด้านวิชาการ ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน
การทำงานกับคนพิเศษหรือคนพิการ ใครมีแนวคิดอย่างไรก็จะทำไปแบบนั้น สำหรับคนที่มีแนวคิดว่าเขาเป็นคนพิการ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Handicapped ก็อาจจะเชื่อว่า เขาทำอะไรไม่ได้เรามีหน้าที่ต้องช่วยเหลือ

แต่สำหรับคนที่เชื่อว่า บุคคลพิเศษ หรือ People with disability คือคนที่มีปัญหาหรือข้อจำกัดบางอย่าง ลองดูตัวเราเองซิก็มีข้อจำกัดใช่ไหม คนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ คนที่หลงเรื่องทิศทาง ถ้าเราถือว่าคนทุกคนไม่ได้เต็มร้อยต่างมีความเป็นพิเศษในตัวเอง ถ้ามีมุมมองแบบนี้เราก็จะหาวิธีอยู่ร่วมกันโดยที่เขายังคงเป็นเขา เราไม่ได้เปลี่ยนให้เขาต้องสมบูรณ์แบบ หรือทำเหมือนเขาไร้ความสามารถ ซึ่งแนวคิดนี้มีมาร่วมสามสิบปีแล้ว

TTT_7357
ดร.จิตประภา ศรีอ่อน ที่ปรึกษาด้านวิชาการ ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน

เมื่อเขาเป็นของเขาแบบนั้นทำอย่างไรจึงจะดึงศักยภาพของเขาขึ้นมา อย่างคนที่มีความท้าทายเรื่องปัญญาถ้าให้ฝึกเขียนอยู่นั่นแล้วแต่เขาเขียนไม่ได้ เหมือนอย่างตัวอาจารย์จะให้ไปเป็นนางงามจักรวาล จะผ่าตัดกี่รอบเราก็เป็นไม่ได้ไง แล้วเราไปเสียเวลาตรงนั้นทำไม ทำไมไม่ให้คุณค่าในสิ่งที่เขาเป็น ซึ่งเป็นประโยชน์มากกว่า ความภาคภูมิใจไม่หายไปกับเรื่องที่ทำไม่ได้ นี่คือสิ่งที่สำคัญ

คนชอบเรียกชื่ออาการ ออ.. ลูกเป็นออ.. ครูถามว่าลูกชื่ออะไร หลานชื่ออะไรคะ การที่เราบอกว่าเป็นออ.. เป็นสมาธิสั้น ฯลฯ เราพูดอย่างไรก็ส่งผลให้มีภาพความเชื่อแบบนั้น

ใช่ เขาเป็นอย่างนั้นแหละ แต่อย่าคิดว่าเขาคือ ออทิสติกนะ 

เขาคือ “ลูกของเรา” ทุกคนต้องการความภาคภูมิใจในตัวเอง

วอลดอร์ฟ คือ การศึกษาที่พัฒนามนุษย์ตามวัย

เป็นการศึกษาที่เข้าใจมนุษย์ในแต่ละช่วงวัยว่าทำอะไรได้ใน 5 ด้าน คือ ร่างกาย จิตใจ สังคม สติปัญญา และจิตวิญญาณ ทุกอย่างเป็นองค์รวมของความเป็นมนุษย์

เราต้องให้อาหารที่เหมาะสมและรู้ว่าวัยนี้เขาทำอะไรได้ ไม่ต้องไปเร่งกระตุ้นพัฒนา มันจะไปของมันเอง แต่เราต้องให้อย่างรอบด้าน อย่างเด็กที่มีภาวะทางสมอง (CP หรือ Cerebral palsy) ส่วนใหญ่ไปเน้นเรื่องกาย แต่ลืมจิตใจ ลืมสมอง เมื่อมองเด็กแบบองค์รวมและใส่อาหารให้สมดุลทั้ง 5 ด้านตามวัย และตามจังหวะ การที่เขาได้รับประสบการณ์เหมาะสมกับวัยพบคนที่เข้าใจให้โอกาสเรียนรู้ เขาจะพัฒนาศักยภาพสูงสุดได้เอง

This slideshow requires JavaScript.


การศึกษาเพื่อการเยียวยา (Curative Education) หมายถึง
การจัดการศึกษาแบบสหวิทยาการสำหรับคนพิเศษ ซึ่งคำนึงถึง “องค์รวมของความเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่างระหว่างบุคคล” โดยการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของ คนพิเศษ ผู้ดูแล ครู และ นักวิชาชีพ


เยียวยา ใคร

การศึกษาวอลดอร์ฟ ให้เวลากับการอบรมครูเพื่อให้ครูเป็นแบบที่ดีก่อนในการลงมือทำ การเยียวยาจึงเริ่มที่ ครู และพ่อแม่ แล้วจึงเยียวยาเด็ก เป็นการศึกษาที่ดูแลคนทุกคน

ในการจัดกระบวนการ “แม่” คือคนสำคัญ การยอมรับลูกว่าเป็นคนพิเศษซึ่งโจทย์นี้หรือของขวัญที่ได้รับนี้เป็น งานยาก เป็นงานที่ต้องให้คนเก่งทำ และจงเชื่อว่าแม่คนนี้ทำได้ เมื่อยอมรับสิ่งสำคัญนี้แล้ว พ่อแม่ที่นี่เขาจะไม่ช้อปปิ้งหรือแสวงหาการบำบัดอื่นๆ เพราะรู้ว่า

บทบาทของเขาคือ คนที่สำคัญที่สุดของลูก

ที่นี่จึงไม่ใช่ศูนย์ฝึกหรือเป็นที่เอาลูกมาฝาก แต่คือที่มาเรียนรู้ด้วยกัน แต่ละครอบครัวกลับไปทำนาฬิกาชีวิตที่บ้าน มีวินัยในตัวเองกำกับจังหวะชีวิต เราใช้ระบบเดียวกันแต่ระยะเวลาแต่ละครอบครัวอาจไม่เท่ากัน นาฬิกาชีวิตใช้ภาพเพื่อสื่อสารจังหวะชีวิต ทุกอย่างทำไปตามแก่นแกนของการพัฒนามนุษย์ เด็กเห็นก็รู้ว่าตัวเองจะอยู่อย่างไร

This slideshow requires JavaScript.


ปฏิบัติการสอนในศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน แบ่งห้องเรียนตามช่วงวัย
ห้องเรียนที่ 1 อายุ 0 – 6 ปี
ห้องเรียนที่ 2 อายุ 7 – 12 ปี
ห้องเรียนที่ 3 อายุ 13 ปีขึ้นไป

ครอบครัวหมุนเวียนมาสัปดาห์ละ 1 วัน ตามพื้นที่ และนำกิจกรรมตามนาฬิกาชีวิตไปทำที่บ้าน
วันจันทร์ กลุ่มอำเภอเมือง
วันอังคาร กลุ่มอำเภอบ้านธิ อำเภอแม่ทา อำเภอป่าซาง อำเภอเวียงหนองส่อง
วันพุธ กลุ่มอำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง
วันพฤหัสบดี หน่วยบริการในชุมชน (ศูนย์การเรียนประจำอำเภอ) และ เยี่ยมห้องเรียนที่บ้าน

This slideshow requires JavaScript.


คุณอัมรินทร์ พันธ์วิไล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดลำพูน

องค์กรของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ ด้านเมื่อนำการศึกษาวอลดอร์ฟมาเป็นฐานในการทำงาน ทั้งการเปิดพื้นที่ให้บุคลากรที่มีความหลากหลายทำงานร่วมกัน จัดจังหวะชีวิตที่สอดคล้องทั้งการอยู่ร่วมกันและการทำงาน เกิดจิตอาสาแบ่งปันเวลาช่วยกันดูแลทุกพื้นที่ให้สวยงามน่าอยู่

This slideshow requires JavaScript.

รวมทั้งการจัดห้องเรียน ซึ่งเราพบการเปลี่ยนแปลงของทุกฝ่าย

ครูมีความมั่นใจว่าตัวเองเป็นครู จากเมื่อก่อนที่ไม่มีเลยเพราะทุกคนเชื่อว่าการจะช่วยเหลือเด็กพิเศษได้ต้องเป็นนักวิชาชีพ เช่น กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด ซึ่งครูไม่รู้ว่าจะทำตัวเองให้เหมือนนักวิชาชีพได้อย่างไร แต่ก่อนผู้ปกครองมาศูนย์ฯ ก็อยากมาหาผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เขาไม่คิดจะมาหาครู ระบบการผลิตครูของบ้านเราไม่มีสถาบันไหนสอนการดูแลเด็กพิการขั้นรุนแรง ครูไม่เคยมีประสบการณ์ เขาไปฝึกงานในโรงเรียนสอนตามประเภทความพิการ หรือสอนในระบบการเรียนร่วม แต่ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษเราดูแลเด็กที่ไม่สามารถเข้าโรงเรียนได้ พอการศึกษาวอลดอร์ฟเข้ามา ครูเรามีความมั่นใจ ว่าฉันคือครู จัดกิจกรรมได้ เล่นกับเด็กได้ เขาทำได้ด้วยวิธีการและบทบาทความเป็นครู

ผู้ปกครองเปลี่ยนแปลงทัศนคติ จากเมื่อก่อนจะมาศูนย์ฯ เพื่อรับบริการจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ และรับทุน มีน้อยมากที่จะพาลูกมารับการศึกษา ตอนนี้เขาอยากพาลูกเข้ามาร่วมเล่นอยู่กับกลุ่ม รู้บทบาทของตัวเอง มีส่วนร่วมทำงานต่างๆ ทำกิจกรรมกับลูกที่บ้านได้ ครอบครัวพึงพอใจมีความสุข

เด็กเปลี่ยนหมดทุกด้าน ทั้งอารมณ์ ปฏิสัมพันธ์กับครู ด้านสังคมมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามธรรมชาตินั้นเด็กเขาพร้อมไปได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือครูผู้ปกครองคนรอบข้างจะเปิดโอกาสให้เขาเดินไปข้างหน้าได้หรือเปล่า เช่น พาเขาไปเห็นสังคมภายนอกไหม ถ้าเราให้โอกาส เขาไปได้แน่นอน เวลาไปเยี่ยมบ้าน เราเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพซ่อนอยู่ในครอบครัวเขา ที่ดีใจมากคือ เราไม่เห็นบ้านที่กลายเป็นโรงเรียน แต่เราพบบ้านที่มีความเป็นบ้าน สะอาดมีคุณลักษณะที่ดี จัดกิจกรรมทำกับลูกตามจังหวะนาฬิกาชีวิต พาลูกร่วมงานในชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดที่เขาจะมีชีวิตที่เป็นปกติ

ทั้งหมดนี้ดูเหมือนเข้าใจยาก แต่เมื่อครอบครัวเข้าถึง ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องง่าย

TTT_7532
คุณอัมรินทร์ พันธ์วิไล ผู้อำนวยการ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดลำพูน

เรียน ตามจังหวะ

TTT_7462
คุณอนุสรา จันทร์ตาธรรม (ครูยิ้ม) ห้องเรียนที่ 1

ห้องเรียนที่ 1 สำหรับเด็กอายุ 0 – 6 ปี
ความแตกต่างจากการจัดการศึกษาพิเศษทั่วไปคือ การศึกษาวอลดอร์ฟ เราเน้นให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้ก่อนเด็กเล็กๆ เขาเรียนรู้ผ่านการเล่น แต่ที่เราเรียนการศึกษาพิเศษมา เจอเด็กเล็กสิ่งแรกที่เราทำคือฝึกเขา เพื่อให้เขานิ่ง นั่งทำ โดยที่เราไม่รู้ว่าเขาพร้อมหรือไม่พร้อม แต่เขาต้องฝึกตามโปรแกรม

การแบ่งเด็กในแต่ละช่วงอายุมีความสำคัญ แต่ก่อนนี้เราตั้งคำถามการรับเด็กมาต่างช่วงอายุกัน ทำไมเราฝึกเขาเหมือนกัน ในห้องเรียนที่หนึ่งนี้ เช้ามาเด็กเล็กต้องเล่นก่อนอย่างน้อย 45 นาที ห้องที่สอง เน้นเรื่องร่างกาย ก็จะทำกิจกรรมข้างนอกห้อง กิจกรรมกลางแจ้ง ทำขนม ส่วนเด็กโตห้องที่สามจะเริ่มเรื่องอาชีพ ใช้เงินให้เป็น ทุกวันก็จะมีตลาดเล็กๆ ในห้อง ที่เด็กจะเอาขนมของตามฤดูกาลมาขายในห้อง ครูคิดว่าเหมาะสมตามพัฒนาการเด็กแต่ละวัย และจากการทำงานที่นี่มา 8 ปี เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก เขาทำทุกอย่างเป็นกระบวนการตามจังหวะ เช้ามาทำอะไร เขารู้ขั้นตอน เมื่อจะเข้าสู่บทเรียนแต่ละวัน เขาจะช่วยครูยกเตรียมของที่ต้องใช้ เด็กบางคนร้องเป็นเดือน แต่พอเขารู้จังหวะของตัวเองและห้องเรียนว่าแต่ละวันทำอะไรบ้าง เขาก็ไม่ร้องแล้ว

ตามหลักของวอลดอร์ฟเด็กห้องหนึ่งเมื่อฟันน้ำนมเขาหลุด เขาพร้อมที่ไปห้องเรียนที่สองแล้ว ครูมาสังเกตดูเด็กก็เห็นจริงว่าเขาพร้อมแล้วทุกๆ ด้าน การเปลี่ยนห้องเรียนจากห้องหนึ่งไปห้องสอง เรามีวิธีการเตรียมเด็กที่จะเปลี่ยนห้องว่า เขาเป็นนกตัวน้อยที่เริ่มตัวโตขึ้นแล้ว เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนห้อง น้องๆ ก็จะบินเหมือนนก พากันบินไปส่งพี่ที่ห้องสอง คุณครูห้องสองก็จะรับ ครูและน้องๆ ก็บินกลับห้องซึ่งพี่ก็รับรู้และไปเรียนห้องที่สอง ไม่กลับมาที่ห้องแรกอีก

พ่อแม่มีความกังวลอยู่แล้วว่าลูกจะเรียนจะอยู่อย่างไรในสังคม การเรียนรู้ผ่านการเล่น ครูพาทำงานบ้าน งานครัว งานสวน เราสอนเด็กดูแลตัวเองได้ ทำกับข้าวง่ายๆ ทำความสะอาดบ้าน เป็นพื้นฐานชีวิตที่วันข้างหน้าให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง


TTT_7585
คุณธรรมพร มณีกุล (ครูแจ้ว) ห้องเรียนที่ 2

ห้องเรียนที่ 2 สำหรับเด็กอายุ 7 – 12 ปี
ห้องเราเน้นกระบวนการทำครัว มีมุมครัว เพื่อให้เด็กได้สัมผัส ดมกลิ่น เป็นกระบวนการทั้งระบบที่เชื่อมโยงกัน สิ่งที่เห็นเด็กและผู้ปกครองมีความอยาก กระตือรือร้นมาจากข้างใน แม้แต่เด็กบางคนที่ยังนอนอยู่ การสอนแบบเดิมเราแยกเด็กตามประเภท สอนแบบแยกส่วน สั่งให้เด็กทำ แต่การศึกษาวอลดอร์ฟเราจะพาทำ เขาซึมซับจากครูและพ่อแม่ และด้วยวิธีการแบบนี้มันส่งผลถึงการดูแลลูกของเราเองด้วย เขารับรู้ได้ว่าเราอ่อนโยนลง


TTT_7594
คุณวิภาวี บุญนาค (ครูกาย) ห้องเรียนที่ 3

ห้องเรียนที่ 3 สำหรับเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป

เตรียมความพร้อมเพื่อให้เด็กมีอาชีพ ฝึกปฏิบัติทำเองทั้งการดูสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เก็บกวาด ล้างจานทั้งในห้องเรียน ที่บ้าน การทำอาหาร มีครูผู้ช่วยพาทำ งานสวน ขุดดิน ปลูกผัก กิจกรรมบูรณาการพัฒนาไปพร้อมกันหมด เด็กรู้สึกสนุก ไม่รู้สึกว่าเป็นการเรียน แต่เป็นการเล่นมีความสุข ปลุกจิตวิญญาณให้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมด้วยกัน เราเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เห็นชัดคือ อารมณ์เย็นลง ทุกครั้งที่สัมผัสเด็กเขารับรู้ได้ ถ้าเราอารมณ์นิ่งไปสัมผัสเขาก็จะนิ่งเช่นกัน เพราะเราเชื่อมโยงพลังถึงกัน


แม่ คือครู

TTT_7553
(ซ้าย) คุณดำรงสิน เชียงวัดเกตุ คุณแม่ของน้องเมย์ (ขวา) คุณวารินทร์ โชคอำนวยกูล คุณแม่ของน้องวุ้นเส้น

คุณวารินทร์ โชคอำนวยกูล (คุณแม่ของน้องวุ้นเส้น)
ตอนวุ้นเส้นเกิดขาดออกซิเจนจนตัวเขียว อายุแปดเดือน คว่ำแต่ไม่คืบคลาน คุณหมอส่งต่อให้ไปเข้าคิวฝึกทำกายภาพ ทำต่อเนื่องอยู่สองปี แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง กลับมาอยู่ที่บ้านก็ยังทำกายภาพบำบัดตามที่เขาสอนไม่ได้คิดว่าจะดีขึ้น จนอายุ 6 ขวบมีคนแนะนำให้มาที่นี่ ตอนนั้นน้องยังนอนเฉยๆ ทำอะไรเองไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย

ที่นี่อบรมสอนหลายอย่างมากแม่ก็สอนลูกไปตามที่ครูบอก สำหรับนาฬิกาชีวิตที่บ้านเช้ามาแม่ต้องไปขายของก็จะเตรียมอาหารไว้ กลับมาถึงจะพาเขาทำกิจกรรมเคลื่อนไหว ปัจจุบันน้องอายุ 13 ปี ทำอาหาร อาบน้ำเองได้ พูดเก่งเลย ชอบร้องเพลง  หัดให้เกาะยืน มาโรงเรียนวุ้นเส้นอยู่ห้องสอง เช้ามาเคลื่อนไหว สวัสดีคุณครู ออกกำลังกาย เล่นดนตรี ร้องเพลง น้องทำทุกอย่างได้ เวลาออกมาข้างนอกก็นั่งรถเข็น

การศึกษาแบบนี้ดี ถ้าเราปล่อยลูกไว้ ลูกก็ทำอะไรไม่ได้ ลูกเรา เราต้องรับได้ ช่วยเหลือดูแล แม่รักลูกค่ะ เดี๋ยวนี้เขานั่งกับพื้นช่วยล้างจานได้แล้ว กำลังหัดเกาะยืนคุณพ่อเขาก็ช่วยอีกแรง เราทำเต็มที่


TTT_7016

คุณดำรงสิน เชียงวัดเกตุ (คุณแม่ของน้องเมย์)
น้องเมย์ตอนลูกสองขวบยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ยังไม่พูด คอไม่แข็ง สบตาบ้าง คุณแม่ขยันมากพาไปศูนย์ต่างๆเพื่อกระตุ้นพัฒนาการสัปดาห์ละสี่วัน แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้จุดประสงค์ของลูก จน 6 ขวบย้ายมาที่นี่ น้องเมย์เริ่มฟังรู้เรื่อง ร้องเพลง เข้าใจคำพูดของแม่
การศึกษาแบบวอลดอร์ฟ แม่เริ่มเข้าใจตอนลูก 9 ขวบ ครูเขาเรียกแม่มาบ่อยมาก ให้มารับความรู้เอาไปทำกับลูกที่บ้าน พัฒนาการของลูก คือผลจากความพยายามของแม่และครู และตัวเขาเองด้วย ตอนนี้เมย์อายุ12 ปี

เขามีเขา เรามีเรา เราเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว แม่กับลูก เป็นเรื่องปกติ

เราพัฒนาลูกดูแลเอาใจใส่ทุกด้านอย่างสมดุล เวลาเราพูด พูดอย่างไรให้ลูกเกิดการพัฒนา เช่น แม่เล่านิทาน มีสัตว์อะไรบ้างนะลูกที่แม่เล่าให้ฟัง พรุ่งนี้เช้ามาเล่าให้แม่ฟังนะว่านอนแล้วน้องฝันเห็นสัตว์อะไรบ้าง เช้ามาแม่ก็จะถาม ลูกเมื่อคืนฝันเห็นสัตว์อะไร ตัวใหญ่ ตัวเล็ก ร้องอย่างไร

คำด่าว่า คำไหนที่ไม่พัฒนาแม่จะไม่เอามาพูดเลย

นาฬิกาชีวิต เริ่มตั้งแต่หกโมงเช้า เราทำกิจกรรมไปตามเวลา แรกๆ เราจะบอกเขาก่อนว่าช่วงเวลานี้ เราทำอะไรกัน ไปจนถึงเวลานอน และทุกวันเวลาสี่โมงเย็นแม่จะพาเขานั่งรถเข็นออกไปในชุมชนแถวบ้านให้เขารับรู้สังคมของเขา เราพาไปทุกวันเป็นกิจวัตร จนเขารู้จักว่าคนนั้นคุณยาย.. คุณตา… กลับมาทานข้าว ก่อนนอนไหว้พระสวดมนต์ เล่านิทาน แล้วก็นอน ทำทุกวันเป็นกิจวัตร จนเขาทำเองได้

ก็ต่างกันมากจากเดิมที่ลูกทำอะไรไม่ได้ ไม่รู้จักอะไรเลย ตอนนี้ลูกรู้และเข้าใจ ร้องไห้คืออะไร เสียใจเหรอ หัวเราะ คือการดีใจ เขาจะรู้เองเลย การทำกิจกรรมด้วยกัน จากที่นอนอย่างเดียว ดื่มน้ำไม่ได้ ดูดไม่เป็น เริ่มทำเองได้ โดยเราดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ

ก่อนหน้านี้คุณหมอให้ยาลดการเกร็ง แต่แม่สังเกตว่าเราบำบัดเองดีกว่าให้ทานยาเพราะอาการเขาไม่รุนแรง ก็ใช้การนวดเพื่อคลายอาการเกร็ง งดยามา 8-9 ปีแล้ว แล้วก็งดขวดนม ถ้าเราไม่พยายามลูกก็จะติดขวดนมไปเรื่อยๆ เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นไปตามการเติบโตของลูก


TTT_7115

ดร.จิตประภา ศรีอ่อน ที่ปรึกษาด้านวิชาการ ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน

พ่อแม่คือความสำคัญด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่นและความรัก ผู้ปกครองบอกว่าเขาไม่ได้คาดหวังขนาดนี้ เด็กบางคนต้องนอนมา ตอนนี้เขาเดินได้แล้ว บางคนเขาคิดว่าลูกเขาจะแห้งตายไป เพราะหมอบอกว่าทำอะไรไม่ได้ ที่นี่เราให้เล่านิทาน ร้องเพลงให้เขาฟัง เมื่อเขาตื่นขึ้นเราถามว่าจำได้ไหม แม่เล่านิทานอะไร เขาบอกจำได้ เรื่องหมูสามตัว  แทนที่จะอาบน้ำเฉยๆ แม่ก็ร้องเพลงไป นวดไป คือทำด้วยความรักตามกระบวนการของเรา ทำตามนาฬิกาชีวิต ร้องเพลง เล่านิทานเหมือนกับลูกเขาได้ยิน แม่เขามีความสุขไม่พาลูกไปหาใครอีกเลย อย่างวุ้นเส้นเขาไม่รู้สึกตัวนานมาก แม่บอกว่าที่มีวันนี้ นี่มันไกลเกินฝัน ไกลเกินคาด

สิ่งที่ย้ำเสมอคือ อย่าคาดหวังต่ำ อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้
มันขึ้นอยู่กับคุณภาพของเรา ว่าเรารู้จักเขาไหม เรารักเขาพอไหม

เราต้องสร้างแม่

เพราะแม่คือครูคนแรก

และ ครูตลอดชีวิต

เราเชื่อเรื่องพลังจิตใจ จิตวิญญาณ ของคนที่อยากจะเปลี่ยนแปลง

ถ้าแม่ให้ความรักเขา ดูแลเขาอย่างดี

ตอนที่เขามากอดหอมเรา ยามที่เรามีทุกข์

นั่นคือ การสื่อสารผ่านจิตวิญญาณ ใช่ไหม 

TTT_7438


ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน บริหารจัดการด้วยปัจจัยเข้าตามปกติทั้งงบประมาณและจำนวนบุคลากร คือเป็นไปตามสัดส่วนของจำนวนผู้พิการในพื้นที่ แต่ด้วยวิธีคิดและกระบวนการที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ หรือการศึกษาวอลดอร์ฟที่นำมาใช้ทั้งระบบ เปิดรับบุคลากรที่มีความหลากหลาย ทำให้คนภายในองค์กรเปลี่ยนแปลงมีความเข้าใจและเปิดกว้างมากขึ้น ในระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลแนะนำส่งต่อเด็กพิเศษที่อายุน้อยให้มาที่นี่ คณะทำงานพร้อมจัดการอบรมให้ความรู้ทั้งแก่ผู้ปกครอง ครู และยังเป็นที่ศึกษาดูงานแก่เครือข่ายการจัดการศึกษาพิเศษที่สนใจเข้าร่วม 35 ศูนย์ทั่วประเทศ หลายแห่งเริ่มนำไปทดลองจัดการเรียนรู้แล้ว

การสร้างพื้นที่ที่เข้าใจจังหวะชีวิต การเติบโตตามวัยของมนุษย์ และสังคมแวดล้อมที่พร้อมช่วยกันโอบอุ้มจิตวิญญาณของคนพิเศษให้ตื่นขึ้นเช่นนี้ เกิดขึ้นได้ในบ้านทุกหลังที่มีความรักและหัวใจที่มุ่งมั่น


ตัวอย่างแนวคิดกิจกรรมการศึกษาเพื่อการเยียวยา ตามแนวมนุษยปรัชญา


ขอขอบพระคุณ 

ดร.จิตประภา ศรีอ่อน คุณอัมรินทร์ พันธ์วิไล คุณอนุสรา จันทร์ตาธรรม คุณธรรมพร มณีกุล คุณวิภาวี บุญนาคคุณวารินทร์ โชคอำนวยกูล คุณดำรงสิน เชียงวัดเกตุ และคณะทำงานศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดลำพูน

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talk คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ

Midnight Beam, People+

การละคร กับ ออทิซึ่ม

ออทิซึ่มกับละครเพลงเวที

การบำบัดที่ลงตัวของเดวิด เพโทรวิค

แปลและเรียบเรียงโดย ธรรมชาติ จันทพลาบูรณ์



ในสายตาของผู้คนทั่วไป กิจกรรมอย่าง “ละครเพลง” นั้นมีความหมายแตกต่างกันไป โรงละครอาจเป็นพื้นที่แสดงความสามารถ เป็นแหล่งความบันเทิง หรือเป็นจุดศูนย์รวมของศิลปะหลากหลายแขนง แต่สำหรับ เดวิด เพโทรวิค (David Petrovic) นั้น ละครเพลงเป็นเหมือนการบำบัดทางเลือกสำหรับชีวิตในออทิซึ่มสเปคตรัมของเขา และเขากลายเป็นบุคคลพิเศษผู้ประสบความสำเร็จในการค้นหาความสุขในชีวิตตนเอง จนสามารถกลายเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญของคนพิเศษในสหรัฐอเมริกาที่แบ่งปันแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นจนเป็นอาชีพได้ โดยมีศิลปะแขนงนี้เป็นตัวแปรเบื้องหลังที่สำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของเขา

anti-bullying-program.png

แม้ตอนนี้เดวิดจะเป็นทั้งครูและนักกล่าวสุนทรพจน์มืออาชีพระดับประเทศ แต่ในวัยสามขวบเขาแทบไม่พูดหรือมีปฏิสัมพันธ์กับใครเลย แต่โชคดีที่มีสิ่งหนึ่งดึงดูดความสนใจของเขาได้ชะงักนัก นั่นคือ “ฟองสบู่” ที่ถูกเป่าออกมาจากชุดน้ำยาฟองสบู่ทั่วไป จิตแพทย์เด็กผู้ดูแลเดวิดได้เห็นจุดสนใจนี้ และคิดวิธีการส่งเสริมการพูดด้วยการเป่าฟองสบู่ทุกครั้งที่เดวิดวัยเด็กส่งเสียง การทำแบบนี้เป็นกิจวัตรในช่วงเริ่มเรียนรู้ทำให้เดวิดพูดได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวเมื่อเขาเติบโตขึ้น

เมื่อเดวิดเริ่มค้นพบและสร้างความคุ้นเคยกับเสียงของตนเอง เขาพบความสนุกสนานใหม่ๆ จากการเลียนแบบเสียงและประโยคคำพูดจากตัวการ์ตูน ตัวละครในโทรทัศน์ และบทละครเวทีที่เขาได้ดู เขามีความกระตือรือร้นในการดัดแปลงน้ำเสียงของเขาซ้ำไปซ้ำมาอย่างมาก แต่บางครั้งเขาก็กระตือรือร้นเกินไป ในรั้วโรงเรียนประถม เดวิดยังคงเลียนแบบเสียงตัวละครต่างๆ ที่เขาได้ยินมาอย่างไม่หยุดหย่อน จนเขาเริ่มรบกวนการเรียนของเพื่อนร่วมชั้น และตกเป็นเป้าต่อความคิดแง่ลบของคนรอบข้าง

โชคดีที่คุณครูประถมหนึ่งของเดวิดเห็นวิกฤตนี้เป็นโอกาส และได้ช่วยนำทางเขาให้นำน้ำเสียงหลายบุคลิกนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการแสดงละครแทน และเมื่อเดวิดมีโอกาสได้เริ่มทำงานร่วมกับผู้กำกับที่เข้าใจในตัวเขา ชีวิตของเขาจึงเริ่มพัฒนามากขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะการละครได้ฝึกสอนทักษะชีวิตให้กับเขามากมาย และยังช่วยให้เขาปรับตัวทำความรู้จักกับออทิซึ่มสเปคตรัมของเขาเองอีกด้วย

ตั้งแต่การละครเข้ามาในชีวิตของเดวิด เขาเริ่มเห็นมันเป็นมากกว่างานอดิเรกทั่วไป แน่นอนว่าเขาใช้การละครเป็นที่ผ่อนคลายความเครียด สร้างความสุขและปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ แต่มากไปกว่านั้น เมื่อเขาสวมบทบาทที่เขาได้รับมอบหมาย มันทำให้เขาได้ทำความเข้าใจอารมณ์ต่างๆ ความรู้สึกสงสาร การมีอารมณ์ร่วมกับผู้อื่น หรือเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น จากเดิมที่เขาไม่เคยเต้นตามจังหวะเพลงเป็นมาก่อนในชีวิต แต่การละครได้สอนให้เขาเคลื่อนไหวร่างกายไปตามจังหวะดนตรี มันช่วยเพิ่มกำลังใจในการใช้ชีวิต สุขภาพร่างกายที่ดี และความตื่นตัวของเขาเองด้วย การมีงานอดิเรกนอกรั้วโรงเรียนยังช่วยให้เขาจัดการตัวเองกับการเรียนได้ดีขึ้น เป็นแรงผลักดันให้เขาทำหน้าที่อื่นๆ นอกโรงละครให้เสร็จ เพื่อที่เขาจะได้ไปทำในสิ่งที่รักในโรงละครต่อได้

บทเรียนที่สำคัญที่สุดที่เดวิดได้รับจากการละครนั้นเป็นบทเรียนเชิงจิตวิญญาณ เขาค้นพบว่า “ชีวิตนั้นเกิดขึ้นในโรงละคร” เพราะเมื่อนักแสดงทุกคนได้ทำงานร่วมกัน และรับรู้ซึ่งกันและกัน พวกเขาทำให้ผู้ชมตั้งข้อสังเกตและทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้คนและสิ่งต่างๆ ในชีวิตจริงมากขึ้นผ่านตัวแทนของผู้คนและสิ่งเหล่านั้นในการแสดงละครได้ เขาค้นพบว่าละครทุกเรื่องมีบทเรียนให้เราได้เรียนรู้เสมอ ถ้าเราเลือกที่จะค้นหามัน การเรียนรู้ผ่านการละครนี้เองที่ช่วยให้เดวิดมีโลกทัศน์ที่เต็มไปด้วยสีสัน จนมองโลกได้ลึกซึ้งมากกว่าเดิมในรูปแบบใหม่ที่เขาไม่เคยมองมาก่อน

ทั้งนี้ เดวิดเองเชื่อว่าการมีส่วนร่วมในงานละครทุกรูปแบบสามารถช่วยบำบัดคนพิเศษได้ และการบำบัดนี้ไม่ได้จำกัดแค่การแสดงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่จัดฉาก กำกับเสียง กำกับแสง แต่งหน้า หรือออกแบบเสื้อผ้า ล้วนส่งผลดีต่อคนพิเศษได้ทั้งสิ้น หน้าที่ที่หลายคนอาจมองว่าไม่สำคัญเท่าการเป็นนักแสดงนำ หรือผู้กำกับ เช่น คนขนฉากเข้าออก หรือตัวประกอบที่ไม่มีบทพูด ต่างก็มีประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองของคนพิเศษในรูปแบบต่างๆ การช่วยขนฉากนั้นต้องอาศัยการรู้เวลาตามคิวการขนของระหว่างฉากที่ได้รับ ช่วยฝึกสติ สมาธิ และการจัดการตัวเองได้ดี ส่วนบทตัวละครประกอบที่แม้จะไม่มีบทพูด แต่นักแสดงย่อมต้องสวมบทบาทและแสดงผ่านอากัปกิริยาท่าทางเช่นเดียวกับนักแสดงหลัก และยังต้องเข้าใจถึงตัวตนของพวกเขาในบทละครที่เล่นด้วยเช่นกัน

หนึ่งในบทเรียนแรกที่เดวิด เพโทรวิค ได้รับจากการแสดงละครนั้นมาจากบทบาทของเจ้าชายอสูร เซบาสเตียน (Sebastian) ในละคร โฉมงามกับเจ้าชายอสูร (Beauty and the Beast) ที่เขาแสดงตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เดวิดเริ่มรู้จักตนเองมากขึ้นผ่านบทบาทนี้ ซึ่งทำให้เขามองตัวเองเป็นคนที่มีความแตกต่างแปลกแยกจากผู้อื่น แต่เมื่อเขาเข้าใจตัวเองจนผู้อื่นสามารถเข้าใจเขาได้ เขาจะสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้โดยไม่จำเป็นต้อง “มีเรือนร่างเป็นอสุรกาย” หรือมีพฤติกรรมผิดแผกจากประสาทการรับรู้ที่แตกต่างจากปกติอีกต่อไป

เมื่อประสบการณ์ชีวิตของเขาได้หลอมรวมเข้ากับบทเรียนที่เขาได้รับจากการแสดงละคร เดวิดจึงเติบโตขึ้นมาเป็นตัวแทนคนพิเศษคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในสิ่งเรียบง่าย ยอมรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น ยึดในจุดเด่นของตนเองมากกว่าอุปสรรค ไม่เรียกหาความสมบูรณ์แบบ มองทุกวันใหม่ให้เป็นโอกาส และยอมรับในความแตกต่างของตนเอง เพื่อที่จะสร้างความแตกต่างให้กับโลกรอบตัวเขาต่อไป


หนังสือเรื่องราวของ เดวิด เพโทรวิค  Expect A Miracle: A Mother/Son Asperger Journey of Determination and Triumph

ที่มาของข้อมูลและภาพประกอบ (1) Growing up on the autism spectrum, musical theatre was my therapy  (2) Asperger Miracle Info page  (3) David Petrovic’s TED Talk @ TEDx Pittsburgh


การละครบำบัด

ช่วยบุคคลที่มีภาวะออทิซึ่มได้อย่างไร

การละครบำบัดเป็นวิธีการช่วยพัฒนาทักษะการตอบสนองต่อผู้อื่นให้กับผู้คนที่มีความพิเศษหลายรูปแบบ ผ่านการใช้การฝึกทักษะการละคร เช่น การแสดงโดยไม่ได้เตรียมมาก่อน การแสดงในฉาก การแสดงด้วยท่าทาง และอีกมากมาย เพื่อเสริมสร้างทักษะการสื่อสารกับสังคม สำหรับคนพิเศษที่มีออทิซึ่มแบบพูดได้บางคน กิจกรรมนี้ให้ได้ทั้งความสนุกและประโยชน์

เสริมสร้างจากจุดแข็ง
คนพิเศษผู้มีออทิซึ่มบางคนที่มีภาษาแต่ขาดทักษะในการพูดและมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม บางคนยังคงใช้การพูดตามหรือเลียนแบบ ผู้ปกครองบางท่านอาจสังเกตเห็นลูกท่องบทพูดจากรายการโทรทัศน์ด้วยน้ำเสียงและลีลาแบบเดียวกับเสียงดั้งเดิมทั้งหมดเป็นประจำ
การละครบำบัดเปิดโอกาสให้ผู้มีออทิซึ่มที่พูดได้มีโอกาสใช้จุดแข็งด้านการเลียนแบบของตนเองในการเรียนรู้ ฝึกฝนและทำให้ “บทพูด” ของพวกเขาสมบูรณ์แบบในบรรยากาศที่สนุกและได้รับการเกื้อหนุน และยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกการเข้าสังคมแบบไม่ได้เตรียมมาก่อน ได้ใช้ทักษะที่เรียนรู้มาจากที่อื่นๆ เช่น การอ่าน การใช้ภาษากาย และพัฒนาทักษะการพูด และอาจนำไปสู่โอกาสอาชีพนักแสดงในการแสดงจริง เสริมสร้างความมั่นใจ และได้รับเสียงปรบมือเป็นรางวัล

การละครบำบัดช่วยได้อย่างไร
ซินดี้ ชไนเดอร์(Cindy Schneider) เป็นผู้บุกเบิกการละครบำบัดสำหรับผู้มีออทิซึ่ม และเป็นผู้เขียนหนังสือ Acting Antics: A Theatrical Approach to Teaching Social Understanding to Kids and Teens with Asperger Syndrome.
การสอนการละครและการเคลื่อนไหวของเธอเปิดสอนให้กับผู้เข้าร่วมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และรับผู้เข้าร่วมที่มีความพิเศษหลากหลายรูปแบบ เช่น ออทิซึ่มสเปคตรัม การขาดทักษะการสื่อสารสังคม สมาธิสั้น ฯลฯ สิ่งที่พวกเขาได้รับคือ
1. ความมั่นใจในตัวเอง ไม่ใช่เพิ่มเพื่อการแสดงเท่านั้น แต่สำหรับการทำปฏิสัมพันธ์ด้วย
2. มีความนับถือตัวเองมากขึ้น ภาคภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง
3. รับรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่นได้ดีขึ้น
4. แยกแยะและระบุอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น
5. ได้ทำกิจกรรมผ่อนคลายแบบใหม่ในกลุ่มที่เขาประสบความสำเร็จได้6. รับรู้ระดับเสียงของตนเอง และการริเริ่มปรับการออกเสียงใหม่
7. ทักษะใหม่ๆ สำหรับการทำงานในฐานะส่วนหนึ่งของกลุ่ม
8. ทักษะใหม่ๆ สำหรับทำตามคำชี้แนะ
9. เพิ่มความสามารถในการทำปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน
10. เพิ่มความมั่นใจในตนเองผ่านความสำเร็จ
แม้ว่านักการละครบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดผู้มีออทิซึ่มนั้นหายาก เพราะเป็นสาขาวิชาที่ใหม่ และมีกลุ่มที่ทำงานบำบัดอย่างเป็นทางการเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น แต่ข่าวดีคือผู้เชี่ยวชาญในสาขาการละครก็สามารถทำงานด้วยการใช้ เกม กิจกรรม และการฝึกสำหรับนักเรียนการละครทั่วไปมาประยุกต์ใช้กับเด็กที่มีภาวะออทิซึ่มได้ไม่ยาก

การใช้การละครในชุมชน
การบำบัดด้วยศิลปะส่วนมากมักไม่เกี่ยวข้องกับวิธีการสร้างศิลปะมากนัก เด็กคนหนึ่งอาจจะได้รับหลายอย่างจากดนตรีบำบัด แต่เขาไม่จำเป็นต้องเรียนวิธีการอ่านโน้ตดนตรีหรือเล่นเครื่องดนตรีเลย แต่สำหรับการละครบำบัดนั้นผู้มีออทิซึ่มจะเข้าร่วมกิจกรรมการละครเหมือนกับการเรียนการสอนวิชาละครทั่วไป นั่นแปลว่าเด็กหรือวัยรุ่นที่มีออทิซึ่มที่รักการละครสามารถนำทักษะที่ได้รับมาปรับใช้กับ การแสดงที่ไม่ได้เตรียมมาก่อน การเคลื่อนไหว ภาษากาย และการจำ สำหรับละครโรงเรียนหรือละครชุมชนได้อย่างง่ายดาย
ที่มา: How Drama Therapy Can Help People with Autism


Beam Talk คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

People+

นิทานของพ่อฤทธิ์

cover the cover

คุณศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ (พ่อฤทธิ์) ผู้แต่งนิทาน “หน้าผากของฉันเปล่งลำแสงได้” ชนะรางวัลดาวเด่น งานประกวดนิทานมูลนิธิเด็ก ปีที่ 18 (2558) เป็นนิทานที่ตั้งใจแต่งไว้ให้ลูก เรื่องเกี่ยวกับเด็กที่มีความแตกต่าง มีแสงออกจากรูโหว่ที่หน้าผาก ทำให้เข้ากับสังคมลำบาก เกิดความทุกข์

การประกวดนี้ เดิมมีรางวัล 2 ประเภทด้วยกัน คือ รางวัลยอดเยี่ยม (ที่หนึ่ง) และ รางวัลชมเชย แต่คณะกรรมการการประกวดนี้พิจารณาว่าผลงานนิทานเรื่องนี้ควรได้รับ รางวัลดาวเด่น เปรียบเหมือนที่สองของการประกวดให้เป็นรางวัลที่เพิ่มขึ้นมา แยกจากรางวัลยอดเยี่ยมและรางวัลชมเชย

นิทานเรื่อง หน้าผากของฉันเปล่งลำแสงได้ ได้รับการพิมพ์รวมเล่ม ร่วมกับนิทานเรื่องอื่นๆ อีก 7 เรื่อง ที่ผ่านการประกวด (จากทั้งหมด 667 เรื่อง) ในการพิมพ์รวมเล่มนี้ ใช้ชื่อเล่มนิทานว่า “แมวสามสี” ซึ่งเป็นชื่อนิทานที่ได้รางวัลยอดเยี่ยม

ดูรายละเอียด รวมนิทานส่งเสริมจินตนาการยอดเยี่ยม รวมรางวัลนิทานมูลนิธิเด็ก ครั้งที่ ๑๘


คุณศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ (พ่อฤทธิ์) และ ด.ช. ศิรา ทวีเกียรติ (อุลตร้าเซน)*

อุลตร้าเซนมี *ภาวะหายาก อัลฟี่ซินโดรมโครโมโซมคู่ที่ 9 ขาดหายไป ส่งผลให้มีพัฒนาการช้ารอบด้าน  


จากใจพ่อ

“นิทานเรื่องนี้ตั้งใจแต่งไว้เล่าให้ลูกฟัง โครงเรื่องเกี่ยวกับเด็กที่มีความแตกต่าง ต้องการการดูแลและใส่ใจเป็นพิเศษ (เหมือนลูก) อยากให้ลูกรู้ว่าความพิการ ความต้องการพิเศษ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูก แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต ลูกจะเติบโตโดยดำเนินชีวิตแตกต่างจากคนอื่น แต่ลูกไม่อาจอ้างความพิการ ความต้องการพิเศษ เป็นเหตุแห่งการกระทำใดๆ โดยลูกไร้ซึ่งความพยายามจะเปลี่ยนแปลงการกระทำนั้นๆ ให้ดีขึ้น และอยากให้ลูกรู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง นับถือตนเองเป็น ภูมิใจในตนเอง ภูมิใจในความแตกต่าง ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ และใช้แง่มุมความแตกต่าง ความต้องการพิเศษ ความพิการของตนเองไปในทางที่สร้างสรรค์” 

jaq3azxui5ejfntpi0ik241220155420001435


คุณศุภฤทธิ์ : ผมมีพล็อตเรื่องนี้อยู่ในหัวมาพักนึงแล้วครับ แต่เรื่องมันค่อนข้างซับซ้อน ยังไม่เหมาะกับช่วงพัฒนาการของเซน จนกระทั่งเห็นการเปิดรับงานประกวดนิทานมูลนิธิเด็กก็คิดว่าน่าจะลองลงมือเขียนดู ไม่งั้นก็จะมีแต่พล็อตไปเรื่อยไม่ได้เขียนเป็นเรื่องเสียที หลังทราบผลการตัดสินผมมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับกรรมการบางท่าน กรรมการท่านนั้นชื่นชมว่าเนื้อเรื่องมีความลึกซึ้ง ซึ่งคณะกรรมการและผู้จัดการประกวดไม่ได้ใครทราบมาก่อนว่าผมทำงานเกี่ยวกับเด็กพิการหรือเป็นพ่อของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ตอนเขียนผมตั้งใจให้เป็นนิทานสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษอยู่แล้ว แต่เนื้อเรื่องไม่ได้บอกตรงๆ และตั้งใจหมายถึงทุกกลุ่ม แต่การเดินเรื่องเราต้องหยิบมาให้ชัดๆ แค่หนึ่ง ซึ่งสำหรับเซนเขามีความท้าทายด้านสติปัญญา ก็เลยวางให้เป็นแสงที่มาจากช่องโหว่ที่หน้าผาก

แกนหลักของเรื่องผมเลือกสื่อถึงความแตกต่างเปรียบได้ดั่งลำแสง และลำแสงไม่ได้มีไว้สาดใส่หน้าเพื่อนหรือทำร้ายใคร เราจำเป็นต้องหรี่แสงด้วยตัวเราเอง และพัฒนาตนเองเพื่อเปล่งลำแสงในทางสร้างสรรค์ ซึ่งทำได้ด้วย การประสานสามส่วน คือ อารมณ์ ความคิด การกระทำ ด้วยความนอบน้อมถ่อมตน ผมเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านตีความตัวละครเองซึ่งก็มีบางท่านตีความว่าเป็นเด็กปัญญาเลิศที่ใช้แสง (ที่เปรียบเหมือนความเก่ง) ไปรบกวนคนอื่นก็มี

สำหรับผู้อ่านทั่วไปผมต้องการจะเปิดจักรวาลทัศน์ว่ามีเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่มีแสงออกมานี้ มีความแตกต่างหลากหลาย ตัวเอกมีแสงออกมาจากหน้าผาก ท้ายเรื่องเขาไปพบเพื่อนผู้หญิงอีกคนที่มีแสงออกมาจากช่องโหว่ที่แตกต่างออกไป แต่เมื่อลำแสงได้ประสานสามส่วนคือ กาย (การลงมือทำ) ความคิด หัวใจ (อารมณ์ความรู้สึก) แล้ว ทั้งคู่ก็เล่นด้วยกันได้อย่างสนุกสนาน

ผมอยากให้นิทานแพร่หลายในกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ผมเชื่อว่านี่คือปัจจัยหลักที่จะทำให้เด็กของเรามีความภาคภูมิใจในตัวเอง คือ

ไม่ปฏิเสธภาวะที่ตนเองมี

เรามีความแตกต่าง

และ เราก็เกิดมาเพื่อแตกต่าง

แต่ เราไม่ใช้ความแตกต่าง

เป็นข้ออ้างว่า เราทำอะไรไม่ได้

ช่วยกันสร้างสรรค์

คุณศุภฤทธิ์ : นิทานหรือสื่อต่างๆ ในบ้านเรายังมีช่องว่างอีกมาก เราต้องการสื่อสร้างสรรค์ที่ช่วยทำหน้าที่สร้างความเข้าใจ ทัศนคติ แก่เด็กๆ และสาธารณะ เกี่ยวกับเรื่องบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ที่พอมีอยู่บ้างเป็นเรื่องของเด็กที่มีความแตกต่าง ทำอะไรได้ไม่เหมือนเพื่อน ต้องการการยอมรับจากเพื่อน แต่เรายังมีอีกหลายประเด็นที่จำเป็นต้องสื่อสาร เช่น สิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำ (Do & Don’t) สำหรับบุคคลทั่วไปต่อบุคคลที่มีความต้องการพิเศษแค่นี้ก็โจทย์ใหญ่มากๆ และเร่งด่วนด้วย เพื่อสร้างความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) และป้องกันการรังแกกันได้ในอนาคต

อย่างการใช้คำ ปัญญาอ่อน มันเป็นคำที่บั่นทอน จำกัดศักยภาพของผู้คน เหมือนมีคนมาบอกว่า ไอ้เด็กคนนี้มันโง่ เจ้าตัวมีโอกาสที่จะรู้สึกว่า ในเมื่อฉันมันโง่ ฉันไม่เรียนดีกว่าก็เป็นไปได้ใช่ไหม

 

WORDS MATTER SPEAK KINDLY
คำพูดสำคัญ พูดกันดีๆ ที่มา : มูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม

หรือเมื่อพูดถึงคนที่มีความแตกต่าง ก็มักมากับ ความสงสาร บางคนอาจบอกว่า ไม่ต้องการให้มาสงสาร หรือพูดเรื่องความเท่าเทียม สำหรับผมมองว่าความสงสารเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของคนไทย เราห้ามคนอื่นไม่ให้สงสารไม่ได้ แต่เราจะปฏิบัติต่อกันอย่างไรต่างหาก จะสื่อสารอย่างไรว่า สงสาร แต่อย่าเอาความสงสารมาปิดโอกาสที่เขาจะทำอะไรด้วยตัวเอง ด้วยการไปทำอะไรให้เขาทั้งหมด


ผู้ที่สนใจนิทานเรื่อง “หน้าผากของฉันเปล่งลำแสงได้” สั่งซื้อได้ออนไลน์ได้ที่มูลนิธิเด็ก

สำหรับพ่อแม่ผู้ดูแลที่อยากให้ลูกรับรู้ถึงความรักจากการฟังนิทานที่แต่งให้เขาคนเดียวเท่านั้น  ติดตามโครงการแต่งนิทานอิสระ หนึ่งเดียวในจักรวาล“พ่อแม่สุดเจ๋ง เรียนรู้การแต่งนิทานให้ลูก ส่งต่อมรดกแห่งความรัก” ได้ที่ fb: Supparit Thaweekiat


ขอขอบพระคุณ  คุณศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ (พ่อฤทธิ์) ด.ช. ศิรา ทวีเกียรติ (อุลตร้าเซน)  มูลนิธิเด็ก มูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม ไทยพีบีเอส ทีวีชุมชน : Super Dad คุณพ่อมหัศจรรย์


Beam Talk คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

Beaming Story

ความงามที่ส่องสว่างจากโลกมืด

เมื่อทราบว่ามีกลุ่มครูอาสาสอนคนตาบอดให้ถ่ายภาพ

คุณเกิดคำถามอะไรบ้าง ?

ทำไมคนตาบอดต้องเรียนถ่ายภาพ ?

เขามองไม่เห็นจะเรียนได้ไง ?

เขาถ่ายภาพได้จริงหรือ ?

19488842_1595598253818171_3335949117355363152_o


โครงการสอนนักเรียนผู้พิการทางสายตาถ่ายภาพเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจ ของอ.ธวัช มะลิลา ที่ปรารถนาจะเห็นการสอนให้กับผู้พิการทางสายตาถ่ายภาพ ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นการแบ่งปันความสุข ที่จะสร้างความภาคภูมิใจ การเห็นคุณค่าของตนเอง และเป็นการเปิดโอกาสที่จะให้ผู้พิการทางสายตา ใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับสังคม

“ในสังคมที่มีโอกาสอยู่มากมาย ที่ทุกคนจะได้ไขว่คว้า ได้รับประโยชน์ และแสวงหานั้น อย่าได้ปล่อยให้ผู้ด้อยโอกาส ต้องกลายเป็นผู้ไร้โอกาส เพราะ ผู้ด้อยโอกาสใช่ว่าต้องไร้โอกาส”

ที่มา กลุ่มสอนตาบอดให้ถ่ายภาพ


หัวใจถ่ายภาพ

14716266_1213938355293286_1067201488202414738_n

ครูอาสา “หัวใจถ่ายภาพ” ทุกคนต้องผ่าน กระบวนการในโลกมืด เสมือนเป็นวิชาขั้นพื้นฐาน พวกเขาต้องทดลองปิดตาใช้ชีวิตเหมือนคนตาบอด ลองวาดรูป ลองเดิน ทำอะไรๆ ที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เมื่ออยู่ในโลกมืด พวกเขารับรู้ความกลัว ความรู้สึกไม่มั่นคง เข้าใจความรู้สึกของผู้ที่อยู่ในโลกมืดผ่านประสบการณ์ตรง

ครูอาสา : การสอนถ่ายรูปครูอาสาจะสลับสอนกันเองก่อน เมื่อเราผ่านกระบวนการในโลกมืดแล้วครูอาสาจะเข้าใจว่าคนตาบอดทำทุกอย่างได้เหมือนเรา เพียงแต่มีเงื่อนไขบางอย่าง ดังนั้นเราจะพูดอธิบาย ลงรายละเอียดมากขึ้น การสอนถ่ายภาพถือเป็นแบบฝึกขั้นพื้นฐานที่จำเป็นไม่ว่าเราจะไปสอนอะไรก็ตาม

ที่ผ่านมาเด็กเป็นคนเลือกเข้าร่วมกิจกรรมเองส่วนใหญ่เขามาเพราะอยากลองดู อยากพิสูจน์ว่าเขาทำได้ไหมมีตั้งแต่ 7 – 8 ขวบ ที่มือแข็งแรงแล้ว วันแรกเราไม่ได้เน้นว่าต้องทำให้ได้ แต่ให้เขารู้สึกวางใจ ผ่อนคลาย สนุกไปด้วยกันทั้งตัวคนสอนและเด็ก เราสอนได้แค่ไหนก็แค่นั้น สิ่งที่ครูอาสาไม่เคยเน้นเลยคือผลลัพธ์

จากประสบการณ์เด็กเล็กเขามีจินตนาการไม่กลัว ถ้าเด็กโตหน่อยเขาจะห่วงว่างานออกมาดีไหม ถ้าเราบอกว่ายังไม่ได้อีกนิดนึงนะ เขาจะไม่มั่นใจ หรือบอกว่าได้แล้ว เขาก็จะไปถามคนอื่นอีกกลัวเราหลอก (หัวเราะ) อย่างที่ลพบุรีเราพาออกไปถ่ายข้างนอกที่พระพุทธบาท เขาไปถามคนอื่นๆ พอได้รับเสียงบอกว่ามันดี ความมั่นใจมาเหมือนติดปีกให้เลย

ประสบการณ์ที่ประทับใจ… เด็กบางคนเขารู้จักพญานาคแต่ไม่เคยจับ ที่บ้านไม่เคยพาเขาออกไปข้างนอก พอไปที่วัดเขาลูบตั้งแต่หัวไปจนถึงหาง เด็กบางคนพอถ่ายภาพได้บอกว่าจะถ่ายรูปดอกบัวเพราะแม่ชอบดอกบัวแม่ชอบไหว้พระ นี่คือสิ่งที่ทำให้เราได้เห็นความอ่อนโยนในใจพอเขาทำได้ สิ่งแรกที่เขาคิดถึงคือ คนที่บ้าน

การถ่ายภาพยังช่วยเรื่องการสื่อสาร เรื่องความสัมพันธ์ เช่น เขาอาจจะอธิบายให้พ่อแม่ฟังไม่ได้ว่าใครหน้าตาอย่างไร แต่รูปนี่เชื่อมโยงให้ได้ “นี่รูปเพื่อนหนูนะ ทีนี้แม่มาหาครั้งหน้าจะได้รู้ว่านี่คือเพื่อนสนิทหนู”

18766848_1557102977667699_2759628325269497302_o


หลังจากที่ ครูอาสา หัวใจถ่ายภาพ ได้ทำงานกับนักเรียนในโรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศจนเด็กๆ มีผลงานจัดแสดงในนิทรรศการ ๙ ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส ผลงานภาพถ่ายของนักเรียนในโลกมืด ไปแล้ว กระบวนการทำงานของครูอาสาเติบโตขึ้นอีกขั้น ด้วยการทำงานกับกลุ่มหญิงตาบอดในศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพ

แสงแรกคือ ความไว้ใจ

หลังจากกลุ่มครูอาสาหัวใจถ่ายภาพได้ศึกษาและเรียนรู้ขั้นตอนต่างๆในการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติจากผู้เชี่ยวชาญหลายๆท่าน จึงได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ที่อยู่ในโลกมืด โดยได้หญิงตาบอดของศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพรานสมัครเข้าเรียนการทำผ้ามัดย้อม แม้นพวกเธอจะหวั่นๆ อยู่ในใจว่าจะเป็นอีกโครงการหนึ่งหรือกิจกรรมหนึ่งที่มาในระยะสั้นๆ แล้วจากไปหรือไม่

ครูอาสา :   เด็กตาบอดส่วนใหญ่มีความกลัวและกังวลว่าเขาจะทำผิด ทำไม่ได้ กระบวนการสอนที่เราผ่านการอบรมมาก่อนช่วยได้มากทั้ง จิตวิทยาเด็ก การคุยกับเด็กที่ไม่สร้างความกดดัน ที่เขาเกร็งเพราะเชื่อว่า คนตาบอดทำอะไรที่สวยงามไม่ได้หรอก แล้วเราจะให้เขาทำในสิ่งที่ทุกคนต้องมาตัดสินเรื่องความสวยงาม เราถามว่า เอาอะไรมาวัดเรื่องความสวยงาม และการเรียนของเราไม่ได้มุ่งสร้างงานที่สวยงาม เด็กผ่อนคลายขึ้นมาก

มีเด็กที่ยากเหมือนกัน เช่น เด็กไม่เคยพูดเลยตั้งแต่มาอยู่ที่ศูนย์ฯ เราไม่มั่นใจว่าเด็กเข้าใจหรือเปล่า เราใช้การสื่อสารผ่านการสัมผัส โทนเสียงที่พูด ซึ่งเป็นการทำงานกับความรู้สึกภายใน (senses) ที่เขารับรู้ได้ชัดเจน สามเดือนแรกของการสอนนี่ถือเป็นการบ้านของอาสาทุกคนที่ต้องรู้จักเชื่อมโยงกับเด็กรายบุคคล

จากเด็กไม่กล้าคิด หนึ่งปีที่ผ่านมาเขากล้ามากขึ้น แต่ก็ยังมีความกลัว สิ่งที่เปลี่ยนไปมากคือ จากเดิมที่เขาปิดตัวเอง ไม่กล้าแม้กระทั้งยกมือบอกว่าหนูทำไม่ได้ ตอนนี้เขากล้าที่จะบอกสิ่งที่ต้องการ บอกสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดออกมา เราได้รู้ว่าเด็กต้องการอะไร และเราจะพัฒนาเขาไปถึงขั้นไหนได้

This slideshow requires JavaScript.

ปิดตาเพื่อ เห็นทาง

ครูอาสา : กระบวนการที่ใช้ก่อนที่จะสอนเขามัดย้อม เราเริ่มต้นด้วยการสอนถ่ายภาพเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ ความคุ้นเคยกัน และทักษะถ่ายภาพจะมีประโยชน์ต่อเขาในระยะยาว  เมื่อถึงการมัดย้อม เราจะสอนให้เขารู้จักลวดลายได้อย่างไร ตอนครูอาสาไปเรียนมัดย้อมก็เรียนตามขั้นตอนทั่วไป แต่เราต้องมาปรับกระบวนการ ลองขึ้นโมเดลก่อนเอามาสอนเขา

เราเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้แบบคนตาบอด คือปิดตาทำงานทั้งวัน ทำสื่อการสอนเพื่อให้เขาเข้าใจลวดลายผ่านการสัมผัส การออกแบบลายเราเริ่มจากรูปทรงเรขาคณิตให้เขาคลำก่อน แต่จะทำอย่างไรให้เขารู้ว่ามัดแบบนี้จะทำให้เกิดลายแบบนี้ ตอนแรกก็ติดขัดเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรดี จนมาตกผลึกที่ใช้ปืนกาวยิงให้เกิดเส้นนูนขึ้นมา ร่วมกับเทคนิคการพับและการตัดกระดาษ เพื่อให้เด็กได้สัมผัสเส้นลวดลาย และรูปแบบซ้ำๆ ของลาย เพื่อให้เกิดจินตภาพแม้นว่าเกือบทั้งหมดจะไม่มีประสบการณ์ในการเห็นมาก่อนก็ตาม

This slideshow requires JavaScript.

เติมหัวเชื้อ ความมั่นใจ

ครูอาสา : จากนั้นจึงเริ่มที่งานย้อมคราม เราพบว่าเด็กไม่ได้ถูกเตรียมทักษะการใช้ชีวิตมากนัก เขากลัวความร้อน มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยสูง การย้อมเย็น จึงเป็นทางออกของการเริ่มต้นที่ดี การออกแบบเริ่มต้นจาก ผ้าเช็ดหน้า คือชิ้นงานง่ายๆ จับถนัดมือ และเป็นสิ่งที่เด็กรู้จัก ถ้าของชิ้นใหญ่หรือกว้างมากเด็กจับแล้วจะงง บางคนเขาได้รับการช่วยเหลือมาเยอะพอเราฝึกให้เขาทำด้วยตัวเอง บางอย่างเขาทำไม่เป็นเลย เช่น มัดหนังยาง ซึ่งเรามองว่าเป็นของใกล้ตัวมาก แต่เด็กบางคนกล้ามเนื้อมือเหมือนจับไม่ได้ มัดไม่เป็น ครูต้องสอนตั้งแต่เริ่มจับ บิด หมุน

จากผ้าเช็ดหน้าขยายขึ้นเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าซิ่น ความยากคือการกะขนาด บางคนอาจจะประมวลผลช้าบ้าง การแบ่งขนาดผ้าสองเมตรจะแบ่งอย่างไร กระจายลายให้เป็นสัดส่วนเขาก็จะเริ่มแบ่งเป็นเป็นสี่-ห้าส่วน จินตนาการ กะวางลายตรงไหน หัวซิ่น ท้ายซิ่น

เมื่อเด็กพร้อมเปิดใจ เชื่อใจว่าครูจะหาแนวทางที่ดีให้ เขารู้สึกปลอดภัยพร้อมเรียนรู้ ครูจึงเริ่มสอน ก่อเตา แม้เด็กจะกลัวความร้อนมากซึ่งเขายอมรับว่าสั่น แต่เขาทำ เราให้เริ่มจากจับไฟแช็ค เด็กตาบอดไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสสิ่งที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เขาไม่รู้ว่าไฟแช็ค หน้าตาแบบไหน รู้ว่ามันร้อนและทุกคนไม่ให้เขาจับ เขาเลยไม่จับ

แต่เราให้เขาจับ บอกว่าตรงนี้เป็นปุ่มกดนะ ตรงนี้เป็นรูที่ไฟจะออกมา คือบอกในจุดที่ให้เขาระวัง แล้วก็ปล่อยให้เขาคลำ พอคลำจนรู้สึกคุ้นเคย เริ่มกล้าก็จะให้เขาลองกดแช๊ะ แช๊ะ จุดที่นิ้วกดกับรูที่ไฟออกมันใกล้กัน เขาจะรับรู้ความร้อนได้เอง จากนั้นจะเอาเทียนมาติดกับไฟแช็ค ใช้ปลายไส้เทียนเป็นตัวลากจากไฟแช็คจากด้านล่างไปด้านบน ให้เขารู้ว่านี่มันจะสุดปลายแล้วนะ พอเขาจุดเทียนได้แล้วก็จะเริ่มง่าย อุปกรณ์ทุกอย่างให้เขามีโอกาสได้สัมผัส อย่างเตาก็ให้จับว่าเตามีขนาดแค่ไหน กว้าง สูงแค่ไหน  ปากเตาอยู่ตรงไหน เราจะเริ่มก่อไฟตรงนี้อย่างไร เราพยายามสอนให้เขาสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง

This slideshow requires JavaScript.

เด็กพิการสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้หรือคุณค่าของตัวเขาหลายๆ อย่าง จากความหวังดีที่คิดว่าคงไม่เหมาะสมหรืออาจเกิดอันตราย จากการอยู่ร่วมกันและให้โอกาส เด็กตาบอดหลายคนซอยตะไคร้ได้เก่งกว่าคนตาดี เมื่อเขาก้าวผ่านความกลัวและทำได้ เขาจะมีทักษะการทำงานที่มั่นใจ ช่วยเพื่อนได้ แชร์ความรู้กัน พูดง่ายๆในกระบวนการเรียนรู้มัดย้อมผ้า มันได้มากกว่าผ้ามัดย้อม

ได้เวลา จุดประกาย

ครูอาสา : ที่นี่เป็นศูนย์ฝึกอาชีพเราพยายามดึงสิ่งที่เขามีอยู่ กับองค์ความรู้ปัจจุบัน เช่น สีมัดย้อมจากธรรมชาติ เด็กเขาขาดเรื่องการพัฒนาตัวสินค้าเพราะเขาไม่เคยออกไปไหน ไม่มีโอกาสพบปะคนข้างนอก ดังนั้นเรื่องของการออกแบบ การใช้สี งานฝีมือ มันไปถึงไหนแล้ว เราเชิญผู้รู้ นักออกแบบมาช่วย ทำให้เรื่องสีธรรมชาติและต้นทุนที่เขามีอยู่มาผสมผสานกัน

ปรากฏการณ์ที่ทำให้เขาอยากเรียนรู้มากขึ้น คือการนำผลงานของเขาออกสู่สาธารณะในงานนิทรรศการ การเดินแบบแฟชั่นที่มีคนใส่งานมัดย้อมของเขา แม้ไม่เห็นด้วยตาแต่พวกเขารับรู้สัมผัสได้ถึงพลังบวกมากมายจากคนรอบข้าง เด็กบางคนที่ไม่เคยมัดหนังยางได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยจะได้ แต่สามารถทำงานนี้ได้เอง มันเป็นการเริ่มต้นที่ดี

This slideshow requires JavaScript.

กระบวนการสอนที่ผูกติดกับประสบการณ์จริง เช่น การนำผลงานไปออกร้านขายที่ตลาดลิตเติ้ลทรี เป็นจุดที่เขาได้รับเสียงสะท้อนจริงจากลูกค้า ที่สอดรับและสั่นสะเทือนการเรียนรู้ของเด็กๆ ตาบอดเหล่านี้ มันเหมือนกับสิ่งที่เราย้ำสอนเขาว่า เรื่องสีมีผลนะ ลวดลายที่ครูคอยย้ำว่าต้องมัดแน่นๆ มันมีผลอย่างไร เขาได้เรียนรู้เมื่อต้องตอบคำถามลูกค้าที่อยากได้งานดีๆ สีชัดๆ ลายแจ่มๆ เขารู้แล้วว่ากลับไปครั้งนี้ ฉันต้องพัฒนาอะไร เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพราะนี่คืองานฝีมือ งานที่มีคุณค่าที่ต้องเริ่มจากความใส่ใจของผู้ทำงาน

คุณผกาวรรณ ชาวคูเวียง (นุ่น)

“ตอนไปออกงานกลัวขายไม่ได้ งานเราเกรดต่ำ ลายไม่สวย ที่ขายได้คือคนสงสาร ทำบุญ เราไม่อยากได้คำว่าสงสาร อยากได้คำว่า น่าซื้อ งานสวยอยากซื้อจริงๆ กลับมาบอกน้องๆ ว่าเราต้องมัดให้แน่น ลายต้องเก๋ ให้คนเขาอยากซื้อ อาชีพนี้เรากลับไปทำที่บ้านได้ ขอแค่ช่วยดูสีว่ามันดีไหม อื่นๆ เราทำได้อยู่แล้ว คิดไว้ว่างานโครเชต์มาผสมกับกระเป๋าผ้ามัดย้อมจะเก๋ น่าจะขายได้ราคา”


 เราต่างมี แสงสว่าง

This slideshow requires JavaScript.

ครูอาสา : เด็กเขาไม่ค่อยได้รับเหตุผลหรือคำอธิบายเท่าไหร่นักว่าทำอะไร ไปทำไม เขารู้แค่ว่าเขาต้องทำ แต่ถ้าเราบอกเหตุผลเขาก็รับฟัง เรื่องของการให้เกียรติอันนี้สำคัญมาก เขาอยากให้เราปฏิบัติต่อเขาเหมือนคนทั่วไป ตอนจะไปขายของของลิตเติ้ลทรี มีกฎว่าทุกคนที่จะเข้าไปขายของต้องเขียนเรื่องราวของตัวเองเข้าไป เราก็ให้เขาทำ เด็กที่ออกไปเขารู้สึกดีที่เขาสมัครเข้าไปเหมือนคนอื่นๆ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ครูมาขอให้หนูได้ไปออก เด็กมีความเชื่อมั่น เราให้เขาทำเหมือนคนอื่นๆ อาจจะช้าหน่อยแต่ก็ให้ทำ

เด็กบางคนที่อยู่ที่ศูนย์แต่ไม่ค่อยมีพัฒนาการที่จะมีอาชีพดูแลตนเองได้ มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ยาก แต่วันนี้เราได้เห็นแล้วว่าเด็กเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก จากเด็กที่ไม่เคยมีเสียงเลย แต่เราทำให้เด็กพูดกับเราได้ เด็กรู้งานมากขึ้นว่าต้องทำอะไร เราไม่ต้องคอยบอกขั้นตอนแล้ว มาวันนี้พิสูจน์แล้วว่า เด็กทุกคนพัฒนาได้

เราเชื่อว่าผ้ามัดย้อมน่าจะเป็นหนทางจะช่วยเขาเรื่องอาชีพต่อไป หลายคนเล่นเฟซบุ๊ค หลายคนเซลฟี่ตัวเองได้ เรื่องการถ่ายภาพมันมาต่อยอดกับงานที่เขาทำ ช่วงปิดเทอมเราให้ชุดอุปกรณ์เขากลับไปทำที่บ้าน แนะนำให้เขาใช้กล้องมือถือส่งภาพกลับมาทางไลน์กรุ๊ป ติดปัญหาอย่างไร งานออกมาเป็นอย่างไร เรายังเชื่อมโยงกัน

This slideshow requires JavaScript.

ทุกวันนี้การเริ่มเรียนรู้เรื่องใหม่

ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

เพราะเขาตอบตัวเองได้ว่า

บางอย่างที่ไม่เคยทำ แต่วันนี้เราทำได้

แล้วอย่างอื่นล่ะ ก็แค่ ยังไม่เคยลองทำ

คุณธิดาพร ไกรศรี (หนึ่ง) 

“ตอนนั้นก็คิดว่า … เอ้ย จริงเหรอ เราจะทำได้เหรอ เราตาบอดนะ น่าจะยากสำหรับเรา พอได้มาเรียนจริงๆ ก็ชอบ ดีใจที่เราได้รับโอกาสนี้ ตอนนี้หนูอยากเรียนทำขนม กำลังรอที่เรียนเปิดรับสมัคร”


จากใจครูอาสา

“เรารับฟังมากขึ้น หัดรอใจเย็นมากขึ้น ได้ฝึกค่อยๆ พูด เพราะเด็กเขาจะรับรู้อารมณ์ของเราจากน้ำเสียง กับคนอื่นเราก็เอาไปปรับใช้ได้”

“ฟังเสียงตัวเองมากขึ้น และกล้าพูดออกไป ฟังเป็น ปรับการสื่อสาร ปรับตัวได้ดีขึ้น”

“ให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม ให้แล้วมีความสุข มีปัญหาเข้ามา เราเชื่อว่า เราทำอะไรได้”

“ไม่ยึดติดกับวิธีการเดิมๆ ที่ทำกับคนนี้ได้ผล กับอีกคนอาจต้องเป็นวิธีอื่น บรรทัดฐานของเราเอาไปใช้กับทุกคนไม่ได้”

“ให้โอกาสคนมากขึ้น ไม่ไปปรามาสใครว่าเขาทำไม่ได้หรอก เพราะเมื่อแต่ละคนมีที่ยืน ศักยภาพในตัวเองจะฉายแววออกมา

GroupPhoto-3


ขอขอบพระคุณ

Pict For All (การถ่ายภาพเพื่อการแบ่งปัน) คุณนพดล ปัญญาวุฒิไกร (ครูฉุน) คณะครูอาสาหัวใจถ่ายภาพ : คุณวราภรณ์ ตุลานนท์ (ตุ๊ก) คุณชนิสรา ขัตติยะ (มด) คุณบุญจิต วรวัฒนกุล (แอน) คุณศิริเพ็ญ สุวรรณดารา (ฮะ) คุณสุภาพร สังคะสุข (อ้วน) คุณอารียา หมัดมุด (ครูยา) คุณอรประจิตร ณ พัทลุง(แอน) คุณชาคริยา วงค์แก้ว (กุ้ง) และศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน จ.นครปฐม / ภาพบางส่วนจาก Pict For All , หัวใจถ่ายภาพ,ตลาดลิตเติ้ลทรี

ถ่ายภาพโดย : นัทที บุญสงค์


Beam Talk คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม