People+

Friends Community (2)

Friends Community (2)
ซันชิโร่ : พี่ชาย ครู ผู้แล

หากคุณซันชิโร่คือพี่ชายในฝันของครอบครัวที่ดูแลลูกที่มีความต้องการพิเศษ เพราะเขามองเห็นตัวตนของน้องชายและตระหนักดีถึงบทบาทการเป็นผู้ดูแลหลักของคุณซีซ่าร์ในอนาคต หากแต่วิธีคิด มุมมองของเขาไม่ได้เติบโตมาตามขนบความเชื่อที่หลายครอบครัวคิด วางแผน หรือกำลังพยายามทำอยู่ 

คุณซันซิโร (กรกฎ ธีรสวัสดิ์) วัย 25ปี เป็นพี่ชายของคุณซีซ่าร์ (ธนายุ ธีรสวัสดิ์) ใช้เวลาค้นหาตัวตนในมหาวิทยาลัยกว่า 7 ปี วันนี้เขาเลือกเป็นครูและผู้ดูแลเยาวชนในชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษ และมองเห็นความจำเป็นของการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้ผู้ใหญ่พิเศษทุกคนด้วยความเคารพและเท่าเทียม

1504411_763996000281738_953358154_o.jpg

ตอนเด็กๆ เคยรู้สึกว่า แม่ให้เวลาน้องมากกว่าไหม

ไม่รู้สึกเพราะไม่ได้รับรู้ว่าน้องต้องการดูแลเป็นพิเศษ ฉะนั้นเวลาที่แม่ดูแลน้องก็ไม่รู้สึกว่าเพราะน้องมีความต้องการพิเศษเราถึงต้องสละให้ ไม่เคยรู้สึกว่าไม่พอ ส่วนตัวซันเป็นคนชอบเล่นเงียบๆ คนเดียวอยู่แล้ว มีโลกส่วนตัวสูงก็รู้สึกว่ามันก็ปกติดีในช่วงเด็ก จนจบป.6 ถึงเริ่มรู้สึกเองว่าน้องมีความต่าง แต่ไม่รู้ว่าต่างยังไงก็ยังเล่นและพูดคุยกันปกติ

ช่วงเข้าวัยรุ่นเริ่มมีคำถาม ที่โรงเรียนเวลาเพื่อนเล่าเรื่องที่เขาเล่นกับน้องกัน เราก็เออ…ทำไมเราเล่นกับน้องแบบนั้นไม่ได้ ช่วงอายุซัก 15 นี่จะเห็นความแตกต่างมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกรำคาญกับสิ่งที่น้องเป็น เราต้องการเวลาส่วนตัวเริ่มมีอารมณ์ความรู้สึกเยอะๆ แบบวัยรุ่น มันมีบางเหตุการณ์ที่เราอยากเล่นแต่น้องตอบสนองไม่ได้ หรือน้องอยากเล่นแต่เราไม่ได้อยู่ในอารมณ์อยากเล่น แล้วเขาไม่เข้าใจอ่านสัญญาณไม่ได้ก็มีความขัดแย้งมากขึ้น แต่ก็ถือเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เชื่อว่าเป็นปกติของพี่น้องไม่ว่าพี่น้องพิเศษหรือพี่น้องปกติมีความขัดแย้งกันเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่พอเป็นพี่น้องที่เป็นเด็กพิเศษฝั่งหนึ่งเขาอธิบายไม่ได้กับอีกฝั่งหนึ่งรู้เรื่องปกติทุกอย่าง การไม่เข้าใจกันมันก็เป็นความอึดอัด

ตัวอย่างช่วงที่มีความขัดแย้งชัดๆ เช่น เรานั่งเล่นคอมพิวเตอร์ในห้อง ข้างหลังเป็นห้องใหญ่ๆ ที่แบ่งครึ่งแบบไม่มีกำแพงตรงกลางมีทีวี น้องนั่งดูทีวี เราเล่นคอมฯ น้องเปิดแผ่นดูการ์ตูนเขาเปิดเสียงไม่ดังนะ แต่เรารู้สึกว่าถูกรบกวนอยากเล่นอยากอยู่ในห้องคนเดียว แต่ในบ้านมีทีวีจุดเดียวที่ดูแผ่นได้ ตอนนั้นหงุดหงิดมากที่จำได้คือหันไปตวาดให้ลดเสียง เขาก็ลดแบบไม่มีอาการไม่พอใจอะไรเลย เรานั่งเล่นต่อได้อีกพักนึง แต่รู้สึกว่ามันยังรบกวนอยู่ก็หันกลับไปอีกรอบ เป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้ง เคยมีรุนแรงแบบซันเดินไปปิดทีวีเลยด้วยซ้ำแล้วก็บอกให้น้องไปเล่นข้างนอก เวลานั่งอ่านหนังสือการ์ตูนอยู่แล้วน้องเข้ามาอยากเล่นอยากอ่านด้วย ซันก็จะไล่ไปไกลๆ คือรู้สึกอยากอยู่คนเดียว ไม่อยากให้เด็กคนนี้เขามาในขอบเขตเราเพราะเราไม่อยากเล่นด้วย ณ ตอนนั้น

หลายครั้งที่เราหันไปใส่อารมณ์กับน้องแต่เขาไม่เคยโกรธหรือหงุดหงิดตอบกลับมา ไม่เคยเห็นความไม่พอใจเราตวาดเขาก็ไป ตอนนั้นเราไม่ได้สนใจ รู้แค่ว่าเขาออกไปเราก็สบาย คิดแค่นั้นเป็นอย่างนี้บ่อยๆ สัปดาห์ไม่ต่ำกว่าสามสี่ครั้ง จนไปเรียนมหาวิทยาลัยแล้วได้อยู่หอเรื่องแบบนี้ถึงจบ

แล้วครอบครัวดูแลอย่างไร

ก็คุยนะแต่จำไม่ได้ชัดๆ ว่าคุยยังไง รู้แค่ว่าไม่มีการบังคับว่าน้องเราเป็นบุคคลพิเศษนะเขาช่วยตัวเองได้ไม่มากโตไปเราต้องดูแลนะ ไม่เคยมีการพูดคุยทำนองที่ว่าน้องต้องมาเป็นภาระเรา เท่าที่จำได้คือเขาบอกว่าน้องแตกต่าง บางอย่างน้องมีขีดจำกัด แต่ไม่มีว่าเราต้องทำอย่างนั้น คนเป็นพี่ต้องแบบนี้

มันเป็นตัวที่ทำให้รู้สึกว่าน้องไม่ใช่ภาระ พอโตขึ้นมาเรารู้สึกเองคิดเองว่าเออเราอยากดูแล มันผ่านช่วงที่มีข้อขัดแย้งกันเยอะๆ ก็คิดได้เองว่ามันเป็นหน้าที่เรา วันหนึ่งพ่อกับแม่ก็จะต้องไม่อยู่ เขาไม่มีทางอยู่ดูได้ตลอดแล้วเราออกไปใช้ชีวิตของเรา ความจริงคือเราก็ไม่อาจตัดน้องทิ้งไปได้มันไม่เหมือนเพื่อน ความเป็นพี่น้องมันอยู่ตลอดไป เริ่มคิดว่าเราต้องเข้าไปมีบทบาทในชีวิตของน้องเพื่อว่าวันหนึ่งถ้าเราต้องดูแลเขา เราจะไม่ได้กลายเป็นคนแปลกหน้า

ช่วงที่ไหนที่มองเห็นน้อง

อายุ 20-21 เริ่มมีความคิดว่าเราต้องกลับไปดูน้อง เนี่ยน้องชายเรา ก่อนหน้านี้เหมือนรู้แค่ในความคิด ไม่ได้รู้สึกจริงๆ แต่พอ 21 เหมือนเราเชื่อทั้งตัวทั้งใจว่านี่น้องชายเรา มันคือความรู้สึกที่ว่าไม่ว่าเขาจะเป็นอะไร คือเป็นอะไรก็ได้ จะแย่แค่ไหน จะดีแค่ไหนก็ได้ แต่คนนี้คือน้องชาย

19467986_1714723778542284_373982090986660161_o

ประสบการณ์อะไรที่ทำให้คิดได้แบบนั้น

ช่วงเขามหา’ลัยก็ใช้ชีวิตเต็มที่ แม่ให้ไปอยู่หอเลย ตอนแรกไม่ได้คิดว่าต้องอยู่หอ คือเรียนม.เกษตรฯ ก็ใกล้บ้าน แต่แม่หรือพ่อไม่รู้ถามว่าไปอยู่หอไหม ซันก็ไม่รู้คิดไงก็ไป พอไปอยู่หอก็ได้อยู่คนเดียวทำกิจกรรมเยอะ ทดลองนู่นนี่ ไปเล่น ได้เข้าสังคม ทำอะไรหลายๆ อย่าง ก็เหมือนได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น พอหลุดจากสิ่งที่ต้องเจอที่บ้าน ได้ค้นหารู้จักตัวเองมากขึ้น มันก็ทำให้คิดได้ขึ้นมา

ตอนมหา’ลัยไม่เคยถูกห้ามว่าทำอะไรไม่ได้ นี่คือสิ่งหนึ่งที่ซันนึกออก อยากทำสโมฯ ทำ (สโมสรนักศึกษา) อยากไปเที่ยวไป ไปกินเหล้า สูบบุหรี่ ที่บ้านไม่ถึงกับอนุญาตแต่ไม่ได้ห้าม

ช่วงปีสี่เกิดความรู้สึกขัดแย้งภายในตัวเองอย่างรุนแรง คือรู้สึกว่า เราเรียนไปทำไม? สิ่งที่อยากทำมันไม่ต้องใช้ที่เรียนเลย มีความคิดไม่อยากเรียนต่อ อยากไปทำนู่นทำนี่ ช่วงนั้นยืมเงินแม่มาลงทุนขายของออนไลน์ขายได้ดีจนคืนทุนหมดและมีกำไรก้อนหนึ่งเป็นช่วงที่สนุกมากและลืมเรื่องเรียนไปเลย ไปเรียนเอาแค่มันผ่านๆ ไป และช่วงนี้แหละเริ่มมีคำถามว่า เออ เราจะเรียนไปทำไม เราทำนี่ก็สนุก ทำนั่นก็ชอบ และมันไม่ได้ใช้ที่เรียนเลย พอขายของเสร็จหมดปุ๊บจะกลับมาเรียนแบบจริงจัง แต่มันทำไม่ได้ มันเรียนไม่ได้ไม่ใช่เรื่องความสามารถว่าเรียนได้ไม่ได้ แต่มันเป็นเรื่องจิตใจ ทัศนคติ ไม่ได้มีเหตุผลหรูหราว่าเพราะอะไร มันแค่เอาตัวเข้าไปนั่งในห้องเรียนไม่ได้ (คุณซันชิโร่เรียน มนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ม.เกษตรศาสตร์) เป็นอย่างนั้นอยู่นานมาก

ซันเข้าเรียนบ้างไม่เข้าบ้างอยู่สองปี ใช้ชีวิตที่เรียกว่าถ้านับว่าเรามีหน้าที่หลักคือนักเรียนก็เละเทะเลย ไม่เข้าเรียน วิชาไหนอาจารย์ให้สอบก็ไปสอบ วิชาไหนไม่ได้ก็ดรอป (ถอนการลงทะเบียนวิชาเรียน) สิ่งที่ซันไม่ทำเลยคือการกดดันบังคับตัวเองเข้าไปเรียนเพื่อให้จบสี่ปี วันไหนเกิดความรู้สึกปั่นป่วนเยอะๆ ก็ไม่เข้าเรียน คือไปมหา’ลัยแหละไปอยู่กับเพื่อน แต่ไม่ขึ้นเรียนเป็นอย่างนี้อยู่เป็นเทอมเลย

563536_336266563144472_824748003_n

ภาวะอึดอัดพวกนี้เราเล่าได้กับเพื่อนกับแฟน แต่พอเล่าให้ครูฟังมักจะเจอความคิดที่ทำให้เรารู้สึกว่าเขาไม่เข้าใจเรา พอมาคุยกับแม่ก็บอกว่าให้เรียนให้จบแค่นั้น การได้รับปริญญามันไม่ได้สำคัญที่ว่าเราจะเอาไปทำอะไร มันเป็นตัวแสดงสถานะทางสังคมชนิดหนึ่งที่อนาคตเราอาจจะต้องใช้ ที่ซันเข้าใจตอนนั้นคือเรียนให้จบก็พอจะเรียนกี่ปีก็ตามแค่ได้รับปริญญา ซึ่งเป็นคำตอบที่เรารู้สึกว่ามันช่วยได้ในช่วงที่สับสนวุ่นวาย

ซันเป็นคนประเภทต้องคลี่คลายด้วยตัวเองใช้เวลากับตัวเองค่อนข้างเยอะ แต่พอมันคลี่คลายด้วยเองได้คือจบเลย ก่อนหน้านี้ไม่รู้ทิศทางยังไม่เจอตัวเอง แต่พอจบแล้วมันก็ไปของมันเอง มันคล้ายๆ ปิ๊งแว๊บนะ เป็นส่วนหนึ่งในตัวเราที่รู้สึกว่า เออพอแล้ว รู้สึกแบบนั้นพอแล้ว และเจอแล้วว่าอยากทำอะไร ตอนนี้กลับรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่เรียนจบช้า มันได้ผ่านความสับสนข้างในตัวเอง แต่ยังมีมหา’ลัยเป็นที่ยึดให้กลับมาได้ พอเราเห็นว่าทางนี้ใช่แล้วเราก็กลับไปเรียนต่อให้จบได้เลย

ได้คำตอบให้ตัวเองว่าจะทำอะไร

ช่วงปีสี่เทอมสองเริ่มไปๆ มาๆ ที่ฟาร์มฯ แต่ยังไม่ได้มาช่วยทำงาน แค่เริ่มเห็นและกลับมาเชื่อมกับชุมชนฯ ซึ่งก่อนนี้เคยไปร่วมประชุมสภาคนพิเศษหลายครั้งก็ไม่อินเท่าไหร่ จนกระทั่ง คุณโทมัส เคราซ์ ซึ่งเป็นคนริเริ่มการประชุมสภาคนพิเศษทั่วโลกมาเยี่ยมเราที่ฟาร์มฯ พอมีโอกาสได้คุยฟังประสบการณ์ความคิดเห็น อาจเรียกว่าได้รับแรงบันดาลใจเหมือนกับมันคลิ๊กอะไรบางอย่างในตัวเรา คือเป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่าเจอทางที่ใช่ว่าเส้นทางนี้แหละ…ความเป็นชุมชน วิถีชีวิตแบบนี้ …มันแจ่มชัดมาก แต่ก็ยังไม่รู้หรอกนะว่าเราจะกลายเป็นอะไร

ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยมีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับคนพิเศษมาหลายครั้ง แม่บอกให้ไปก็รู้ว่าเราต้องไปทำหน้าที่อะไรเท่านั้นไม่ได้สนใจลงลึก ไม่ได้เก็บรายละเอียดกลับมาคิดเยอะ พอเราเริ่มอยากเรียนรู้วิถีชีวิตแบบนี้ การมีประสบการณ์มาบ้างก็ทำให้รู้เรื่องแบบไม่ได้เริ่มต้นที่ศูนย์อาจจะเริ่มที่สิบห้าแล้วไปต่อ

มองเห็นตัวเองวันนี้เป็นอย่างไร

ประมาณสองปีนี้ที่ได้มาอยู่ที่ฟาร์มฯ เห็นภาพตัวเองและจุดยืนชัดขึ้นว่าเราจะมีบทบาทอะไรในชุมชน ตอนแรกเราแค่เห็นว่าตัวเองอยู่ที่นี่ มีวิถีชีวิตเป็นส่วนหนึ่ง จนมาถึงทุกวันนี้เรามีบทบาทเป็นครู เป็นผู้ดูแล และมีความสนใจส่วนตัวคืออยากเป็นเหมือนช่างสิบหมู่ คือเป็นคนที่ทำงานศิลปะ งานประดิษฐ์ออกมาได้ และยังเป็นช่างซ่อมแซมได้ด้วย เห็นความอยากของตัวเองว่าอยากเป็นคนนั้น นอกจากนี้ครอบครัวเราเป็นเจ้าของสถานที่ทั้งหมด เราเริ่มเห็นขอบเขตความรับผิดชอบซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เห็น ตอนนี้เห็นชัดขึ้นว่าต้องทำอะไรบ้างและจะเป็นอย่างนั้นต้องมีความรู้อะไรเพิ่มบ้าง และสิ่งที่ซันคิดว่าสำคัญคือ รู้สึกสนุกมากขึ้น ไม่ได้ทำเพราะเป็นงานเป็นหน้าที่ ทำเพราะเราอยากเล่น อยากสนุก มันท้าทาย มันมีคุณค่า

แล้วซีซ่าร์ล่ะ

สิ่งที่เห็นมาตลอดคือ เขาเป็นคนที่แทบไม่มีความคิดหรือความรู้สึกด้านลบที่แสดงออกมา ความรู้สึกหงุดหงิด ไม่ชอบ เบื่อ เขามีเหมือนเราแหละ แต่เขาไม่เอาความรู้สึกนี้ไปกระทบคนอื่น อาจพูดได้ว่าซีซ่าร์ ไม่ก้าวร้าว ไม่ฉุนเฉียว สิ่งที่เขาเป็นเทียบกับทั้งคนทั่วไปและคนพิเศษนะ ทุกคนมีอารมณ์แบบนี้และเราเคยถูกกระทบ แต่ส่วนตัวซันไม่เคยถูกกระทบจากซีซ่าร์ เขาเป็นคนอารมณ์ดี และเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจสูง ไม่ได้หมายถึงระยะสมาธิจดจ่อยาวๆ แต่ความมุ่งมั่นสูงหมายถึง เขาจะทำเรื่องนี้ อันหนึ่งเช่น ได้ยินเขามาตั้งแต่เด็กๆ เลยว่าเขาจะทำทาง ทำถนน ตั้งแต่เล็ก เขาขนทรายเข้าบ้าน เอาสีไปทาถนนในหมู่บ้าน คือ ทำทาง จนถึงทุกวันนี้เขาก็ยังทำอยู่ เป็นความมุ่งมั่นอันหนึ่งที่ซันเห็น และเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรงพูดได้เต็มปากว่าแข็งแรงกว่าซัน เขาแข็งแรงผิดหูผิดตาเทียบกับเมื่อก่อนที่อยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็กท่าเดินเขาป้อแป้ ไม่มั่นคง ล้มง่าย จนมาทุกวันนี้เขาไม่ใช่คนนั้นแล้ว เขากลายเป็นซีซ่าร์ที่ร่างกายแข็งแรง มั่นคง

การเติบโตของน้องส่งผลต่อการมองบุคคลพิเศษไหม

ประสบการณ์ตรงของเราที่เห็นซีซ่าร์เปลี่ยนแปลงมาเป็นวันนี้ได้ มันก็เป็นความเชื่อว่าทุกคนเติบโตได้จะมากจะน้อยจะช้าจะเร็วก็แล้วแต่บุคคลนั้น แต่ทุกคนพัฒนาได้ จากคนที่ไม่มีภาษาพูด เขาอาจจะพูดไม่ได้ แต่เขาจะเข้าใจได้ เขาจะสื่อความต้องการได้ คนที่ขาไม่แข็งแรง เขาจะแข็งแรงขึ้นได้ คือเข้าใจขีดจำกัดและศักยภาพของเขาว่าอยู่ตรงไหน เช่น พูดไม่ได้เพราะอวัยวะร่างกายบางอย่างไม่ทำงาน เขาอาจไม่มีวันพูดได้ แต่เขาจะไม่ใช่คนที่พูดไม่ได้ ที่ไม่รู้เรื่องไปตลอดชีวิต

เราเชื่อว่าทุกคนจะพัฒนาได้จากสิ่งที่ตัวเองเป็น ไปจนถึงเปลี่ยนแปลงเติบโตได้เต็มศักยภาพที่เขามี ขึ้นอยู่กับว่าระหว่างทางเราเป็นตัวช่วยได้แค่ไหน

บทบาทของซันตอนนี้ทำอะไรบ้าง

ในห้องเรียนปีกกล้าขาแข็งเป็นครูคนหนึ่งสอนวิชางานช่าง งานสวน งานฟาร์ม หลักๆ คือสังเกต ว่าเยาวชนเขาเป็นอย่างไร อยู่จุดไหน แล้วต้องทำยังไงต่อ ซันไม่มีความรู้มากพอที่จะลงมือทำเองได้ก็สังเกตแล้วเอามาพูดคุยกับแม่ฟ้าและแม่ๆ แลกเปลี่ยนกันว่าเราเห็นอันนี้นะ

ดูแล Extrability Club Thailand (ชมรมมิตรสหายผู้ใหญ่พิเศษ) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่พิเศษได้มีพื้นที่ของพวกเขาเองจริงๆ คือเรามีธีมว่าจะทำกิจกรรมอะไรแค่ไหน แต่สิ่งที่ทำจะมาจากผู้ใหญ่พิเศษว่าเขาอยากทำอะไรก็มาคุยกันระหว่างเราคนจัดและผู้ใหญ่พิเศษ เพื่อหาจุดที่เขาอยากได้ ไม่ใช่ทำที่เราอยากทำให้ บทบาทของเราคือทำในสิ่งที่เขาอยากได้ให้เกิดขึ้น

จากการมาพบปะกัน 3 ครั้งแล้ว เราเห็นว่าการมีสังคมของผู้ใหญ่พิเศษด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญเป็นสิ่งที่เขาสมควรได้รับโอกาส เรามีสังคมตอนไหนเมื่อไหร่ก็ได้ เราเดินเข้าไปคุย แลกเปลี่ยน เข้าชมรมที่เราต้องการได้แต่สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่พิเศษหลายๆ คนเขาไม่ได้มีศักยภาพขนาดนั้น การมีพื้นที่ให้เขาเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในฐานะคนคนหนึ่ง

สิ่งที่เห็นอีกอย่างคือ มันเป็นความประหลาดใจของซันเองได้ยิน ได้เห็น ในสิ่งที่คาดไม่ถึง คือเราได้ยินความคิดของเขา เห็นแววตาเวลาเขามองกันเอง เห็นพลังงานของกลุ่มเวลาเขาอยู่ด้วยกันว่าไม่ต่างจากเราเลย เขามีความสุขมีทั้งความคิดที่ดีและไม่ดี หมายถึง ความรู้สึกด้านลบ เช่นหดหู่ แล้วเขาก็เอามาคุยกันเหมือนเรา สิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดคือ ภาษาไม่ใช่ขีดจำกัดของการสื่อสาร ที่เห็นคือมีพี่คนหนึ่งที่พูดไม่ชัดเลยฟังยากมากกับอีกคนหนึ่งที่พูดไม่ชัดเหมือนกันเขาคุยกันได้เป็นเรื่องเป็นราวนานเลย แต่เราฟังไม่รู้เรื่อง

บทบาทการเป็นผู้ดูแลในสายตาของซัน

คือการพาไปในจุดที่ไกลขึ้น การเป็นผู้ดูแลไม่ใช่แค่ดูแลให้มีชีวิตอยู่ เรื่องการกินอยู่หลับนอนให้ได้แค่นั้นแล้วจบ การเป็นผู้ดูแลคือพาเขาไปในจุดที่เขาอยากไป คือเป็นคนที่เหมือนเพื่อน เหมือนครู เหมือนพยาบาลในเวลาเดียวกัน

การเป็นผู้ดูแลในคนหนึ่งคนเราต้องรู้ว่าเขาเป็นอย่างไรเราต้องทำอะไร และเราต้องรู้ว่าเขาควรจะเป็นอย่างไรต่อไป ศักยภาพเขาได้แค่ไหนเขาควรจะถึงจุดไหน มันจะทำให้เขาพัฒนาขึ้นได้จริงๆ ถ้าผู้ดูแลตระหนักได้ว่า เขาควรจะไปถึงไหนด้วยหลักการอะไรก็แล้วแต่ที่ผู้ดูแลคนนั้นถนัด ไม่จำเป็นต้องแบบนี้เท่านั้น เอา 3 – 4 หลักการมาผสมกัน ถ้ามันทำให้ผู้ดูแลสามารถพาเขาไปได้ ‘โดยที่บุคคลคนนั้นเป็นมนุษย์หนึ่งคน’ ไม่ใช่พาไปได้ดีมาก แต่คนคนนั้นกลายเป็นหุ่นยนต์ คิดเองไม่ได้ รู้สึกไม่ได้ มันก็ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ควรจะเป็นใช่ไหมครับ

อีกอันที่เป็นความรู้สึกข้างในว่าคือ ผู้ดูแลควรสัมพันธ์กับผู้ที่ถูกดูแลในระดับเดียวกัน ไม่สูงกว่าหรือต่ำกว่า คือระดับของความเป็นคนเท่ากัน และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ผู้ดูแลต้องมีความรู้และประสบการณ์มากพอที่จะเป็นผู้ดูแลได้อย่างดี เพราะงานของผู้ดูแลคือคนหนึ่งคน คือชีวิตอีกหนึ่งชีวิต คือความเป็นมนุษย์ที่มันเล่นๆ ไม่ได้

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (217)

สังคมคนพิเศษในประเทศไทยมีอะไรที่สะกิดใจ

อาจจะฟังดูแรงที่เคยเห็นหรือสัมผัสมันให้ความรู้สึกว่า สังคมทำเหมือนบุคคลพิเศษไม่ได้เป็นคนเท่าเรา และเป็นความสงสัยในตัวด้วยว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไรทัศนคติความคิดแบบนี้ และเราต้องทำอย่างไรมันจึงจะลดน้อยลง เราเป็นส่วนหนึ่งในวิธีแก้ได้ไหม หรือต้องบอกใคร ต้องสอนอะไรกับใคร เพื่อให้มุมมองต่อคนพิเศษกลายเป็นคนหนึ่งคนที่เท่ากับเรา

อีกคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ บุคคลพิเศษที่อายุ 30-40-50 หายไปไหนหมด เราอยู่ในแวดวง เรารู้ว่าจะไปเจอเขาได้ที่ไหน แต่คำถามคือเวลาที่เราไปเดินตามสถานที่ทั่วไปทำไมเราไม่เห็น อันนี้ซันคิดเองว่า คนพิเศษไม่ได้เพิ่งมี ต้องมีมาเป็นร้อยปีแล้ว เขาหายไปไหน

สิ่งที่เห็นแล้วชอบในสังคมไทยคือความเป็นครอบครัว การดูแลกันแบบเอาใจใส่ใกล้ชิดอบอุ่น ให้ความรู้สึกว่าเขาจะไม่ถูกทิ้งซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ก็เป็นเรื่องอันตรายในเวลาเดียวกัน ถ้ามันมากไปก็ไม่เปิดโอกาสให้คนพิเศษได้เป็นอย่างที่เขาเป็น อาจจะไม่ต่างกับคนทั่วไปที่โดนตามใจหรือถูกเลี้ยงเป็นไข่ในหิน

33764431_2099477520066906_7722275185876795392_o.jpg

แผนอนาคตของซัน

แผนระยะสั้นต้องหาความรู้เพิ่ม รู้ตัวว่าเราต้องมีความรู้เยอะกว่านี้ และการทำงานกับคนเราต้องเรียนรู้ไปตลอดมันไม่มีวันเรียนจบไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม เด็กพิเศษ จิตวิทยา วิถีชีวิต ความรู้เรื่องช่าง เกษตร บริหาร คิดว่าต้องเรียนเพิ่มแต่ยังไม่ได้เรียงลำดับว่าอะไรก่อนหลัง

ส่วนตัวมองว่าชุมชนฯ ของเราอีก 5 ปี ก็จะเปิดสู่สาธารณะได้เพราะบุคลากร (ผู้ดูแล) จะเพิ่มขึ้นใน 3ปีนี้ เรื่องการปรับพื้นที่ร้านค้าก็กำลังจะเสร็จ และมีหลายครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนจริงๆ เราจะเป็นสถานที่หนึ่งที่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้สำหรับหลายคนหลายแบบ

ส่วนของฟาร์มฯ หน้าที่หลักคือทำผลิตภัณฑ์ให้ชุมชน ส่วนจะเหลือไปขายจะบริหารอย่างไรคือทีหลัง ให้คนในชุมชนในกินของดี ได้สุขภาพ ทั้งฟาร์มและทุกส่วนจะเป็นห้องเรียนที่เป็นประโยชน์แก่สังคมได้ คิดว่าตัวเองอยากเป็นคนที่ทำงานเพื่อสร้างบุคลากรด้านนี้

อะไรที่ส่งผลให้ซัน เป็นซันในวันนี้

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ครอบครัวให้เราคือ เรามีอิสระที่จะเลือกชีวิตของเราเอง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมกรอบแต่ละช่วงวัยขยายใหญ่ขึ้น คือเรารู้ว่ามันมีกรอบนะแต่ในกรอบนี้เราจะเป็นอะไรก็ได้ พอเราโตขึ้นเข้าใจมากขึ้น ว่าเรามีอิสระ พอมันไม่มีข้อจำกัดมากว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ มันทำให้เรามีความสุขกับสิ่งที่เราเลือกมากกว่าที่จะอยู่กับสิ่งที่เราถูกเลือกมาให้ วันนี้เรามีความเต็มใจที่จะอยู่ตรงนี้

ขอบพระคุณ : ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษและครอบครัว ภาพประกอบบางส่วนจาก fb: suwannee asava และ  ศูนย์ข่าวชุมชน ม.เกษตรศาสตร์
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

Community

Friends Community (1)

Friends Community (1)

จากโฮมสคูล สู่การสร้างชุมชนที่ยั่งยืนสำหรับบุคคลพิเศษและผู้ดูแล

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (153)

คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า) คุณแม่ของคุณธนายุ ธีรสวัสดิ์ (ซีซ่าร์ – ปัจจุบันอายุ 20ปี) ตัดสินใจทำโฮมสคูลเมื่อคุณซีซ่าร์เรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนปลายด้วยเห็นประโยชน์ของการใช้เวลาร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลสุขภาพ ฝึกทักษะการสื่อสาร การดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน และจัดกิจวัตรเรียนรู้

แต่ระหว่างทางเธอพบว่ามีบางอย่างในแววตาของคุณซีซ่าร์ที่ทำให้คนเป็นแม่ต้องใคร่ครวญ แสวงหา และเรียนรู้ อันนำไปสู่การออกแบบเส้นทางใหม่ที่เชื่อมร้อยลูกๆ คนพิเศษหลายครอบครัวเข้าไว้ด้วยกัน จนกลายเป็นชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษในวันนี้


เกี่ยวกับ ‘แม่ฟ้า’
• ผู้เขียนหนังสือ I am a Mom ซึ่งเป็นผลงานวิจัยกระบวนการดูแลสภาวะจิตใจ และกระบวนการฝึกพัฒนาการของบุคคลพิเศษ ผ่านกิจวัตรประจําวัน โดยเป็นการทํางานร่วมกันระหว่าง คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (มารดาของบุคคลพิเศษซึ่งมีความผิดปกติของพัฒนาการเนื่องจากภาวะโครโมโซม) และ ผศ.ดร.อรสา กงตาล อาจารย์ประจําสาขาวิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ ม.ขอนแก่น
• ผู้ออกแบบหลักสูตร
– การอบรมเชิงปฏิบัติการ “เยียวยาผู้ดูแล” (Healing the Caregiver) ด้วยกระบวนการโค้ชชิ่ง
– โครงการอบรมพ่อแม่ ผู้ดูแล บุคคลพิเศษ “พลังแห่งรักสู่การพัฒนาศักยภาพลูกน้อย”
– โครงการพัฒนาศักยภาพบุคคลพิเศษโดยใช้ธรรมชาติบําบัดตามแนวทางมนุษยปรัชญา
• วิทยากรกระบวนการ
– โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เยียวยาผู้ดูแล” (Healing the Caregiver)
ครั้งที่ 1 ปี 2012 ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ครั้งที่ 2 ปี 2013 ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ครั้งที่ 3 ปี 2014 ณ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ครั้งที่ 4 ปี และ ครั้งที่ 5  ณ ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษ
– โครงการอบรมพ่อ แม่ ผู้ดูแล บุคคลพิเศษ “พลังแห่งรักสู่การพัฒนาศักยภาพลูกน้อย” ณ สถาบันราชานุกูล ปี 2014
– โครงการการอบรมพ่อ แม่ ผู้ดูแลบุคคลพิเศษ “Parent as a Coach” (สำหรับบุคคลทั่วไป)
– โครงการพัฒนาศักยภาพบุคคลพิเศษโดยใช้ธรรมชาติบําบัดตามแนวทางมนุษยปรัชญา ณ ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษและครอบครัว ปี 2014 – 2017
– การอบรมเชิงปฏิบัติการ การบริหารจัดการครอบครัวบุคคลพิเศษอย่างมีประสิทธิผล โดยสมาคมเพื่อคนพิการทางทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย ณ สถาบันราชานุกูล ปี 2015
– หลักสูตรพัฒนาครู ห้องเรียนเยาวชนพิเศษ ปีกกล้าขาแข็ง 2016 -2017
• ผู้ก่อตั้งชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษและครอบครัว
• คณะกรรมการภาคีเครือข่ายฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์การศึกษาเพื่อการเยียวยาประเทศไทย
• ผู้ก่อตั้งโครงการส่งเสริมทักษะวิชาชีพผู้ดูแลและจัดทําคู่มือพัฒนาบุคคลพิเศษแบบองค์รวมบนพื้นฐานการศึกษาบําบัดและสังคมบําบัดตามแนวทางมนุษยปรัชญา (Caretaker for Special Needs Person)


โฮมสคูลสู่ฟาร์มสคูล

คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า) : “เราวางแผนทำโฮมสคูลตั้งแต่ป.4 คือเห็นแล้วว่าซีซ่าร์มีความจำกัดทั้งภาษาและคำนวณไปต่อในระบบคงไม่ไหว ก็เริ่มวางแผนแต่ยังไม่ชัดว่าทำอย่างไร ที่ไหน ก่อนจบป.6 แม่ก็เลิกทำงานประจำ มาเป็นงานที่เราจัดสัดส่วนเวลาได้ (คุณสุวรรณีเป็นโค้ชและที่ปรึกษาการเงินมืออาชีพ) จากนั้นเริ่มไปเรียนรู้เพื่อเตรียมทำโฮมสคูล กระบวนการสอนเป็นอย่างไร ขั้นตอนพัฒนาการที่ต้องเข้าใจและวางเป้าหมายเหมือนทำ IEP (แผนการศึกษารายบุคคล) ให้เขา จนจบป.6 ตอนนั้นซีซ่าร์อายุ 14 แม่ชอบศิลปะลูกก็ไปด้วยกันได้เลยเริ่มจากทำสตูดิโอศิลปะกัน ก็มีช่วงที่ต้องตามแม่ออกไปทำงานข้างนอกบ้าง ส่วนวันหยุดก็มาเที่ยวฟาร์มของครอบครัวที่ มวกเหล็ก จ.สระบุรี (ปัจจุบันคือที่ตั้งของชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขฯ)  สิ่งที่เราเห็นคือภาพเขาตอนอยู่บ้านทำงานศิลปะ กับเวลาเขามาที่ฟาร์ม มันไม่เหมือนกันเลยทั้งความสดใส แววตา ตอนแรกก็ไม่แน่ใจว่า เอ๊ะ หรือตื่นเต้นสถานที่ มาดูวัวดูแพะ แต่พอนานเข้าก็ยิ่งชัดเจน ว่าใช่

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (121)

เราทบทวนอยู่ระยะหนึ่งจนยอมรับว่าเขาเกิดกระบวนการเรียนรู้หลายอย่างเวลามาที่ฟาร์ม ก็ถามตัวเองว่าถ้าจะมาอยู่ที่นี่เราต้องเตรียมอะไร… และถ้าซีซ่าร์ต้องอยู่ที่นี่เขาจะอยู่อย่างไรในทุกวันอันนี้คือโจทย์ใหญ่ สิ่งที่เขาชอบคือขุดดิน มันอยู่ได้จริงๆ ไหม เราคงไม่ขุดดินทั้งวันทั้งคืน มันต้องมีอย่างอื่นด้วย การพบปะผู้คน เรียนเขียนอ่าน ก็ค่อยๆ กรอบความคิด ที่ยากกว่าคือตัวเราจะอยู่ที่นี่กับเขาได้อย่างไร อยู่แบบไหน และเราทำอะไรได้บ้าง เพราะตัวเองไม่ชอบงานฟาร์มเลย ทุกวันนี้ก็ยังไม่ชอบ.. (หัวเราะ)

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (94)

IEP ตอนนั้นวางไว้เป็นกรอบหลวมๆ หนึ่งต้องมีศิลปะ ทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกเพื่อให้เขาสื่อสารได้มากขึ้น ตอนนั้นซีซ่าร์ยังมีคำศัพท์สื่อสารได้น้อย สองภาษาไทยต้องเขียนได้ เราเลือกสอนเป็นคำเพราะเขาผสมคำเองไม่ได้ เรื่องที่สอน เช่น เรียนเรื่องทานตะวันก็เขียนคำ วาดภาพทำศิลปะ เมล็ดทานตะวันพากินพาปลูก คือสอนเป็นโครงเรื่องที่ปรับลงทุกวิชา ทำตารางเรียนจัดให้ทุกบ่ายไปตลาด ตารางนี่จัดเพื่อตัวเราเองจะได้ไม่ลอยๆ ด้วย ตื่นเช้าให้เขาเดินลงไปหยิบไข่ให้แม่ เอานมมาหนึ่งเหยือก ทำเป็นกิจวัตร จนถึงจุดนึงเราไม่ต้องบอกแล้ว แบ่งให้มีช่วงเวลาส่วนตัวของทั้งคู่ ซึ่งเขาก็ยังวนๆ อยู่บนบ้าน ตอนเย็นเป็นเวลาลงไปเดินออกกำลัง

ปีแรกๆ เขายังตามแม่ไปทำงานในกรุงเทพฯ ที่เหลือสี่ห้าวันก็มาอยู่ที่ฟาร์ม ช่วงแรกก็เหนื่อยค่ะบ้านยังทำไม่เสร็จ เรากะให้เวลาลองปรับตัวกันซักปีนึงเพราะไม่แน่ใจว่าเขาจะชอบมันจริงๆ ไหม ปีแรกผ่านไปเราเห็นว่าร่างกายเขาแข็งแรงขึ้น เรื่องสุขภาพนี่เห็นชัดเลย

พอซีซ่าร์อายุ 15  เราไปร่วมงานประชุมสภาคนพิเศษที่จัดครั้งแรกในประเทศไทย เราเห็นความร่าเริงอีกแบบเวลาเขาอยู่ในกลุ่มเพื่อนได้เห็นแววตาของเขาที่แตกต่างไปอีกครั้งซึ่งไม่มีตอนอยู่กับเรา ตอนนั้นรู้เลยว่าเขายังคงต้องเติบโตกับเพื่อนๆ และเราเป็นเพื่อนให้ลูกไม่ได้…

แม่ฟ้าคิดเรื่องการหาเพื่อนให้ซีซ่าร์อยู่ปีกว่าๆ ในขณะเดียวกันก็อยากรู้จักครอบครัวที่ดูแลบุคคลพิเศษอื่นๆ ว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร จึงทบทวนว่าตนเองมีศักยภาพอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้

เยียวยาผู้ดูแล

คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า) : กลับจากงานประชุมสภาคนพิเศษ เทอมนั้นก็เขียนๆ ออกมา เราจะเจอพ่อแม่ได้อย่างไร เรามีศักยภาพอะไรบ้าง ก่อนหน้านั้นเราทำหลักสูตรเยียวยาพ่อแม่ (การอบรมเชิงปฏิบัติการ “เยียวยาผู้ดูแล” : Healing the Caregiver ด้วยกระบวนการโค้ชชิ่ง) เราเห็นสิ่งที่ครอบครัวของคนพิเศษเป็นอยู่และความต้องการของเขาในระดับหนึ่ง เราได้เห็นข้อเท็จจริงของบุคคลพิเศษ ซึ่งทำให้เรามั่นใจคือ หนึ่ง ผู้ใหญ่พิเศษเขาเติบโตได้ ไม่ได้คิดแบบโลกสวยเขาโตได้ แต่เราต้องหล่อเลี้ยงเป็น นี่หมายถึงสำหรับกลุ่มที่ศักยภาพกลางๆ จนถึงน้อย สอง เราจำเป็นต้องทำงานเยียวพ่อแม่ พ่อแม่มี 4 เฟส หนึ่งเมื่อรู้ว่าลูกเป็นเด็กพิเศษ คือ มีความทุกข์ (Suffering) ที่ต้องการการเยียวยา เมื่อคลี่คลายแล้วจึงจะตื่นขึ้นเห็นความเป็นจริงของตัวเองของลูกและสิ่งที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงจะรู้ว่าตัวเองต้องการทักษะอะไรเพิ่ม ต้องไปเรียนอะไร จากนั้นจึงเริ่มเป็นจังหวะของการเดินต่อไป

เราต้องเริ่มจากการเยียวยาก่อนเพราะถ้ายังติดอยู่ใน Suffering phase มันไม่มีทางที่จะเอาความรู้ไปใส่ให้ นี่คือสิ่งที่พบเมื่อเราพยายามให้ความรู้ คนที่ยังทุกข์จะเถียงความรู้ เถียงชุดข้อมูลบางอย่างว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะก้อนของความทุกข์มันอัดแน่นไม่ได้รับการดูแล เราให้เขียนว่าสถานการณ์ของเขา 1 – 10 อยู่ตรงไหน คำตอบออกมาวนเวียนอยู่ไม่กี่เรื่อง คือ เหนื่อย เรื่องงาน เงิน และเรื่องลูก สอง เครียด ทุกข์ เพราะไม่รู้ว่าลูกเป็นอะไร สามคือ รู้สึกว่าเหนื่อยอยู่คนเดียว คุยทีไรก็วนอยู่สามเรื่องนี้ ด้วยความเหนื่อยความเครียดที่มีจะเรียนอะไรก็ไม่รู้เรื่อง นี่ทำมาถึงรุ่นที่ 5 ก็ยังซ้ำๆ วนๆ เรื่องพวกนี้

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (80)

ทำไมคนที่ผ่านกระบวนการเยียวยาจึงตื่นขึ้น
และรู้ว่าต้องลงมือทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง …

เขาได้รับการฟังด้วยหัวใจ เขาฟังทุกคนในวง เขาจะตื่นจากการที่ได้ยินความทุกข์เดียวกันในคนอื่น ทุกข์ที่อาจใหญ่กว่าตัวเอง รู้สึกไม่โดดเดี่ยว ฟังเสียงอารมณ์เป็น รู้ว่าความทุกข์ความวิตกกังวล ความกลัวที่สุดของตัวเองคืออะไร ฟังเสียงความรักเป็นเมื่อเรียนรู้ภาษารักของตัวเองและคนใกล้ชิด เขาจะรู้ว่ามีคนรักเขาอยู่แต่ที่ผ่านมาเขาไม่ได้ยิน
จากนั้นเราจึงให้ความเข้าใจกรอบพัฒนาการเด็กทั่วๆ ไป และเด็กพิเศษ ให้กลับไปสังเกต จากนั้นกลับมาดู ทางเลือก ทางรอด จะวางแผนให้ลูกอย่างไร เขาจะเริ่มวางแผนชีวิตให้ตัวเองและลูก อะไรสำคัญ อะไรพักไว้ก่อน ในหกเดือนต่อจากนี้เขาจะมีความมั่นใจเพราะเข้าใจและสังเกตลูกเป็น เราให้กรอบเรื่องร่างกาย อารมณ์ ระบบการขับถ่าย โภชนาการ กลุ่มที่ผ่านกระบวนการเยียวยาเขาสบายใจขึ้นได้เพื่อน ได้กรอบวิธีที่เพียงพอจะเกิดความเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาเราทำได้แค่กลุ่มเล็กๆ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของคนที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ ถ้าเป็นบาดแผลก็มีความเจ็บป่วยหลายระดับ บางคนกินวิตามินก็หาย บางคนให้น้ำเกลือ ฆ่าเชื้อ บางคนต้องผ่าตัด คือโครงสร้างปัจจัยชีวิตของแต่ละคนทำให้บาดแผลหรือรอยนี้ไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่พบคือความทุกข์เดียวกัน ความทุกข์ของใครก็ยิ่งใหญ่เท่ากัน จะคลี่คลายได้เร็วหรือช้าก็คือปัจจัยชีวิตที่แตกต่าง บางคนผ่านการเยียวยาแล้วก็ไปต่อได้เลย บางคนอาจจะวนอยู่เพราะปัญหาไม่ได้แก้ได้ทันที ชีวิตหลังจากที่เราเข้าอกเข้าใจคลี่คลายยอมรับได้แล้ว ความรู้ความสามารถที่มีอยู่พอไหม ถ้าไม่พอก็ต้องหาเพิ่มความรู้ทักษะชุดใหม่ ถ้าเข้าใจแต่ยังรับมือแบบเดิมก็ได้ผลเหมือนเดิม

34741801_2111424002205591_1733226179625746432_n

เปิดบ้าน ยินดีที่ได้รู้จัก

คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า) : เมื่อสำรวจความพร้อมแล้วเราก็ทดลองเปิดบ้านที่กรุงเทพฯ ก่อน ชวนคนมาทำกิจกรรมศิลปะ ค่อยๆ ดูจนแน่ใจว่าการชวนคนมาเป็นเพื่อนลูกน่าจะเป็นไปได้ และเริ่มศึกษาโครงสร้างในต่างประเทศเกี่ยวกับแค้มป์ฮิล* ตัวอย่างความเป็นไปได้ที่คนเข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน

(*แค้มป์ฮิล ในแนวทางมนุษยปรัชญาคือชุมชนที่อยู่ร่วมกันพึ่งพากันในวิถีกสิกรรมของบุคคลพิเศษและผู้ดูแล และเป็นพื้นที่ที่รวมศาสตร์ทั้ง 5 ตามแนวทางมนุษยปรัชญา คือ ปรัชญา การศึกษา การแพทย์ กสิกรรม ชุมชน/สังคม  ไว้ด้วยกัน)

จากนั้นเริ่มเปิดตัวบ้านฟาร์มครั้งแรก คิดทำแค้มป์ 3 วัน 2 คืน เปิดรับ 15 ครอบครัว มาทำกิจกรรมด้วยกันต่อเนื่อง 6 ครั้ง วางแผนว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง ต้องใช้เงินเท่าไหร่ได้เงินสนับสนุนจากเพื่อนๆ ที่เห็นด้วยมาก้อนหนึ่งเริ่มทำ ‘ยินดีที่รู้จัก’ เป้าหมายคือพ่อกับแม่ได้รู้จักกัน ลูกก็ได้มีเพื่อน ออกแบบอยู่นานว่าทำอย่างไรให้พอดีๆ ไม่สร้างความคาดหวังสูง แต่ก็ไม่ได้ทำเล่นๆ

มีครอบครัวสนใจมาเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องพร้อมกับบุคคลพิเศษซึ่งช่วงอายุต่างกันมากเล็กสุด 8 ปี และอายุมากที่สุด 31 ปี ระหว่างหนึ่งปีมาพบกัน 6 ครั้ง พอจบเราคิดว่าถ้าจะทำต่อควรเพิ่มเป็น 12 ครั้ง ซึ่งคนที่จะมาต่อเนื่องได้คือคนที่เอาจริงประกาศรับสมัครมีคนสนใจ 50 กว่าครอบครัว แต่เราแจ้งเงื่อนไขคือพ่อแม่ต้องมาร่วมด้วยทุกครั้งก็เหลือ 14 ครอบครัว เราคัดด้วยการให้คณะทำงาน ครูที่ต้องเป็นคนใกล้ชิดทำงานด้วยร่วมสัมภาษณ์ให้เหลือ 10 ครอบครัวคือจำนวนเท่าที่เราดูแลได้

การถอดบทเรียนจากยินดีที่ได้รู้จัก ทำให้รู้ว่าเราไม่มีแรงมากพอที่จะทำทั้งกลุ่มเด็กเล็กและเยาวชนพิเศษ กลุ่มที่อายุน้อยกว่า13 เราไม่ควรทำเพราะบางกิจกรรมและพื้นที่ของเราไม่เหมาะกับการหล่อเลี้ยงกลุ่มนี้ที่เหมือนลูกนกซึ่งยังต้องการการโอบอุ้ม ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า ‘ปีกกล้าขาแข็ง’ คือเราจะทำห้องเรียนสำหรับกลุ่มเยาวชนที่จะเริ่มหัดบิน เริ่มต้นที่เยาวชนพิเศษวัย14 ปีขึ้นไป

12885724_1241269695887697_3206024125159344795_o

ห้องเรียนปีกกล้าขาแข็ง

คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า) : ห้องเรียนและชุมชนที่มีครอบครัวเข้ามาร่วมเราต้องออกแบบด้วยความเข้าใจ บางกิจกรรมทุกคนทำด้วยกัน บางกิจกรรมก็แบ่งตามสภาพความเหมาะสมของร่างกาย เช่น งานครัวทุกคนทำหมด งานสวน ถ้าใครไม่ชอบแดดก็ไม่ต้องทำ แต่ต้องลงไปร่วมกิจกรรมก่อน ถ้าไม่ชอบก็ค่อยออก คือให้เขารู้จังหวะ กติกา อย่างซีซาร์ไม่ชอบซักผ้า ชอบขุดดินก็ทำเยอะหน่อย ส่วนเรื่องที่ไม่ชอบก็ทำเท่าที่รับมอบหมาย เช่นซักถุงมือที่ใช้ทำงานไป ด้วยการออกแบบทำให้เขาต้องสัมผัสงานหลากหลายที่ไม่คุ้นชิน แล้วเราที่เป็นครูออกแบบชั้นเรียนก็คอยสังเกตว่า กิจกรรมแบบนี้สำหรับคนนี้ ช่วยพัฒนาเขาด้านใด ร่างกาย ระบบคิด การทำงานร่วมกับคนอื่น สังคม อารมณ์ ได้หรือไหม

เรามั่นใจโครงสร้างหลักสูตรห้องเรียน จากที่เห็นคือเกิดการเรียนรู้ภายในของซีซ่าร์เยอะมากก็ตอบโจทย์เรื่องการให้ลูกมีเพื่อน ลูกได้เรียนรู้ปรับตัวการดูแลความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ ซึ่งเยาวชนทุกคนได้เรียนรู้ มีขัดใจ ผลัก ทะเลาะ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเติบโตที่เด็กพิเศษมักถูกปกป้องไม่ให้เผชิญความขัดแย้ง เรื่องเหล่านี้เยาวชนได้ฝึกที่จะอยู่กับโลกจริงๆ

ปีที่สองห้องเรียน ปีกกล้า ขาแข็ง เราทำต่อในเงื่อนไขที่ไม่ง่ายเลยสำหรับครอบครัว เราเพิ่มเวลาเป็น 24 ครั้ง ซึ่งต้องเพิ่มงบประมาณ ส่วนหนึ่งเราได้เงินสนับสนุนจากมาตรา 35 แต่ก็ไม่เพียงพอเราเริ่มทำผลิตภัณฑ์ที่ให้ครอบครัวและบุคคลพิเศษมีส่วนร่วม ปัจจุบันเรากำลังทำปีที่ 3 มี 12 ครอบครัว ซึ่งพอดีกับจำนวนครูที่มีอยู่

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขฯ

คุณวุธิกา อนันต์เจริญวัฒนา (แม่แตน)  

มาที่นี่ครั้งแรก ต่อ (คุณตนุภัทร อนันต์เจริญวัฒนา) อยู่ม.1 กำลังจะขึ้น ม.2 ทีแรกจบป.6 ก็ว่าจะให้หยุดเรียนทำโฮมสคูล แต่พ่อเขายังอยากให้เรียนต่อ ลูกมีความสามารถด้านดนตรีก็เข้าโรงเรียนผ่านความสามารถพิเศษได้  ใจเราถึงรู้ว่าต้องมีปัญหาแต่ก็ให้ลองเรียนดู ลูกมีความไวเสียงบวกกับพอเข้ามัธยมแล้วมีปัญหาพฤติกรรมเยอะขึ้น สภาพแวดล้อมของโรงเรียนเสียงดังมากเพราะใกล้ทางด่วน ห้องเป็นพัดลมมีเสียงรบกวนลูกก็ป่วนห้องเรียน ป่วนเพื่อนและครู จนเขาบอกให้เราสอนลูกที่บ้านไปรอไปสอบอย่างเดียว เราก็ย้ายมาอีกโรงเรียน พอลูกมีปัญหาชัดเจนเราก็เริ่มแสวงหาข้อมูลมาเจอเฟซบุ๊คของแม่ฟ้าก็ดูข้อมูลย้อนหลังไปว่าที่นี่ทำอะไรมาบ้าง พอเห็นเขาเปิดห้องเรียนปีกกล้าขาแข็งปีแรกตัดสินใจสมัครเลย ตอนนั้นต่ออยู่ในโรงเรียนที่ไม่เคร่งครัดมาก ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ไหนที่มีห้องเรียนที่นี่เราก็หยุดเรียนมาได้

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (10)

เราสังเกตเห็นว่าลูกมาที่นี่ได้มาปล่อยพลังงานกลับไปโรงเรียนพฤติกรรมก็ดี เขาต้องการพื้นที่และตัวเราเองก็ได้เรียนรู้หลายอย่าง เดิมเวลาลูกอารมณ์ขึ้น เราก็ขึ้นไปด้วย  แม่ฟ้าบอกว่าแม่ลูกอารมณ์สัมพันธ์กัน ถ้าลูกขึ้นแต่เราไม่ขึ้นไปด้วย เขาจะลงมาได้เองโดยไม่บาดเจ็บ ใช้เวลาเรียนรู้นานเราไม่เห็นตัวเอง ก่อนหน้านี้เรารู้สึกว่าต้องเป็นคนเข้าไปจัดการให้เขาลง ถ้าเราไม่เข้าไปจัดการเหมือนกับเราไม่ได้ดูแลลูก
เด็กไม่มีสติ เพราะแม่ไม่มีสติ เราพูดด้วยอารมณ์ หรือ พูดด้วยสติ ทุกวันนี้ก็ยังลองไปเรื่อยๆ ถ้าเราเห็นใจ เข้าใจลูกอยากให้ลูกมีสติ เราจะพูดอย่างไร ตัวเองมีปัญหาไม่เข้าใจอารมณ์ตัวเอง ไม่ได้แสดงออกทางอารมณ์มากนัก เดี๋ยวนี้เราเข้าใจอารมณ์เขามากขึ้น เพราะเราเข้าใจตัวเองแล้ว ทำงานกับลูกได้ดีขึ้น ไม่คาดหวังเยอะมาก

ปีแรก ที่ห้องเรียนปีกกล้าขาแข็งเป็นปีที่หนักหน่วงมาก เพราะเรามาด้วยความหนักปัญหาของเรา ทุกคนก็มีปัญหามา แต่ก็ชอบเพราะบู๊ล้างผลาญมาก ลูกปะทะกัน พ่อแม่ก็ปะทะกัน แต่มันทำให้เราเห็นตัวเองชัด และมีบางอย่างที่เราไม่เห็นตอนที่อยู่กันเอง เรามาเห็นตัวเองผ่านแม่คนอื่น เห็นลูกเราจากลูกคนอื่น มันมีความเข้าใจในความทุกข์ และเห็นว่าความสุขเป็นเรื่องง่ายๆ

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (105)

แปลกนะตอนนั้นลูกเราก็ยังเหมือนเดิม ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่ทำไมเรามีความสุขมากขึ้น ได้เจอคนหัวอกเดียวกันมาพูดคุยกัน นอนคุยกันเข้าใจและเติมพลังซึ่งกันและกัน เรามาคนเดียว ไม่รู้จักใครเลย ต้องตื่นระวังตัวเอง แต่บรรยากาศก็ดีมาก เราอยากให้แม่ๆ คนอื่นมามีประสบการณ์อย่างเราบ้าง แต่ก็มีหลายคนที่อยู่ไม่ได้อาจไม่ตรงกับสิ่งที่คาดหวังก็แล้วแต่ปัจจัยของแต่ละคน

เป็นคนที่เข้าร่วมทำกิจกรรมทุกอย่างเพราะคิดว่ามันต้องมีเป้าหมายที่เขาออกแบบมา อย่างเรื่องการแสดง จริงๆ ไม่เคยทำอะไรพวกนี้เลย แต่พอเราเปิดตัวเองและทำเต็มที่ มันก็ได้บางอย่างซึ่งพวกนี้แม่ฟ้าก็มาอธิบายทฤษฎีภายหลังและถอดบทเรียนออกมา การผ่านกระบวนการทำให้เราผ่อนคลายและเข้าใจอะไรมากขึ้น

ปีนี้ตัดสินใจวางแผนจะใช้ชีวิตที่นี่จริงจังมากขึ้น ต่อเขามีความฝันอยากปลูกบ้านก็ให้เขาค่อยๆ คิดเองว่าเขาอยากทำอะไร บ้านจะมีอะไรบ้าง ชอบตีกลอง เปียโน ขิ่ม ระนาด อยากได้ห้องดนตรีไหม ลูกก็ยังไม่รู้หรอก วาดภาพไว้ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ให้พ่อนั่งรถไฟมาที่นี่ พอวันจันทร์เรากลับไปกรุงเทพฯ ด้วยกัน ต่อยังต้องไปเรียนดนตรี ส่วนอยู่ที่นี่ก็มีงานมัดย้อม งานทอผ้า งานช่าง เขาชอบทำได้ทุกอย่าง ต่อเป็นคนที่เรียนรู้ผ่านการทำงาน แม้แต่เรื่องอารมณ์

คนมักพูดว่าเราดึงลูกมาจากสังคม แต่เรามองว่าสังคมของลูกคือเรา ยิ่งลูกเป็นเด็กพิเศษต้นแบบของลูกคือ พ่อแม่และผู้ใหญ่ที่อยู่รอบๆ เหมือนสังคมในชนบทที่เราโตมากับผู้ใหญ่ในชุมชน เราเห็นว่าเขามีความเก่ง ความชำนาญต่างกันไป เชื่อมาตั้งแต่ลูกยังเล็กกว่านี้ว่าเขาน่าจะเติบโตในสังคมเล็กๆ ไม่ใช่สังคมเมือง ถ้าให้เด็กเราเป็นส่วนหนึ่งของงานเขาทำได้แน่นอน ก็เคยหานะว่ามีอาชีพอะไรที่เราจะทำกับลูกได้บ้าง แต่แค่เราคนเดียวมันเกิดไม่ได้ สามีก็ต้องทำงาน เราไม่มีครอบครัวใหญ่ที่คอยสนับสนุน ลูกน่าจะอยู่ในชุมชนที่ให้โอกาส เข้าใจ และทำงานแบบมีส่วนร่วม ที่นี่ก็ตรงใจ ตัวเราเองก็อยู่ได้เรียกว่าจังหวะชีวิตเรามาเจอที่นี่พอเหมาะพอดี

คุณณัฐชา สุริเตอร์ (ย่าอิ๋ว)

มาอยู่ที่นี่ก็เห็นว่ามันใช่ที่ๆ เราอยากให้แตงโม (คุณชนาภัทร ไทยเจริญ) ได้ ทั้งร่างกาย อารมณ์ การแสดงออก พัฒนาการด้านร่างกายดีขึ้น เราเองก็ดีขึ้น ที่ผ่านมาเราเลี้ยงแตงโมเหมือนเลี้ยงลูกตัวเอง พอรู้ว่าเขาไม่ปกติก็พยายามทำให้เขาทุกอย่าง เรารอไม่เป็นเอาแต่ใจ พอไม่ได้ดั่งใจก็ตี ช่วงปีแรกที่มาอยู่นี่แตงโมจะไปไหน ย่าก็เรียกตลอด ไม่เปิดโอกาสให้เขาจัดการตัวเองเลย ก็ค่อยๆ เรียนรู้ทีละนิด การแชร์กันในครอบครัวต่างๆ ทำให้เราค่อยๆ ปรับอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง รอให้เป็น อันไหนเป็นความคับข้องใจเขาทำไม่ได้ก็ดูว่าทำไม่ได้เพราะอะไร และเราจะช่วยเขาทำได้อย่างไร เรานิ่มขึ้นไม่วีนมีความสุขมากขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือ เรายอมรับได้ว่าเขาแตกต่างไม่เหมือนคนอื่นและพยายามฝึกให้เขาเดินต่อไปได้

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (30)

สิ่งที่แตงโมเปลี่ยนแปลงไปมากคือเรื่องการใช้ร่างกาย จากที่เดินยกขาไม่ได้เวลาเดินลากขา แขนยกแล้วติดใช้สองมือร่วมกันไม่ได้ ตอนนี้ดีขึ้นเขาใช้สองมือช่วยกันได้ เดินขึ้นที่สูงลงบันไดได้ (แต่ยังสลับขาไม่ได้) การเดินมั่นคงมากขึ้น ตอนนี้ดูแลเรื่องน้ำหนักและการกิน เรื่องความคิดยังไม่ปรากฏมากนักแต่ก็ดีขึ้นอันไหนทำไม่ได้ก็มีการพลิกแพลงบ้าง แสดงออกความรู้สึกได้มากขึ้นมีอารมณ์เสียใจน้อยใจเป็น ส่วนการเข้าสังคมเขาชอบอยู่แล้วแต่เริ่มรู้จักกาลเทศะมากกว่าเดิมไม่มานั่งกลางวงเหมือนเคย เขาโตขึ้นมาก

การมาอยู่เป็นชุมชนก็คือการเตรียมลูกเพื่อให้อยู่ในสังคมได้นั่นแหละ เพียงแต่เราเอาเขามาเรียนรู้กับสภาวะที่ห่างจากความวุ่นวาย เด็กเราเจอสิ่งเร้าไม่ได้ หัวเราะไปแต่ไม่รู้เรื่อง อยู่ที่นี่เป็นพื้นที่เปิดใกล้ชิดธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมดี มีผู้คนที่เข้าใจ เราต่างมีความทุกข์เหมือนกัน เรารับรู้กันและกัน บางอย่างเรามองไม่เห็นเพื่อนก็มาช่วยมองให้ จัดการบางอย่างที่เราทำเองไม่ได้กับคนของเรา บางครั้งเราก็ช่วยดูแลลูกให้เพื่อน เรารับรู้ความรู้สึกของแต่ละคน เราไม่โกรธแต่กลับมาดูแลตัวเองเป็น การได้เรียนรู้ผ่านเวิร์คช้อปอะไรมากมายด้วยกัน ทุกคนที่เข้ามาอยู่ตรงนี้เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันลูกเขาก็เหมือนลูกเรา เข้ามาแล้วมันอุ่น

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (18)

เราได้เรียนรู้จากธรรมชาติของมนุษย์จริงๆ เด็กได้ความอ่อนโยนดูแลสัตว์ สิ่งแวดล้อม ได้สภาพร่างกายที่ดีขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ อย่างแตงโมนี่ฝึกดันหญ้าสองปีกว่าถึงจะทำได้ เราให้ทำเป็นประจำทุกๆ วันฝึกทีละเล็กละน้อย อยู่ในเมืองไปห้างก็มีบันไดเลื่อนได้เห็นของต่างๆ มันก็เท่านั้นไม่ได้อะไร ถ้าเราไม่เตรียมความพร้อมสภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ เขาจะอยู่ในสังคมก็ลำบาก ก่อนที่เขาจะไปเป็นผู้ใหญ่ในสังคมได้เราก็ต้องทำให้เขาเต็มศักยภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เขาจะเป็นได้

17814422_1614828955198434_7083291469085743433_o

ทุกอย่างที่เราทำจะออกแบบงานให้เยาวชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนตามศักยภาพของเขา สินค้าเราพูดได้ว่าเด็กมีส่วนร่วมทุกชิ้นงาน เมนูอาหารอย่างซุปไก่ใช้เวลาสองปีตอนนี้เยาวชนทุกคนทำเป็นตั้งแต่ไปตลาดเลือกซื้อของได้ เราใช้กระบวนการซ้ำๆ และจำเป็นต้องใช้เวลา ในสายตาของคนที่อยู่กับความสะดวกสบายมาตลอดอาจมองว่าจะเอาลูกมาลำบากทำไม แต่เข้ามาลองสัมผัสดูจะเห็นว่าเยาวชนเองไม่มีความอึดอัด คับข้องใจ เขาทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง เขาเปิดพื้นที่ในตัวเขาเองออกมาได้ แม่ๆ ที่นี่นิ่งมีความสุข เราไม่ต้องเครียดวิ่งตามลูก

ช่วงที่เข้ามาใหม่ๆ ไม่รู้จักแค้มป์ฮิลนะ แต่อยากได้ที่ที่หลานเราอยู่ได้ มีอาชีพ ตัวเขาอาจทำเองไม่ได้แต่อยู่ในชุมชนแล้วร่วมทำได้ เลี้ยงตัวเองได้ ย่าอยากไปให้ถึง ทุ่มเททั้งกำลังกายกำลังใจนี่ใหญ่มาก อะไรที่เราทำได้ก็อยากทำเพื่อเป็นรายได้เสริมให้ชุมชนเราโตขึ้น เราพึ่งแค่มาตรา35 ไม่ได้ชุมชนของเราต้องอยู่แบบช่วยตัวเองได้มีศักยภาพไม่ต้องรอราชการหรือเอกชนมาช่วยอย่างเดียว ซึ่งเราอยู่และภูมิใจในสิ่งที่เราทำได้

คุณอัครอนันต์ จันทรศิริภณ (ครูออด)

ที่นี่ใช้กสิกรรมบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญาทำงานกับเยาวชนพิเศษ งานเกษตร ฟาร์ม ครัว ปั้นดิน มีหลายๆ วิชาที่ให้เขาเรียนรู้ พัฒนาทักษะให้เยาวชนพิเศษเติบโตได้ตามความแตกต่าง ลำพังตัวเราเข้ามาเรียนรู้ก็ได้พัฒนาตัวเองอยู่แล้ว การที่ได้เห็นเยาวชนที่นี่ยิ่งทำให้เราอยากเข้ามาเรียนรู้แนวทางเพิ่มขึ้น การทำงานที่นี่มันมีเสน่ห์คือเราก็เติบโต เยาวชนเองก็เติบโต ข้างในผมมีความอ่อนโยนเข้าอกเข้าใจมากขึ้นทำอะไรช้าลง เยาวชนเหมือนครูของผมด้วย สิ่งที่เขาเป็นมาและเป็นอยู่แต่ละคนมีความแตกต่าง เราก็ต่างเรียนรู้และก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (204)

ผมเห็นซีซาร์มาตั้งแต่เด็กๆ ในวัยนี้เขาเติบโตมีความมั่นคงมีระบบคิดและความอดทนมาก เขาใช้ฐานกายได้ดีและแข็งแรง มีความใจเย็นนิ่ง ผมเห็นความเป็นผู้ใหญ่ในตัวเขา

เมื่อต้นปีผมมีโอกาสร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานแค้มป์ฮิลที่ประเทศเวียตนามเห็นเยาวชน ครู เจ้าหน้าที่ และวิถีของเขา สิ่งแรกที่นึกถึงคือทำอย่างไรให้ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขฯ เติบโตไปเป็นอย่างที่เวียตนามบ้าง

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (111)

สร้างวิชาชีพผู้ดูแล

ก้าวสู่แค้มป์ฮิลเมืองไทย

คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า) : ที่จริงชุมชนเราไม่ได้ตั้งใจขยายเพิ่มครอบครัวหรือบุคลากร แต่มีองค์กรเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่ชุมชนฯ เขาตั้งคำถามว่า ทำไมเราไม่ขยายเพราะเรื่องที่ทำนี้มันมีประโยชน์ ติดปัญหาอะไรเพราะเห็นอยู่ว่าที่ทางของเรามีเพียงพอ พอบอกว่าเราไม่มีคน เขาก็พูดว่าไม่มีคนก็ทำเรื่องคนซิ ถ้าเป็นธุรกิจสิ่งที่มีความต้องการแต่มีไม่เพียงพอเราก็ต้องสร้างเพิ่ม และประโยคสำคัญที่เราติดใจคือ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของครอบครัว แต่เป็นเรื่องของสังคม

มันก็เปิดประเด็นให้เรามาคิดต่อว่า เราควรทำไหม และสงสัยว่าถ้าเราไม่ทำแล้วจะมีใครทำไหม

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (233)

หลักสูตร Caretaker for Special Needs Person

การออกแบบหลักสูตรเราก็ลองทบทวนตัวเองว่าเรียนรู้อย่างไร เราสนใจแค้มป์ฮิล เราทำงานโดยใช้โครงสร้างศึกษาพิเศษของมนุษยปรัชญาในออสเตรเลีย ตอนจะทำชุมชนเราก็เรียนรู้เพิ่มเติมทั้งประเภทของภาวะต่างๆ ออทิซึ่ม ดาวน์ซินโดรม ฯลฯ เทียบโครงสร้างหลักสูตรหลายๆ ที่ ดูระยะเวลาซึ่งเราวางไว้สองปี ผู้ดูแลควรเรียนความรู้พื้นฐานก่อน จากนั้นเรียนลักษณะบุคคลพิเศษแต่ละประเภท การจัดการเรียนรู้ เข้าใจเรื่องความเจ็บป่วย และการให้คำปรึกษา เราเขียนเป็นโครงร่างขึ้นมาก่อน ต่อมามีโอกาสพบคุณครูเบ็คกี้ (Becky Rutherford; Camphill Academy) ซึ่งเป็นครูที่มีประสบการณ์ในแค้มป์ฮิลเดินทางเข้ามาทำเวิร์คช้อปการศึกษาเพื่อการเยียวยาในไทย เราก็ส่งตัวโครงสร้างหลักสูตรฯ ขอให้ช่วยดู ครูเบ็คดี้ก็ตอบรับเป็นที่ปรึกษาหลักสูตร จากนั้นก็มาดูเรื่องงบประมาณ และรายชื่อผู้เชี่ยวชาญที่จะมาสอนในแต่ละกลุ่มอาการ จึงเปิดรับสมัคร

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (45)เราเป็นคนใน รู้ว่าพ่อแม่ต้องการอะไร บุคคลพิเศษที่โตแล้วควรมีความรู้ชุดไหน แต่การมาทำหลักสูตรนี้เราต้องถอยออกมาจากความเป็นแม่จากความเป็นส่วนตัว ต้องมีความพร้อมที่จะเจอกับสถานการณ์ที่แตกต่างไป ในแง่งบประมาณเหมือนเคยเราก็บอกเพื่อนๆ ถึงความตั้งใจมีคนที่เห็นด้วยว่าเรื่องนี้มีประโยชน์เขาก็สนับสนุนกันมาเพียงพอที่เราจะให้ทุนเรียนเต็มจำนวน 4 คน ส่วนคนที่สมัครเรียนมาแบบชำระเต็มจำนวนก็ได้รับส่วนต่างทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงไปส่วนหนึ่ง

ในรุ่นแรกนี้คนที่เข้ามาเรียนก็มีกลุ่มผู้ที่รับทุนแน่นอนว่าเขาต้องการอยู่ในวงการนี้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและมีอาชีพ มีกลุ่มคนที่ทำงานอยู่แล้วและอยากได้ชุดความรู้ของมนุษยปรัชญาเพื่อเอาไปทำงานให้ดีขึ้น มีกลุ่มพ่อแม่ที่ต้องการเรียนรู้และหลายคนไม่รู้จักมนุษยปรัชญาเลย สำหรับคุณครูเบ็คกี้เอาจริงเอาจังกับหลักสูตรนี้มาก สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไปต่อ การเรียนที่นี่มีบุคคลพิเศษให้ทำงานด้วยจริง เมื่อเรียนจบแล้วเขาอาจอยากลงลึกไปเรียนต่อเฉพาะด้าน

ภาพอนาคตของชุมชนเราเริ่มชัดเจนจากที่เราไปเวียตนามดูแค้มป์ฮิลที่นั่น เขามีหลายปัจจัยที่เราต้องสร้าง หนึ่งต้องมีหลักสูตรครูเพื่อสร้างคนของตัวเอง เราก็ต้องทำเพื่อความยั่งยืนของชุมชน สองเขารอถึงสิบปีก่อนที่จะเป็นแค้มป์ฮิลเพราะต้องสร้างองค์ประกอบให้ครบ หลักการแค้มป์ฮิลทั่วโลกเป็นพื้นที่ที่คนจะเข้ามาแลกเปลี่ยนแนวคิดปรัชญาการใช้ชีวิตในแนวทางเดียวกัน แนวทางมนุษยปรัชญาครอบคลุมการศึกษาวอลดอร์ฟ การศึกษาบำบัด ปรัชญา เกษตร และการแพทย์ ซึ่งทั้งห้ากลุ่มนี้รวมอยู่ในแค้มป์ฮิล ถ้าไทยเราจะเคลื่อนเรื่องมนุษยปรัชญาเพราะเราคิดว่าหลักการนี้ช่วยสังคมได้ เราจำเป็นต้องมีแค้มป์ฮิล เมื่อเรามีงานครบทั้งห้ากลุ่ม ผู้คนในชุมชนก็จะเชื่อมโยงกันโดยที่ต่างฝ่ายต่างทำงานของตัวเองที่อยู่บนแก่นการมองมนุษย์ในแนวทางเดียวกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เช่นนั้น เมื่อเราเริ่มต้นมีโรงเรียนสอนผู้แลแล้ว อนาคตเราจึงจะมีรร.เด็กพิเศษในวัยที่เล็กลงไปได้ เป็นต้น


ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขฯ ทำมาเข้าปีที่สามนี้ เราค้นพบว่าเยาวชนพิเศษเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ทุกคน เขารู้ว่าเขาจะอยู่ด้วยกันอย่างไร ในแง่ศักยภาพเราใช้ศิลปาชีพเป็นเครื่องมือในการพัฒนาให้เขาค่อยๆ เติบโต ศิลปาชีพ หมายถึง นำสิ่งที่เขาชอบมาทำให้เป็นอาชีพ และการทำงานทำให้เขาค่อยๆ เติบโตขึ้น การจะไปถึงอาชีพของบุคคลพิเศษ เรามองในแง่ให้เขาเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของการทำอาชีพนั้น และเขาอยู่ร่วมกันได้เพราะมีความเป็นชุมชนนั่นแหละ

วันหนึ่งที่นี่อาจจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย เป็นศูนย์ฝึกผู้ดูแล เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่สามารถทั้งรับทุนสนับสนุนและสร้างรายได้ยั่งยืนด้วยตัวเอง ไม่ว่าเราจะเติบโตไปเป็นอะไร บุคคลพิเศษเขายังอยู่กับกลุ่มคนที่มีความเข้าอกเข้าใจและเขาคือส่วนหนึ่งของชุมชน

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (90)

ขอบพระคุณ : ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษและครอบครัว ภาพประกอบบางส่วนจาก fb: suwannee asava  VTR: ห้องเรียนปีกกล้าขาแข็ง ของ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

Beaming Story

ปักจิต ปักใจ

เข็มและด้ายที่ปัก ขึ้น ลง ในความมืด
คือจุดเริ่มต้นของการ ‘มองเห็นซึ่งกันและกัน’

ณ มุมเล็กๆ กลางเมืองเชียงใหม่มีกลุ่มคนตาบอดและตาดีมาร่วมกันทดลองวิธีการทำงานใหม่ๆ เพื่อพัฒนาหลักสูตรต้นแบบการปักผ้าสร้างสรรค์ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างอาชีพหนึ่งเพื่อรองรับผู้พิการทุกประเภทในอนาคต

The Dreamer นักฝัน

คุณวันดี สันติวุฒิเมธี (ผึ้ง)

ปักจิต ปักใจ (60)

คุณผึ้งมีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่แบ่งแยก ครอบครัวของคุณผึ้งจึงจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เป็นประจำเพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันของเด็กๆ และเพื่อนผู้พิการประเภทต่างๆ ให้เป็นประสบการณ์จริงที่ทุกคนได้รู้จักคนพิการในฐานะเพื่อนในสังคม

จนวันหนึ่งครอบครัวของคุณผึ้งไปพบน้องตาบอดที่เคยมาร่วมกิจกรรมไปเป็นขอทานในตลาดหน้าบ้าน

“ที่เขาไปเป็นขอทาน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายปรับเรื่องอายุของคนตาบอดในศูนย์ฝึกอาชีพ คนที่โตแล้วก็ต้องออกจากศูนย์ฯ แต่เขาไม่มีทางเลือกอาชีพมากนักเพราะหลายอาชีพไม่ใช่งานที่ทำได้โดยลำพังหรือรายได้น้อยไม่เพียงพอยังชีพ เช่น เลี้ยงไก่ นวด ถักผ้าเช็ดมือ เขาจำเป็นต้องมีเพื่อนหรือครอบครัวช่วยดูแล สำหรับคนที่ต้องออกมาแต่ไม่มีครอบครัวสุดท้ายเขาต้องไปขอทานเพราะเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด เราไปเจอที่ตลาดหน้าบ้านตัวเอง น้ำตาไหลเลยว่าทำไมมันไม่มีทางเลือกอาชีพที่เขาอยู่ได้

ผึ้งเป็นคนชอบงานฝีมือมาก แต่สินค้าหัตถกรรมของคนพิการเป็นคำถามในใจเสมอว่าทำไมคนต้องช่วยซื้อด้วยความสงสาร เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เราเอามาใช้ในชีวิตประจำวันหรือดูเชยเกินไป โดยทั่วไปคนอยากซื้อของเพราะเราได้ใช้ มันสวย และอยากซื้ออีกเรื่อยๆ ก็เลยมาคิดว่าอะไรที่จะทำให้คนอยากซื้องานฝีมือของคนพิการ ตัวเราชอบเย็บผ้าพอเจอลายปักผ้าซาชิโกะ (ศิลปะการปักผ้าซาชิโกะ (刺し子) ของญี่ปุ่น) คิดว่าไหมมันเส้นใหญ่พอคนตาบอดน่าจะทำได้เพราะมีระบบรับสัมผัสที่ดี และเป็นงานทูโทนคือใช้ไหมสีอ่อนบนพื้นสีเข้มหรือกลับกัน ไม่จำเป็นต้องเล่นสีแต่งานสวยเรียบง่ายมีเสน่ห์ เลยมาปรึกษาคุณครูท่านเดียวที่สอนปักซาชิโกะในเชียงใหม่”

The Sen-sei ครูเจ้าสำนัก

คุณภวัญญา แก้วนันตา (ป้าหนู) แห่ง Sewing Studio

ปักจิต ปักใจ (58)

ป้าหนูคุณครูผู้รักการสร้างสรรค์ศิลปะ เมื่อตัดสินใจลาออกจากครูในโรงเรียนมาพักผ่อนและเปิดร้านเปิดบ้านสอนงานฝีมือที่ตัวเองชื่นชอบทำให้รู้จักกับคุณผึ้งหนึ่งในลูกศิษย์ที่มาเรียนทำกระเป๋าด้วยความหลงใหลในงานฝีมือทำให้ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนกัน

“ผึ้งเขาชอบทำงานบุญทำจิตอาสากับองค์กรต่างๆ วันหนึ่งมาชวนว่าจะเป็นไปได้ไหมที่จะสอนคนตาบอดปักผ้าเพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างงานให้ผู้พิการทางสายตา ซึ่งตอนนั้นป้าหนูสอนปักซาชิโกะอยู่แล้วมีเพื่อนชาวญี่ปุ่นถ่ายทอดให้  ถามว่าทำได้ไหม แวบแรกทำไมถึงคิดอยากทำก็ไม่รู้และเชื่อว่าทำได้ เพราะซาชิโกะมันมีฟอร์มของมัน มีจังหวะขึ้น ลง ซึ่งเราเชื่อว่าผู้พิการทางสายตามีจังหวะที่ดี และนิ้วของเขาสัมผัสจังหวะได้

ทีแรกก็ไม่มั่นใจหรอกนะคะ ทดลองหลับตาปักเองอยู่หลายชิ้น ก็พบว่ามันมีเงื่อนไขเรื่องการใช้อุปกรณ์ เราต้องสร้างเครื่องมือมาช่วยให้เขาทำงานได้ ก็ลองเริ่มต้นที่ชิ้นแรกคือ ที่สนเข็ม ได้รับคำแนะนำจากครูปฤณ เข็มสร้างสรรค์ เรื่องการใช้เส้นเอ็นที่ใช้งานได้ดีกว่าที่สนเข็มทั่วไปแบบลวดเล็กๆ ซึ่งขาดง่าย ป้าหนูลองติดกระพรวนเล็กๆ ที่ช่วยให้ควานหาง่าย ทำตกก็รู้ ซึ่งต่อมาเราก็เอามาติดกับอุปกรณ์อื่นๆ ด้วย มีกระเป๋าที่ใช้ใส่กล่องเครื่องมือของแต่ละคน แผ่นต้นแบบก็จัดเตรียมไว้ แต่ทั้งหมดนี้จะเหมาะสำหรับการทำงานของคนตาบอดจริงหรือไม่ คนที่จะตัดสินว่าทำได้หรือไม่ได้ ก็ต้องเป็นตัวแทนจากผู้พิการทางสายตาคนแรกที่มาทดลองใช้”

งานอันเกิดจากพลังใจมุ่งมั่นมักมีเรื่องที่อาจใช้คำว่า ‘ธรรมะจัดสรร’ ก็ได้ เมื่อคุณผึ้งผูกพันและอยากลงมือสร้างอาชีพเพื่อคนตาบอด ทำให้ได้กลับมาพบน้องชายคนหนึ่งซึ่งครอบครัวของทั้งคู่เป็นเพื่อนสนิทกัน ในช่วงวัยรุ่นเขาประสบอุบัติเหตุกลายเป็นผู้พิการทางการมองเห็น และปัจจุบันน้องชายคนนี้เป็นนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

The Aider มือที่หนุน

คุณต่อพงศ์ เสลานนท์ (เติ๊ด) นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

35629177_1604281499698328_7935487575882465280_n.jpg

เมื่อคุณเติ๊ดรับรู้ความมุ่งมั่นตั้งใจของคุณผึ้งและป้าหนูที่จะช่วยสร้างทางเลือกอาชีพให้กับคนตาบอด สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยตอบรับและสนับสนุนโครงการนี้ได้เริ่มต้นและให้คำแนะนำเพื่อวางแผนการทดลองอย่างเป็นระบบ หากจะขยายงานออกไปสู่คนพิการทั้งคนตาบอดและกลุ่มผู้พิการอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน

“พี่น้องของเรามีความสามารถทางด้านหัตถกรรมนี้จริง คนทั่วไปอาจคิดว่าต้องใช้ตามอง แต่เรามั่นใจในความละเอียดของประสาทสัมผัสของนิ้ว หัตถกรรมของคนตาบอดไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ที่ผ่านมาเรามีงานร้อยลูกปัด ถักโครเช นิตติ้ง มาคราเม่ และจักสาน ปัญหาที่เราพบคือ คนมักทำในสิ่งที่เขาทำได้ โดยไม่ได้นึกว่ามันเป็นสิ่งที่คนอื่นเขาต้องการไหม ผมคิดว่างานปักผ้าซาชิโกะคือจุดเริ่มต้นในการฟื้นฟูงานหัตถกรรมของคนตาบอด เรามองในเชิงงานฝีมือที่มีคุณภาพก่อน และสินค้านี้มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบและมองว่าเป็นงานที่มีคุณค่า (มีมูลค่าทางการตลาด – ผู้เขียน)

สิ่งที่ผมคิดคือเอาพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ทางด้านหัตถกรรมมาเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีก่อนว่า หนึ่ง ตาบอดปักซาชิโกะได้ไหม จากนั้นคือดูเรื่องกระบวนการผลิต ต้นทุน ระยะเวลา การควบคุมคุณภาพ และการขยายผล พัฒนาเป็นหลักสูตรว่าคุณสมบัติควรเป็นอย่างไร ใช้ระยะเวลาแค่ไหน”

การนัดหมายเพื่อให้ตัวแทนคนตาบอดคนแรกที่จะทดลองปักผ้าและใช้อุปกรณ์ที่ป้าหนูเตรียมไว้จึงเกิดขึ้น

Dream Team ทีมต้นแบบ

โจทย์หาดรีมทีมชุดแรกนี้ไม่เน้นที่จำนวน แต่ต้องการคนที่พร้อมสู้ไปด้วยกันเพราะเป็นโครงการนำร่องมีโอกาสล้มลุกคลุกคลานจึงคัดคนที่ชอบงานฝีมือและเห็นความสำคัญว่าตัวเขาคือส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างอาชีพใหม่ให้คนตาบอดด้วยกัน

ปักจิต ปักใจ (3)

คุณอารีย์ เรืองฤทธิ์ (พี่อารีย์)

พี่อารีย์คือตัวแทนคนตาบอดคนแรกที่ได้ทดลองใช้อุปกรณ์และเป็นคนตัดสินใจว่าทำได้ไหม “แค่สนเข็มได้เราก็ดีใจแล้ว” ป้าหนูย้อนถึงบรรยากาศวันแรก

“ครั้งแรกได้ยินว่ามีอุปกรณ์ช่วยมันน่าจะง่ายคิดว่าจะมีแผ่นต้นแบบ (บล็อก) มาให้พอเอาแผ่นนี้ทาบไปตามผ้าแล้วก็เย็บโค้งๆ ไปไม่น่ายาก ก็เลยไปชวนคนอื่นๆ มาแรกๆ เพื่อนก็กลัว เราก็บอกว่าโอ้ยมันง่าย เขามีแผ่นให้เรา (หัวเราะ) พี่มีอาชีพหมอนวดแผนโบราณค่ะ ลองคลำๆ ลายดูก็คิดว่าเราน่าจะทำได้ ใช้เวลาว่างๆ ไม่มีลูกค้านวด ทำให้มันเป็นประโยชน์ แต่พอลองมาทำจริง มันก็ไม่ได้ง่ายเหมือนที่คิดนะ เพื่อนๆ ที่เราไปชวนมาทำได้ทำคล่องกันทุกคน จนเราชักกังวลว่าถ้าเราท้อทำยังไงเนี่ย แต่พอพี่ถ่ายรูปงานปักกระเป๋าลงเฟซบุ๊คเพื่อนๆ คนตาดีก็เข้ามาชื่นชมทำให้เราใจชื้นขึ้นมา”

คุณศศิวิภา ลำเลียงพล (แป๋ว)

“แป๋วเป็นคนชอบทำงานฝีมืออยู่แล้ว ความเชื่อมั่นของเราคือเราทำได้ ตอนนี้อยากจะเรียกโครงการนี้ว่า ปักจิต สุขใจ เพราะว่าทำด้วยความสุขและคนซื้อก็ซื้อด้วยความสุข ชอบทำงานไม่ชอบอยู่ว่างๆ เคยขายล็อตเตอรี่ ตอนนี้อยู่บ้านกับแฟนเขาไม่ค่อยสบายต้องดูแล อยากมีอะไรทำที่รู้สึกว่าได้พัฒนาฝีมือตัวเองมากขึ้น จากครั้งแรกที่ไม่ค่อยได้เรื่อง ตอนนี้ทำด้วยความสุขแล้ว มันเพลินดีค่ะ
คิดว่าไปสอนต่อได้ค่ะ สัมผัสเรารู้นะคะแต่อาจไม่เท่ากับคนที่พิการตั้งแต่เกิด ของแป๋วมาไม่สบายแล้วมองไม่เห็นตอนอายุ 13 ปี คนที่มองไม่เห็นแต่เกิดจะไปได้ไวกว่าค่ะ”

คุณสุพัตรา จิโน (ป้าพัตร)

ป้าพัตรถือเป็นบุคลากรระดับแม่ครู เพราะทำงานหัตถกรรมมาตั้งแต่เด็กๆ ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการนวดและยังเปิดสอนร้อยลูกปัด มาคราเม่ ฯลฯ ดังนั้นจะรู้วิธีสอนมีวิธีสื่อสารใช้คำที่คนตาบอดด้วยกันเข้าใจได้ชัดเจน ป้าพัตรยังมีส่วนช่วยพัฒนาปรับให้อุปกรณ์เหมาะกับการใช้งาน เช่นการยึดแพทเทิร์นให้ติดกับผ้า เดิมออกแบบเจาะเทมเพลทตรงกลางเพื่อตรึงเพียงรูเดียว พอนำมาใช้งานจริงลายเขยื้อนไปมา ป้าพัตรเย็บตรึงซ้าย ขวาเพิ่ม กลายเป็นนวัตกรรมต้นแบบขึ้นมา

“แรกๆ มันอาจจะยากอยู่ แต่พอผ่านมาเราก็ทำมันได้ ทำแล้วชอบค่ะป้าชอบทุกอย่างที่เป็นการฝีมือ ตั้งแต่เล็กแล้วเราสนใจอะไรก็ไปเรียนเพิ่ม งานนี้กลับบ้านก็เอาไปคิดต่อค่ะ เอามาลูบ มาลองดู ไม่หลับไม่นอน ทำแทนการนั่งสมาธิ อยากทำออกมาเป็นดอกๆ เหมือนคนอื่นบ้าง กำลังลองอยู่แล้วจะเอามาให้ป้าหนูดู”

คุณสุดาพร ยศอาลัย (พี่หวล)

“อย่าว่าแต่คนตาดีเลยพวกเราเองก็ยังคิดว่าเราคงทำไม่ได้ มันเป็นงานที่ยากจริงๆ นะคะ ครั้งแรกที่พี่อารีย์มาชวน เขาเจรจาเก่ง บอกว่ามันไม่ยากหรอกไม่ต้องกลัวเขามีบล็อกให้ก็จิ้มขึ้นจิ้มลงไปตามรูนั่นแหละไม่ต้องห่วงก็เลยเชื่อ วันแรกมาผิดหวังมากเลยค่ะ (ป้าหนูให้ปักขึ้น ลงโดยไม่มีบล็อกเพื่อให้ฝึกมือ) เราตั้งความหวังไว้สูงเกินไป แต่พอมันไม่ใช่ก็ไม่อยากทำแล้ว วันแรกท้อค่ะขอกลับไปก่อน แต่สุดท้ายก็กลับมาเพราะป้าหนูค่ะ…

เรานึกว่าทางสมาคมฯ เป็นคนเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ให้  แต่พอมารู้ว่าป้าหนูทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจทำทุกอย่างให้เราทุกชิ้น ทุกขั้นตอน เราที่มานี่มีแต่ตัวกับหัวใจจริงๆ ในเมื่อป้าหนูเตรียมให้ทุกอย่างทำไมเราถึงไม่มาล่ะ คือประทับใจว่าป้าหนูไม่รู้จักพวกเราเลย ไม่เคยอยู่ร่วมกับคนพิการอย่างพวกเรา แต่ว่าจิตวิทยาสูง สอนเราได้ คนที่อยู่กับเราจริงๆ ยังไม่เข้าใจเราแบบนี้ วันที่สองเริ่มทำได้ก็มีกำลังใจ นี่ถ้าไม่ใช่ป้าหนูเราคงไม่กลับมาแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกว่ามันยากมีท้อบ้าง แต่พอทำได้ดีเราก็ภูมิใจ”

คุณกมลพร อิ่นแก้ว (น้องเมย์)

“แม่อารีย์มาชวนค่ะ ครั้งแรกไม่ได้มาตอนนั้นไม่สบายยังอยู่โรงพยาบาล หนูร้องเพลงอยู่ถนนคนเดินและทำงานฝีมือเล็กๆ น้อยๆ พวกที่มัดผม ลูกปัด ก่อนหน้านี้เวลาสนเข็มหนูใช้เส้นไม้กวาดมาวงเป็นวงกลมแล้วก็แหย่ด้ายเข้าไปค่ะ เขาก็เห็นว่าเราน่าจะทำได้เพราะทำงานฝีมืออยู่แล้ว ครั้งแรกหนูก็ปฏิเสธไป เขาก็ให้เพื่อนโทรมาตามอีกที เพื่อนว่าให้มาลองดูไหม ตัวเก่งอยู่แล้ว เขายอหนูก็เลยมาค่ะ (หัวเราะ)
ถ้าทำได้อันนี้มันเป็นโครงการนำร่องจะได้ไปสอนรุ่นต่อไปก็มาลองดู พอมาจับครั้งแรกเจอผ้าสี่เหลี่ยมไม่รู้จะทำยังไง ตอนแรกก็ยากนิดนึงกลัวตามเพื่อนไม่ทัน กลัวโดนดุ เพราะหนูเป็นคนขี้กลัว ไม่มั่นใจเท่าไหร่ หนูพอมองเห็นบ้างเลยเอามาส่องใกล้ๆ ตา มันพอจินตนาการได้ ความคล่องนี่ถ้าคะแนน 1 – 10 ตอนนี้น่าจะ 4 ยังต้องให้อาจารย์แก้ มันยังย่นอยู่ คิดว่าพอสอนได้ค่ะมีเพื่อนสองคนโทรมาจากกรุงเทพฯ อยากมาเรียน เพื่อนที่เชียงใหม่ก็อยากให้เราสอนให้”

คุณณัฏฐาสิรี บุญมา (พี่อิ๋ว)

หมายเหตุ วันที่บันทึกสัมภาษณ์พี่อิ๋วลา

ศักยภาพที่เกินคาด

คุณภวัญญา แก้วนันตา (ป้าหนู)

“ชิ้นแรกให้ฝึกการเดินเส้น เราให้ความหมายของจังหวะ คือ ปักลงความยาวเท่าเม็ดข้าวสาร กับ ปักขึ้นเว้นระยะเท่าก้านไม้ขีด คือใช้สิ่งสมมติที่เขาคุ้นเคย แรกๆ มีของจริงมาให้กะขนาดซึ่งตอนนี้เราไม่ต้องใช้แล้ว ทุกคนจะมีขนาดสรุปสัมผัสของตัวเองผ่านนิ้วมือ เพียงแต่เราต้องหาสัญลักษณ์ให้ชัดเจนให้เมื่อทุกคนสรุปได้นั่นก็เป็นหนึ่งวิธี

ป้าหนูออกแบบแผนการสอนมาให้งานแต่ละชิ้นใช้เวลาฝึกสองวัน เริ่มจากฝึกเดินเส้นบนแผ่นรองแก้วน้ำ เป็นงานสีเหลี่ยมชิ้นเล็กๆ ก่อน แต่วันแรกที่เราทำงานกันป้าหนูขนลุกตลอดเวลาเพราะเพียงแค่สองชั่วโมงเขาก็ทำชิ้นแรกได้แล้ว

ปักจิต ปักใจ (37)

พอเขาทำงานเป็นเร็วกว่าที่ออกแบบไว้ เราก็ต้องปรับ เริ่มจากแผ่นรองแก้วเป็นงานสเกลเล็ก ครั้งที่ 2 เลยให้ขึ้นลายหิมะทับถมคือเส้นวิ่งไป วิ่งมา เพื่อให้เกิดทักษะ ส่วนกระเป๋านี่วางไว้เป็นงานครั้งสุดท้าย แต่ในครั้งที่ 3 ก็ทำได้แล้ว สิ่งที่วางแผนไว้ว่าจะสอนต่อไปคือการทำเป็นดอกซ้อนไปซ้อนมา แต่ต้องฝึกมือให้คล่องก่อน และต้องสั่งผ้ามาเพิ่มเพราะที่เตรียมไว้ทำกันหมดแล้ว จะขยายงานไปปักลง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋าเล็กกระเป๋าน้อย ผ้ารองจาน พอเขาเรียนรู้ได้เร็วมันก็อยู่ที่เราแล้วว่าจะวางเครื่องมืออะไรให้เขาทำงานซับซ้อนขึ้นไปอีก

พวกเรายังเรียนรู้การพัฒนาอุปกรณ์ควบคู่ไปด้วยกัน ควรใช้สะดึงไหม เทมเพลทต้องปักยังไง เอ็นเบอร์ไหนเหมาะกับการสนเข็ม อุปกรณ์ตัวช่วยเราเตรียมให้ในช่วงแรกมีบางตัวที่เขาไปทำเพิ่มมาเอง อย่างเอ็นที่ผูกลูกกระพรวนเขาก็ทำมาเพิ่ม เทมเพลทก็ใช้จากต้นแบบเดิมให้ลองจับเขาจะเพิ่มจุดที่มีสัมผัส ต่อไปจะเอาเทมเพลทที่มีขายทั่วไปมาลองใช้เพื่อให้การเข้าถึงอุปกรณ์มันง่ายยิ่งขึ้น เขาจะช่วยเหลือและสอนกันเองได้

ปักจิต ปักใจ (81)

ส่วนวิธีการสอนจังหวะของงาน มันเป็นงานมือเราไม่ต้องกังวลว่ามันต้องเท่ากันทุกเส้น งานแฮนด์เมดจะมีเสน่ห์ของมันเอง งานนี้จะสวยเมื่อเรามีทักษะและฝึกบ่อยๆ ทุกคนมีพรสวรรค์อยู่แล้ว คือ ความพยายาม และ ความอดทน เพราะมันไม่มีอะไรที่จะยากไปกว่าการที่มองไม่เห็นอยู่แล้ว

วันแรกป้าหนูมีงานต้นแบบตัวอย่างที่ปักมีระยะสวยงามให้เขาสัมผัสกัน ดังนั้นเขาจะรู้ว่างานของเขาทำออกมาใหญ่ไปเล็กไป เขาจะเรียนรู้ของเขาเอง ข้อดีของงานซาชิโกะคือพอปักขึ้นลงได้นิ่งแล้ว มันจะพัฒนาลายต่อไปได้ไม่รู้จบ เมื่อฝึกระยะจนอยู่มือ ทีนี้ไม่ว่าจะลายอะไรก็ตาม เขาจะรู้ระยะว่าสวยไม่สวยและเขาน่าจะทำงานได้มหัศจรรย์กว่าคนตาดีอีกเพราะการทำในความมืดใช้สัมผัสทำเรื่อยๆ ได้ทั้งวัน ในขณะที่คนทั่วไปใช้สายตาแค่สองชั่วโมงก็ล้าแล้ว กลายเป็นว่าความมืดไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน

ปักจิต ปักใจ (109)

เท่าที่ผ่านมาเราไม่เห็นอุปสรรคเลย กลับกลายเป็นว่าเราต้องทำงานเพิ่มเพื่อรองรับศักยภาพของพวกเขาไม่ธรรมดาจริงๆ มีพรสวรรค์มากมาย ขอเพียงให้มีโอกาสในการฝึกและเรียนรู้ไปด้วยกัน

เคยมีคนตั้งคำถามกับป้าหนูนะคะ ว่ามาสอนคนตาบอดปักผ้านี่คิดดีแล้วหรือ ฝันไปหรือเปล่า วันนี้คงได้คำตอบแล้วนะคะ ป้าหนูรู้สึกดีมากว่าการทำงานกับผู้พิการทางสายตานี่มันยิ่งใหญ่ คุ้มกับเวลาที่เราได้อยู่กับเขา”

สร้างต้นแบบเพื่อขยาย

คุณวันดี สันติวุฒิเมธี (ผึ้ง)

“ดรีมทีมนี้คือทีมที่จะช่วยสื่อสารกับคนตาบอดด้วยกันเอง เราคนตาดีอธิบาย อาจไม่ชัดเจนเท่าคนตาบอดอธิบายกันเอง นี่เป็นช่วงเริ่มต้น สู้ไปด้วยกัน หลังจากที่ดรีมทีมชุดนี้มั่นใจในผลงานของเขาแล้ว เราจึงจะเปิดตัว ทดลองเปิดรับพรีออเดอร์ให้กับคนที่สนใจงานทุกชิ้นจะมีอักษรเบรลล์ ตัวย่อชื่อของศิลปินสร้างสรรค์งานจากนั้นเราจะทำต่อรุ่น 2 และ 3 ที่เรียนรู้จากครูต้นแบบ ให้ดรีมทีมมาเรียนรู้เป็นครูผู้ช่วยและให้เจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ ขึ้นมารับไม้ต่อจากป้าหนูเป็นคนช่วยตรวจคุณภาพเพราะเราวางแผนไปถึงการจะสอนผ่านทางไกลให้คนที่อยู่ในหมู่บ้านไกลๆ ถ้าต้องลงมาเรียนทุกสัปดาห์จะมีค่าใช้จ่ายสูงก็ให้ดรีมทีมและเจ้าหน้าที่ช่วยติดตามดูความคืบหน้าของฝีมือผ่านออนไลน์ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณการผลิต

ปักจิต ปักใจ (97)

เราสร้างโมเดลนี้ที่เชียงใหม่ทดลองทำก่อน เมื่อเปิดตลาดได้แล้วจึงทำเป็นคู่มือออกมาเพื่อขยายออกไปสู่จังหวัดอื่นๆ โมเดลนี้ต้องถอดออกมาทั้งกระบวนการ รวมถึงต้นทุนและค่าแรงว่าสร้างรายได้เท่าไหร่ เมื่อตัวเลขชัดเจนก็น่าจะเป็นทางเลือกอาชีพหนึ่งให้คนตาบอดอยากเข้ามาทำ เราหวังให้เขาลังเลหากคิดจะไปขอทาน นี่คือเป้าหมายสูงสุดของเรา มันคือความฝันร่วมกันว่าเรากำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่คือสร้างอาชีพทางเลือกที่มีทั้งรายได้ งานมีคุณค่า และได้อยู่กับครอบครัว”

ปักจิต ปักใจ

Social Enterprise
ของคนพิการที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

คุณต่อพงศ์ เสลานนท์ (เติ๊ด)

“ชื่อ ปักจิต ปักใจ มีที่มาจากความชื่นชอบคำจำกัดความของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ว่าท่านมองตัวเองเป็น ช่างวาดรูป หรือ จิตรกร หากแปลตรงตัว คือ จิต และ มือ เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งตรงกับคนตาบอดที่ใช้จิตกับมือเป็นหนึ่งเดียวกัน (โดยไม่ผ่านดวงตาด้วยซ้ำ) ปักจิต คือการใช้จิตปัก เข็มเป็นเพียงเครื่องมือ  ปักใจก็คือ ปรารถนาให้คนที่ใช้มีความสุข ประทับใจ

ผมเชื่อว่าการทำงานมีความหมายต่อชีวิตมนุษย์ มันคือการทำให้คนเห็นคุณค่าของตัวเอง ผมไม่ได้หมายถึงเงินนะครับ หมายถึงความหมายของตนเองในการดำรงอยู่กับสังคม

อนาคตผมมองไปถึงว่าการออกแบบของดีไซเนอร์ที่สนใจชิ้นงานบางส่วนจากฝีมือคนตาบอด เราเข้าไปร่วมได้ไหม กำหนดมาได้เลย แจกงานมา เราก็ส่งให้คุณเอาไปประกอบ คือเราไม่เอาสิ่งที่ตาบอดอยากทำเป็นตัวตั้ง แต่เอาสิ่งที่ดีไซเนอร์ออกแบบเป็นตัวตั้งซึ่งจะทำให้ของที่เราผลิตเชื่อมโยงกับตลาด ไม่จำเป็นที่คนตาบอดต้องทำเสื้อทั้งตัว เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงาน เราขายของเราเอง วันหนึ่งปักจิต ปักใจเป็นโคแบรนด์กับใครก็ได้

ปักจิต ปักใจ (108)

อีกมุมหนึ่งในวันที่มันขยายงานได้ ผ้าที่ปักนี้คืองานหัตถกรรมจากคนที่ตั้งใจทำ นอกจากคนตาบอดแล้ว ขยายไปถึงครอบครัวคนพิการ หรือกลุ่มคนพิการประเภทอื่นๆ ก็ได้

เราคิดว่าการทำการตลาดหรือบริหารจัดการก็คงทำแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งมีโครงสร้างการจัดการผลประโยชน์ที่ชัดเจน ต้นทุน วัตถุดิบ ค่าแรง ค่าฝีมือ การตลาด ส่วนที่เหลือที่จะนำกลับไปใช้อบรมอาชีพให้คนพิการอื่นๆ ต่อไป เพื่อลดการพึ่งพาหน่วยงานภาครัฐที่ต้องมาลงทุนให้เราทั้งหมด”


ปักจิต ปักใจ คือตัวแทนของความฝัน ความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ทุกคน อีกไม่นานเราจะมีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่ออาชีพนี้แก่คนตาบอดและคนพิการอื่นๆ ด้วยการสนับสนุนงานปักผ้าสร้างสรรค์จากศิลปินเหล่านี้ ที่ยั่งยืนกว่าการหยอดกล่องหรือเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเพียงหนึ่งมื้อ ( ติดต่อ ปักจิตปักใจ ได้ที่ FB : @pakjitpakjai )

ขอบพระคุณ : สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนตาบอด จ.เชียงใหม่ (ภาพประกอบ fb: @SewingStudiobyPhanue และ fb: วันดี สันติวุฒิเมธี)

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

People+

ปลูกเฟิร์นในใจ

ครอบครัวคนพิเศษร่วมสร้างสังคมที่เกื้อกูล

ย้อนกลับไปเกือบ 30 ปีก่อน การเป็นพ่อแม่ของลูกที่มีความต้องการพิเศษทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ยังไม่มีสวัสดิการช่วยเหลือรองรับมากมายเช่นปัจจุบัน ครอบครัวคุวินทร์พันธุ์ ใช้คำว่า “ตามมีตามเกิด” ในการดูแลลูกสาวคนโต คุณริณฤทัย (เฟิร์น) คุวินทร์พันธุ์ ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะออทิซึ่ม วันนี้เธอเป็นคนหนึ่งที่ใช้สิทธิและสวัสดิการต่างๆ ของผู้พิการอย่างภาคภูมิใจ รวมทั้งมีงานทำตามอัตราจ้างผู้พิการในสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (มหาชน) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยผศ.เจริญ คุวินทร์พันธุ์ คุณพ่อมีบทบาทสำคัญในการผลักดันสนับสนุน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเพียงตัวคุณเฟิร์นเท่านั้น แต่ยังให้คำแนะนำแก่ครอบครัวที่ดูแลบุคคลที่มีความต้องการพิเศษอื่นๆ ให้เข้าถึงบริการจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆ จัดให้ผู้พิการ สนับสนุนให้ครอบครัวมีทางเลือก เห็นโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพสูงสุดแก่บุคคลออทิสติกในระยะยาว

fern (5)

เมื่อต้นเฟิร์นยังเล็ก

คุณสุดฤทัย คุวินทร์พันธุ์ คุณแม่ลำดับภาพคุณเฟิร์นในอดีตซึ่งมีสัญญาณบ่งชี้ภาวะออทิซึ่ม “เฟิร์นดูเป็นเด็กเลี้ยงง่ายตอนเล็กๆ พ่อแม่ทำงานให้พี่เลี้ยงดูแลปล่อยไว้ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น ไม่จับขวดนมดูดเอง ไม่พูด พัฒนาการไม่เป็นไปตามลำดับ ไม่คลาน ไม่ชันตัวนั่ง เริ่มไปโรงเรียนอนุบาลเขาไม่เข้ากลุ่มเพื่อนยังไม่มีภาษาและมีพฤติกรรมแตกต่างบิดลูกบิดไม่ได้ จะเอาน้ำก็ชี้ๆ ตอนนั้นเรามีลูกแฝดผู้ชายอายุห่างจากเฟิร์น 14 เดือน ก็ยิ่งเห็นชัดว่าพัฒนาการต่างกัน ใส่ถุงเท้าไปโรงเรียนเป็นครึ่งชั่วโมงก็ยังใส่ไม่ได้ รถโรงเรียนลืมรับกลับบ้านก็นั่งเฉย เดินไปเตะอะไรนิ้วก้อยหักก็ไม่ร้องซักคำ เราพาไปพบแพทย์ครั้งแรกช่วงอนุบาลแต่หมอเด็กบอกว่าไม่เป็นไร จนกระทั่งมีคนแนะนำให้ไปพบพ.ญ.เพ็ญแข ลิ่มศิลา ที่โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติก”

fern (9)

ผศ.เจริญ คุวินทร์พันธุ์ คุณพ่อจึงต้องรับบทบาทเป็นผู้ดูแลคุณเฟิร์นใกล้ชิดแบบไปไหนไปกันมาตั้งแต่เล็กๆ “บ้านเราอยู่บางกะปิผมเป็นอาจารย์ที่นิด้า เฟิร์นต้องเข้าโปรแกรมปรับพฤติกรรมที่ ร.พ.ยุวประสาทฯ ต่อเนื่องในระยะแรก ต่อมาเขาส่งไปเข้าเรียนที่โรงเรียนสมถวิล สุขุมวิท 62 แต่มันไกลเหลือเกินรับส่งไม่ไหว เลยขอย้ายมาเข้าอนุบาลแถวบ้านและยังไปที่ยุวประสาทฯ บางวัน เราเห็นพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงเฟิร์นพูดได้เป็นเรื่องเป็นราวช่วง 6 -7 ขวบ พอจะเข้าระดับประถม ผมดูเรื่องสิทธิการศึกษาของเด็กในท้องที่ก็เลือกโรงเรียนบ้านบางกะปิซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร มีรายชื่อเฟิร์นในท้องที่เขาปฏิเสธไม่รับไม่ได้ แต่แน่นอนคุณครูก็บอกว่าสอนไม่ไหวนะ ทางยุวประสาทฯ ก็ส่งครูพิเศษเข้ามาช่วยดูแลอยู่ระยะหนึ่ง เรียกว่าการศึกษาก็ว่ากันไปตามมีตามเกิด ซึ่งผมต้องช่วยเขาเรื่องเรียนเยอะมาก เฟิร์นถนัดภาษาไทยพวกการอ่านเขียนทำได้ดีแต่คิดวิเคราะห์ไม่ได้ โชคดีที่โรงเรียนเขาเปิดระดับมัธยมศึกษาต่อเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เรียกว่าจังหวะพอดีกับเฟิร์นทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายก็ได้เรียนจนจบม.๖ แต่ถ้าเอาตามเนื้อหาจริง พูดตรงๆ ว่าไม่รอดนะ พ่อเป็นคนทำการบ้านให้หมด จนมีเรื่องขำๆ คือครั้งหนึ่งผมติดงานเลยไม่ได้ช่วยทำการบ้าน ปรากฏว่าถึงเวลาครูเรียกส่งงานเด็กทั้งห้องไม่มีใครมีงานส่ง… เพราะทุกคนรอลอกเฟิร์น”

เมื่อต้นเฟิร์นอยากโต

เมื่อคุณเฟิร์นเรียนจบในระดับมัธยมครอบครัวตัดสินใจให้หยุดเรียนและส่งคุณเฟิร์นไปอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัดให้ฝึกงานการฝีมือถักโครเชอยู่ถึง 4 ปี จนกระทั่งเพื่อนผู้ปกครองในรุ่นเดียวกันมาถามคุณเจริญว่าทำไมไม่ส่งลูกเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งขณะนั้น เพื่อนๆ หลายคนในกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษกำลังจะเรียนจบระดับปริญญาตรี

ผศ.เจริญ คุวินทร์พันธุ์ “เพื่อนผู้ปกครองที่ว่านี่ก็มาจาก สมัยนั้นพ่อแม่แลกเปลี่ยนพูดคุยปัญหาของลูกกันหน้าห้องรอพบหมอตามโรงพยาบาลนี่แหละก็รวมตัวกันตั้งชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก จากนั้นจดทะเบียนตั้ง “มูลนิธิผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ประเทศไทย) และร่วมกันก่อตั้งเป็น”สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนผลักดันเรื่องต่างๆ ของบุคคลออทิสติกมาจนถึงทุกวันนี้….

เฟิร์นกลับมาจากเชียงใหม่ก็ลงเรียนมสธ.(มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) อยู่ช่วงหนึ่ง แต่พอต้องทำข้อสอบเองเราไม่มีโอกาสช่วยก็ตกหมดทุกวิชา ไปต่อไม่ไหว แต่เขาอยากเรียนต่อเพราะเห็นเพื่อนๆ เรียนสาขาคหกรรมศาสตร์ คณะโรงเรียนการเรือนที่ม.ราชภัฏสวนดุสิต จังหวะพอดีอีกมีพรบ.การศึกษาผู้พิการทุกคนเรียนฟรีออกมา เราก็ตัดสินใจให้เฟิร์นทำบัตรผู้พิการเพื่อใช้สิทธิ์นี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นใครๆ ก็ไม่อยากทำบัตรผู้พิการให้ลูก หมอเองยังไม่แนะนำเลยเพราะเหมือนเป็นการตีตราเด็ก แต่สมัยนี้เปลี่ยนไปหมดแล้วนะ

fern (24)
fern (11)

สี่ปีนี่คิดว่าคุ้มถึงจะต้องเดินทางไกลไปกลับทุกวัน แผนกคหกรรมของสวนดุสิตเขาเข้าใจเด็กพิเศษมากที่สุด เฟิร์นมีทักษะต่างๆ ดีขึ้น ยกเว้นกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ไม่แข็งแรงตั้งแต่เล็ก ส่วนเนื้อหาการเรียนต้องยอมรับว่าทุกฝ่ายก็ยังต้องช่วย ที่เรียนผ่านการปฏิบัติทำงานกลุ่มก็ได้เพื่อนและครูช่วยเยอะมาก สุดท้ายเฟิร์นก็จบมาได้วุฒิปริญญาตรี ถือเป็นจุดสำคัญที่ช่วยให้เขามีงานทำในวันนี้”
คุณเฟิร์นเริ่มทำงานที่แรกที่ศูนย์ฝึกอาชีพออทิสติก ซึ่งเสมือนที่ที่ปูพื้นฐานเตรียมความพร้อมการทำงานในสำนักงาน รู้ระเบียบ รู้เวลา มีทักษะการใช้อุปกรณ์สำนักงาน แต่เนื่องจากระยะทางไกลจากบ้านมากจึงทำอยู่เพียงหนึ่งปี ครอบครัวก็มองหางานที่ใกล้บ้านมากขึ้นระหว่างนั้นเองรัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐจ้างผู้พิการตามมาตรา 33 คุณเฟิร์นจึงได้เป็นลูกจ้างคนแรกของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (มหาชน) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านในระยะทางที่เดินไปกลับเองได้

fern (38)


คุณริณฤทัย คุวินทร์พันธุ์ “ไปทำงานก็ไม่ได้ปรับตัวอะไรเยอะค่ะ หน้าที่หลักๆ คืองานเดินหนังสือ งานห้องสมุด ทำคอมพิวเตอร์ได้ค่ะแต่ส่วนใหญ่มีหน้าที่เดินเอกสารไปตามแผนกต่างๆ ที่เขาโทรมาตามทั้งสำนักงานก็รู้จักเกือบหมดแล้วค่ะ วันทำงานตื่นตั้งแต่หกโมงครึ่ง ถ้าฝนไม่ตกเวลาไปทำงานก็เดินไป เดินกลับ ระหว่างทางจะแวะทักทายไปเรื่อยเกือบทุกคน ชอบเล่นกับหมาในร้านกาแฟ พอถึงที่ทำงานก็เริ่มจัดหนังสือ แต่ชอบงานที่คุยกับคนชอบเจอคนมากกว่าค่ะ  คุยอะไร…ส่วนใหญ่ก็ทักทายเฉยๆ ไปทำงานไม่มีอะไรที่ไม่ชอบ ไม่มีเพื่อนสนิทค่ะ เวลาไปทานข้าวก็ไปกับคนในสำนักตัวเอง

fern (32)

เวลาว่างส่วนใหญ่ชอบเล่นไลน์ค่ะ แต่ไม่ชอบคุยโทรศัพท์รุ่นน้องเขาคุยไม่รู้เรื่องก็เลยวาง บางทีเขาคุยนานเกินไปก็เลยไม่รับเกรงใจพ่อแม่ค่ะ ถ้าไปข้างนอกส่วนใหญ่จะไปกับพ่อ อย่างไปทานข้าวกับเพื่อนของพ่อ หนูช่วยงานบ้านบ้างล้างถ้วยจาน กรอกน้ำ เวลาพ่อแม่ไม่อยู่หนูดูแลตัวเองได้ ส่วนใหญ่แม่จะทำกับข้าวไว้ให้แล้ว กลัวอุปกรณ์ครัวนะแต่ใช้ไมโครเวฟได้ เคยมีผู้ชายเข้ามาคุยแต่หนูไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้ไม่เคยคิดมีแฟนค่ะ เคยนั่งรถเลยป้ายที่จะลงเพราะนั่งในสุดเลยไม่เห็นทางไม่ได้กดออด ก็นั่งไปจนสุดสายน้องคนขับเขาก็ดีบอกให้ขึ้นรถอีกคันกลับมา ยังไม่เคยเจอคนไม่ดีค่ะ

ตอนนี้หนูไม่ขอเงินพ่อแล้ว พ่อพาไปเปิดบัญชีแล้วสอนว่าทำยังไง มีเงินเดือนก็เบิกและเก็บออมของตัวเองได้ ไม่ได้แบ่งเงินให้พ่อแม่แต่ซื้อขนมมาฝากบ้างค่ะ หนูจดบันทึกรายรับรายจ่ายทุกวันใช้เครื่องคิดเลขคิด การมีบัตรพิการสิทธิมันเยอะนะคะขึ้นรถไฟฟ้าก็ได้ หนูไม่เคยรู้สึกไม่ดีนะ”

มีต้นเฟิร์นอยู่ในใจ

ผศ.เจริญ คุวินทร์พันธุ์ “เฟิร์นเขาทักคนจำได้หมดตรงนี้เจตคติของเรามีผลต่อลูก เพราะเราไม่ได้ปิดบัง พาไปไหนๆ ด้วยทุกที่ ตอนนี้สิทธิคนพิการมีมากมายและในสังคมเองก็เปิดรับมากแล้ว

ผมอยู่ในสมาคมผู้ปครองบุคคลออทิซึม (ไทย) จะเข้าใจสิทธิประโยชน์และเห็นช่องทางในการพัฒนาผู้พิการหรือบุคคลพิเศษรูปแบบต่างๆ อยู่เสมอ ไปเจอครอบครัวไหนก็พยายามแนะนำ อย่างผู้ปกครองเด็กพิเศษในโรงเรียนบ้านบางกะปิเรายังคงเจอกันบ้างเพราะบ้านอยู่แถบเดียวกัน เห็นลูกๆ เขาซึ่งก็เป็นรุ่นน้องเฟิร์นจบม.6 แล้วน่าจะได้รับการฝึกฝนไปสู่การมีอาชีพก็พยายามให้ข้อมูลชี้โอกาสที่มีอยู่ให้เห็น ช่วยกระตุ้นครอบครัวให้สนับสนุนเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของตัวเด็กเองแทนที่จะอยู่บ้านเฉยๆ บางครอบครัวก็แนะให้พาลูกไปฝึกที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก นนทบุรี แทนที่จะยื้อเรียนในระบบต่อไปซึ่งเห็นอยู่ว่าในที่สุดจะไปต่อไม่ไหว อีกเคสหนึ่งมีเพื่อนที่เป็นเจ้าของกิจการเขาอยากช่วยเหลือผู้พิการโดยตรงผ่านมาตรา 35 ก็ช่วยแนะนำครอบครัวที่อยากได้ทุนค้าขายให้ทำโครงการเสนอมาจับคู่กัน ผมไม่ได้ทำอะไรมาก ที่จริงพวกเราที่มีข้อมูลมีความเข้าใจเรื่องพวกนี้สามารถช่วยกันให้คำแนะนำได้หมด หรือสอบถามเพิ่มเติมไปที่กรมจัดหางานก็ได้ เรื่องแบบนี้หัวอกเดียวกันก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไป

capture-20180716-091236


ครอบครัวประทุยโย

คุณระเบียบ ประทุยโย เล่าให้ฟังว่า เมื่อคุณชุติมา ประทุยโย (ชุ) เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนบ้านบางกะปิ ทำงานเก็บกวาดล้างจานที่ร้านอาหารแถวบ้านอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งคุณเจริญแนะนำให้สมัครเข้าโครงการฝึกอาชีพของ APCD มูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งดำเนินการฝึกอาชีพเบเกอรี่ในร้าน 60พลัส โดย Yamazaki ถ.ราชวิถี ซึ่งปัจจุบันคุณชุติมาได้รับการบรรจุเป็นพนักงานแผนกครัวทั่วไปในร้านแบล็คแคนยอนแล้ว

fern (28)

คุณระเบียบ ประทุยโย “ตอนที่ชุยังไม่ได้ฝึกเบเกอรี่ที่ราชวิถี เขาอยากทำงานก็ตระเวนเดินถามแถวนี้ จนร้านหนึ่งเขารับไปช่วยงานล้างจาน พอไปทำจริงมันเยอะมากทำไม่ไหวก็ให้ช่วยเช็ด ปัดกวาด ทำอยู่ได้เดือนเดียว ไปนั่งทั้งวัน แม่รู้สึกเวลามันนานไปเก้าโมงถึงสี่ทุ่มครึ่ง จนเจ้าของร้านบอกจะมาวันไหนก็มา ชุเขาก็เลยไปช่วงบ่ายสามบ่ายสี่โมงไปถึงสี่ทุ่มก็มีอาหารให้ทานแทนค่าจ้าง

จนมาเจออาจารย์เจริญบอกว่าที่บ้านราชวิถีเขามีฝึกเบเกอรี่ให้รีบสมัครไป ทีแรกก็ไม่อยากให้ไป คิดว่าใครจะรับจะส่งแม่ก็ต้องทำงานพ่อก็ไม่ว่าง อาจารย์ก็ยืนยันว่าให้ลองไปดู ชุก็เลยได้ฝึกที่นั่นอยู่หลายปีนะคะ การเดินทางเราก็ฝากให้ไปกับญาติที่ทำงานแถวราชวิถี เช้ามาพ่อก็ไปส่งไว้บ้านญาติ ขากลับญาติก็ส่งให้ขึ้นรถเมลกลับมาเอง ทำอยู่เป็นเดือนถึงลองปล่อยให้ไปเองโชคดีเป็นเส้นทางที่เขาเคยชินเพราะไปฝึกแถว ร.พ.รามาฯ ตั้งแต่เด็กๆ อยู่แล้ว ต่อมาได้ไปฝึกทำงานจริงที่ร้านแรกทำไปสองสามเดือนไม่ผ่านการประเมินเป็นเรื่องการควบคุมอารมณ์ เขาก็ส่งกลับมาฝึกที่ราชวิถีต่อ แต่ก็ดีแล้วนะที่ไม่ได้เพราะไกลบ้านมากต้องใช้เรือเดินทางและข้ามถนนหลายจุด พอร้านแบล็คแคนยอนหาคนทางศูนย์ฝึกฯ เขาก็ดูว่าใครอยู่ใกล้ที่ไหนบ้าง ชุก็เลยได้สาขาใกล้บ้าน

งานทำเป็นกะ เปลี่ยนเวลาไปเรื่อยๆ นอนไม่เป็นเวลา ตอนเช้าก็จะมีงอแงไม่อยากตื่น พอเงินเดือนออกก็แบ่งส่วนของเขาให้เข้าธนาคาร และมีแบ่งให้ฝึกใช้รายวัน ต้องให้เขาเห็นเงินไม่งั้นจะขี้เกียจมีข้อต่อรอง ถ้าอยากได้นู้นได้นี่ก็ต้องทำงาน เสื้อผ้าก็ซื้อเองบ้างส่วนใหญ่แม่ซื้อให้ เขาชอบตุ้มหู แต่งหน้า แต่งตัว ชอบร้องเพลง รู้จักดารานักร้องหมด และชอบทำงานบ้านขยันทำแทนน้องหมด ปิดประตูปิดไฟนี่ห้ามแย่งเขาทำนะ
แม่รู้สึกขอบคุณอาจารย์เจริญที่แนะนำให้ชุมีโอกาสตรงนี้ หลายๆ เรื่องจะไปต่อได้เราเองต้องกล้าเสี่ยงด้วย ให้เขาได้ลอง ตอนนี้ชุผ่านช่วงทดลองงานแล้ว บางคนทำมาเจ็ดเดือนยังไม่ผ่านเลย ที่ทำงานบอกว่าชุเป็นเด็กขยัน เขาชอบช่วย”

fern (26)

คุณชุติมา ประทุยโย “หนูทำหน้าที่ครัวทั่วไป ทอดปลา ชั่งเส้น ปิ้งขนมปัง จัดจาน สนุกค่ะ ชอบมากกว่าตอนไปทำที่แรก อันนั้นไกลต้องนั่งเรือไป (ช่างภาพถาม ปิ้งขนมปังไหม้บ้างไหม) ไม่ไหม้ค่ะ ต้องดูไฟ กลับไปมา ตอนฝึกที่ราชวิถี หนูทำหน้าที่แคชเชียร์ค่ะ ฝึกหลายอย่าง ขายข้างนอกบ้าง ยิงโค้ด กดราคาเครื่องคิดเงินทำได้แต่มีคนช่วยดูค่ะ หนูสนิทกับทุกคน วันหยุดชอบออกกำลังกายค่ะ เต้นแอโรบิก วันอาทิตย์ไปใส่บาตร หนูเดินทางไปไหนๆ เองก็เฉพาะที่คุ้นเคยกับเส้นทาง ใครมาชวนไปไหนไม่ไปค่ะ หนูกลัว”


ความใสซื่อของบุคคลออทิสติกอาจเป็นข้อกังวลของหลายๆ ครอบครัว ลังเลที่จะเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ เผชิญสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตจริง แต่หากเราเชื่อมั่นว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลามากน้อยแตกต่างกันไป เมื่อมองในแง่นี้ โอกาสต่างๆ ที่สังคมเปิดรับบุคคลพิเศษหลากหลายช่องทาง น่าจะเป็นเวทีฝึกซ้อมอย่างดีให้เขาได้เผยแสงสว่างในตัวเอง

บทบาทของเราทุกคนจึงไม่ควรหยุดที่การรอความช่วยเหลือ หรือสร้างโอกาสให้เพียงลูกเราเท่านั้น แต่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่เข้มแข็ง เกื้อกูลกัน ดังที่ครอบครัวคุวินทร์พันธุ์ลงมือทำเรื่องง่ายๆ มอบให้กับครอบครัวอื่นๆ แต่เรื่องง่ายๆ นี้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตบุคคลพิเศษและครอบครัวในระยะยาว นั่นเท่ากับเรากำลังร่วมกันสร้างสังคมที่น่าอยู่ด้วยตัวเราเอง


ขอบพระคุณ : ครอบครัวคุวินทร์พันธุ์  ครอบครัวประทุยโย

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์ 


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

Featured, Learning Space

PK Cafe’ : Transition Work Center

ศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำของ ‘สุภาพบุรุษคนพิเศษ’ ปทุมคงคา

เมื่อก้าวเข้าสู่ PK Cafe’ ภาพการทำงานของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนปทุมคงคาซึ่งเป็นโรงเรียนนักเรียนชายล้วนระดับมัธยมศึกษาในย่านเอกมัยแห่งนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนมิติใหม่ของการจัดการศึกษาพิเศษของหน่วยงานภาครัฐที่วางเป้าหมายสนับสนุนให้ผู้เรียนที่มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเป็นพิเศษทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเอง ผ่านการทำงานตามความสนใจหรือความถนัด โดยโรงเรียนและคณะครูเปิดพื้นที่และออกแบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนแต่ละคนมีโอกาสพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จะนำไปสู่การมีอาชีพหลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยใช้แนวคิด Transition in Special Education โรงเรียนปทุมคงคาถือเป็นโรงเรียนนำร่องในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 ที่ดำเนินงาน Transition work Center หรือศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำแห่งนี้เข้าสู่ปีที่สอง (พ.ศ. 2561) เกิดอะไรขึ้นบ้างจากกระบวนการทำงานร่วมกันของคณะครูและนักเรียน  หลักคิดและองค์ความรู้ที่น่าสนใจอาจจุดประกายให้โรงเรียนต่างๆ เริ่มต้นสร้าง Transition Center ที่เหมาะสมในบริบทของโรงเรียนและนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษของตนได้ไม่ยากนัก

DSC_1240ที่มา โรงเรียนปทุมคงคาได้ขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับมัธยมศึกษาให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มออทิสติกและมีปัญหาทางการเรียนรู้ จึงได้ร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลางซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร ร่วมกันจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษขึ้นในปีพ.ศ. 2552 เพื่อให้บริการทางการศึกษาและส่งต่อการมีอาชีพให้กับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ

หลักการและเหตุผล ศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำ (Transition Center) พี.เค.คาเฟ่ เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษได้ค้นพบศักยภาพในตนเอง และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพเมื่อจบการศึกษา นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนหารายได้ระหว่างเรียน รู้จักการออม คุณค่าของเงิน ประยุกต์เนื้อหาในวิชาเรียนเข้ากับชีวิตจริง และยังเป็นการน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้อีกด้วย

พันธกิจ

  • จัดทำแผน ITP (Individual Transition Plan) เพื่อวางแผนและส่งต่องานอาชีพเพื่อการมีงานทำ
  • จัดการเรียนการสอนงานอาชีพเพื่อการมีงานทำและบูรณาการเนื้อหาสู่การปฏิบัติตามศักยภาพของนักเรียน
  • จัดหาสื่อและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการนักเรียน
  • ประเมินผลการดำเนินงานของศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำ
  • ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้เพื่อการมีงานทำ
  • ส่งต่อนักเรียนสู่การมีอาชีพตามศักยภาพ
  • อำนวยความสะดวกให้กับผู้มารับบริการทุกคน

เป้าหมายเชิงปริมาณ

  • นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษทุกคนสามารถหารายได้ระหว่างเรียนและประกอบอาชีพเมื่อจบการศึกษาได้ตามศักยภาพ

เป้าหมายเชิงคุณภาพ

  • องค์กร ภาครัฐ เอกชน องค์กรท้องถิ่น สถานประกอบการ มีส่วนร่วมจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเข้าฝึกงานและประกอบอาชีพได้

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  • โรงเรียนปทุมคงคา ศูนย์พัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ โรงเรียนลพบุรีปัญญานุกูล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 ศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง

DSC_1250

ภาพรวมห้องเรียนคู่ขนาน

โรงเรียนปทุมคงคาเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษสมัครเข้าเรียนร่วมจำนวน 5 คนต่อปีการศึกษา ปัจจุบันมีนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษกลุ่มภาวะอาการต่างๆ หลากหลาย โดยทั้งโรงเรียนมีจำนวน 22 คน ซึ่งจัดให้มีระบบการสอนสนับสนุนผ่านห้องเรียนการศึกษาพิเศษในวิชาที่จำเป็นสำหรับแต่ละคน และนักเรียนมีโอกาสเรียนร่วมในชั้นเรียนปกติตามศักยภาพ ทั้งนี้คณะครูการศึกษาพิเศษสอดแทรกกิจกรรมบำบัดต่างๆ ไว้ในบทเรียน เช่น ศิลปะบำบัด ตารางเก้าช่อง เทคนิกการปรับพฤติกรรม ฯลฯ ไม่แยกส่วนออกมา

อาจารย์รัตนาวดี พางาม ครูคศ.1  “เราใช้ชื่อว่าห้องเรียนคู่ขนานบุคคลออทิสติก ซึ่งในความจริงเราก็รับหมดทุกกลุ่มภาวะอาการโดยการคัดกรองเน้นว่านักเรียนช่วยเหลือตัวเองได้ และจัดให้เข้าเรียนร่วมวิชาต่างๆ ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งศูนย์พัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษนี้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2552  ปัจจุบันมีนักเรียนจบมัธยมหกไปแล้วสองรุ่น ที่ผ่านมาเด็กที่จบการศึกษาแล้วไปไหนต่อ…ก็ขึ้นอยู่กับทางบ้านเป็นหลักเลยค่ะ บางบ้านพ่อแม่อยากให้อยู่ช่วยทำงานที่บ้าน บางคนมีโอกาสทำงานเดินเอกสารในบริษัท อีกคนไปฝึกต่อที่ศูนย์พัฒนาบุคคลออทิสติกฯ เรื่องการดูแลช่วยเหลือตัวเอง เพราะแต่ละคนมีความหลากหลายทั้งกลุ่มอาการและระดับความสามารถแตกต่างกัน และก็มีคนหนึ่งที่กลับเข้ามาทำงานที่โรงเรียนซึ่งเรามีอัตราจ้างผู้พิการ เราเลือกเขาเพราะเป็นคนมีความรับผิดชอบดี ระยะแรกทำงานเดินเอกสาร ช่วยงานตามมอบหมาย ปัจจุบันเขาช่วยดูแลความสะอาดเรียบร้อยของร้าน PK Cafe’ ร่วมกับรุ่นน้องๆ”

Transition_Page_06

ศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำ

อาจารย์ขนิษฐา จันทร์หล้า ครู คศ.2  “เราเพิ่งเริ่มทำร้าน PK Cafe’ ปีนี้เป็นปีที่สองซึ่งเป็นสถานีฝึกฝนของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษในโครงการศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำ (Transition Center) เบื้องต้นโรงเรียนได้รับการสนับสนุนทั้งในแง่เงินทุนและองค์ความรู้จากโรงเรียนลพบุรีปัญญานุกูล ซึ่งโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำเป็นต้องจัดการอบรมคุณครูทั้งโรงเรียนให้เข้าใจบทบาทของ Transition Job Coach ซึ่งมีวิธีการและขั้นตอนการสอนเด็กพิเศษ ส่วนการเลือกเป็นศูนย์ฝึกอาชีพอะไร ก็ขึ้นอยู่กับบริบทที่เหมาะสมของโรงเรียนเองและจัดหาวิทยากรเพื่อมาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ครูและนักเรียนเรียนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งครูต้องเข้าใจกระบวนการทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือนักเรียนได้หลังจากวิทยากรอบรมเสร็จแล้ว

DSC_4068

เดิมการจัดการเรียนการสอนถูกออกแบบให้เหมาะสมตามแผนการเรียนรายบุคคล (IEP) อยู่แล้ว เมื่อมี Transition Center เราก็มี ITP หรือแผนการฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำรายบุคคลควบคู่กันไปด้วยภายใต้หลักการที่เราเชื่อว่าเด็กทุกคนเรียนรู้ได้ตามศักยภาพรายบุคคล ในแง่การเรียนบางคนอาจไม่ประสบความสำเร็จ ทางเลือกนอกเหนือจากไปเรียนต่อระดับอุดมศึกษาคือ ฝึกการงานอาชีพอาจจะเหมาะสมกว่าและมีโอกาสสำเร็จได้ หลักสำคัญของ Transition คือเราต้องสำรวจความสามารถของเด็กที่แตกต่างกัน ค้นหาความถนัด ความชอบของเขา ไม่ใช่ทุกคนอยากทำกาแฟ บางคนทำได้นะคะแต่เขาไม่ชอบ เรามองหา passion หรือสิ่งที่เขาชอบ บางคนชอบ คอมพิวเตอร์ วาดรูป ภาษาอังกฤษ ครูต้องปรับหาโปรแกรมที่เหมาะกับเด็กแต่ละคน ในขณะเดียวกัน เราก็ให้ทุกคนมีโอกาสฝึกเรื่องการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมผ่านการทำงานหน้าที่ต่างๆ ในร้านนี้”

ทุกเมนูมีความรู้

อาจารย์รณชิต ฤทธิ์สำเร็จ ครูคศ.1  “ผมเป็นครูวิทยาศาสตร์ที่ผ่าน Transition job coach อาสามาช่วยโครงการนี้ด้วย ในแง่เนื้อหาวิชาคุณครูก็บูรณาการสาขาวิชาต่างๆ ให้สอดคล้องกับงานที่ทำ เช่น สอนคณิตศาสตร์ผ่าน ชั่ง ตวง วัด วิทยาศาสตร์ก็ใช้การทดลองผสมส่วนผสม ซึ่งฝึกจากการทำเครื่องดื่มต่างๆ จริงๆ ทำน้ำสี ฝึกหลักการผสมสี ให้ความสำคัญเรื่องรสชาติ มีกระบวนการเรียนผ่าน STEM ค้นคว้าหาข้อมูล ผลิตชิ้นงาน เช่น คิดเมนูส่วนตัว คิดคำนวณ สัดส่วนผสม ค่าใช้จ่าย หรือการคิดโปรโมชั่นซึ่งต้องอาศัยข้อมูลจากพวกเขาเพราะรู้ข้อมูลลูกค้ามากที่สุดว่าชอบอะไร ในขณะที่การประเมินเราใช้การสังเกตพฤติกรรมให้สอดคล้องเป้าหมายที่วางไว้กับแผนรายบุคคล IEP และเน้นไปที่ทักษะมากกว่าเนื้อหา ปรับระดับตัวชี้วัดให้ความสำคัญกับกระบวนการ เจตคติในการทำ การเก็บรักษา หรือมีจิตสาธารณะในการดูแลร้าน เป็นต้น”

ปัจจัยความสำเร็จของโครงการ (4S PK Cafe’ keys of success)

การให้บริการ (Service) นักเรียนทุกคนสามารถให้บริการแก่ผู้ที่เข้าเยี่ยมชมร้าน สามารถบริการอาหาร เครื่องดื่ม และนำเสนอร้านให้กับผู้ที่เข้ามาใช้บริการได้

DSC_1283

ทักษะการทำงาน (Skill) นักเรียนมีทักษะการทำงานที่สามารถนำไปใช้เมื่อจบการศึกษาและสามารถเลือกทักษะงานตามที่ตนถนัดและให้ความสนใจตามศักยภาพที่มี

DSC_4008

ทักษะทางสังคม (Social) นักเรียนสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงานและลูกค้า เกิดทักษะทางสังคม เข้าใจมรรยาทและปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม อันจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นตามศักยภาพของตนเอง

DSC_1223

มีจุดยืนที่มั่นคง (Strength) นักเรียนสามารถเลือกงาน เลือกหน้าที่ เลือกอาชีพที่ตนเองถนัดและสนใจ สามารถสร้างรายได้เพื่อดูแลตนเองและครอบครัว ลดการพึ่งพาบุคคลอื่น สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขอย่างมีจุดยืนตามศักยภาพ

ระหว่างทางก่อนสู่ความสำเร็จ

อาจารย์ขนิษฐา จันทร์หล้า ครู คศ.2  “กระบวนการต่างๆ การจัดการร้านค้าคุณครูเป็นผู้บริหารเองโดยเราได้ศึกษาดูงานจากที่อื่นก่อนและมาปรับให้เข้ากับบริบทของรร. ช่วงแรกๆ มีฉุกละหุกบ้างเด็กๆ ยังไม่รู้บทบาทตัวเอง จำสูตรไม่แม่นบ้าง มาปีที่สองนี้เราเริ่มปล่อยได้แล้วครูไม่ต้องมาลงกำกับทุกขั้นตอน

ร้าน PK Cafe’ มีบาริสต้าหลักอยู่สองคนซึ่งตอนนี้รู้งานพอที่จะสอนคนอื่นๆ ได้แล้ว ซึ่งนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษแต่ละคนจะมีตารางมาฝึกทำงานที่ร้านหมุนเวียนกันไป บางคนอาจเรียนเก่งแต่มือไม้แข็งลงมาทำแล้วไม่คล่องแคล่วก็ยากหน่อย แต่ทุกคนจะมีโอกาสได้ฝึกและทำงานที่สามารถทำได้ เช่น ต้อนรับลูกค้า  เสริฟ เก็บล้าง รดน้ำต้นไม้ อย่างงานเสริฟตอนนี้เรามีบริการส่งตามห้องพักครู ห้องประชุมด้วย

คนที่ทำงานหลักๆ จะรู้จักลูกค้า เขารู้ว่าสต็อคส่วนผสมตัวไหนใกล้หมดก็จะบอกให้ครูซื้อเราไปหาซื้อของด้วยกัน เขารู้จักวัตถุดิบที่ใช้และพอรู้ว่าได้กำไรต่อแก้วกี่บาท บางคนมีความตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบแล้วอยากมีร้านกาแฟของตัวเอง ทุกคนที่มาทำงานจะมีรายได้ตามลักษณะงานที่ทำและปรับตามยอดขาย เช่น หากรายได้ร้านต่อวันไม่ถึงหนึ่งพันบาท บาริสต้ารับค่าแรง วันละ 40 บาท พนักงานเสริฟวันละ 20บาท ถ้ารายได้มากกว่าหนึ่งพัน ค่าแรงก็จะปรับสัดส่วนมากขึ้น เขาจะช่วยนับเงินทุกครั้งเวลาปิดร้านวันนี้ขายดีไม่ดีเขาจะรู้เลย

บางเมนูเขาทำอร่อยกว่าครูแล้ว เพราะทำทุกวันจนชำนาญ ปิ้งขนมปังนี่ เขาจะรู้ว่าต้องปิ้งนานแค่ไหนถึงจะพอดีไม่ไหม้ ถ้าคนหลักไม่อยู่ ครูก็ต้องฝึกคนใหม่โดยฝึกจากที่เขาสอนครูนี่แหละค่ะ

ประเด็นเรื่องสังคมเห็นชัดเจนเขาทำงานขายของในร้านจนเริ่มมีเพื่อนๆ ห้องอื่นชั้นอื่นเป็นกลุ่มลูกค้าประจำพูดคุยทักทายกัน นี่คือการอยู่ร่วมกันในสังคมจริงๆ เหมือนที่เขาจะต้องไปเจอวันข้างหน้า

แผนการเปลี่ยนผ่าน

Transition_Page_04

อาจารย์วีรสิทธิ์ ประกอบศรี ครูผู้ช่วย  “บางคนเขาขวนขวายเองเลยไปสมัครทำงานในร้านสะดวกซื้อทั้งๆ ที่ยังเรียนอยู่ นับเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่เขามีความตั้งใจที่ดี แต่เราก็ต้องช่วยดูแนะนำเรื่องการบริหารจัดการเวลา และความรับผิดชอบการเรียนให้จบ

โรงเรียนเราใกล้โรงหนัง ร้านค้ามากมาย ครูได้ติดต่อในเบื้องต้นไว้หากนักเรียนเราฝึกในร้านจนคล่องแคล่วแล้วการมีโอกาสได้ไปฝึกงานในร้านค้าข้างนอกจะช่วยสร้างประสบการณ์มากขึ้น และถ้าผ่านก็มีโอกาสจะได้รับการจ้างงานหากตัวเขาและครอบครัวต้องการไปในทางนี้ ประสบการณ์พวกนี้ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือแก่ห้างร้านที่จะเปิดรับให้เด็กไปทำงาน

ในขณะเดียวกันครูการศึกษาพิเศษก็ยังพานักเรียนไปร่วมแข่งขันในงานศิลปหัตถกรรมกับโรงเรียนต่างๆ เพราะในการสมัครงานเขาจำเป็นต้องมีใบประกาศเหล่านี้ยืนยันถึงความสามารถที่มีจริงด้วย เด็กเราทำงานรูทีนได้ดี ข้อมูลที่ได้รับจากรุ่นที่จบไปแล้ว ก็ยังมีจุดที่เราต้องกลับมาเพิ่มเติมให้รุ่นต่อๆ ไป เช่น ทักษะการสื่อสาร มารยาททางสังคม ความยืดหยุ่น ในการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น

การที่เขามาใช้ชีวิตในโรงเรียนผู้ปกครองอาจเป็นห่วง แต่ผมเชื่อว่าเขาจะเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองได้ เพื่อจะพร้อมเผชิญกับโลกภายนอกเมื่อจบไปและอยู่ได้ด้วยตัวเอง การมีร้านเตรียมความพร้อมแบบนี้ เขาจะจบไปโดยที่พึ่งพาคนอื่นน้อยที่สุดและสามารถสร้างรายได้พึ่งตนเองได้จนอยู่ได้ด้วยตัวเองคือสิ่งที่สำคัญ”

กะมา บาริสต้า “ฝึกทำโกโก้ โอรีโอ้ปั่น ไม่ยาก จำสูตรได้ ทอนเงินเองได้ เรียนจบแล้วอยากทำร้านกาแฟ และอยากเรียนสถาปัตย์ด้วย งานที่ยากที่สุด จำสูตรต่างๆ ส่วนการชงไม่งงจำออร์เดอร์ได้ พ่อแม่ก็สนับสนุนให้เราชงกาแฟเป็น ทำขนมปังเป็น”

แต้งค์ บาริสต้า “ผมชอบเล่นเกมส์ ฟังเพลง วิชาที่ถนัดคณิต ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ ตอนนี้ภาษาไทยดีขึ้น แต่การเขียนยังมีผิดอยู่ ฝึกจากกาแฟก่อน ทำตามสูตรเขาไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็ถนัดทำน้ำสี มากกว่ากาแฟ ถ้าสลับไปมา ผมก็งง ผมดูส่วนผสมต่างๆ ทางยูทู้ปด้วยนะ มีสูตรอร่อยสตรอเบอรี่ใส่น้ำแข็งก่อนผสมกับลาเต้แล้วราดนมสด เดี๋ยวนี้ผมคุยกับคนเยอะขึ้น มีเพื่อนรุ่นน้องมากขึ้น เริ่มสนิทสนมกัน งานอื่นๆ ผมก็ทำได้หมด เสริฟ คิดเงิน ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเรื่องการจดออเดอร์เดี๋ยวนี้ใช้กระดาษให้ลูกค้าช่วยเขียนให้ไม่กลัวแล้ว อยากเปิดร้านของตัวเอง มันต้องหาเงิน หาที่ พวกของสินค้า แต่ถ้าการทำงานส่วนตัวเราพร้อมอยู่แล้ว”

มี้ด พนักงานประจำร้าน PK Cafe’ (อายุ 22 ปี ศิษย์เก่าที่กลับมาทำงานประจำที่โรงเรียน)
“ผมมีความรับผิดชอบอาจารย์จึงเรียกกลับมาทำ ช่วงแรกมาทำงานเดินเอกสาร ทำงานตามสั่งจากอาจารย์หน้าที่ตอนนี้ ทำความสะอาดร้าน บริการลูกค้า เสริฟบ้างครับ ผมเดินทางไปกลับเอง ดูแลตัวเองให้มีระเบียบวินัยมากขึ้น การมีงานทำคิดจะขี้เกียจก็น้อยลง โรงเรียนเปิดโอกาสต้อนรับเด็กพิเศษครับ การทำงานไม่มีอะไรยากครับ ผมก็เข้าสังคมได้ปกติ ผมไม่รู้สึกอะไรเกี่ยวกับคำว่าเด็กพิเศษ
เวลาว่างก็ออกไปเที่ยวตามที่ต่างๆ บ้างตามที่อยากไป ไปคนเดียว ไปดูหนังมีบัตรโปรโมชั่น นานๆ ดูทีครับแต่ไม่ซื้ออะไรเข้าไปกินนะ มันแพง เงินเดือนผมเอาให้แม่เลย แบ่งไว้แค่ส่วนเดียว เพราะแม่เป็นคนดูแลค่าใช้จ่ายในบ้านทั้งหมด การใช้เงินถ้าต้องซื้ออะไรผมจะเตรียมเงินไปพอๆ กับราคาของ จะได้ไม่มึน ถ้าอยากได้ของชิ้นใหญ่ผมออกส่วนหนึ่ง แม่ออกส่วนหนึ่ง  แต่เสื้อผ้าที่ใส่มาทำงาน ผมเก็บตังค์ซื้อเอง ทีแรกอยากเรียนต่ออยากเรียนพวกงานบริการ ผมเคยออกไปขายของตามตลาดนัดกับพ่อตั้งแต่เล็กๆ เลย ดีกว่าไปหาประสบการณ์ทางอื่น แต่แม่อยากให้ทำงานก่อน แม่บอกว่าคนที่จบสูงๆ หางานทำก็ยาก”

ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่แท้จริง

อาจารย์สุภัทร เงินดี ผู้อำนวยการโรงเรียนปทุมคงคา  “เราดำเนินนโยบายการศึกษาพิเศษตามหลักมาโดยตลอดมาเพิ่มเรื่องทักษะอาชีพในสองปีหลังนี้ สิ่งที่ย้ำเสมอกับคุณครูคือการสอนต้องฝึกให้เขาดูแลตัวเองได้ด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณครูปรับหลักสูตร รายวิชามุ่งให้เด็กสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง จากเรื่องง่ายๆ ที่เขาทำได้ เด็กทุกคนแค่เราให้โอกาสเขาในการได้ฝึกได้ทำ เขาก็จะมีความสุขที่จะเรียนรู้และจะพัฒนายิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้คุณครูสำคัญที่สุด ถ้าคุณครูมีใจเด็กเขาสัมผัสได้อย่างครูการศึกษาพิเศษของเรา เด็กๆ สัมผัสได้ว่าครูพร้อมที่จะดูแลเขา ดังนั้นในแง่ผู้บริหารโรงเรียนสิ่งที่สำคัญคือนโยบายที่จะลงสู่คุณครู

ความสำคัญอีกด้านหนึ่งคือครอบครัวควรเปิดโอกาสให้ลูกได้อยู่ในสังคมโรงเรียน ถ้าให้อยู่แต่บ้านก็ปิดโอกาสเด็ก หากเรายึดปรัชญาการศึกษาพิเศษที่ว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้บนหลักความแตกต่างระหว่างบุคคลเราก็จะบรรลุเป้าหมายที่เราจะพัฒนาเด็กแล้วไม่ว่าจะมากหรือน้อย ถ้าพ่อแม่ครูผู้ปกครองร่วมมือกันหาความสามารถของเขาให้เจอ เจอเร็วเราก็พัฒนาเขาได้เร็วขึ้น เขาจะพัฒนาศักยภาพของตัวเองอยู่ในสังคมได้ดี”

DSC_1209
อาจารย์ขนิษฐา จันทร์หล้า ครู คศ.2 ๐ อาจารย์รัตนาวดี พางาม ครูคศ.1 ๐ อาจารย์สุภัทร เงินดี ผู้อำนวยการ ๐ อาจารย์วีรสิทธิ์ ประกอบศรี ครูผู้ช่วย ๐ อาจารย์รณชิต ฤทธิ์สำเร็จ ครูคศ.1

ขอขอบพระคุณ คณะครูและนักเรียนโรงเรียนปทุมคงคา

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์

 


โรงเรียนหรือหน่วยงานที่สนใจเรื่อง Transition ศึกษาเพิ่มเติมได้จากเอกสาร : Transition in Special Education ประสานสัมพันธ์ รอวันเปลี่ยนผ่าน , รวมแบบฟอร์ม ITP , The Transition Planning for Youth with Special Needs A Community Support Guide.,รวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่าน  (ที่มา อาจารย์วรัญนิตย์ จอมกลาง และ อาจารย์สุรัญจิต วรรณนวล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

Learning Space

น้ำ ดินแดนที่โอบอุ้มและให้อิสรภาพ

ธาราบำบัดสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ

“ผมเชื่อว่ามนุษย์มีความสามารถในการใช้ร่างกายที่แตกต่าง แต่ละคนเรียนรู้การเคลื่อนไหวในแบบของตนเอง และเมื่ออยู่ในน้ำเราจะเห็นศักยภาพทางกายภาพของบุคคลนั้นผ่านลักษณะการเคลื่อนไหว อันเป็นพื้นฐานการสื่อสารจากภายในออกสู่ภายนอก และนี่คือจังหวะที่เราจะต่อยอดพัฒนาการให้เขาได้”

ก่อนที่คุณศุกลธนัท เกียรติ์ภราดรจะมาเป็นคุณครูนัทของเด็กและเยาวชนที่มีความต้องพิเศษ ครูนัทจบการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจและทำงานกับครอบครัวมาระยะหนึ่ง จนในปี พ.ศ. 2554 ล้มป่วยด้วยอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทชนิดเฉียบพลัน อาการหนักชนิดที่เดินไม่ได้เป็นเดือน ครูนัทเลือกวิธีรักษาด้วยการทานยาและทำกายภาพบำบัดแทนการผ่าตัด ซึ่งทำอย่างต่อเนื่องอยู่เกือบปีแม้อาการจะทุเลาลงแต่ไม่หายขาด ยังคงมีอาการเจ็บปวดอยู่มาก แต่ครูนัทเลือกที่จะอยู่กับสิ่งที่เป็น…

DSC_3944

“ในวันที่ป่วยหนักๆ นี่จิตตกพอสมควร แต่มันก็มีความรู้สึกว่าเราไม่ควรอยู่แบบนี้ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างให้ตัวเองรู้สึกว่ามีคุณค่า แล้วเราจะทำอะไรได้… ตอนนั้นร่างกายโดนอะไรแตะไม่ได้เลยอ่อนแอมากเหมือนต้นไม้พร้อมจะล้มตลอดเวลา
ผมมีทักษะการว่ายน้ำบ้างเพราะวัยเด็กเคยเป็นนักกีฬาของโรงเรียนแม้ช่วงสั้นๆ และคุณหมอก็แนะนำว่าการออกกำลังที่ดีที่สุดคือ การว่ายน้ำ ซึ่งระหว่างที่ป่วยวันแรกที่ลงน้ำผมจำได้ว่าไม่มีแรงขึ้นจากสระ มันทรมาน อึดอัด บอกหรืออธิบายไม่ถูกว่ารู้สึกอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้นมาระยะเวลาหนึ่งกระทั่งร่างกายแข็งแรงขึ้นจากการว่ายน้ำ เริ่มหาองค์ความรู้ในทักษะการว่ายน้ำจากคอร์สฝึกอบรมผู้ฝึกสอนว่ายน้ำของสมาคมว่ายน้ำแห่งประเทศไทย”

ระหว่างที่เยียวยาตัวเองในน้ำนั้น คุณครูนัทเห็นเด็กพิเศษหลายคนที่สระว่ายน้ำ เมื่อมีความคิดอยากทำอะไรเพื่อผู้อื่นบ้างจึงเริ่มศึกษาเกี่ยวกับเด็กพิเศษและเริ่มหาข้อมูลเพิ่มเติมหาบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับการว่ายน้ำของเด็กพิเศษ แรงบันดาลใจแรกที่พบคือ ครูพายุ คุณครูที่สอนเด็กพิเศษให้ว่ายน้ำเป็น เอาชีวิตรอดในน้ำได้

ในขณะนั้นมีความรู้สึกบางอย่างว่าน่าจะมีอะไรมากกว่าการสอนว่ายน้ำ จึงเริ่มหาคำตอบในข้อสงสัยนั้น…

คุณครูนัทมีโอกาสได้เรียนรู้บุคคลที่มีความต้องการพิเศษในแนวทางมนุษยปรัชญาจากหลักสูตรเยียวยาผู้ดูแลของชุมชนเพื่อพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษ (ซึ่งปัจจุบันคุณครูนัทเป็นหนึ่งในคณะครูของห้องเรียนปีกกล้าขาแข็ง ของชุมชนฯ) และหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันเริ่มค้นหาว่าในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมีกลุ่มใดที่ทำงานกับเด็กพิเศษบ้างเพื่อเข้าอบรมหาความรู้เพิ่มเติม กระทั่งมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับศูนย์พัฒนาบุคคลออทิสติก จ.ชลบุรี อยู่หลายปีในฐานะครูสอนว่ายน้ำให้สมาชิกในศูนย์ฯ

“เด็กพิเศษมีความหลากหลายแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง แต่มีแก่นบางอย่างที่ถ้าเราเข้าใจเขาจะพัฒนาได้ การได้ทำงานกับศูนย์พัฒนาเด็กออทิสติก จ.ชลบุรี และห้องเรียนปีกกล้าขาแข็งในชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขฯ ซึ่งต้องดูแลลูกศิษย์ 48 ชั่วโมง ทุกสุดสัปดาห์ รวมทั้งเป็นผู้ดูแลบุคคลพิเศษในการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้มีประสบการณ์ความหลากหลายของพฤติกรรมและช่วงอายุ ส่วนการเรียนรู้ในแนวทางมนุษยปรัชญาช่วยให้เรามีการเติบโตภายในจากเดิมที่เป็นหินก้อนเหลี่ยมๆ ตอนนี้ดวงจิตของเรากลมขึ้นเข้าใจมากขึ้นว่า มนุษย์เราเท่าเทียมกันซึ่งผมใช้เป็นแก่นในการดำรงชีวิต”

ในวันนี้คุณครูนัทนิยามตัวเองว่า “ผมไม่ใช่ครูว่ายน้ำที่สอนเพื่อให้เด็กพิเศษว่ายน้ำได้ แต่ใช้น้ำเป็นพื้นที่เยียวยา โอบอุ้มพร้อมให้อิสระและส่งเสริมพัฒนาการรายบุคคล ด้วยการใช้ธาราบำบัดและการสอนตามแนวทางมนุษยปรัชญา”

DSC_3854

มีเป้าหมาย สังเกต เข้าใจ ให้อิสระ

“การดูแลเด็กพิเศษด้วยน้ำ หรือ ธาราบำบัด นอกจากคุณสมบัติของน้ำที่เราเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองจากอินเตอร์เน็ตมีข้อมูลมากมายพ่อแม่หรือผู้ดูแลก็ทำได้ แต่ประเทศเรายังไม่ให้ความสำคัญกับธาราบำบัด ผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่เข้ามาคืออยากให้ลูกได้ออกกำลังกาย แต่งานหลักของผมคือการกระตุ้นพัฒนาการ เราจึงต้องคุยกับครอบครัวก่อนเพื่อให้มีภาพและทิศทางเดียวกัน คือผมไม่บอกว่าเด็กจะว่ายน้ำเป็น แต่เขาจะดูแลตัวเองในน้ำได้ และผมดูแลเรื่องพัฒนาการ เมื่อเรากระตุ้นแล้วทุกอย่างที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ครอบครัวต้องช่วยทำร่วมกัน
เรามีเป้าหมายชัดเจนว่าจะพัฒนาอะไรในตัวเขาซึ่งจะคุยกับครอบครัวหรือผู้ดูแลทุกครั้งว่าน้องเป็นอย่างไรไปทำกิจกรรมบำบัดกระตุ้นพัฒนาการไหม เรียนไหม มีปัญหาอะไรบ้าง พฤติกรรมอะไรที่คิดว่าไม่โอเค หรือ อะไรที่อยากให้เขาพัฒนาเป็นพิเศษ ที่จริงกิจกรรมทุกชนิดช่วยได้หมดเพียงแต่ในน้ำมันเป็นจังหวะที่ดึงความจดจ่อและสมาธิได้มากขึ้น เพราะน้ำทำให้เขาเคลื่อนไหวได้มากกว่าบนบกรู้สึกอิสระมากกว่า น้ำยังช่วยเรื่องอารมณ์ ลดความร้อนจากอุณหภูมิของร่างกายที่เกิดจากการเคลื่อนไหว สร้างความรู้สึกรู้เนื้อรู้ตัวเพราะน้ำสัมผัสผิวเขาตลอดเวลาช่วยให้ประสาทรับสัมผัสถูกกระตุ้น ในขณะเดียวกันในน้ำมีความอิสระ นี่คือคุณสมบัติของธาราบำบัด

ในแง่มนุษยปรัชญามนุษย์เรียนรู้ที่จะควบคุมการเคลื่อนไหวของตนเองหาตำแหน่งทิศทางโดยอิสระ ซึ่งต้องใช้ความสัมพันธ์ระหว่างศีรษะและลำตัว มือและแขน ขาและเท้า การว่ายน้ำของบุคคลพิเศษจึงเป็นกระบวนการหนึ่งในการพิจารณาและส่งเสริมพัฒนาการให้เจตจำนง (Will) ทำหน้าที่ของมัน ในการแสวงหาความสมดุลทางกายเรียนรู้การทรงตัวในแนวดิ่งเพื่อพัฒนาสู่ความสมดุลในจิตภายในตน

DSC_1137

สังเกต

“เราต้องสังเกตให้เป็นว่าทั้งก่อนลงน้ำและเมื่อลงน้ำเขาเป็นอย่างไร หงุดหงิดไหม อารมณ์พร้อมจะเรียนกับเราไหม เขามองเห็นเราไหมเห็นหมายถึงเขารับรู้ใช่ไหมว่าเราคือครูเป็นผู้ปกครอง หรือยังไม่รู้อะไรเลยอยู่ในน้ำยังอยู่กับตัวเอง อันนี้เป็นหลักหนึ่งในการสังเกตซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เราจะทำให้เขามีพัฒนาการก้าวขึ้นมาจากเดิมได้ไหมเริ่มจากสังเกตเป็น

สังเกตการใช้ ศีรษะและลำตัว แขนและมือ ขาและเท้า
ยกตัวอย่างวันนี้ลูกศิษย์ผมในหนึ่งชั่วโมงไม่พร้อมเรียนเลยส่วนตัวผมคิดว่าผิดปกติ เขาหงุดหงิดมาตั้งแต่เช้าจากที่โรงเรียนไม่สบตาเท่าที่ควรแทบจะไม่ฟังคำสั่ง วันนี้ที่เห็นคือเขาดำน้ำ การสังเกตเราก็ดูว่าเขาใช้แขน ขาอย่างไร มีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร นี่เป็นวันแรกที่เขาหยิบแว่นใส่และขยับแว่นด้วยตัวเองและเขาดำน้ำลงต่ำ อยู่ได้นานมากขึ้น ความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดใหญ่วันนี้ถือว่าดี เดิมการเก็บอุปกรณ์ใต้น้ำนี่ถือเป็นเรื่องยาก”

DSC_3898

เข้าใจ

“จากข้อแรกที่ต้องสังเกตเห็นเด็กไม่พร้อมเรียน เรามีหน้าที่ประคับประคองมีจังหวะเมื่อไหร่ก็เข้าไปสอน การพร้อมเรียนแม้แต่เสี้ยววินาทีก็มีความหมาย แต่ถ้าไม่พร้อมไม่มีประโยชน์ที่เราจะให้เขาทำอะไร ยิ่งทำให้เขาอึดอัด หงุดหงิด อารมณ์เสีย
เมื่อเด็กไม่พร้อมเราจะแก้ไขเฉพาะสิ่งที่เขาจดจ่ออยู่ตรงนั้น เดิมทีการมีอุปกรณ์ยางสีฟ้าซึ่งเขาจะดำเก็บทุกครั้ง แต่วันนี้ไม่เก็บเป็นครั้งแรก แต่เขาเด้งตัวขึ้นลงบนผิวน้ำ ข้อสังเกตของเราคือ เขาใช้แขนขาอย่างไร ดำน้ำอย่างไร หายใจอย่างไร แก้ไขปัญหาลู่ที่อยู่ในสระไหมเพราะทุกครั้งเขาจะว่ายข้ามลู่ไป
ผมไม่มีรูปแบบการเรียนการสอนตายตัว แต่ดูหน้างานเป็นหลักและต้องเข้าใจแพทเทิร์ทของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งพฤติกรรมภายนอกก่อนมาลงน้ำเป็นอย่างไร มันมีผลเกี่ยวเนื่องกับการลงน้ำทุกครั้ง เมื่อลงน้ำแต่ละคนมีความรู้สึกและพฤติกรรมที่แตกต่าง เวลาที่เขามีพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิม เช่น จู่ๆ ก็หัวเราะ หรือหงุดหงิด ถ้าเราไม่เข้าใจและพยายามไปเปลี่ยน มันไม่ได้ผล จริงๆ แค่รอเวลาจังหวะไหนที่เข้าได้ ควรเข้าให้เขากลับมาอยู่ในสภาวะปัจจุบัน แต่ถ้ายังไม่ได้เราก็รอ เมื่อเขาพร้อมเราค่อยสอน ดังนั้นทุกๆ คลาสของผม”

ผู้เรียนเป็นผู้กำหนด ว่าให้ผมสอนอะไร

DSC_1141

ให้อิสระ

“จากนั้นเราไม่พยายามควบคุม เด็กพิเศษทุกกลุ่มมีความแตกต่างของพฤติกรรม แต่การดูแลเริ่มจาก “ตัวเรา” ก่อน เพราะปัญหาเดียวที่เรามีร่วมกันเกี่ยวกับเด็กพิเศษ คือ

เราอยากควบคุมเขา ให้เขา

 เป็นในแบบที่เราอยากให้เป็น

ซึ่งมันเป็นไปได้ยากมาก

เด็กส่วนใหญ่เมื่อเราให้เวลารอจังหวะด้วยการเรียนการสอน คือให้เขาเป็นในสิ่งที่เขาเป็น วันนี้ยังไม่อยากลงน้ำเรารอได้ และสุดท้ายทุกคนก็ลงได้หมด เราเปิดอิสระให้เขาไม่บังคับให้ทำ เราจะเข้าหาเมื่อเขาพร้อมการเข้าหาแบบนั้นเขาจะได้เรียนรู้เรื่องร่างกาย ทุกกลุ่มมีปัญหาหลักเรื่องร่างกายซึ่งการเคลื่อนไหวในน้ำทำให้เขาเคลื่อนไหวเบาสบายเท่ากับหรือมากกว่าบนบก อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นแต่ในน้ำช่วยระบายความร้อนออกได้รวดเร็ว ทำให้อารมณ์ความรู้สึกจากคนที่ไม่สบตาเลย ก็สบตามากขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น อารมณ์หงุดหงิดน้อยลง”

(หมายเหตุ การให้อิสระไม่ควบคุมยังคงหมายถึง เราต้องพร้อมตลอดเวลาการอยู่กับเด็กพิเศษมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเสมอบางอย่างเขาควบคุมตัวเองไม่ได้ คนที่ดูแลเขาที่อยู่ในน้ำต้องพร้อมที่จะรับมือ ถ้าฉุกเฉินต้องรู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร)

DSC_1178

12 Senses หลักของมนุษยปรัชญา

ในคลาสเรียนผมให้ความสำคัญไปที่กายภาพเป็นหลัก ไม่ว่าจะอยูในวัยเด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ก็ตาม เพราะนี่คือบันไดก้าวสู่การพัฒนาทางอารมณ์และความคิดที่เชื่อมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งผมให้ความสำคัญและใช้กรอบคิดเรื่อง Sense 4 ด้านนี้ในการดูแลแต่ละคน คือ
sense แห่งสมดุล (balance)
sense แห่งการเคลื่อนไหว (movement)
sense แห่งชีวิต (life)
sense แห่งสัมผัส (touch)
ไม่ว่าจะกลุ่มภาวะไหนอายุเท่าไหร่เราดูที่ร่างกาย เด็กพิเศษส่วนใหญ่มีปัญหาร่างกายกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ส่งผลต่อพฤติกรรมมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย หลายคนไม่เข้าใจเขามีแรงขับภายในที่ส่งต่อให้คนรอบข้างเยอะ

ในชั่วโมงว่ายน้ำเราปล่อยให้เขามีอิสระทำอะไรก็ได้ “เราปล่อยให้คุณเป็นอย่างที่คุณเป็น” เขาได้รับการสัมผัสจากน้ำตลอดเวลา รับรู้ความมั่นคงของตัวเองผ่านการเคลื่อนไหวที่อิสระในน้ำ และในน้ำยังมีแรงกดช่วยผลักดันให้เขาต้องควบคุมสมดุลของร่างกายในแนวดิ่ง ซึ่งบุคคลพิเศษหลายคนมีปัญหากับแรงโน้มถ่วงของโลก ผมใช้กรอบนี้เป็นตัวช่วยออกแบบการเรียนการสอนในชั่วโมงนั้นๆ ของแต่ละคนซึ่งการเคลื่อนไหว ของขามือและแขนเป็นขั้นบันไดเพื่อนำไปสู่พัฒนาการการสื่อสารหรือภาษาพูด

DSC_3884

ประเภทของสระ และ องค์ประกอบที่เหมาะสม

สระว่ายน้ำมีคุณสมบัติของมัน สระที่เปิดโล่ง กับ สระในร่ม มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เด็กที่ตื่นตัวมากๆ อย่างออทิสติกควรอยู่ในสระที่เปิดโล่งกลางแจ้ง และถ้าเรามีพื้นที่มากพอให้เวลาเขาอยู่ในพื้นที่ก่อนลงสระ ทั้งบนบกและในน้ำ จะช่วยให้เขาสงบได้ ส่วนกลุ่มภาวะดาวน์ซินโดรม ผมแนะนำว่าเขาควรอยู่ในสระมีหลังคา สองกลุ่มนี้มีการเติบโตภายในที่แตกต่าง
สระว่ายน้ำมีองค์ประกอบสองสามอย่าง ระดับน้ำ ช่วงวัยของเด็กพิเศษที่ยังเล็กอยู่ควรอยู่ในสระเล็กๆ ที่ยืนถึง เขามีวิธีการมองเห็นมีความซับซ้อนเวลาที่อยู่ในน้ำ บางคนมองเห็นว่าน่ากลัวมาก บางคนเฉยๆ ในขณะเดียวกัน สระที่ความลึกพอสำหรับกลุ่มวัยรุ่น คือยืนอยู่ในระดับที่ลอยขาแล้วน้ำอยู่ระดับหน้าอกจะช่วยให้เขาได้ออกแรงมากขึ้น มีกิจกรรมในน้ำได้ดีขึ้น เด็กพิเศษที่ลอยตัวช่วยตัวเองได้แล้วสระที่มีความลึกให้เขาดำหาวัตถุใต้น้ำได้ก็จะช่วยเขาได้มากขึ้น การดำน้ำจะช่วยให้เขาจดจ่อกับสิ่งต่างๆ การหยิบของที่อยู่ในน้ำที่มีแรงดันอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงช่วยให้เด็กรู้สึกสงบช่วยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัส สภาพแวดล้อมของสระว่ายน้ำที่มีนักกีฬาว่ายน้ำหรือนักเรียนเรียนว่ายน้ำส่งผลดีต่อออทิสติกและแอล.ดี. พวกเขาเรียนรู้ด้วยการจำ

DSC_1098

ข้อสังเกตกลุ่มภาวะต่างๆ ช่วงวัยกับการตอบสนองต่อธาราบำบัด

กลุ่มภาวะดาวน์ซินโดรม เขามีเรื่องร่างกายกล้ามเนื้อเอ็นข้อต่อที่เราควรให้ความสำคัญ ว่ายน้ำเป็นกีฬาเดียวที่เหมาะกับการพัฒนาโครงสร้างร่างกาย ไม่ว่าจะมัดเล็กมัดใหญ่ แต่ก็ต้องให้เวลาเขามากพอสมควร
กลุ่มภาวะแอล.ดี. เขาไม่เข้าใจการใช้แรงหรือกล้ามเนื้อว่าจะใช้แบบไหน เพิ่มแรงในการดึงใช้แรงไม่เป็น โฟกัสกล้ามเนื้อตัวเองไม่เป็น ต้องออกแบบกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริม กลุ่มออทิสติก มีเรื่องพฤติกรรมเป็นหลัก การว่ายน้ำช่วยได้ร้อยทั้งร้อยอารมณ์ดีขึ้นร่างกายแข็งแรงขึ้น ครูและนักเรียนจะทำงานพัฒนาการโดยรวมได้ดีทั้ง ร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก ระบบคิด กลุ่มซี.พี. ที่มีความพิการทางร่างกาย น้ำมีแรงดันช่วยพยุงตัวเขารับรู้น้ำหนักเหลือแค่ 10% เมื่อไม่ถูกถ่วงด้วยน้ำหนัก เขาจะรู้สึกอิสระ สามารถยืดเหยียดได้มากขึ้น พร้อมทั้งบริหารกล้ามเนื้อที่มีปัญหาโดยทั่วๆ ไปได้ ผมเชื่อว่าอารมณ์ความรู้สึกเขาเหมือนกับผมที่มีความทรมานข้างในที่อธิบายออกมาไม่ได้ น้ำช่วยได้ในช่วงเวลาหนึ่ง แค่แช่น้ำในช่วงเวลาสั้นๆ เราจะเห็นรอยยิ้มและอารมณ์ที่สดใสขึ้น นี่คือช่วงของพัฒนาการที่จะต่อยอดได้
และถ้าแบ่งตามช่วงวัย ผมมองกิจกรรมบำบัดในน้ำสำหรับบุคคลพิเศษว่า วัยเด็กช่วยพัฒนาร่างกายและภาษาพูด วัยรุ่นสร้างความท้าทายด้วยหลักต่างๆ ของการว่ายน้ำช่วยพัฒนาทางอารมณ์ และในวัยผู้ใหญ่ทบทวนความเข้าใจในประโยคและความหมายช่วยพัฒนาระบบคิด

DSC_3889

ครูว่ายน้ำในโรงเรียนจะช่วยเด็กพิเศษที่เรียนร่วมอยู่ได้อย่างไรบ้าง

คุณครูจะทำงานกับเด็กได้ดีมากขึ้นถ้าเข้าใจพื้นฐานของแต่ละกลุ่มอาการ ผมอยากให้มีธาราบำบัดในทุกๆ โรงเรียน ทั้งช่วยการดูแลตัวเองของเด็กพิเศษในน้ำได้ ไม่เสี่ยงกับการจมน้ำ มีแนวทางคือโฟกัสเขามากกว่าคนอื่น เปิดโอกาสให้เขาเล่นเอง ใช้อุปกรณ์เพิ่มเช่น โฟมช่วยพยุงตัว เมื่อเขาลอยตัวในน้ำได้จะช่วยให้เขามีสมาธิเพิ่มมากขึ้น ลองประกอบกับตัวอย่างบทเรียนจากผู้มากมายในยูทู้ปซึ่งมีความหลากหลายในกระบวนการที่เขาสอน และยังมีหลายเรื่องที่พ่อแม่ก็ทำได้

การพัฒนาไปสู่การเป็นนักกีฬา

สำหรับคนที่มีศักยภาพเติบโตไปเป็นนักกีฬา ผมเป็นโค้ชได้ในระดับหนึ่งเพราะเรารู้จักเขาดีแต่ต้องทำควบคู่กับโค้ชระดับอาชีพ จุดที่ผมเน้นคือการจัดท่าทาง เราต้องให้อิสระเขามากพอไม่สอนด้วยลักษณะท่าทางเชิงลบทำร้ายให้เกิดอคติ พวกนี้มันส่งผลกระทบถึงภาวะดวงจิตของเขาในระยะยาว ถ้าเด็กทำได้การว่ายน้ำจะช่วยให้เขาจดจ่อในสิ่งที่ทำ มีเป้าหมายชัดเจน เช่น การว่ายตามระยะเขาแค่ต้องไปให้ถึงนั่นคือเป้าหมาย นักกีฬาต้องถูกฝึกเป็นพิเศษจำเป็นต้องใช้โค้ชที่มีความเข้าใจมีความรู้ หรือมีคนทำงานควบคู่กัน และต้องมีความยืดหยุ่นสูง สำหรับการแข่งกีฬาคนพิเศษนี่ดีนะครับแต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายก็ควรทำให้เป็นกิจวัตรในชีวิตของเขาด้วย ไม่ใช่เป้าหมายเพื่อมาแข่งขันเท่านั้น

DSC_1097

ธาราบำบัด เป้าหมายคือใช้การว่ายน้ำเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเป็นหลักไม่ได้เพื่อสุขภาพแข็งแรงเพียงเท่านั้นเพราะเขาย่อมได้อยู่แล้ว ที่ผมทำอยู่นี้ทำให้พัฒนาทั้งร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก และระบบคิดเติบโตขึ้น แม้อาจยังไม่สมวัยแต่ก็เท่าที่เขาควรจะเป็นซึ่งเป็นงานที่ใช้ระยะเวลา ว่ายน้ำยังส่งผลต่อพัฒนาการพูด ช่วงสองปีที่ผ่านมาสิ่งที่เราเห็นจากหลายๆ คนคือนอกจากเขาอารมณ์ดีขึ้น มีสมาธิเพิ่มมากขึ้น เขาพูดเป็นประโยคได้ยาวมากขึ้นจากพูดคำสั้นๆ พัฒนาการโดยรวมดูดีขึ้น

ผมมองว่าการว่ายน้ำหรือธาราบำบัดนี้ไม่ใช่แค่การเรียนหรือกิจกรรม แต่เป้าหมายคือการพัฒนาเด็กในระยะยาว คนที่สอนควรเข้าใจทั้งเรื่องพัฒนาการ และการเติบโตตัวตนของเขา เพื่อช่วยให้ลูกศิษย์ของเราเติบโตขึ้นทั้งภายในและภายนอก

ขอขอบพระคุณ :  สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชลบุรี

ถ่ายภาพโดย :  ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

People+

ครอบครัวฟาร์มสุข

เส้นทางฟูมฟัก และ หว่านสุข

คุณให้ความสำคัญกับพัฒนาการที่ล่าช้าของลูกมากแค่ไหน ?
มากพอที่จะพาไปพบแพทย์ นักจิตวิทยา นักกระตุ้นพัฒนาการ นักบำบัดต่างๆ ฯลฯ 
มากพอที่จะกู้เงินมาเพื่อจ่ายค่าบริการเหล่านี้
หรือ มากพอที่จัดเวลาเพื่อลงมือช่วยเหลือเขา

และถ้าคุณไม่มีเวลา…
เรื่องนี้สำคัญมากพอที่จะลาออกจากงาน เพื่อมีเวลาดูแลเขาใกล้ชิด และเปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ที่เหมาะสมให้ลูกไหมคะ   

เรื่องนี้สำคัญมากแค่ไหน..?

ตะวัน (24)

ก่อนที่เราจะเดินทางไปสัมภาษณ์ครอบครัวประเสริฐ เจ้าของร้านอาหารโฮมเมดที่ใส่ใจวัตถุดิบ รสชาติ การปรุง ที่ชื่อ ฟาร์มสุข ซึ่งตั้งอยู่ริมถนน 344 เส้นทางจากแกลง จ.ระยอง วิ่งเข้าสู่ จ.ชลบุรี เราค้นหาข้อมูลพบว่าร้านฟาร์มสุขได้รับความนิยมชื่นชอบจากบรรดาลูกค้า มีเมนูแนะนำหลากหลายทั้งอาหารคาว ของหวาน เครื่องดื่ม อีกสิ่งหนึ่งที่มีคนให้ความสำคัญคือบรรยากาศของร้านและความน่ารักของเจ้าของ

ตะวัน (20)


ครอบครัวประเสริฐไม่ได้มีพื้นฐานการทำร้านอาหารมาก่อน คุณพ่อสุมิต ประเสริฐ ลาออกจากงานที่กำลังก้าวหน้าในมหาวิทยาลัยของรัฐ กลับมาทำสวนที่บ้านเกิด จ.ระยอง ปัจจุบันนอกจากงานสวนแล้วคุณสุมิตเปิดร้านและเป็นพ่อครัวของร้านฟาร์มสุข อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี คุณแม่ศรีมาศ ประเสริฐ (แม่ปุ้ม) ยังคงทำงานประจำในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ทุกวันศุกร์จะเดินทางมาที่ชลบุรีเพื่อทำขนมเค้กวางขายในร้านฟาร์มสุข พร้อมทั้งให้ลูกๆ ต้นน้ำ และ ตะวัน (คุณภาณุพงศ์ ประเสริฐ) ช่วยเหลืองานที่ร้าน การตัดสินใจมาลงหลักปักฐานใน จ.ชลบุรี ไม่ใช่การหลีกหนีชีวิตวุ่นวายในเมืองหลวงตามกระแสคนเมืองแต่อย่างใด แต่มาจากการที่พวกเขาให้ความสำคัญกับเวลาคุณภาพที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดูแล คุณภาณุพงศ์ ลูกชายคนโตที่มีภาวะออทิซึ่ม

รู้เร็ว บำบัดเร็ว แต่…

คุณแม่ปุ้ม : ตะวันได้รับการวินิจฉัยเร็วเพราะช่วง 6 เดือน เหมือนจะเริ่มพูดเป็นคำแต่กลับหายไป 8 เดือน เราพาไปพบแพทย์รู้แล้วว่ามีภาวะออทิซึ่ม ตอนนั้นที่ฝึกต่างๆ ยังมีไม่มาก เราอ่านหนังสือฝึกลูกเอง แต่พ่อแม่ยังทำงานประจำทั้งคู่มีเวลาแค่ค่ำๆ และวันหยุด เวลาส่วนใหญ่ลูกต้องอยู่กับผู้ใหญ่ในบ้านที่เปิดโทรทัศน์ทั้งวัน พออายุ 14 เดือน เริ่มพาไปฝึกกระตุ้นพัฒนาการ ทำกิจกรรมบำบัด เรามีรายจ่ายพวกนี้มากจนไปกู้เงินมาลงกับลูกหมด แต่เราก็ไม่เห็นความก้าวหน้ามากนักโดยเฉพาะการพูด ในตอนนั้นเรารู้สึกว่ามันช้ามาก ตะวันมาพูดตอน 3 ขวบกว่า พอพูดได้ก็ดูเหมือนทุกอย่างเริ่มดีขึ้นโดยเฉพาะปัญหาทางอารมณ์

คุณพ่อสุมิต : ผมว่าโรงเรียนก็มีผลมาก ช่วงอนุบาลถึงประถม 1 ที่กรุงเทพฯ เราได้คุณครูที่เข้าใจ ไปไหนก็เอาตะวันไปด้วย แต่หลังจากนั้นเราเห็นว่าโรงเรียนที่เน้นการแข่งขัน เขาจะสนใจเฉพาะเด็กหัวดี เด็กหลังห้องก็โดนปล่อย เรียนประถม 3 แล้ว ตะวันยังบวกลบเลขไม่ได้ ภาษาไทยยังผันวรรณยุกต์ไม่ได้เพราะเขาจำเป็นภาพ แต่ผสมเสียงไม่เป็น เขียนก็ไม่ได้นานเพราะมือไม่มีน้ำหนัก เส้นออกมาเบามาก ช้า และเมื่อยล้าง่าย ในชั้นเรียนคุณครูมีแพทเทิร์นสอนแบบเดียว เรื่องเรียนเป็นโจทย์ใหญ่เพราะประเทศเราวัดมาตรฐานเดียว ถ้าเราไปเรียนร่วมกับเขาก็ต้องทำให้ได้ตามนั้น ที่สำคัญเราทำงานไม่มีเวลาช่วยเหลือลูกมากนัก

ผมตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อย้ายกลับมาที่ระยอง (ซึ่งเป็นบ้านของครอบครัวผม) เพราะค่าใช้จ่ายในเมืองมันสูง โรงเรียนก็ไม่ตอบโจทย์ มาที่นี่เราตระเวนหาโรงเรียนที่นักเรียนไม่มาก ครูมีเวลาดูแลและไม่เคร่งเครียดเร่งเรียนมากนัก ก็หายากอยู่ เพราะส่วนใหญ่เขาไม่มีวิธีรับมือกับเด็กพิเศษ เราก็เข้าไปคุยจนเจอ รร.พิทยรังสี คุณครูเขายินดีช่วยดูแล เป็นสังคมเล็กๆ ที่ไม่ได้คิดเรื่องการแข่งขันจนไม่ดูพัฒนาการของเด็ก

ย้ายมาปีแรก ตัวผมใช้เวลาช่วยเหลือเขาเริ่มต้นกันใหม่หนึ่งปีเต็ม ตีโจทย์ทำการบ้าน คณิตศาสตร์ ภาษาไทยที่มีปัญหา และทำงานใกล้ชิดกับโรงเรียน ก็ถือว่าโชคดีที่ครูใหญ่ ครูผู้จัดการมาช่วยสอนกลุ่มเล็กๆ ให้ต่างหากตอนเย็น ซึ่งสอนเนื้อหาเดียวกันจากในห้องเรียน แต่คนละวิธีเพราะเด็กน้อยลง จนผลการเรียนดีขึ้นมาอยู่ระดับต้นๆ

เริ่มสร้างฟาร์มสุข

คุณแม่ปุ้ม : มาอยู่ที่นี่เราจัดสภาพแวดล้อมใหม่ได้ ที่บ้านเราไม่มีโทรทัศน์มานานแล้ว จนถึงปัจจุบันนี้เราก็พบว่าลูกทั้ง 2 คนไม่ได้เรียกร้องหรือรู้สึกขาดที่ไม่มีโทรทัศน์ จากประถมมามัธยมตะวันเรียนร่วมมาตลอด ที่บ้านทำสวนพ่อก็ให้รดน้ำช่วยเก็บผลผลิต ทำสวนมาหลายปีเราพบว่าเกษตรกรตัวจริงมีรายได้ไม่ดีหรอก คุณพ่อก็เลยแลกที่บางส่วนกับพี่ชาย ซึ่งมีที่อยู่ริมถนนอยู่ในเขตของชลบุรีซึ่งเป็นเขตติดกับที่บ้านระยอง เอามาทำร้านฟาร์มสุขเพื่อเป็นทั้งที่ขายผลผลิตจากสวน และเป็นที่ที่ลูกจะได้ฝึกทำงานหลายๆ อย่าง

คุณพ่อสุมิต : ตั้งแต่ย้ายมาเรามีเวลาให้เขามากขึ้นและเจอครูที่ให้โอกาสแสดงออก ทำให้ตะวันมีความมั่นใจมากขึ้นว่าทำได้ เป็นตัวแทนไปแข่งตอบคำถามวิทยาศาสตร์ ครูให้ความสำคัญว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของทีม สอบเข้ามัธยมได้เป็นอันดับหนึ่งวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทยที่เคยมีปัญหาได้คะแนนสูงมาก พอกลับมาปูพื้นฐานให้เขาเข้าใจ เขาก็ไปได้ดี ตอนนี้เรื่องเรียนก็ปล่อยให้เขาไปด้วยตัวเอง มาเสริมเรื่องสังคมแทน

เขามีโลกส่วนตัว ถ้าปล่อยไว้เฉยๆ ก็จะวิ่งไปวิ่งมากระตุ้นตัวเองตลอด เราต้องเอาไปช่วยงาน ต้องหาอะไรให้ทำ เขาไม่เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน ทำให้พัฒนาการเรื่องสังคมช้า ก็ต้องให้เจอคนหลากหลายจะได้ไม่กลัว พาลงสวนเจอคนงานบ้าง เอาผลผลิตไปขายเจอลูกค้า ให้เฝ้าหน้าร้าน จนถึงวันนี้เขาอดทนทำได้ ถึงจะไม่เนียนเหมือนเด็กคนอื่น แต่ก็เป็นก้าวที่สำคัญ

ตะวัน (49)

คุณแม่ปุ้ม : เราไม่มีเวลาพาไปฝึกอะไรๆ ในกรุงเทพฯ แล้ว ก็ให้เขาฝึกผ่านการทำงานแทน มือยังไม่แข็งแรงก็ฝึกล้างจาน จากเดิมถือจานแค่ใบเดียวก็มือสั่น เดี๋ยวนี้เก็บจานทั้งโต๊ะได้แล้ว แม่ทำขนมจะให้ตะวันช่วยตีแป้ง เขาตีแป้งเค้กอบออกมาแล้วเนื้อเค้กดีนุ่มรสอร่อย เขาก็รู้สึกภูมิใจที่ตัวเองมีสิ่งที่ทำได้ดี ก่อนหน้านี้รู้สึกว่าตัวเองเกะกะอยู่ในร้านไม่รู้จะช่วยตรงไหน  แรกๆ เขาไม่กล้าอยู่หน้าร้าน ไม่กล้าคุยกับคนอื่น โดยเฉพาะการทักทายลูกค้าตอนแรกที่มันอาจจะมีประโยคที่นึกไม่ถึง ก็ลองว่าตะวันเก็บเงินได้ไหม เขาก็ทำได้แต่ไม่ชอบ ใช้เครื่องคิดเงินได้แต่จะช้าหน่อยลูกค้ายืนรอก็จะมองเขาแบบไม่เข้าใจ ต่อมาลองให้เช็คอาหารในครัวที่คุณพ่อทำก็ทำได้ดีกว่าเพราะเป็นคนที่ชอบลงรายละเอียด ตอนนี้ตะวันจะคอยคอนเฟิร์มออเดอร์ ดูว่าอะไรทำไปแล้ว ต้องทำอะไรต่อ เขาทำได้ดีเป็นการฝึกวางแผนเล็กๆ ที่จะต้องบอกรายการอาหารที่ต้องทำต่อ

ผลผลิตจากฟาร์มสุข

คุณภาณุพงศ์ (ตะวัน) ประเสริฐ : อายุ 16 ปี   ม.5 โรงเรียนมัธยมวังจันทร์วิทยา จ.ระยอง 

คุณตะวัน : ที่นี่เป็นร้านของครอบครัวเราพูดถึงความผูกพันที่อยากทำงานที่นี่ มันยังไม่มากขนาดนั้น ผมไม่ได้ทำอาหารอะไรเยอะ หลักๆ จะหยิบของส่งของ กดเครื่องคิดเงิน เงินทอนเงินเข้า ชงกาแฟให้พ่อเป็นหลัก ช่วยทำเค้กก็ทำได้โอเคอยู่ ตีเค้กไม่เมื่อยแต่เขียนหนังสือยาวๆ ทุกวันนี้ก็ยังล้าง่ายอยู่ แต่ก่อนผมชอบไปหลบหลังครัวไปอ่านเมนูให้เพราะคนครัวคนเก่าเขาอ่านหนังสือไม่ได้เลย ทำอาหารถ้าเอาตั้งแต่เริ่มต้นหมัก มันมีรายละเอียดของมันอยู่ ผมยังไม่ได้ขนาดนั้น ถ้าจับแค่วิธีทำเอาไปย่างทอดนี่ก็พอทำได้ ชอบที่สุดคืองานเบื้องหลังที่ไม่ใช่งานต้องสัมผัสของมีคม ล้างจานทำได้แต่ช้า งานจุดไฟเตาแก๊สก็ยังกลัว

ตอน ม.2 – ม.4 มีปัญหาเรื่องงานค้างเยอะ ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว ผมพยายามแก้ไข ทำงานให้เสร็จเราต้องส่งให้ทันเวลา ปรับปรุงเนื้อหาให้ดีขึ้นและใช้ลายมือที่ดูดีสะอาดขึ้น ผมอยากปรับปรุงแก้ปัญหาตรงนี้ ผมตามหลังเพื่อนมากเรื่องพื้นฐาน อนาคตผมมีทางเลือก 2 – 3 ทาง คือวิศวะยานยนต์ ผมชอบรถมากแต่ยังลังเล คณิตศาสตร์ผมตามหลังเพื่อนอยู่เยอะ ตอนนั้นยังค้นหาตัวตนไม่เจอ สมาธิจะหลุด

ทางที่สอง คือ เป็นบุคคลสาธารณะให้ความบันเทิง ผมเป็นตัวแทนโรงเรียนไปประกวดร้องเพลง เวลาขึ้นไปร้องเห็นคนปรบมือและยิ้มให้ เขามีความสุขและเชียร์เรา ผมรู้สึกมีความสุข ตอน ม.1 ร้องเพลงชอบตอนที่คนยิ้มให้กำลังใจ แต่พอลงมากลายเป็นคนในโรงเรียนจำได้ ผมรู้สึกอึดอัดมาก พอมา ม.4 – ม.5 ก็ชินขึ้นมานิดนึง หลังๆ ผมกล้าที่จะสบตากรรมการเวลาที่เราร้องเพลง ไม่ว่าจะร้องเพราะหรือสั่น ให้มันรู้ไปจ้องมองไปหลายๆ คน เลย ไม่มองแบบเบลอๆ แล้ว พยายามจ้องไว้และทำสมาธิร้องไปด้วย เหมือนเผชิญกับมัน ทุกวันนี้ที่ยังรู้สึกเหนื่อยลำบากใจอยู่คือ หลังเวทีที่ยังมีคนมาทักชีวิตส่วนตัวหายไปรู้สึกอึดอัด หรือเวลาซ้อมมันจำเป็นที่ต้องซ้อมเพลงซ้ำๆ เดิมๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด ความพยายาม ความอดทนของผมยังไม่สูงมากพอ

ทางที่สาม คือ กลับมาช่วยทำงานที่ร้านทำอาหาร ทำขนม ก็ต้องลองดูไปเรื่อยๆ ว่าเราชอบเค้กจริงๆ ไหม เราชอบกิน แต่เราชอบทำหรือเปล่า ตรงนี้ที่เป็นเรื่องสำคัญ เหมือนวิศวะนั่นล่ะ ผมชอบรถ แต่จะชอบสร้างสรรค์มันหรือเปล่า ผมชอบเรื่องเอกลักษณ์ของรถ รถต้องสมรรถนะดีแต่ไม่จำเป็นต้องแรงที่สุด รถที่ดีของผมคือ มีเอกลักษณ์ชัดเจน คนยอมรับมันได้ เช่น แมกซ์ลาเลน เอวัน เพราะมันเป็นรถที่คนขับนั่งตรงกลางมีราคาสะสมสูงมากและเคยเป็นรถที่แรงที่สุดในโลก ถ้ารถญี่ปุ่นผมชอบซูบารุเพราะมีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อและเครื่องยนต์สูบนอน เป็นแบรนด์ที่คนเล่นรถเขาค่อนข้างยอมรับกัน  แม่ผมจึงอยากให้ผมลองเข้าค่ายวิศวะว่าเราชอบมันจริงๆ หรือเปล่า ถ้าชอบจะได้กลับมาดันคณิตต่อ ฮึดสู้ ถ้าไม่ไหวก็มาลองดูเรื่องดนตรีให้ความบันเทิง ซึ่งการเป็นบุคคลสาธารณะนี่ มันมีประเด็นสำคัญคือเราต้องรับสภาพที่เราเป็นที่เราต้องถูกคนอื่นทักตลอด ซึ่งผมไม่รู้ว่าตรงนั้นจะมีความสุขหรือเปล่า คือ อยากทำอะไรก็ได้ที่เรามีความสุข มีเงินมาเล่นรถ และได้ให้ความสุขกับคนอื่นด้วย ก็พอแล้ว

เรื่องเพื่อนผมก็ฝึกสังเกตมากขึ้นว่า นี่เขาไม่ชอบแล้วนะ เวลาเราเล่าอะไรยาวเกินไปหรือเล่าเรื่องเดิม ก็ดูจากสายตา เขามองเราไหม หรือทำหน้ายังไง มีบางช่วงที่ผมเอาโทรศัพท์ไปที่โรงเรียนใส่หูฟัง ฟังเพลง มีความสุขกับตัวเองบ้าง วันไหนไม่ได้เอาไปเห็นคนอื่นไม่สนใจก็เหงาทุกข์มากเลย เดี๋ยวนี้ก็มีเพื่อนที่คุยกันได้ คุยเรื่องดาราบ้าง ไปเที่ยว เรื่องส่วนตัวที่เราไม่ได้ไปก้าวก่ายแต่เป็นเรื่องรอบตัวที่เรารู้กันคุยกันได้

ข้างในจิตใจผมรู้สึกว่าตัวเองยังอยู่ระหว่างเด็กกับวัยรุ่นบางส่วนยังหาตัวเองไม่เจอ บางส่วนก็พิจารณาคิดได้แล้ว บางเรื่องยังมีความกลัวที่จะลงมือทำ หรือเหนื่อยที่จะพยายาม

ตะวัน (55)

ฟูมฟัก…

คุณพ่อสุมิต : เราจะคุยกันคอยถามว่าอันนี้เป็นยังไงก็จะพูดคุยปรับกันเป็นระยะๆ ถือว่าดีที่ผมไม่ได้ทำงานประจำเหมือนแต่ก่อน ผมไปรับลูกที่โรงเรียนได้ทุกวันกลับมาก็คุยกันตลอด อย่างน้อยเราช่วยให้คำแนะนำเขาทัน โชคดีที่เขาเป็นคนเปิดเผย บางเรื่องมันยากถ้าเขาไม่พูดมาก็ไม่รู้ว่าจะช่วยเขาแบบไหน เรื่องเพื่อน เรื่องแฟน เราก็ให้คำแนะนำเขาได้ อย่างน้อยเขาพูดออกมาก็ดีขึ้น ไม่อึดอัด

ถ้าพิจารณาตามบุคลิกภาพของเขา เขาเป็นคนตรงๆ เก็บความลับไม่ได้ เรื่องปฏิสัมพันธ์แม้เราจะพยายามช่วย แต่ก็ได้ในระดับหนึ่ง ถ้าทำงานเกี่ยวข้องกับสังคมคิดว่าอยู่ไม่นานอาจจะไม่มีความสุข แต่งานทางเทคนิคที่ทำคนเดียวได้อยู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์ งานออกแบบ ทำแล็บห้องทดลอง ทำงานที่ใช้ความชำนาญ ความจำที่เขามีมันง่ายกว่าในการจัดการ เจอคนบ้างแต่ไม่ใช่ตลอดเวลา น่าจะดีกว่าสำหรับเขา

ตะวัน (31)

คุณแม่ปุ้ม : เขายังมีแพทเทิร์น ความยืดหยุ่นยังมีไม่มากนัก เรื่องต่างๆ เราเตรียมกับเขาล่วงหน้า เช่นว่าจะมีลูกค้าเข้ามากลุ่มใหญ่ เขาไหวไหม ถ้าไม่ไหวหลบไปช่วยหลังร้าน ถ้าไหวให้มาช่วยหน้าร้าน การพูดคุยพบปะคนแปลกหน้ายังไม่มีตรงกลาง เขายึดกฎระเบียบ เช่น ร้านปิดทุ่มครึ่ง ตามเวลาตะวันจะปิดร้านกั้นรั้วแล้ว วันหนึ่งมีลูกค้ามาหลังจากร้านปิดแล้ว เดินข้ามรั้วเข้ามา ตะวันพูดว่าเราปิดแล้ว ลูกค้ารู้สึกว่าพนักงานเราพูดจาไม่ดี แต่เราก็ไม่ได้อธิบายลูกค้า แค่แก้สถานการณ์เฉพาะหน้าไป แล้วกลับมาพูดคุยกับตะวันทีหลังทั้งเรื่องความยืดหยุ่น การสมมติตัวเองเป็นลูกค้า เอาใจลูกค้ามาใส่ใจเรา การถูกตัดสินโดยที่ไม่มีโอกาสจะอธิบาย หรือ วิธีคิดการทำธุรกิจที่เป็นมิตร

ตะวัน (75)

หว่านสุข…

คุณแม่ปุ้ม :  แถบนี้เราและครอบครัวอื่นๆ ไม่มีทางเลือกฝึกอะไรมากนัก ตะวันโชคดีที่คุณครูนักจิตวิทยาที่เคยฝึกและสอนกันมา (คุณนรพันธ์ ทองเชื่อม) ยังคงติดตามพัฒนาการของตะวัน และแวะมาเยี่ยมบ่อยๆ พอเห็นตะวันทำเค้กได้ ก็ชวนตะวันว่าลองสอนเพื่อนทำเค้กบ้างไหม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาหลายส่วนและผลก็ออกมาดี หากมีใครสนใจอยากมาเรียนรู้ร่วมกันแบบนี้ เราก็ยินดี

32267501_10208954049367607_5320390394322616320_o


บันทึกของคุณแม่ปุ้ม จาก Workshop ทำชีสเค้กเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ
โจทย์คือ พัฒนาการ / ชีสเค้ก คือเครื่องมือ

เราสังเกต..การแบ่งปัน..ความเข้าใจ..การสื่อสาร
การแลกเปลี่ยนความรู้สึก
เราได้จัดชั้นเรียนทำช็อคโกแลตชีสเค้กเพื่อเป็นสื่อกลางการฝึกพัฒนาการ
โดยน้องภูมิเป็นคนเลือกเค้กที่ตัวเองชอบ น้องชอบช็อคโกแลต
และตะวันเป็นผู้สอนส่วนผสม วิธีการทำ แล้วเริ่มลงมือทำไปด้วยกัน
ครูต้นนักจิตวิทยา เป็นผู้ช่วยแนะนำ ปรับท่าทาง ปรับพฤติกรรมการแสดงออก พร้อมกับพูดคุยทัศนคติอื่นๆ
เราพบว่าเด็กๆ ไม่เครียด และตะวันจำวิธีการที่ฝึกกับแม่บ่อยๆ ได้

วันนี้สอนเป็นไงบ้างลูก?
ตะวัน : ผมมั่นใจประมาณ 70% บางขั้นตอนที่ผมเคยทำด้วยตัวเองน้อยเกินไป ผมก็จะไม่มั่นใจในการสอน

ถ้าต่อไปต้องสอนอีก คิดว่าจะพัฒนาส่วนไหน?
ตะวัน : อะไรที่ผมจะต้องสอน ผมจะต้องฝึกบ่อยกว่านี้ แล้วมีอะไรติดขัดตรงไหนผมต้องหาคำตอบก่อน

ได้อะไรจากกิจกรรมวันนี้บ้าง?
ตะวัน : 1. เรื่องการเคลื่อนไหวของร่างกาย บางช่วงภูมิก็ทำได้ดีกว่าผม เช่น การใช้ข้อมือ
บางช่วง ภูมิจะทำอยู่อย่างนั้นซ้ำๆ เช่น การคนอยู่ที่เดิม ไม่เปลี่ยนทิศทาง และไม่ได้มองจริงๆ ว่าส่วนผสมมันเข้ากันทั่วไหม อาจเป็นเพราะภูมิทำครั้งแรก (ตะวันวิเคราะห์ เหมือนเป็นกระจกสะท้อนตัวเอง)
2. เรื่องการมีสติสมาธิในการทำงานทุกขั้นตอน เช่น บางขั้นตอนเราทำครบแต่จริงๆ แล้วยังไม่ดี เป็นเพราะเราคิดอย่างอื่นอยู่
3. การฟังและการไม่ฟัง ผมพูดไม่ค่อยทันภูมิ ภูมิอาจจะมีเรื่องในใจที่ตั้งใจมาแล้วว่าจะเล่าให้ผมฟัง แต่ผมก็เก็บรายละเอียดได้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น อาจเป็นเพราะเป็นเรื่องที่ผมไม่ได้สนใจมากเหมือนเขา
4. สิ่งที่ได้คือ ความภูมิใจและดีใจ

เราจะเห็นว่าการทำงานกับเด็กพิเศษ เช่น ทำเค้ก เป้าหมายไม่ใช่ให้เด็กทำเค้กเก่งได้ 100% ในครั้งเดียว แต่เราเฝ้ามองพัฒนาการความสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อ สมอง และพฤติกรรมมากกว่า ถ้าเราตั้งเป้าที่เค้กที่ต้องทำได้ดีมากๆ ทุกขั้นตอน เราอาจจะได้เด็กที่เกลียดการทำเค้กเพราะถูกบังคับ มาแทน

ฟาร์มสุขวันนี้
คือการตัดสินใจวันนั้น

คุณพ่อสุมิต : ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ เราเองยังทำไม่ได้แล้วจะไปฝากให้คนอื่นทำ ให้หมอทำ ครูทำ มันไม่ใช่ ผมลาออกจากงานเพราะเหตุนี้แหละ ป.3 แล้วยังอ่านเขียนไม่ได้ ถ้าปล่อยไปอนาคตจะเป็นอย่างไร ผมเพิ่งสอบปริญญาโทได้กำลังจะเรียนต่อ ผมก็ไม่ลงทะเบียนและลาออกจากงานย้ายกลับมาที่นี่ การตัดสินใจนี้เกิดในช่วงไม่กี่เดือน จังหวะนั้นการงานก็เติบโตดี ที่ทำงานก็ทัดทานผู้ใหญ่บอกให้ทำคู่กันไปได้ไหม ผมทำไม่ได้ ทำอะไรผมทำเต็มที่ ลูกผมอยู่บ้านไม่มีคนดูแล บางทีเราต้องเลือก ถ้าเราเลือกที่จะทำงาน ลูกเราจะอยู่ต่อไปในอนาคตลำบาก เป็นภาระให้สังคม นี่เป็นความรับผิดชอบ บางคนโทษสังคม แต่ไม่ได้โทษตัวเอง ถ้าเราปล่อยเขาไปมีปัญหาแน่

เงื่อนไขของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่มีสูตรตายตัว ไม่มีอะไรช่วยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ความรู้เรื่องนี้ยังจำกัด คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจ เราอ่านและดูมาเยอะ บางเรื่องก็ยังไม่เข้าใจ ที่สำคัญคือเป้าหมาย เราจะช่วยเหลืออะไรเขา ต้องมีเวลา และ ต้องสังเกต ถ้าใครบอกว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ ครู หมอ หรือ นักจิตวิทยานี่ ไม่มีทางเลย ก่อนที่จะมาที่นี่เรารักษาตั้งแต่ก่อนขวบปีอีก พาไปฝึกที่ต่างๆ มากมาย แต่ความก้าวหน้าจำกัด เพราะเราไม่ได้มีเวลาช่วยลงรายละเอียด

ตะวัน (64)

ต้องมีความรับผิดชอบต่อเขา ปล่อยไปเขาก็จะอ่านหนังสือไม่ออก ประเทศไทยวัดคนที่การศึกษา การสอบ เกณฑ์ของรร.ต้องได้ อย่างน้อยให้เขาไปต่อได้ และสิ่งที่เน้นมากคือ ทักษะชีวิต เราทำไปพร้อมๆ กัน
ทักษะชีวิตไม่ใช่แค่ การหุงหาอาหาร ซักผ้า กวาดบ้าน เท่านั้น แต่ทักษะชีวิตหมายถึง อยู่คนเดียว แล้วต้องตัดสินใจเอง ที่จะกิน อยู่ คบกับเพื่อนอย่างไร โดนเขาเอาเปรียบหรือเปล่า เราเหมือนเป็นโค้ช ถามเขาว่า สีหน้าเพื่อนเป็นอย่างไร ได้ลองถามคุยกับเขาแบบนี้ไหม แนะให้เขาลองเอากลับไปใช้ที่ รร. คิดว่าตอนนี้เขามองออก ส่วนการตอบโต้เราก็ต้องสอน อยากให้ลูกเป็นแนวไหน ไม่ยอมใคร หรือ อันไหนเลี่ยงได้ก็เลี่ยง
เราไม่ยอมให้ใครเอาเปรียบ แต่เราก็ไม่ใช้วิธีรุนแรง ซึ่งก็ต้องให้ทางเลือกเขาหลายๆ แบบ เราเชื่อว่าลูกเราพื้นฐานเป็นคนจิตใจดี

คุณแม่ปุ้ม : ครอบครัวเราต่างคนต่างเป็นปัจจัยบวกให้กัน ตอนเด็กๆ ต้นน้ำ น้องชายของตะวันมีพี่เป็นไอดอลทางวิทยาศาสตร์ เพราะพี่จำตารางธาตุเก่ง ไปอุทยานวิทยาศาสตร์น้องจะภูมิใจว่าพี่ฉันรู้หมดทุกอย่าง ที่น้องยอมย้ายโรงเรียมาอยู่ที่นี่เพราะพี่มา เราเน้นเรื่องนี้ว่ามีกันแค่นี้นะ เขารักกันมาก เราบอกต้นน้ำเสมอว่าไม่ใช่แค่ให้ใครดูแลเรา เราเองต้องดูแลใส่ใจคนอื่นด้วย เพราะตะวันจะช่วยดูแลต้นน้ำตลอด เราอยากให้ต้นน้ำเขาดูแลพี่เขาด้วยในอนาคต ตะวันจะอาบน้ำเป็นคนสุดท้ายของบ้านและมีหน้าที่ดูแลปิดไฟปิดทุกอย่างให้เรียบร้อย เขาเป็นคนละเอียดและชอบความปลอดภัย ก็เอาจุดเด่นของเขามาสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเขาเอง

ตะวัน (94)

ในครอบครัวคุณพ่อทำอาหาร ทำให้ลูกรับรู้ว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น ร้านที่ทำเราก็ใส่ความรับผิดชอบต่อลูกค้า ใส่ใจในขั้นตอนการทำอาหาร ทำให้เขาซึมซับมาตลอดว่าการจะเป็นร้านอาหารคุณภาพก็ต้องมีวัตถุดิบที่ดี เมื่อลูกค้าเลือกเรา เราต้องตอบแทนเขาด้วยอาหารที่อร่อยและมีคุณภาพ การปลูกผักทำอย่างไรให้ได้ดี แม้ดินจะไม่ดี เราจะปรับปรุงให้ดีได้อย่างไร

ปรัชญาฟาร์มสุข :

ดินไม่ได้สมบูรณ์หมดทุกที่
แต่ทำอย่างไรให้ที่ที่เรามีอยู่
ทำประโยชน์ได้ดีที่สุด

เช่นเดียวกับที่ครอบครัวใช้เวลาดูแลกัน

จนเป็นฟาร์มสุขในวันนี้

ตะวัน (90)


ขอขอบพระคุณ : ครอบครัวประเสริฐ และ ร้านฟาร์มสุข (facebook: @FarmSukCafe)

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

Community, Featured

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ

โอเอซิส ‘กลางใจ’ ครอบครัวคนพิเศษ

เมื่อ 14 ปีก่อน …
คุณสนทนี นทพล (ครูปุ๊) เปิดโอกาสให้เด็กพิเศษได้เข้าเรียนร่วมในชั้นเรียนดนตรีเด็กเล็กของจินตการดนตรี (ซ.ชิดลม) และเปิดสอนดนตรีให้เด็กพิเศษทั้งแบบรายบุคคลและกลุ่มเล็กๆ ในบริเวณโรงเรียนอนุบาลกิตติคุณ (ในสมัยนั้น) โดยไม่ได้จบการศึกษาทางด้านดนตรีบำบัด และยังจัดให้มีครูสอนศิลปะให้เด็กพิเศษตัวเล็กๆ ได้ฝึกฝนวาดลงสีงานลงบนวัสดุต่างๆ ที่นำไปใช้งานได้จริง เช่น โต๊ะ เก้าอี้ การ์ด อวยพร ปฏิทิน มีงานนิทรรศการผลงานศิลปะและแสดงดนตรีของเด็กๆ เสมอ
คุณครูและเด็กพิเศษหลายครอบครัวมีความผูกพันต่อเนื่องยาวนาน ความที่คุณครูอารมณ์ดี เข้าถึงง่าย เป็นกันเองกับครอบครัว เข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นคนพิเศษ ที่สำคัญคือ เด็กพิเศษแต่ละคนชอบ และอยากมาหาครูปุ๊กันทั้งนั้น พวกเขารู้สึกเหมือนมีเพื่อน

จนกระทั่งวันหนึ่ง …
เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เหมือนเสียงเรียกจากเบื้องบนให้คุณครูต้องเริ่มภารกิจที่ไม่น่าจะเป็นไปได้
คุณแม่ท่านหนึ่งโทรมาหา “ไม่อยากอยู่ต่อไปแล้ว ถ้าจะไปก็จะเอาลูกไปด้วย”
คุณแม่อีกท่าน ถามว่า “นี่ถ้าลูกโตแล้ว จะอยู่ที่ไหน มีใครจะรองรับลูกพิเศษที่โตแล้ว พี่น้องได้ไปมหาวิทยาลัย แล้วลูกเราล่ะ ครูต้องทำอะไรสักอย่างนะ”

สิ่งที่คุณครูลงมือทำต่อจากนั้น คือ ริเริ่มก่อตั้ง มูลนิธิ ณ กิตติคุณ เพื่อเป็นพื้นที่ให้ครอบครัวและบุคคลผู้มีความต้องการพิเศษวัยผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถอยู่ในระบบการศึกษาหรือในสังคมโดยลำพัง ได้มีที่ฝึกฝน ทำงานพัฒนาตนเองพร้อมกับกลุ่มเพื่อนที่เข้าใจกัน ผ่านกิจกรรมดนตรี งานศิลปะ เบเกอรี่ เป็นสังคมเล็กๆ ที่ปลอดภัย เป็นที่พักเหนื่อยให้ครอบครัวและผู้ดูแล

มูลนิธิ ณ กิตติคุณ ในปี 2552 จากรายการหัวใจใกล้กัน : สุนทรียของเด็กพิเศษ

พ.ศ. 2561 มูลนิธิ ณ กิตติคุณ ไม่ได้ขยายงานใหญ่โต แต่ยังคงเป็น ‘โอเอซิสใจกลางเมืองหลวงสำหรับครอบครัวและบุคคลพิเศษ’ และเป็นผู้นำผลงานศิลปะฝีมือของบุคคลพิเศษออกจำหน่ายสร้างรายได้และความภาคภูมิใจแก่เจ้าของงาน ผ่านร้านห้องศิลปะ ณ กิตติคุณ ซึ่งผู้รักงานศิลป์ย่านหอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานครต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดี

จากประสบการณ์ทำงานกับเด็กพิเศษ ผู้ใหญ่พิเศษ และครอบครัวต่อเนื่องมามากว่า 14 ปี สิ่งที่ครูเห็นเสมอคือ สมองมีการเรียนรู้ มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ แม้ว่าบางอย่างอาจใช้เวลานานหลายปี แต่พวกเขา มีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นจริง ๆ

ณ กิติคุณ (85)
คุณสนทนี นทพล (ครูปุ๊)

“จากที่เคยสอนดนตรีมา
เราชอบสอนเด็กพิเศษมากกว่า
เพราะเราชอบวิ่งไปวิ่งมา (หัวเราะ) …

และเราชอบตั้งคำถามว่า
ถ้าเขาทำอันนี้ไม่ได้
แล้วจะทำอย่างไร? เขาถึงทำได้”

ถอดบทเรียน 14 ปี

คุณสนทนี (ครูปุ๊) : เดี๋ยวนี้งานต่างๆ ที่เคยทำอย่างนิทรรศการ คอนเสิร์ต เราไม่ได้ทำแล้วค่ะ คนเรามีน้อยและงานต้องใช้แรงในการเตรียมการเยอะมาก พบว่าความสำคัญของการทำงานกับบุคคลพิเศษ คือ แต่ละวันอยู่ได้อย่างมีความสุขไหม และ มีการเรียนรู้ใหม่ๆ อะไรบ้าง เราเห็นอะไรดีในตัวเขาเพิ่มเติมที่จะต่อยอดได้ นิดเดียวก็ยังดี บางคนคิดว่าอายุเท่านี้ ทำได้แค่นี้พอแล้ว แต่รู้ไหมว่าความเข้าใจหลังอายุ 25 จะดีขึ้นอีกเรื่อยๆ เพราะ บางอย่างมันอยู่ข้างในแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ปลดออกมาใช้

บางคนนั่งมาตลอดชีวิต ไม่ได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเลย กว่าจะให้เขาคลายมือและแขนที่หุบให้ออกมาได้บ้างนี่ ใช้เวลา 3 ปี แต่ในที่สุดเขาทำได้ เราต้องช่วยเขา ที่นี่เราให้เดินทุกวัน ออกกำลังทุกวัน อย่างพวกเครื่องเล่นนี่ เดี๋ยวนี้เขาทำได้หมด จากเดิมที่ไม่กล้าเลย การออกกำลังเป็นสิ่งที่คนพิเศษขาดไม่ได้ เพราะมันช่วยทำให้เขาเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ได้ดีขึ้น นี่เรื่องจริง สำคัญมาก ที่บ้านก็ควรให้การออกกำลัง เป็นเรื่องใหญ่

คนพิเศษที่อยู่ในมูลนิธิฯ มีทั้งเพิ่มเข้ามาและหายไปบ้าง คนที่มาเพิ่มก็ไม่ได้ให้มาทุกวัน แต่เราจะดูว่า มาวันไหนสภาพเหมาะกับเขา อย่างวันนี้มากันเยอะ ปกติ 30 คนจะสลับกันมา ที่นี่มันไม่ใหญ่มาก มีพื้นที่พอดีๆ ให้พวกเขาได้วิ่ง และเราดูแลทั่วถึง
กิจกรรมทุกๆ วันจะมี ดนตรี ศิลปะ ออกกำลังกาย เป็นหลัก วันพฤหัสฯ เพิ่มทำเบเกอรี่ขึ้นมา และเฉพาะ พฤหัสฯ และ ศุกร์ ช่วงบ่ายจะเป็นชั่วโมงให้เขาฝึกฝน ทำซ้ำสิ่งที่เรียนมาอีกหลายๆ ครั้ง

ห้องศิลปะ

เราเริ่มจากมีครูสอนสีน้ำ สิ่งที่เราแนะนำครูคือ งานต้องสวย สดใส ต้องพาใจให้อยากทำอีก โจทย์ขอแค่นี้ และเราไม่ขอให้สอนแบบบำบัด คุณคงหาครูสอนศิลปะบำบัดได้ยากมาก เราเองต้องค้นหาว่าวิธีใดเหมาะกับกลุ่มของเรามากที่สุด

ปัจจุบันที่นี่มีครูศิลปะ 4 คนหมุนเวียนมาสอน แต่ละคนมีสไตล์แตกต่างกัน
คนหนึ่งถนัดภาพคลาสสิคให้สอนทำงานเลียนแบบจิตรกรสมัยก่อน เราให้เขาได้เห็นงานสวยๆ แปลงภาพเหล่านั้นออกมาด้วยการทำซ้ำๆ ทำซ้ำจนบางคนที่อาจไม่เคยวาดชิ้นงานได้ในช่วงแรก สุดท้ายเขา ทำได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อทำภาพซ้ำได้เท่ากับเขาเริ่มทำงานได้แล้ว

ครูอีกคนใช้สีเก่งมาก สีสนุก และอยู่ในสมัยนิยมเสมอ อีกคนทำภาพที่มีการเคลื่อนไหวได้ดี ล่าสุดมีครูสอนวาดเส้น ครูจะเน้นให้เขาเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น โดยมีครูเป็นผู้แนะ บางคนอาจยังคิดเองไม่ออก แต่ก็มีบางคนคิดออกเราก็มีพื้นที่ให้เขาคิดและทำเองได้ บางคนที่มักวาดซ้ำๆ เช่น วาดเฉพาะ นก หรือ ปู เราก็ให้ดูภาพ อื่นๆ ให้จำภาพ และวาดออกมาเอง ในห้องเรียนนี้เราเห็นว่าเขามีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก แต่นั่นเพราะเขาถูกเตรียมมานานแล้ว นี่เป็นการย้อนกลับไปหาพื้นฐานของการวาด เรื่องการทำงานกลับไปกลับมา ข้ามขั้นตอนไปบ้าง กลับมาที่เดิมบ้าง เป็นเรื่องปกติของเรา การทำงานมีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นเสมอ  และถึงต้องใช้เวลา เราก็ยินดีรอและมุ่งทำต่อไป

ในส่วนของงานศิลปะหน้าที่ของครูปุ๊ คือดูพวกเขารายบุคคลและพูดคุยกับครูว่าใครควรให้งานอย่างไร หรือควรเพิ่มเติมปรับแนวทางการสอนอย่างไร เราเป็นคนเลือกชิ้นงานออกไปผลิตและจำหน่ายซึ่งช่วงแรกใช้วิธีการพิมพ์งานทำซ้ำออกมา แต่ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเราใช้งานต้นฉบับเลยเพราะเรามีเยอะมาก คือ เขามาอยู่ตรงนี้ 6 ชั่วโมง เขามีงานตลอด คนที่มาที่นี่ครั้งแรกจะไม่ชอบหรอก เพราะเราจัดงานให้ทำตลอด ต่างจากที่เขาอยู่บ้านเฉยๆ แต่พอมาทำทุกวันเขาจะรู้ว่า มาที่นี่คือมาทำงาน แต่เป็นการทำงานที่สบายใจ ไม่ได้หักโหม ทำ ๆ พัก ๆ

การออกกำลังกาย

หลานสาวของครูปุ๊ที่เป็นนักกีฬาเข้ามาช่วย เขาเติบโตมากับบุคคลพิเศษ มีบุคลิกที่ไม่ยอมแพ้ แม้คนพิเศษจะงอแง หรือไม่ยอม เขาก็จะช่วยจนทุกคนสามารถทะลุผ่านเป้าหมายไปได้ เราไม่ได้เรียนในลักษณะของกีฬาที่มีกติกา แต่เป็นการออกกำลังเพื่อช่วยกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ที่ต้องการการแก้ไขจริงๆ มีการปรึกษากับนักกายภาพที่ยินดีช่วยแนะนำให้

ห้องดนตรี

ครูปุ๊ได้หลานสาว หลานชายที่จบดนตรีจากม.มหิดล มาช่วยสอนดนตรี ในส่วนที่เน้นทักษะ ในเรื่องการเล่นเป็นวง เรื่องของจังหวะ การฟัง ให้ทำแล้วทำอีก ฝึกฝนให้ได้จริงๆ
ในส่วนที่เราสอนเองจะใช้เพลงร้องเพื่อช่วยการเรียนรู้ใหม่ๆ การออกเสียง การเปล่งคำ ความหมาย ท่าทางต่างๆ ทำอย่างไรให้มีลีลาดี ลื่นไหล สวยงาม เพราะคนพิเศษนั้นมักจะแข็งเกร็ง และมีข้อจำกัดในการทำท่าทาง ก็ต้องฝึกซ้ำๆ ดังนั้นพวกเขาเป็นคนกำหนดว่า เราควรทำเพลงออกมาอย่างไรเพื่อช่วยแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่

ณ กิติคุณre (11)

บางคนก่อนที่เราจะสอนเปียโน เขาควบคุมมือแทบไม่ได้ ผ่านไป 7 – 8 ปี เขาก็เล่นเพลงและจำเพลงได้ดีมาก เดี๋ยวนี้เราเล่นให้ฟัง 2-3 ครั้ง เขาจะเล่นตามได้ นิ้วทำเมโลดี้ได้เลย บางคนเดี๋ยวนี้อ่านโน้ตเป็นแล้ว ความอยากทำจะแสดงออกมาเองเมื่อเขาพร้อม บางคนใช้เวลา 7 ปี กว่าจะตีแทมเบอรีนได้

7 ปี 8 ปี 9 อยู่ที่เราแล้ว ว่าจะรอไหม จะท้อไปก่อนหรือเปล่า

จากการเล่นดนตรี เราดูว่าสมองทำงานไหม
ไม่ใช่ว่าเล่นดนตรีได้ไหม

จากที่นิ่งเฉย จนเริ่มมากระดิกนิ้วทั้งสิบนี่สำคัญมาก
เมื่อเราเห็นการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าสมองเขาเรียนนะ

ณ กิติคุณre (110)

ห้องเบเกอรี่

สิ่งที่ครูปุ๊ทำได้คือ ดนตรี และ ศิลปะ ทำแค่นี้ อย่างอื่นทำไม่เป็น นานมาแล้วเพื่อนฝรั่งขอเข้ามาสอนทำ เบเกอรี่ ตอนแรกเราเห็นว่าพวกเขายังเรียนไม่ได้ เราก็รอผ่านไป 7 ปี พอพวกเขาพร้อมแล้วจึงค่อยเริ่ม พร้อมหมายถึง นิ่งและฟังเป็น สามารถทำตามคำแนะนำได้ ห้องเบเกอรี่กลายเป็นห้องที่เรียนสนุกมากเพราะเมื่อจบจะมีของกิน …ต้องขอบคุณ คุณมาร์ซี่ มิโนมิยา เพื่อนแสนดีของเราชาวแคนาดา คุณยายที่หัวใจไม่ยอมแพ้ อายุกว่า 72 ปี แต่ยังมาเป็นโค้ชดูแล สอนเราอบขนม และสอนให้ครูของเราสอนต่อได้

ร้านของเรา

(โต๊ะเล็กๆ ในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร)

ณ กิติคุณre (100)

การมีร้านเป็นที่ปล่อยผลงานของพวกเขาเป็นเรื่องจำเป็น เราโชคดีที่ได้ ป้าติ๋ว มาช่วยดูแลร้าน ซึ่งเขามีสายตาเห็นงานแล้วรู้เลยว่าชิ้นไหนสวยคนน่าจะชอบ ป้าติ๋วเป็นคนที่เชียร์เก่งภูมิใจและรักสินค้าที่ทำจากมือบุคคลพิเศษและจริงใจมาก งานที่เลือกไปส่วนใหญ่ก็ขายได้ดี เราทำบันทึกว่าชิ้นไหนใครเป็นคนเขียนเพราะรายได้ต้องจัดสรรให้เจ้าของงานด้วย

ณ กิติคุณre (102)

ตัวครูปุ๊เองไม่ได้ทำงานนี้ตลอดเวลานะคะ จะสอนแค่วันละชั่วโมง เราจำเป็นต้องจัดสรรให้ชีวิตเรามีงานส่วนอื่นๆ มาหล่อเลี้ยงพลังสร้างสรรค์ ทำให้ชีวิตเราสนุก ก็มีทั้งงานเขียนหนังสือ เขียนคำประกอบการ์ตูนเป็นเรื่องราว อย่างหนังสือหรรษาลันลา นี้เป็นการรวมเพลงที่เราเขียน เพื่อใช้ในการสอนคนพิเศษและเด็กเล็ก ด้วยเป้าหมายต่างๆ กัน เช่น มีคำบางคำที่เขาพูดไม่ชัด เราอยากให้เขาพูดคำนี้ได้ ในเพลงเราจะให้ออกเสียงทำคำนั้นบ่อยๆ ถ้าคนมาฟังเพลง อาจสงสัยว่าทำไมคำซ้ำจังเลย แต่มันจำเป็นสำหรับพวกเขา หนังสือทำไว้สำหรับพ่อแม่หรือครูนำไปสอนเองได้ เราส่งให้โรงเรียน สถาบันต่างๆ ที่จะได้ใช้ ประโยชน์ และตอนนี้กำลังเขียนเล่มใหม่

สองมือ และ หัวใจ

โลกที่มีอินเตอร์เน็ต ทำให้เราเข้าไปหาความรู้เองได้ ตามอาการของบุคคลพิเศษที่อยู่กับเรา เราก็ไปตามเรียนมา และเรียนรู้จากผู้ปกครอง เวลาผู้ปกครองมาคุยเราต้องตั้งใจฟัง เพราะเขามีความเข้าใจมากกว่า เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับเขาทุกเรื่องก็ไม่เป็นไรเพราะเขาเป็นคนอยู่กับลูก แต่เราจะได้บางอย่างจากเขาเอามาปรับใช้กับลูกเขาและคนอื่นๆ การคุยเราคุยเป็นรายบุคคล เพราะแต่ละคนมีปัญหาต่างกัน บางบ้านมีการเปลี่ยนแปลง บางบ้านไม่เปลี่ยน ตัวเรามีเวลาแค่ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ใช่ 24 ชั่วโมงแบบคุณพ่อแม่ทุกคน

การทำงานกับเด็กพิเศษไม่ต้องการเทคโนโลยีมาก
เขาต้องการมือ กับ ใจ มากกว่า

ที่ผ่านมา เชื่อว่าพระเจ้าทรงเรียกให้มาทำ เพราะจริงๆ มันเป็นงานที่ทำสำเร็จไม่ได้ด้วยตัวเอง มันไม่ได้เข้ากับบุคลิกคนที่ใจร้อนอย่างเราที่เป็นคนที่คิดเร็วทำเร็ว งานนี้ต้องการคนที่ใจเย็นมาก มีความเข้าถึงใจคนอื่น เราเองเป็นคนแรกที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เราจึงจะช่วยเปลี่ยนคนอื่นได้

ยิ่งทำนานๆ ไป ก็เห็นว่า บุคคลพิเศษกับเราไม่ได้ต่างกันเลย เราเองไม่ได้เรียนรู้ได้ทุกๆ เรื่องนี่นา เขามีความสุขกว่าเราอีก ที่ทำงานมานี่ขอบอกว่าได้รับพระพร เขาไม่มีเรื่องอะไรทำให้เราเป็นทุกข์ใจ แบบที่เด็กวัยรุ่น บุคคลทั่วไปมี เราเดาพฤติกรรมของเขาได้ง่าย

ดีใจที่ชีวิตของเรามีพวกเขาเป็นเพื่อน
และเขาก็มีเพื่อนที่อยู่ใกล้กัน เล่น กิน เรียนด้วยกัน
แม้ไม่ต้องเอ่ยสักคำก็รู้ใจ

ณ กิติคุณ (79)


ขอขอบพระคุณ
มูลนิธิ ณ กิตติคุณ / หนังสือ หรรษา ลันลา และผลงานของบุคคลพิเศษ มีจำหน่ายที่ ห้องศิลปะ ณ กิตติคุณ ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ปทุมวัน / รายการหัวใจใกล้กัน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

People+

Byte Wood

Byte Wood : วงปีของไม้ที่โตช้า แต่แข็งแรง*

*ในปีหนึ่งๆ ไม้จะโตมากน้อยเพียงใด สังเกตได้จากวงปี คือ ถ้าโตเร็ววงจะซ้อนกันห่างๆ แต่ถ้าโตช้าวงจะซ้อนกันชิดมาก ไม้ที่มีการเจริญเติบโตสม่ำเสมอนั้นจะมีความแข็งแรงดีกว่าไม้ที่โตเร็วกว่าธรรมดา เพราะไม้ที่โตเร็วกว่านั้นเนื้อจะอ่อน ไม่แข็งแรง แต่ถ้าไม้โตช้า เนื้อไม้มักแข็งแรงมาก แต่เปราะ และหักง่าย

ที่มา : งานไม้ (Wood Work) ม.ราชภัฏสกลนคร 


Byte Wood คือ งาน Wood Workshop งานไม้ทำมือที่มีตั้งแต่ เครื่องใช้ ของตกแต่งบ้าน จนถึงเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็ก จากช่างไม้บุคคลพิเศษ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของ คุณอิทธิ ทักษิณวัฒนานนท์ (ไบท์) ช่างไม้ และ คุณอรพรรณ ทักษิณวัฒนานนท์ (แม่ไก่) ผู้ช่วยช่างไม้และนักออกแบบ

ไบรท์2 (93)

ก่อนเป็นช่างไม้

ในวัยเด็กช่างไบท์มีภาวะออทิซึ่มระดับไม่รุนแรง (แพทย์ใช้คำว่า Mild Autism) มีภาษาพูด ครอบครัวให้เข้าเรียนร่วมในโรงเรียนแนวทางการศึกษาวอลดอร์ฟ จนกระทั่งถึงระดับมัธยมศึกษาโรงเรียนให้คำแนะนำกับครอบครัวว่าควรให้ช่างไบท์ใช้เวลาฝึกทักษะชีวิตสำคัญๆ จะเป็นประโยชน์มากกว่าเรียนต่อในระบบ

22886018_2026790077597090_3931634206244176892_n

นับเป็นจุดเริ่มต้นที่คุณอรพรรณ (แม่ไก่) ตั้งคำถาม ค้นหาทางเส้นทางใหม่ และสุดท้ายเปลี่ยนแปลงตัวเองจนกระทั่งมี Byte Wood ในวันนี้

คุณอรพรรณ :  “ตอนที่ช่างไบท์ออกจากโรงเรียนช่วงแรกแม่ยังทำงานอยู่ ที่ผ่านมาเราก็ทำงานมาตลอดชีวิต มีหน้าที่การงานที่พอใจ การออกจากงานประจำมาประกบลูกนี่ มันนึกไม่ออก ไม่เข้าใจ ฉันทำไม่ได้หรอก และไม่เห็นประโยชน์เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ ซึ่งมันก็จริงกว่าจะทำได้อย่างวันนี้ก็ผ่านมาเป็นสิบปี มันต้องอาศัยอะไรหลายอย่าง  มองย้อนกลับไปในช่วงวัยเด็กมันเป็นแต้มต่อที่สำคัญมาก ถ้าพ่อแม่เข้าใจด้วยหัวใจจริงถึงประเด็นนี้ นี่เป็นช่วงทองของลูกเลย ถึงแม้ว่าช่างไบท์โชคดีที่มีภาษาสื่อสารได้ แต่อาการเบสิคแบบออทิสติกก็มีครบถ้วน เช่น การวิ่งไป วิ่งมา ไม่มองหน้าคน ทักษะการเชื่อมโยงประสบการณ์ต่างๆ ขาดๆ เกินๆ ซึ่งกว่าเราจะผ่านมาก็เหนื่อยยากและทุลักทุเลไม่น้อยเลย

ช่วงที่ออกมาจากโรงเรียนแรกๆ ก็พาเขาเรียนหลายอย่างดูว่าจะไปทางไหนได้ งานปั้น งานเซรามิก งานไม้ ซึ่งเขามีพื้นฐานเคยเรียนมาตั้งแต่อยู่โรงเรียนบ้างแล้ว อยู่บ้านเราก็สอนคณิตศาสตร์ (ที่เป็นส่วนที่เขาบกพร่องที่สุด) และวิชาการ อื่น ๆ แต่สอนกันแบบเครียดๆ นะ สุดท้ายพี่เลี้ยงที่เขาดูแลช่างไบท์ใกล้ชิดต้องกลับบ้านประจวบกับออฟฟิศงานออกแบบของเราที่ลงทุนกับเพื่อนปิดตัวลง เราจึงมีเวลา แต่ก็ยังมองไม่เห็นหนทางชัดเจน”

ค้นหา จนพบแสง

คุณอรพรรณ : “คิดว่ามันเป็นเรื่องชะตาลิขิต (destiny) ที่ทำให้เราออกเดินทางจนได้มาร่วมเป็นสมาชิกโครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเราเริ่มหยุดเดิน คือไปต่อไม่ถูกแล้ว แต่ก็ตั้งคำถามและคิดว่าเราต้องทำอะไรบางอย่าง เริ่มจากเสาะหาครูการละครบำบัดเพราะจำได้ว่าตอนอยู่โรงเรียนช่างไบท์ชอบเล่นละคร ซึ่งต้องให้แพทย์เขียนใบส่งตัว ปรากฏว่าจิตแพทย์ที่เราพบเป็นเพื่อนผู้ปกครองโรงเรียนเดียวกัน ก็แนะนำคนนั้น คนนี้ แนะต่อๆ กันมาจนได้พบ น้าแมว (แม่เปา โครงการอรุโณทัยฯ) ทุกวันนี้ช่างไบท์ก็ยังไม่ได้คิวพบนักละครบำบัดเลย แต่กลายมาเป็นช่างไม้ซะแล้ว

สามปีที่ผ่านมาการที่แม่และช่างไบท์มาที่โครงการอรุโณทัยฯ เกือบทุกสัปดาห์ มันคือการเดินทางเป็นร้อยๆ ครั้ง เพื่อมาเรียนรู้ ซึมซับ สิ่งที่น้าแมวทำให้เราดู ซึ่งคิดว่าสำคัญมาก เราค่อยๆ เปลี่ยนแปลงมีสายตาที่มองเห็นและยอมรับลูก อย่างที่เขาเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้เป็น จากที่นี่”

เส้นทางช่างไม้

คุณอรพรรณ : “ช่างไบท์เขาไม่สนใจงานปั้นดิน หรือทอผ้า ของน้าแมวเลย แต่ช่วงนั้นเขาฮิตแต่งเรื่องแต่งนวนิยาย เขาชอบภาษาที่สละสลวย และมีคลังคำเยอะจากการที่เราอ่านวรรณกรรมให้เขาฟัง หัดให้เขาอ่านออกเสียงเอง เราช่วยฟัง ช่วยแก้คำ จนเขาอ่านเขียนเองได้ ไปไหนก็หนีบแฟ้มนิยายไปด้วย วันที่มาพบน้าแมวเขาไม่ทำงานอื่น แต่ขอให้น้าแมวอ่านและแนะนำก็เลยตกลงกันว่า น้าแมวจะอ่านให้ในฐานะบรรณาธิการเรื่อง โดยช่างไบท์ทำงานไม้แลกเปลี่ยนกับค่าจ้างอ่านต้นฉบับ เป็นตู้ไม้ใส่กรวยไหมจำนวน 1 ตู้ ต่อค่าบรรณาธิการ 10 ตอน ซึ่งเรื่องแรกจบไปที่ 104 ตอน

ดังนั้นทุกวันพฤหัสฯ แม่และช่างไบท์จะมาที่โครงการฯ เปิดเวิร์กชอปงานไม้เพื่อทำตู้ไม้ให้น้าแมว ต่อมาน้าแมวให้ช่างไบท์สอนจิตอาสาที่เข้ามาทำงานกับบุคคลพิเศษในโครงการฯ ทำงานไม้ เริ่มด้วยทำกล่องใส่จดหมาย ซึ่งอาสาเขาไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานไม้เลย เริ่มตั้งแต่ ตัดไม้เอง ขัดไส  ตอกตะปู ซึ่งช่างไบท์สอนได้เพราะเราทำต้นแบบขึ้นมาเองที่บ้านก่อน ก็ถือเป็นการเกิดงานชิ้นแรกๆ ของ Byte Wood”

จุดเปลี่ยน คือแม่

คุณอรพรรณ : “การเปลี่ยนแปลงเริ่มจาก เรายอมรับเขาอย่างแท้จริง  พูดอย่างนี้เหมือนประโยคง่ายๆ ที่เราก็รู้กันอยู่แล้ว เป็นลูกเราจะไม่ยอมรับได้อย่างไร แต่ไม่ใช่เลย

ก่อนนี้เรายังคิดอยู่เสมอว่า
วันหนึ่งเขาจะเปลี่ยนไป อาจจะหายดี เขาจะเรียนจบอะไรซักอย่าง จะกลายเป็นชายหนุ่มที่มีอนาคตมั่นคง เราคงต้องรอ ชายหนุ่มคนนั้นเดินกลับมา จากที่ไหนซักที่หนึ่งเท่านั้น

แต่วันที่ประจักษ์แก่ใจ ว่าจะไม่มีชายหนุ่มคนนั้น มีเพียงคนๆ นี้
มันคือช่วงเวลาง่ายๆ นะ คือทะเลาะกัน โกรธกันอยู่ เรายังไม่เลิกลา แต่เขาโผล่หน้ามา “แม่กินข้าวกัน” นี่เขาจบไปแล้ว ไม่ได้เก็บอารมณ์อะไรมาเลย วินาทีนั้น เราประจักษ์เลย

เขาเป็นของเขาอย่างนี้มานานแล้ว เป็นตลอดมา
และจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป นี่คือเขาไง

จังหวะแบบนี้เราต้องนิ่งมากพอที่จะเห็น ซึ่งไม่มีทางเลย ถ้าเรายังมีงานอื่นพะรุงพะรัง เป็นจุดที่เราเลิกผลักเขาไปเป็นคนอื่น ซึ่งไม่ใช่ปล่อยปละละเลยนะคะ แต่ยอมรับสิ่งที่เขาเป็น และช่วยให้เขาดีขึ้น”

ไบร์ท (40)

ช้าๆ สะสมวงปี

คุณอรพรรณ : ความกังวลของพ่อแม่คือเริ่มแก่แล้ว ช่วงแรกเราพยายามให้ Byte Wood เป็นกิจการของเขาคนเดียว เขาต้องทำเอง เรียนรู้เอง ให้ซื้อไม้ เลือกคัดไม้เอง ตอนนั้นยังไม่เก่งเท่าตอนนี้ด้วยนะ งานไม้ไม่ใช่แค่ใช้เครื่องมือเป็นก็เป็นช่างไม้ได้ งานมันประกอบกันหลายอย่างมีการจัดการเยอะมาก ซึ่งเป็นกระบวนการเบ็ดเสร็จ ช่างไม้ทั่วไปเขาเรียบเรียงและยืดหยุ่นได้ แต่ช่างของเราเขายืดหยุ่นไม่ได้  ไม่มีไม้ คือไม่มีไม้ ทำงานต่อไม่ได้

แต่เพราะคำพูดน้าแมวที่ว่า “เรามีเวลาอีกเยอะช้าหน่อยก็ได้ไม่ต้องรีบ” ทำให้เราเลิกเร่งรัด เลิกกระวนกระวาย

บางอย่างเราก็เลยถอย บางครั้งเตรียมของให้หมด บางครั้งก็ให้เขาเตรียมเอง  เราตื่นมาทำงานซ้ำๆ ทุกวัน ซึ่งมันไม่ได้ดีขึ้นทุกวัน บางวันก็เตรียมของมาครบ บางวันก็ขาด ทำงานไม่ได้เลย ก่อนหน้านี้เราไม่เข้าใจก็โมโห ลุกเป็นไฟ แต่พอเราเห็นว่าเขาพัฒนา เขาต้องเรียนรู้ในการทำซ้ำๆ ทำให้เรามีกำลังใจ คลายความเครียด นี่คือตัวอย่างการทำงานที่ครอบครัวต้องทำงานเอง น้าแมวหรือโครงการฯ ทำหน้าที่นำทางเท่านั้น

ตอนนี้เรามีแค่บทบาทเดียว คือแม่ของช่างไม้ ช่วยช่างไม้ทำงาน ออกแบบโครงสร้างที่ง่ายต่อเขา เราเปลี่ยน ลูกก็เปลี่ยนตาม แรกๆ พ่อของลูกไม่ค่อยเห็นด้วยที่เราลงไปประกบการทำงานของลูกมาก แต่เราเองก็กำลังเรียนรู้บทบาทที่พอเหมาะเหมือนกัน ทุกวันคือการเรียนรู้หมด พอทำแล้วปรับออกมาเหมาะสม พ่อเขาก็เข้าใจมากขึ้น

สิ่งที่เราเปลี่ยนไป คือยอมรับว่าตัวเองแก่แล้วก็จริง แต่ยังไม่รีบตาย วันนี้ พรุ่งนี้ และ ต่อจากนี้ไป ชีวิตเราไม่มีงานอื่นนอกจากงานนี้ และเราฝึกรู้จักรอ การดูแลงาน บางมิติต้องปล่อยเขา บางมิติต้องเข้าไปกำกับ บางจังหวะต้องทับซ้อน มันเป็นศิลปะการใช้จังหวะ

เจ้าไม้เนื้อแข็ง

คุณอรพรรณ : “เราจบมาทางด้านออกแบบตกแต่งภายใน ได้เรียนงานไม้นิดๆ หน่อยๆ ซึ่งไม่ชอบเลย พอมาเป็นผู้ช่วยช่างไม้ก็ต้องเขียนแบบ แรกๆ หนึ่งแผ่นมีรายละเอียดทุกอย่างในนั้น ต่อมาค่อยย่อยทีละขั้น ให้มันดูง่าย ตามคำแนะนำของน้าแมว ที่เห็นว่าช่างไบท์เขาดูและเข้าใจได้ทีละภาพ เราจึงเปลี่ยนวิธีเขียนเป็น 1 ภาพ ต่อ 1 แผ่น แม่เองซะอีกที่งานขึ้นเป็นตู้แล้ว ยังมองลูกไม่ออกเลย

เราค่อยๆ ค้นพบวิธีทำงานที่เหมาะกับเขามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ยืดหยุ่นเวลาทำงาน จากตามเวลาเป๊ะเหมือนออฟฟิศ ก็ปรับ เพราะเขามีความสุขกับการเตรียมทำอาหารกลางวัน ซึ่งพ่อจะกลับบ้านมาทานด้วยกัน มีช่วงหย่อนใจ นอนพัก พอตื่นมาบ่ายแก่ๆ นี่คือช่วงไพร์มไทม์ของเขาที่ทำงานได้ยาวๆ

ไบรท์2 (24)

การทำงานเขานึกเองทั้งหมดไม่ได้ เราก็ตั้งคำถามไปเรื่อยๆ เช่น จะทำงานนี้ ต้องใช้อะไรบ้าง ต้องซื้อไม้อะไรบ้าง ไม้เรามีพอไหม ให้ไปเดินดูในชอปก่อน ซึ่งแต่ก่อนตอบไม่ได้เลย เดี๋ยวนี้ตอบได้ว่ามีของอะไรอยู่บ้าง มาถามเราว่าเอามาปรับใช้ขึ้นงานนี้ได้ไหม ระยะนี้พัฒนามาเป็น คำถามให้คิดวางแผนขั้นตอนการทำ

เครื่องมือที่ใช้ไฟฟ้า ตอนนี้เขาควบคุมเองได้หลายชิ้น เพราะตัวแม่ลองใช้เองแล้วรู้ว่าปลอดภัย การใช้เครื่องมือไม่ว่าจะเป็น Hand tool หรือเครื่องมือไฟฟ้า ในการทำงานทำให้เขาตื่น รับรู้ ผ่านการทำงาน ตัดไม้มาอันนี้ฉากไม่ฉาก ขนานไม่ขนาน เขาวัดได้ เลือกลายไม้ได้ เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นในวันที่เราเลิกจู้จี้ เขาจัดการปัญหาเล็กๆ ได้ ในวันที่เราปล่อยให้เขาทำ ซึ่งเป็นผลจากการที่เราทำซ้ำบ่อยๆ ด้วยกัน

สิ่งที่เราเห็นคือ เขาทำงานละเอียดขึ้น และสิ่งที่เราให้ความสำคัญคือ “วันนี้เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง” ลองผิดลองถูกยอมที่จะเสียไม้ไปเยอะ เขาตื่นเต้นกับงานที่ทำได้ดูดีขึ้น ดูเป็นเฟอร์นิเจอร์จริงๆ มากขึ้น แต่ถึงมีงานมารอคิว ต้องเร่งให้เสร็จ เขาก็ยังเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือกิจวัตรไม่ได้ สิ่งที่พัฒนาขึ้นมาหน่อยก็คือ พอลูกค้าตามงาน เดี๋ยวนี้รู้จักพูดต่อรองการส่งงานเป็น

This slideshow requires JavaScript.

ทุกวันนี้เราสนุกสนานในการออกแบบ แก้ปัญหา ทำโครงสร้างอย่างไรให้เขาทำงานได้ การทำเวิร์กชอป  Byte Wood ทำให้ลูกอยู่ได้ทั้งในแง่อาชีพ และ ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ นี่คือวิถีที่เราอ่านจากที่น้าแมวทำให้ดู อยากให้ลูกยืนได้อย่างมีศักดิ์ศรี แม่ต้องหยุดสิ่งที่เคยเป็น เคยทำ และเคยยึดมั่น มาลงมือทำงานพัฒนาตัวตนด้วยกันกับลูก ซึ่งต้องทำแบบมีทิศทางคือ มีกัลยาณมิตรมีรูปแบบทำให้ดู

ไบรท์2 (82)

ลูกคือผู้ที่มาบอกเราและครอบครัวว่า ชีวิตมันมีอีกมิติหนึ่งเป็นอย่างนี้นะ ถ้าไม่มีเขาเราไม่มีทางได้พบมิตินี้ ภารกิจในชาติภพนี้ของเขาคือ พาครอบครัวเดินทางออกมาจากวังวนอลเวงที่เคยเป็น มาตรงจุดนี้ ณ วันนี้

Byte wood คือ การทำงานของเขาและครอบครัว คู่กันไปจนกว่าจะหาไม่”


Byte Wood ยินดีรับงานสั่งทำพิเศษตามความต้องการของลูกค้าซึ่งงานทำมือแต่ละชิ้นนี้ต้องใช้เวลารอคอยมากกว่าการซื้อของจากร้านหรือโรงงานทั่วไป เช่นเดียวกับเส้นทางการค้นหาความหมาย คุณค่าของชีวิต และภารกิจของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้และลงมือทำบนความเชื่อมั่นว่า “นี่คืองานที่คุ้มค่าต่อการทุ่มเทและรอคอย”

ไบรท์2 (45)

รู้จักช่างไม้ คุณอิทธิ ทักษิณวัฒนานนท์ (ไบท์)

อาชีพ ช่างไม้  “ผมพอทำมาหากินได้ได้ฮะ ทำตามแบบก็เข้าใจอยู่ ไม่ยากมาก …ถ้าไม่มีแบบ ออกแบบเองก็พอได้บ้าง เคยลองทำหลายครั้ง แต่ออกมาเกือบเละ”

ไบรท์2 (44)

งานอดิเรก 

ผมคิดแต่งเรื่องต่างๆ อยากสร้างตัวละคร อยากให้คนรู้จักตัวการ์ตูนของผม เป็นเล่ม เป็นแฟนอาร์ต ชอบเขียนเรื่อง ไม่ถนัดวาดรูปเท่าไหร่ ตอนนี้อยู่ระหว่างการหาโครงเรื่องใหม่

ชอบทำอาหาร มีเมนูอร่อยคิดเอง ตอนเริ่มทำอาหารก็ลองทอดไข่ให้แม่ เมนูเด็ดใบแนมหูเสือผัดกับหมูปั้นเป็นก้อนกลมๆ กับเมนูใบยี่หร่าผัดกับเอ็นไก่ บ้านเราปลูกยี่หร่าเอง

ท่องโลกอินเตอร์เน็ต ผมชอบไปหารูป ดาวน์โหลดรูปมาเก็บบ้าง ชอบรูปอาร์ต อ่านมังงะ หาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต อ่านข่าวสารต่างๆ ชอบช่องคอมมิคเวิร์ด เวลาอ่านข่าวบางทีผมไม่อยากเชื่อว่า ในโลกนี้เรื่องแค่นิดเดียวก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ในโซเชียล มันต้องมีการควบคุม คนทำอะไรนิดนึงก็วิจารณ์ก็เป็นข่าวแล้ว ผมพยายามไม่ให้เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้น หลีกเลี่ยงตัวเองไม่ให้เกิดขึ้น

ไบรท์2 (91)

เพื่อน “ผมไม่ค่อยคุย เป็นพวกเก็บเนื้อเก็บตัว คือไม่ได้เดือดร้อนพยายามหา ตอนไปห้างฯ ผมทำตัวเฉยๆ ไม่อยากให้คนมาจ้อง วันหยุดผมก็ไปทานข้าว ดูหนังกับครอบครัวบ้าง”

IMG_7933


ขอขอบพระคุณ

Byte Wood (fb : @Bytewoodwork) และ โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

Community

โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ

ฉันคิดว่าโครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษเกิดจากเจตจำนงของแม่คนหนึ่งที่ได้รับของขวัญล้ำค่าที่มีพลังมาก เมื่อเธอโอบกอดรับพลังนั้น จึงได้จุดตัวเองเป็นแสงสว่างนำทางชีวิตครอบครัวคนพิเศษของเธอ และแสงนี้ยังสว่างมากพอสำหรับครอบครัวคนพิเศษอื่นๆ ที่มองหาการนำทาง เธอยังเปิดประตูชักชวนผู้คนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งการเยียวยาและเกื้อกูลกัน

แม้วันนี้ของขวัญสำคัญนั้นได้เดินทางจากไปสู่ดินแดนที่งดงามแล้วก็ตาม  

บันทึกบทสนทนา คุณขนิษฐา ชาติวัฒนานนท์ (แม่เปา) ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ  (แม่เปา คือชื่อที่ คุณแมว หรือคุณขนิษฐา ชาติวัฒนานนท์ ใช้เรียกแทนตัวเองที่เป็นคุณแม่ของลูกเปานั่นเอง

การเดินทางที่ยาวนาน

“แม่เปาสนใจ Curative Education (การศึกษาเพื่อการเยียวยา)  เพราะต้องการดูแลลูก ซึ่งช่วงวัยเด็กเล็กถึง 10 ขวบเคยใช้การดูแลแนว พฤติกรรมนิยม Applied behavior analysis (ABA) แต่ลูกไม่พัฒนาขึ้น และแม่ก็รู้สึกคัดค้านสิ่งที่ตัวเองทำทุกอย่างเลย แต่ตอนนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จนกระทั่งมีโอกาสพาลูกไปเข้าแค้มป์ดนตรีบำบัดที่โรงเรียนแสนสนุกไตรทักษะ 10 วันอย่างต่อเนื่อง เราตื่นเต้นมากเพราะลูกตอบสนองต่อเสียงที่นักดนตรีบำบัดทำเป็นครั้งแรก”

การแสวงหา “การศึกษาเพื่อการเยียวยา” ในหลักสูตรต่างๆ ที่คุณขนิษฐานำตัวเองเข้าไปเรียนรู้ทำให้เธอได้รู้จักกับ ดร.อรุโณทัย ไชยช่วย (ครูเอ๋) ซึ่งตอนนั้นยังศึกษาอยู่ในต่างประเทศ และเดินทางกลับมาเป็นล่ามให้กับอาจารย์ของเธอซึ่งเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง แค้มป์ฮิล (Camp Hill)

“พอได้ฟังเรื่องแค้มป์ฮิล ตอนนั้นบอกตัวเองว่า นี่คือโลกในฝันของเราเลย ลูกเราจะอยู่ได้ที่นี่ …  ครูเอ๋เรียนและมีประสบการณ์ทำงานจึงเป็นคนไทยที่เข้าใจและแปลได้ดีมาก ช่วงนั้นแม่เปาก็ตามไปเรียนหัวข้ออื่นๆ กับอาจารย์และครูเอ๋ทุกที่ จนได้รู้จักกัน เอ่ยปากขอให้ครูเอ๋เป็นที่ปรึกษาเรื่องลูกเปา ซึ่งตอนนั้นครูเอ๋ต้องกลับไปเรียนต่อที่เยอรมันและไม่มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษามาก่อน แต่ก็ยินดีที่จะให้คำปรึกษาทางไกลโดยไม่รับเงิน เพราะวันนั้นลูกเปาเดินไปจับมือครูเอ๋”

15727288_1868779636689787_8185566242322380354_n

“ลองนึกถึงการติดต่อเมื่อสิบกว่าปีก่อน ยุคก่อนอินเตอร์เน็ต เราติดต่อกันด้วยจดหมายและโทรศัพท์ทางไกล ซึ่งแพงมาก แม่ก็ใช้การเขียนจดหมายปรึกษากันเรื่อยๆ ครูเอ๋ส่งเอกสาร ส่งหนังสือมาให้อ่าน สมัยนั้นแม่ต้องเปิดดิกชันนารีทุกคำ อ่านจนรู้เรื่องและลองเอามาทำกับเปาดู พอมันได้ผลก็ยิ่งศึกษาใหญ่เลย ทีนี้ไม่ว่ามีคอร์สอะไรที่เกี่ยวข้องกับ Curative Education ก็ลงเรียนหมด สตางค์ไม่มีก็ยืมเพื่อน เวลาเข้าเรียน เพื่อนก็ช่วยดูแลลูกให้ เขาบอกว่ากลับมาสอนลูกฉันด้วยก็แล้วกัน (เพื่อนคือคุณยุ้ย คุณแม่ของซานโต๊ส)”

โรงเรียนไตรทักษะจัดการศึกษาวอลดอร์ฟดังนั้นในช่วงแรกเริ่มจึงเชิญวิทยากรจากต่างประเทศเข้ามาให้ความรู้ทั้งผู้ปกครองและครูอย่างต่อเนื่อง  แม่เปาเป็นครูอาสาของมูลนิธิสถาบันแสงสว่างก็ขอเข้าเรียนด้วย พร้อมทั้งยังคงปรึกษาครูเอ๋อยู่สม่ำเสมอ

“ครูเอ๋แนะนำให้ทำ ยูริทมี่บำบัด กับลูกเปา เราก็ได้นักยูริทมี่บำบัดชาวเยอรมันที่พำนักในประเทศไทย ซึ่งระหว่างที่พาลูกไป แม่ก็มีโอกาสพูดคุยสอบถามข้อสงสัยต่างๆ ทั้งที่เราอ่านมาลองทำกับลูก หรือที่ครูเอ๋แนะนำมา ท่านก็ช่วยนิเทศก์ให้ เราทำอยู่อย่างนี้หลายปี เรียนไปและเอามาทำงานกับลูก สงสัยอะไรก็ถามครูเอ๋ (จนเริ่มเข้าสู่ยุคมีอินเตอร์เน็ต) นอกจากเอามาใช้กับลูกตัวเองได้ผลแล้ว ก็ลองกับลูกเพื่อน และเด็กๆ ที่เราไปเป็นครูอาสา ก็พบว่ามันได้ผลทุกคนเลย…”

“พอลูกเริ่มโตขึ้นเราจะดูแลต่ออย่างไรดี ได้รับคำแนะนำว่า ชุมชนบำบัด (Social Therapy) ไง แม่ก็รื้อฟื้นหาข้อมูลเรื่องแค้มป์ฮิลอีกครั้ง นอกจากศึกษาจากเอกสาร ตอนนั้นแม่เปาทำเวิร์กชอปทอผ้ากับผู้ปกครองกลุ่มเล็กๆ ก็มีนักการศึกษาแนวทางมนุษยปรัชญาต่างประเทศมาดูงานที่เราบ่อยๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากแค้มป์ฮิลด้วย เราจึงมีโอกาสพูดคุยปรึกษาเขาเพื่อได้ข้อมูลแนวทางการจัดการ พอเห็นงบประมาณที่เกิดจากการสนับสนุนจากภาครัฐของเขา เราก็ประมวลได้ว่าเมืองไทยโอกาสเกิดแค้มป์ฮิลนี้ยากมาก ดังนั้นถ้าเราจะทำชุมชนบำบัดจริงๆ เราต้องลงมือทำเองในแบบของเรา

การเดินทางมาถึงจุดสะดุดเมื่อกรุงเทพฯ เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ (ปีพ.ศ.2554) เวิร์กชอปทอผ้าของแม่เปาที่อยู่ย่านบางบัวทองเสียหายหนักมาก ปัญหาทางการเงินติดตามมา จนแม่เปาคิดที่จะยุบทิ้งทุกอย่าง แต่ครูเอ๋แนะนำให้เก็บกี่ทอผ้า อุปกรณ์ต่างๆ เอาไว้ก่อน และสัญญาว่าจะกลับมาช่วยเมื่อได้เวลากลับเมืองไทย

แม่แมว (9)

อรุโณทัยคือแสงยามเช้า

ปีพ.ศ. 2556  โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษก่อตั้งขึ้น โดยมีคุณขนิษฐา (แม่เปา)  คุณรามล ลิมปิสุข (ยุ้ย หรือคุณแม่ของซานโต๊ส) และ ดร.อรุโณทัย (ครูเอ๋) โครงการฯ ขอใช้ชื่อจริงของครูเอ๋ เพื่อเป็นการบูชาครูอีกทั้งยังงามทั้งรูปคำและความหมาย จากนั้นใช้เวลาระหว่างปี พ.ศ. 2557 –  2559 หาสมาชิกร่วมก่อตั้งครบ 9 ครอบครัว

img_7909

“เราค่อยๆ เริ่มรับสมัครสมาชิกครอบครัวมีเข้ามา และก็มีออกไป การคัดเลือกครอบครัวเราใช้งานทอผ้า งานปั้น งานไม้ เป็นงานที่เชิญชวนพ่อแม่ที่สนใจอยากให้ลูกทำเป็นตัวดึงให้เข้ามา ซึ่งการคัดกรองเราไม่ได้เลือกจากการคุยสัมภาษณ์เท่านั้น แต่เราจะเห็นชัดเจนตอนใช้เวลาทำงานร่วมกัน

เราทำความเข้าใจกับทุกครอบครัวก่อนว่า เมื่อเข้ามาร่วมโครงการฯ แล้วจะทำอะไรบ้าง หนึ่งเราไม่ได้รับดูแลลูก สองการทำงานคือ บทบาทของพ่อหรือแม่ต้องมาทำงานด้วยกัน ซึ่งมาถึงตรงนี้ ในปีแรก 100% ไม่มีครอบครัวไหนเอาเลย (หัวเราะ) ส่วนใหญ่ที่เราพบ เขามาเพราะอยากได้คนช่วยดูแลรับเลี้ยงลูก

สำหรับครอบครัวสมาชิกที่เข้ามาและทำงานร่วมกันได้เป็นส่วนน้อยนี้ เขามีมุมมองอยากสนับสนุนให้ลูกเป็นมนุษย์ที่ใช้ศักยภาพของตัวเองให้มีคุณค่า และอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ ครอบครัวมีแนวทางการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องและมีคุณค่าด้วยเช่นกัน” 

ชุมชนบำบัด(ในบริบทไทย)

“ถึงเราไม่มีแค้มป์ฮิล แต่แนวคิดนี้หัวใจสำคัญคือ “การอยู่ด้วยกันอย่างเจริญและเป็นประโยชน์ต่อโลก” ดังนั้นภารกิจหลักของโครงการฯ เราคือ “ทำให้การใช้ชีวิตของลูกพิเศษมีคุณค่าต่อตนเอง คนรอบข้าง และโลก ครอบครัวดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข” นี่คือเป้าหมายซึ่งทำตามหลักการศึกษาบำบัด ชุมชนบำบัด ในแนวทางมนุษยปรัชญาซึ่งเรามีครูเอ๋เป็นผู้ดูแลทางวิชาการ ภารกิจงานเแบ่งออกเป็น งานบุคคลพิเศษวัยเรียน ผ่านการอบรมผู้ปกครอง และ ครู งานบุคคลพิเศษวัยผู้ใหญ่ เป็นงานฝึกอบรม (training) เพื่อพัฒนาบุคคลพิเศษ (อายุ 16ปีขึ้นไป) และพ่อแม่

ในรายละเอียดปฏิบัติเราไม่ยกเอารูปแบบของต่างประเทศมาเป็นก้อน แต่ออกแบบปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยและข้อจำกัดที่เรามี ฉะนั้นเราไม่มองว่าจะทำแค้มป์ฮิลที่นี่ แต่ทำอย่างไรเพื่อให้เขาอยู่กับครอบครัวได้อย่างปกติสุข ซึ่งมีสองเรื่องที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมเรา คือ ครอบครัวไทยลูกอยู่บ้านจนโต ยิ่งเป็นลูกพิเศษเขาไม่ออกไปไหนแน่ อีกข้อหนึ่งคือ คนไทยเป็นคนใจบุญสุนทานชอบช่วยเหลือ ดังนั้นการประกาศรับอาสาสมัครเข้ามาทำงานร่วมกับบุคคลพิเศษจึงเป็นช่องทางที่นำสังคมภายนอกเข้ามาหา

การทำงานโครงการอรุโณทัยฯ จึงทำงานจัดกระบวนการกับ ครอบครัว สมาชิก (บุคคลพิเศษ) งานที่เกิดขึ้นเป็นไปตามสมาชิกรายบุคคลที่เข้ามาตามแผนพัฒนารายบุคคลบวกแผนพัฒนาครอบครัว เราจะคุยกับครอบครัวสมาชิกว่า ลูกมีเป้าหมายในชีวิตเป็นอย่างไร และทำแผนพัฒนาแต่ละปีเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น มีครูเอ๋เป็นผู้ตรวจแผน แม่เปาเป็นผู้จัดกระบวนการ การที่เราจะพัฒนาลูกเป็นไปตามเป้าหมาย เงื่อนไขใหญ่ที่สุดคือพ่อแม่ต้องเปลี่ยนแปลงด้วยก็เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย

สำหรับอาสาสมัคร หรือคณะนำทาง เมื่อเราทำแผนจัดกระบวนรายบุคคล แน่นอนว่าการพัฒนาทักษะทางสังคมเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับลูกทุกคน ดังนั้นการเปิดรับอาสาสมัครเข้ามาทำงานในโครงการฯ คือ การเอาสังคมเข้ามาหาลูกเรา บทบาทของอาสาสมัครสร้างสัมพันธภาพแบบเพื่อนร่วมงาน ต่างคนต่างทำงานกันไป  ผ่านงานทอผ้า งานปั้น งานไม้

แม่แมว (4)แม่แมว (5)แม่แมว (8)

แม่เปาดูแลอาสาสมัครเหมือนดูแลลูกอาจมีสัมพันธภาพที่เราจัดให้ เช่น สมาชิกของเราต้องสอนงานทอผ้าหรืองานไม้ที่เขารู้ให้อาสาสมัคร บทบาทของสมาชิกคือแชร์ในสิ่งที่เขารู้ อาสาสมัครแชร์ ใจ สัมพันธ์ ไมตรี อัธยาศัย แชร์ตัวอย่างบุคลิกภาพที่ดีของเพื่อน นี่เป็น Social Therapy ที่เราจัดให้

กระบวนการเตรียมอาสานี่เรารับตั้งแต่ปีแรก ก่อนมีสมาชิกคนแรกมาฝึกงาน เราต้องฝึกอาสาสมัครให้เข้าใจก่อน เพราะนี่มันเป็นสิ่งใหม่ พื้นฐานจิตใจอาสาที่เข้ามาทุกคนนี่อยากทำบุญ สร้างกุศล แต่เราไม่ได้ให้เข้ามาทำกุศล คุณไม่ต้องช่วยเหลือเขาหรือสงสาร แต่เอาสิ่งที่คุณมีดีๆ มาแชร์กัน

คุณภาพของอาสาสมัครที่ต้องการคือ ใจสงบ แต่กว่าจะทำให้ใจสงบกันได้ก็ต้องทำงานด้วยกันหลายครั้ง เพราะอาสาสมัครส่วนใหญ่มาด้วยจิตใจอันวุ่นวาย (หัวเราะ) มาด้วยการสื่อสารเกาะตัวมา เราขอสามชั่วโมงไม่ใช้โทรศัพท์นี่เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องต้องมาทำความเข้าใจกัน

img_7908

เราจัดอาสาสมัครให้มาสัปดาห์ละครั้งเหมือนกับลูกเรา พยายามให้เจอคนเดิม เพราะกว่าลูกเราจะมองเห็นอาสาสมัครก็ใช้เวลาหลายครั้ง กว่าอาสาจะใจสงบได้คุณภาพก็ใช้เวลาหลายครั้ง การสร้างสัมพันธภาพก็อีกหลายครั้ง เราจึงขอให้อาสามาทำงานติดต่อกันอย่างน้อย 15 ครั้ง ต่ำกว่านั้นไม่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย สิ่งที่เราตอบแทนอาสาสมัครคือ การได้มาดูแลภาวะภายในของตัวเอง ดูแลร่างกายผ่านงานหัตถกรรมไม่ว่าจะลูกพิเศษหรืออาสาก็เหมือนกันในกระบวนการทอ เราให้การเยียวยาเขาได้ คนที่ว้าวุ่นหรือไฮเปอร์แอคทีพ ให้งานที่ตรงข้ามเพื่อเบรคเขาลง หรือช่วงที่อารมณ์เขาแย่ เราก็รู้ว่าต้องให้เขาทำงานกับสีอะไร 15 ครั้งนี้ ถ้าผ่านได้ ส่วนใหญ่ก็อยู่ต่อได้ทุกคน แต่ถ้า 4 – 5 ครั้งแล้ว ยังไม่รู้สึกสุขใจที่มาทำงานที่นี่ เขาก็จะออกไปเอง เช่นเดียวกันกับสมาชิกถ้าพ่อแม่ไม่สะดวกใจไม่สบายใจ ก็จะไปเราไม่ได้ผูกมัดด้วยสัญญาอะไร

และเรานับถือความเป็นมนุษย์ของทุกคน ไม่ก้าวก่าย ในส่วนที่จะพัฒนาเขาก็เป็นอิสรภาพของเขา ถ้าเห็นด้วยก็เปลี่ยนแปลงพัฒนา ถ้าไม่เห็นด้วยเขาก็ไม่เปลี่ยนแปลง คุณภาพที่เราให้คือ “เขาเปลี่ยนของเขาเอง” ยิ่งสมาชิกหรือลูกเรานี่ เขาจะเปลี่ยนหรือไม่ จะทำหรือไม่ทำอะไร เราวางแผนให้ก็จริง แต่ให้เกียรติเขาในการเลือก เขาต้องคิดเองทำเอง โครงการฯ นี้ เลยมีเจ้าหน้าที่คนเดียวคือ แม่เปา ผู้ออกแบบและจัดกระบวนการ คนที่ลงมือทำงานส่วนใหญ่ คือ พ่อแม่

img_7907

จากปี 2557 มาถึงทุกวันนี้ แนวทางก็เป็นไปตามตั้งใจ ภาพที่เกิดขึ้นมีชีวิตชีวามาก แต่ละคนมีรายละเอียด แต่ละบ้านเหมือนหนังคนละแนว สำหรับผู้วางกระบวนการก็สนุกมาก สมาชิกแต่ละคนมีการเติบโตมากน้อยต่างกัน สิ่งที่เราเห็นคือเขาเติบโตทั้งภายในเขาเอง การตระหนักรู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของคนรอบข้างเพิ่มขึ้น ที่เราแน่ใจอย่างหนึ่งว่าสมาชิกของเราเติบโตทุกคน คือการที่เห็นครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตที่ดีด้วย ตื่นมาไม่โกลาหล ก่อนหน้านี้ทุกคืนก่อนหลับตาลงนี่คือเตรียมใจเจอหายนะในวันรุ่งขึ้น ถ้าเขาอยู่ที่นี่แล้วคิดอย่างนี้น้อยลง แสดงว่าชีวิตเป็นปกติสุขมากขึ้น”

เชื่อมโยงตัวตนกับโลก

“เราทำงานพัฒนาบุคคลพิเศษโดยใช้ Curative Education และ Social Therapy งานทอ ไม่ใช่แค่งานทอ มันมีกระบวนการหลายอย่าง ก่อนทอก็มีที่มาของเส้นด้าย ฝ้ายมาจากต้นฝ้าย ดอกฝ้ายสีสวย ฟอร์มสวย มาจากไหน ? ฝ้ายปลูกบนดิน เวลาพูดว่าทอผ้ามันเล็กไป ความหมายมันใหญ่กว่านั้น งานนำเขาให้เห็นความเชื่อมโยงของตัวเขา ผู้คนรอบข้าง และโลกนี้ ดินฟ้าอากาศ มีกระบวนการเยียวยาเกิดขึ้น เช่น การที่ผ้าทอไปมีประโยชน์ทำเป็นเสื้อให้แม่ ยิ่งนำความตระหนักรู้ในคุณค่าของตัวเองมากขึ้น อีกคนพ่อแม่ไม่ได้สนใจ แต่ยายชอบมากจะทำงานอย่างไรจากยาย ให้ไปถึงแม่ได้ เป็นต้น งานอย่างนี้เป็นกระบวนการที่เราต้องออกแบบเฉพาะคน มันจึงไม่ใช่แค่การมาทอผ้า

แม่แมว (19)

การคัดเลือกอาสาหรือเราเรียกว่าคณะผู้นำทาง ก็ดูว่าเหมาะกับตรงไหนคือสามารถนำทางพัฒนาตามแผนของสมาชิกคนนั้นได้หรือเปล่า งานอาสามีทั้ง ทอผ้า แกะสลักไม้ ปั้นดิน เราจัดลงวันที่เขามีประโยชน์เอื้อกันและกัน จะไม่จัดตารางไว้ก่อน บุคคลพิเศษในวัยผู้ใหญ่เขาเลือกบุคลิกลักษณะที่เขาอยากเป็น คล้ายเลือกตัวละครที่ชอบซึ่งมีบุคลิกภาพบางอย่าง ความเก่ง ความเท่ มีเสน่ห์ ฯลฯ บุคลิกเหล่านั้นต้องอาศัยการฝึกฝน อดทน อาสาสมัครก็มีส่วนในการเป็นต้นแบบ หรือตัวกระตุ้นให้เขาเห็นความสำคัญฝึกฝนให้มีบุคลิกลักษณะที่ต้องการ

งานของสมาชิกที่พัฒนากันนี้เป็นแผนตลอดชีวิต ฉะนั้นมีอะไรมากมายที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา การเติบโตของโครงการฯ ขึ้นอยู่กับพวกเขาไม่ใช่เรา เขาต้องการอะไรในการใช้ชีวิต โครงการฯ คือผู้ช่วยวางแผนออกแบบสนับสนุนเพื่อการไปถึงเป้าหมาย โดยเราไม่ตั้งธงไว้ก่อน ดังนั้นครอบครัวทำงานไปกับเราตามแผนที่คุยกัน ถ้ามีเหตุการณ์หรือผลไม่ตรงตามความคาดหมายก็มาปรับแผนกัน ทุกคนจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการทำงานของครอบครัว เราเป็นไกด์นำทางที่มีหลักวิชาการชัดเจน”

แสงสว่างยังอยู่กับเรา

โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษฯ ทำหน้าที่เป็นขุมพลังส่องแสงนำทางให้หลายครอบครัวเติบโตไปด้วยกัน โดยไม่มีใครล่วงรู้ ลูกเปาหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญที่ทำให้แม่เปามุ่งมั่นเรียนรู้และก่อตั้งโครงการฯ นี้ จากไปอย่างกระทันหันในวัย 25 ปี เมื่อต้นปี 2560

“แม้ว่าเขาจะจากไปแล้ว แม่ก็ยังทำงานต่อไป เขาอยู่ก็เป็นตำราให้เราเรียน เมื่อจากไปก็ทำให้เพื่อนๆ สมาชิกได้รู้ว่าความตายคืออะไร นี่เป็นเรื่องจริงที่วันหนึ่งเขาต้องเผชิญทุกคน

เป้าหมายของชีวิตที่เราเคยตั้งด้วยกันกับลูกเรา พอเขาไม่อยู่แล้วกลายเป็นเรื่องท้าทาย เราจะทำอะไรดี งานที่เราตื่นมาทุกเช้าและอยากทำ คำตอบคือโครงการอรุโณทัยฯ นี่แหละ ที่เรายังรู้สึกว่าตื่นมาทุกเช้า เราตื่นเต้นที่จะทำ โจทย์ที่ท้าทายยังอยู่ เราจะมีแค้มป์ฮิลได้อย่างไรในประเทศไทย ในรูปแบบที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขานี่ จะมีได้ไหม คือพื้นที่ให้ลูกๆ เราได้มีศักดิ์ศรีเยี่ยงมนุษย์ ท่ามกลางข้อจำกัดทุกอย่างที่เรามองเห็น ส่วนชีวิตทางสังคมเราได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ เวลาที่เรามีไอเดียขึ้นมาจะแชร์กับใคร มีคนเอาด้วย เราคิดว่าแค่นี้เพียงพอแล้ว ก็เลยทำต่อ

แม่แมว (10)

เป้าหมายปีนี้เราเพิ่งเริ่มรับสมาชิกที่ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง เพราะอยากขยายงานทั้งด้านภารกิจและเงินทุนที่เราใช้ระบบแชร์ ริเริ่ม Mentoring Program เป็นโปรแกรมพี่เลี้ยงให้ครอบครัวที่ผู้ดูแลหลักเสียชีวิตไป พี่น้องหรือญาติ ที่ต้องดูแลบุคคลพิเศษต่อจะดูแลอย่างไร  และปลายปีจะมีเวิร์คช้อป family guardian สำหรับบุคคลพิเศษ 5 ครอบครัว ลองดูซิว่ามีครอบครัวที่สนใจเรื่องการนำทางไหม”

ฉันเชื่อว่า แสงอาทิตย์ยามเช้าของโครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษนี้จะส่องสว่างต่อไป ไม่ใช่เพียงเพื่อครอบครัวที่มารวมตัวกันเท่านั้น แต่จะโอบอุ่นเป็นความหวังแก่สังคมของเรา ให้เชื่อมั่นในพลังความรัก ความมุ่งมั่น ร่วมกันสร้างครอบครัวและสังคมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข


ขอขอบพระคุณ

ภาพประกอบบางส่วนจาก โครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์ 


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

Featured, Midnight Beam

5 TED Talks ที่จะเปลี่ยนมุมมองของคุณที่มีต่อ “ความพิเศษ”

บทความโดย ธรรมชาติ จันทพลาบูรณ์

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การหาแรงบันดาลใจและกำลังใจจากการฟังการกล่าวสุนทรพจน์ และการพูดสาธารณะต่างๆ ได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างไปทั่วโลกยุคดิจิตอล และกลุ่มผู้จัดงานพูดที่เป็นที่รู้จักในชื่อ TED นั้นถือได้ว่าเป็นผู้ริเริ่มทำให้ “Talk Culture” เป็นที่นิยมกลุ่มแรกๆ ของโลก ใครหลายคนต่างก็เคยดูวิดีโอ TED Talks เพื่อรับประสบการณ์และแรงบันดาลใจจากนักพูดหลากหลายสาขาวิชามาไม่มากก็น้อย และบางคนอาจจะมี TED Talk โปรดประจำใจของตัวเองอีกด้วย

เป็นเรื่องน่ายินดีเพราะเวทีที่เปิดกว้างอย่างงาน TED และงาน TEDx ที่แยกย่อยออกมาจากงานหลักไปทั่วโลก เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความต้องการพิเศษที่มีความหลากหลาย มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และข้อคิดของพวกเขาแก่ผู้อื่น ผมได้รับมอบหมายให้สำรวจเรื่องเล่าของบุคคลเหล่านี้ว่า มีปัจจัยใดบ้างที่ช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่สร้างแรงบันดาลใจจากการพูด 15 นาที เหมือนกัน แม้ว่าความพิเศษของพวกเขาจะต่างกันไปอย่างสิ้นเชิงเลยก็ตาม

TED speakers ทั้ง 5 คนนี้ มีครอบครัวและคนรอบข้างเป็นตัวแปรสำคัญในชีวิต ที่มองอุปสรรคของพวกเขาในมุมใหม่ และผมเชื่อว่ามีมุมมองบางอย่างที่อาจเปลี่ยนความคิดเดิมๆ ของคุณที่มีต่อ “ความพิเศษของพวกเขา” ได้เช่นกัน และนี่คือ TED Talk ทั้ง 5 ที่ผมขอเลือกสำหรับบทความนี้

“เธอมี PTSD,MDD และเรียนจบปริญญาเอก”

เฮเลน อับดาลี ซูซาน ฟากาน

(Helen Abdali Soosan Fagan, TEDx Lincoln)

เฮเลน อับดาลี ซูซาน ฟากาน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์ชาวอิหร่าน ผู้อพยพจากประเทศบ้านเกิดมาที่อังกฤษและอเมริกาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และทำงานภาคทรัพยากรมนุษย์อย่างหักโหม วันหนึ่งร่างกายของเธอไม่สบายหนักมากจนต้องเข้าห้องฉุกเฉิน หลังจากนั้นเฮเลนเริ่มพูด ได้ยิน และรู้สึกว่ามีหลายสิ่งที่ผิดปกติมากจนทุกอย่างรอบตัวเธอเริ่มไม่มีเหตุผล เฮเลนถูกวินิจฉัยว่ามีอาการ ความเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder/ PTSD) และ ภาวะซึมเศร้า (Major depressive disorderMDD) เธอเพิ่งรู้ว่าผู้อพยพอย่างเธอมีโอกาสเกิดอาการนี้พอๆ กับทหารผ่านศึกด้วยซ้ำ (อาการนี้มักถูกเหมารวมว่าเกิดขึ้นกับทหารผ่านศึกเป็นหลัก) เมื่อเฮเลนได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เธอจึงรู้ว่าการที่เธอต้องใช้ชีวิตนอกประเทศบ้านเกิดตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นทำให้การรู้คิดในหัวของเธอไม่ลงรอยกัน เธอไม่มีเวลารำลึกถึงประสบการณ์และความเจ็บปวดในช่วงชีวิตที่ผ่านมาจนทำให้เธอไม่เคยตอบคำถามกับตัวเองว่า ตัวเธอเองเป็นใครกันแน่ เฮเลนจึงต้องใช้เวลาสงบร่างกายและจิตใจ ปล่อยวางภาระต่างๆ เพื่อรำลึกถึงความรัก ความสัมพันธ์ที่เธอมีต่อคนรอบข้าง และมองการดิ้นรนของชีวิตในมุมมองใหม่

ใน TED Talk ของเธอ เฮเลนได้เน้นไว้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เธอพาตัวเองผ่านพ้นอาการเครียดและซึมเศร้าไปได้ นับว่าโชคดีมากที่ครอบครัวชาวอเมริกันที่ดูแลเธอ สนับสนุนเธอเป็นอย่างดีทั้งๆ ที่ในยุคนั้นคนอเมริกันไม่นิยมการดูแลชาวอิหร่านเลยแม้แต่น้อย และการที่สามีของเธอล้มเลิกอาชีพทหารเรือของเขาเพื่อแต่งงานกับเธอตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ก็กลายเป็นกำลังใจสำคัญของเธอ นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่าผู้คนในเนบราสก้าดูแลเธอเป็นอย่างดีในช่วงที่เธอล้มป่วย

การแวดล้อมด้วยความสัมพันธ์และความรักที่ดีต่อกัน ช่วยให้เฮเลนมีทางออกจากอาการเครียดสะสมที่มาจากเหตุการณ์สะเทือนใจในชีวิตของเธอได้ จนเธอได้มองความลำบากในชีวิตเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงคนๆ หนึ่งมากกว่าเป็นอุปสรรคขวางทาง และเห็นว่ามันเป็นส่วนสำคัญของการใช้ชีวิตที่ดีกว่าเดิม

“เสียงในหัวของฉัน”

เอเลนอร์ ลองเดน

(Eleanor Longden, TED Longbeach, CA 2013)

ทุกคนที่รู้จัก เอเลนอร์ ลองเดน ไม่เคยคิดว่าเธอมีอะไรผิดปกติ ในช่วงมหาวิทยาลัยเธอมีความมั่นใจในตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม จนทำให้ทุกคน (แม้แต่ตัวเธอเอง) เชื่อว่าไม่มีอะไรที่เธอทำไม่ได้ แต่แล้ววันหนึ่งจู่ๆ เธอก็เริ่มได้ยินเสียงในหัวพูดอธิบายการกระทำของเธอในมุมมองบุคคลที่สาม (เช่น “เธอกำลังเปิดประตู”) ทุกอย่างยังคงปกติสำหรับเอเลนอร์ เพราะเสียงเหล่านั้นยังไม่ทำอะไรเธอมากนัก ต่อเมื่อเธอเปิดเผยเรื่องเสียงให้เพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกแก่เพื่อนและตราหน้าว่าเธอไม่เป็นปกติทันที ทำให้เสียงในหัวเริ่มก้าวร้าวและรุนแรงมากขึ้น การดูแลรักษาทางการแพทย์ในช่วงแรกกลับทำให้อาการของเธอแย่ลง เอเลนอร์ต้องทำตามทุกอย่างที่เสียงในหัวเธอสั่ง ทั้งการกลั่นแกล้งเพื่อน หรือกระทั่งทำร้ายตัวเอง โชคดีที่แม่และจิตแพทย์ของเอเลนอร์ช่วยให้เธอเรียกความหวังกลับมา และทำความเข้าใจต้นตอของเสียงต่างๆ จนเธอเห็นว่า เสียงเหล่านั้น เป็นเหมือนตัวแทนความรู้สึกที่เธอเก็บซ่อนไว้ เอเลนอร์จึงเริ่มฝึกถอดความหมายเชิงเปรียบเปรยของสิ่งที่เสียงในหัวเธอพูด จนเธอสามารถอยู่ร่วมกับมันได้ และเป็นหนึ่งในตัวแทนของผู้คนที่ได้ยินเสียงในหัวทั่วโลก

TED Talk ของ เอเลนอร์ ลองเดน ทำให้เราเห็นอาการจิตเภท (Schizophrenia) ในมุมมองเชิงบวกมากขึ้น สังคมอาจจะตีตราว่าอาการเหล่านี้เป็นโรค หรือความคลุ้มคลั่งที่ต้องได้รับการรักษาให้หายขาด แต่ในกรณีของเอเลนอร์นั้น เธอกลับเลือกที่จะอยู่กับความคลุ้มคลั่งนี้อย่างมีสติ จนตอนนี้เสียงในหัวเธอกลับช่วยเธอมากกว่าทำร้ายเธอด้วยซ้ำ (เธอบอกว่าเสียงคอยบอกคำตอบข้อสอบมหาวิทยาลัยให้เธอด้วย)

อย่างไรก็ตามการยืนหยัดของเอเลนอร์อาจไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลยหากขาดการสนับสนุนที่ดีจากคนใกล้ชิด ที่ไม่มองผู้มีความพิเศษเป็นคนที่มีอะไรขัดกับสิ่งที่สังคมเรียกว่า “ปกติ” แต่มองเป็นตัวปัจเจกของเขาเองที่มีบางอย่างที่เป็นกลางเกิดขึ้นกับตัวเขา

“เป็นเจ้าของใบหน้าของคุณเอง”

โรเบิร์ต โฮจ

(Robert Hoge, TEDx Southbank)

ตั้งแต่ลืมตาดูโลกขึ้นมา โรเบิร์ต โฮจ ไม่ได้มีอาการพิเศษซ่อนอยู่ภายใน แต่กลับมีความแตกต่างที่เปิดเผยอย่างเด่นชัดจากภายนอก ขาของเขาใช้การไม่ได้ และใบหน้าของเขามีเนื้องอกก้อนเท่ากำปั้นเกิดขึ้นมาแทนจมูก ทำให้เขาต้องได้รับการผ่าตัดปรับปรุงโครงหน้าอยู่เรื่อยๆ จนเมื่อเขาอายุ 4 ขวบ เขามีจมูกใหม่ที่ได้มาจากนิ้วเท้าที่งอกมาจากขาพิการของเขา แน่นอนว่าโรเบิร์ต ตกเป็นเป้าล่อการกลั่นแกล้งจากนักเรียนด้วยกัน และคนรอบตัวล้วนแต่มองเขาด้วยสายตาที่ผิดปกติ ชื่อเล่นล้อเลียนที่เด็กๆ ตั้งให้เขา ทำให้เขาถูกริดรอนความเป็นเจ้าของใบหน้าของเขาเอง จนชีวิตของเขาไม่มีความสุขเลย 10 ปีผ่านไป หมอผ่าตัดได้เสนอแผนการผ่าตัดใหม่ให้กับโรเบิร์ตและครอบครัว แต่การจัดตำแหน่งตาใหม่มีโอกาส 1 ใน 4 ที่จะทำให้ตาของเขาบอด ท่ามกลางความกดดันจากการที่พ่อแม่ปล่อยให้เขาตัดสินใจเอง โรเบิร์ตปฏิเสธการผ่าตัด นั่นทำให้เขากลับมาเป็นเจ้าของใบหน้าตัวเองอีกครั้ง และไม่ให้ใครหรือสังคมยึดความเป็นเจ้าของใบหน้าของเขาเพื่อเอาไปดูถูก หรือแสดงความละอาย หลังจากนั้นมาเขารู้สึกว่าเขามีความสุขกับใบหน้าของตนเองง่ายกว่าคนอื่นที่มีใบหน้าปกติเสียด้วยซ้ำ

แรงผลักดันที่สำคัญที่สุดของโรเบิร์ตนั้นไม่ได้มาจากพ่อแม่ (มีหลายครั้งที่แม่ของโรเบิร์ตเองแสดงความรู้สึกไม่ยอมรับในใบหน้าของลูกเธออย่างชัดเจนด้วยซ้ำ) แต่กลับเป็นกำลังใจสำคัญจากพี่ชาย ที่บอกกับเขาว่า   “จะหน้าตาดีไปทำไมถ้ามองหน้าตัวเองไม่เห็น?” ประโยคนี้เปลี่ยนชีวิตของโรเบิร์ต ทำให้เขากลายเป็นเจ้าของใบหน้าของตนเองมาจนถึงทุกวันนี้ และยึดมั่นในสิทธิของตนเองในเรื่องนี้เหนือสิ่งอื่นใด

โรเบิร์ตยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับความงามว่า มาตรฐานความงามไม่ใช่ภูเขาเอฟเวอเรสต์ เพียงลูกเดียวที่ทุกคนแย่งกันปีนขึ้นไปจนถึงยอด แต่มันเป็นเหมือนหุบเขาที่มีภูเขามากมายเกินกว่าที่จัดเป็นมาตรฐานหรือจุดยึดมั่นเดียวของความเชื่อใดๆ และเราควรจะหาภูเขาลูกที่เหมาะกับเรา ไม่ใช่ภูเขาลูกที่สังคมบอกให้เราปีน

“ดนตรีที่น่าหลงใหลในภาษามือ”

คริสทีน ซัน คิม

(Christine Sun Kim, TED Carmel, CA 2015)

นี่คือหนึ่งใน TED Talk ที่ถูกสื่อสารผ่านภาษามือทั้งหมด เพราะ คริสทีน ซัน คิม เป็นจิตรกรที่หูหนวกมาตั้งแต่เกิด เธอถูกสั่งสอนมาตั้งแต่เล็กว่า “เสียง” ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ แต่ยิ่งนานวันเข้า คริสทีนก็ยิ่งสังเกตมากขึ้นว่า นั่นเป็นความคิดที่ผิด การขาดการได้ยินอาจทำให้เธอระแวงต่อการก่อเสียงที่มากหรือน้อยเกินไปมากกว่าคนที่ได้ยินปกติด้วยซ้ำ และเมื่อเธอเติบโตขึ้นไปเป็นศิลปิน เธอก็พบว่าโลกนี้ให้ค่ากับเสียงเหมือนกับเงิน ราวกับว่ามันเป็นอำนาจทางสังคมอย่างหนึ่ง และการเป็นคนหูหนวกทำให้เธอขาดอำนาจนั้น คริสทีนจึงตัดสินใจใช้งานศิลปะของเธอเพิ่มค่าให้กับการสื่อสารด้วยภาษามือ ที่ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายแทนเสียง ทำให้เธอได้มีโอกาสสำรวจธรรมชาติของภาษามือจนพบว่าการสื่อสารแบบนี้มีความเหมือนกันกับ “ดนตรี” อย่างประหลาด ทั้งภาษามือและโน้ตเพลงไม่อาจแสดงออกโดยตรงผ่านการเขียนได้อย่างเดียว เพราะทั้งคู่เป็นการสื่อสารที่พึ่งสภาพแวดล้อมทางกายภาพมากกว่าคำพูด เธอยังตระหนักว่าภาษามือเป็นการสื่อสารที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะนิ้วมือของเธอต้องแสดงท่าทางสื่อสารพร้อมกันอย่างต่อเนื่องเหมือนกับการเล่นคอร์ดเปียโน กลับกันกับการใช้คำพูดที่ให้ความหมายด้วยเสียงทีละเสียงเหมือนเมโลดี้โน้ตเพลงเดี่ยวๆ

คริสทีนได้อุทิศชีวิตให้กับการแสดงเพื่อเห็นถึงเสน่ห์ที่ถูกมองข้ามของภาษามือผ่านทั้งงานศิลปะและ TED Talk ของเธอครั้งนี้ ด้วยความเป็นศิลปินในตัวของเธอเอง คริสทีนจึงมีแรงผลักดันในตัวมากพอที่จะมองภาษามือในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น จนกล้าที่จะท้าทายความคิดเดิมๆ ที่คนหูหนวกต้องเชื่อตามค่านิยมสังคมโดยที่ไม่ได้ตั้งคำถามอะไรก่อน

คริสทีนทำให้ผู้ชมมองเห็นว่าการเป็นคนหูหนวกเป็นมากกว่า “ความบกพร่อง” การขาดการได้ยินกลายเป็นประสบการณ์การใช้ชีวิต และการรับรู้ที่แตกต่างไป ซึ่งการที่จะสร้างสังคมที่เปิดรับความแตกต่างนั้นอย่างเต็มที่ เราต้องทำความเข้าใจประสบการณ์นั้นในมุมมองใหม่เสียก่อน เช่น การไม่มองข้ามความสัมพันธ์ระหว่าง “เสียง” และ “การเคลื่อนไหว” ที่คนหูหนวกพึ่งพานั่นเอง

“เรากดดันอัจฉริยภาพ

จนกลายเป็นความพิการได้อย่างไร”

สก๊อต ซอนนอน

(Scott Sonnon, TEDx Bellingham)

การต้องทนอยู่กับพ่อที่ทำร้ายร่างกายแม่ ทำให้ สก๊อต ซอนนอน ประสบปัญหากับการเรียนในโรงเรียนทั่วไป เขาเริ่มเขียนตัวหนังสือเป็นลำดับปกติเหมือนเพื่อนร่วมชั้นไม่ได้ เพราะข้อมูลภาษาเขียนที่เขารับได้นั้น ถูกสมองของเขาตีความเยอะเกินไปจนแทบเอ่อล้น โรคความบกพร่องในการอ่านหนังสือ (Dyslexia) ทำให้สก๊อตถูกครูผู้สอนตราหน้าว่าเป็นตัวก่อกวนการเรียนของนักเรียนคนอื่น และแม้แม่ของเขาจะสรรหาวิธีการเรียนรู้ทางเลือกนับไม่ถ้วนมาช่วยเหลือเขา แต่สก๊อตก็หนีการติดอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชไม่พ้น เมื่อสก๊อตประพฤติตัวดีจนออกมาได้ เขาก็ตกเป็นเป้าการทำร้ายร่างกายจากเด็กหัวโจกทันที

แต่การปะทะทางกายภาพนี้กลับปลุกอัจฉริยภาพในตัวสก๊อตให้ตื่นขึ้น เขาพบความสามารถในการรับรู้ข้อมูลการเคลื่อนไหวได้มากเสียจนเวลารอบตัวเขาดูช้าลง จนเขาสามารถหลบหลีก ตอบโต้ หรือวางแผนการตอบสนองได้อย่างแม่นยำ สก๊อตจึงตัดสินใจใช้ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เป็นการเรียนทางเลือกเฉพาะตัวของเขา และเรียนรู้ผ่านการเป็นกระสอบทรายในการสอนกระบวนท่าต่างๆ ซ้ำไปซ้ำมา จนเขาอ่านกระบวนท่านั้นๆ ออก ซึ่งกำลังใจที่สำคัญอย่างมากในชีวิตของเขาคือ แม่ เขาพลิกจุดด้อยให้กลายเป็นพลังวิเศษได้เพราะว่าแม่ไม่เคยทอดทิ้งและมีความมั่นใจเสมอว่าลูกของเธอต้องเรียนรู้ได้จนประสบความสำเร็จ ด้วยแรงผลักดันที่สำคัญมากระดับนี้ สก๊อตจึงมีแรงใจและมั่นใจว่าความสามารถเฉพาะตัวของตนเองเปลี่ยนอุปสรรคที่ร้ายแรงที่สุดในชีวิตเขา ให้กลายเป็นความสามารถเฉพาะตัวได้

สก๊อตยืนหยัดเหนือการตราหน้าว่าเขา “โง่” หรือ “เพี้ยน” จนกลายเป็น ศิลปินต่อสู้ป้องกันตัวระดับโลก และนักกีฬา 5 เหรียญทองโอลิมปิค เขาจะไม่ยอมให้การศึกษา “ปกติ” แบ่งระดับความฉลาดและความสามารถในแบบเดิมๆ อีกต่อไป และยืนยันว่า “การด้อยความสามารถ” ไม่มีในโลก แต่หากเราคิดว่ามันมีอยู่จริง เราอาจจะเผลอทำลายความสามารถใหม่ๆ ไปโดยไม่รู้ตัว


TED Talks ทั้ง 5 เรื่องนี้ ล้วนเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ตัวตนที่มีความพิเศษติดตัวทุกประเภท สามารถพลิกวิกฤตชีวิตเป็นโอกาสที่ไม่มีใครคาดคิดได้ หากมีการสนับสนุนที่ดีจากคนใกล้ชิด โดยเฉพาะจากครอบครัวและคนรอบข้าง เพราะถ้าคนพิเศษคนหนึ่งไม่ถูกทอดทิ้ง เขาคนนั้นจะสามารถฝ่าอุปสรรคชีวิตไปได้ด้วยความสามารถพิเศษของเขาเอง เขาจะมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเขาเป็น และเห็นความพิเศษนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขา จนถึงขั้นพูดถึงมันโดยแฝงมุกตลกไว้โดยไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น (ผู้พูด TED Talk ทั้ง 5 คน หาจังหวะหยอดมุกให้ผู้ชมหัวเราะได้เรื่อยๆ แม้กระทั่ง สก๊อต ซอนนอน ที่ต้องกลั้นน้ำตาตัวเองตลอดเวลาการพูดก็ตาม)

หากเราต้องการให้ความพิเศษเหล่านี้ได้ปรากฏในสังคมของเราบ้าง เราจำเป็นต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่สนับสนุนให้คนพิเศษทุกคนมีจุดยืนเฉพาะตัวที่เท่าเทียมกับคนทุกคน และหาทางระงับการทำลายโอกาสพิเศษเหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้


ขอขอบพระคุณ  TED : https://www.ted.com , TED Talks , TEDx Talks


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ

People+

รฐนนท์ ภูวจรูญกุล

เราพบ คุณรฐนนท์ ภูวจรูญกุล หรือ คุณธาม จากการประชุมสภาคนพิเศษก้าวไปด้วยกันในประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อนที่จังหวัดระยอง และ การประชุมครั้งล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่เราจดจำเขาได้แม่นยำ เพราะเขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เป่าขลุ่ย ซึ่งที่ประชุมใช้เป็นเสียงสัญญาณเริ่มต้นเชื้อเชิญทุกคนเข้าร่วมวงประชุมและกิจกรรมต่างๆ เขามักอยู่บนเวทีแสดงการเคลื่อนไหวแบบยูริทมี่ที่เขาสามารถเคลื่อนไหวอย่างมีจังหวะสอดคล้องสวยงาม

เขายังเป็นหนึ่งในตัวแทนบุคคลพิเศษจากประเทศไทยไปร่วมการประชุมสภาคนพิเศษโลก ครั้งที่ 1 ที่ประเทศรัฐเซีย อีกด้วย คุณธามมักร่วมเดินทางไปกับคณะทำงานฯ ทุกแห่งโดยไม่มีผู้ดูแล/ผู้ปกครองติดตามแต่อย่างใด

บุคลิกที่คนมักพูดถึงเขาคือ ฉลาด มีอัธยาศัยดี การตื่นรู้ของเขานำไปสู่การเป็นผู้ดูแลช่วยเหลือคนรอบข้าง ปัจจุบันคุณธามได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำของ บริษัทเทสท์ เทค จำกัด แม้จะเพิ่งเริ่มทำงาน แต่เขาวางแผนออมเงินเพื่อความฝันและเป้าหมายที่จะทำงานดูแลเด็กๆ และธรรมชาติหลังเกษียณ

มาติดตามชีวิตที่น่าสนใจเป็นพิเศษของคุณธามด้วยกันค่ะ

ธาม (40)

ความยากลำบากนำทาง…

คุณสุดารัตน์ ภูวจรูญกุล (คุณแม่ตุ๊ก) เล่าให้เราฟังถึงการเริ่มต้นดูแลลูกชายคนเล็กที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมคนนี้ การเริ่มต้นความทุ่มเทอาจไม่ต่างจากครอบครัวอื่นๆ คือต้องดูแลกระตุ้นพัฒนาการและทำกายภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ร่างกายพร้อม แต่ปัญหาของลูกๆ มักไปติดขัดเป็นคอขวดเมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียน

“คุณแม่พาไปฝากโรงเรียนที่พี่ชายเขาเรียนอยู่ คำพูดที่เขาไม่ยอมรับลูกเข้าเรียนทำให้แม่ช้ำใจมาก เขาว่าถ้ารับเข้ามาจะทำให้ภาพพจน์ของ รร.เขาเสีย ขากลับแม่นั่งร้องไห้มาตลอดทาง คุณพ่อ (คุณประเสริฐ ภูวจรูญกุล) ก็ปลอบใจว่าไม่เป็นไร เราต้องมีหนทาง ก็เสาะหาจนมาเจอ โรงเรียนวรรณสว่างจิต ตอนนั้นโรงเรียนมีแค่ระดับอนุบาลและนับว่าคุณครูให้ความเมตตามาก ธามเป็นเด็กพิเศษคนแรกของโรงเรียนเลย”

…สู่ทางเลือก ที่ดีกว่า

คุณสุดารัตน์ : โรงเรียนเปิดระดับประถมศึกษาเมื่อธามจบอนุบาล๓ ก็ได้ขึ้นป.๑ พอดี การเป็นโรงเรียนที่เรียนรู้ผ่านกิจกรรม ทำให้ธามเรียนที่นี่อย่างมีความสุข ชั้นเรียนค่อนข้างยืดหยุ่นชั่วโมงไหนเขาไม่เรียนคุณครูก็จะจัดให้ทำอย่างอื่นแทน แม่เชื่อว่าการที่มีโอกาสเรียนร่วมกับเพื่อนๆ มีผลต่อบุคลิกภาพของเขา ซึ่งมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วงเข้าวัยรุ่นหรือประถมปลายนี่อาจมีความแตกต่างที่เห็นชัดขึ้น เพราะเพื่อนๆ เข้าวัยรุ่นก็เริ่มมีช่องว่างห่างออกไป การเรียนแบบบูรณาการต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ธามเขาไม่ทัน แต่ก็เข้าร่วมฟัง ซึ่งแม่ก็ว่าโอเคแล้ว เรื่องอื่นๆ ที่แม่เห็นว่ามีประโยชน์คือ ให้เรียนดนตรีไทยเสริม ธามเรียนขิมซึ่งช่วยเรื่องสมาธิได้

พ่อแม่ร่วมสร้างห้องเรียน

คุณสุดารัตน์ : พอเรียนถึงอยู่ป.๖ เราก็กังวลอีกครั้ง จะให้ไปเรียนต่อที่ไหนดี เด็กเราส่วนใหญ่ถ้าหาที่เรียนต่อไม่ได้ ครอบครัวจะให้อยู่บ้าน ไม่ได้เรียนหรือทำงาน ป.๖ รุ่นธามตอนนั้นมีเด็กพิเศษแค่ ๒ คน แต่รุ่นที่จะจบตามกันมาก็มีอีกค่ะ พวกเราจึงดีใจมากที่คุณครูกลาง (คุณครูสิริมิตร ทวีปรังษีนุกูล) ซึ่งเป็นคุณครูที่ดูแลเด็กพิเศษของโรงเรียนในช่วงนั้น ชวน คุณครูอุ๊ (คุณครูอัญชนา สุนทรพิทักษ์) และครอบครัวของเด็กพิเศษ ที่กำลังจะเรียนจบระดับประถม มาร่วมกันก่อการก่อตั้งมูลนิธิต้นรักเพื่อบุคคลพิเศษขึ้นมา สร้างห้องเรียนสำหรับลูกๆ ได้เรียนต่อในระดับมัธยมและจัดการศึกษาในแนววอลดอร์ฟ ซึ่งโรงเรียนวรรณสว่างจิตใจดีมากเอื้อเฟื้อให้พื้นที่ และอนุญาตให้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในโรงเรียนได้

พวกเราพ่อแม่ก็เข้ามาอาสาเป็นครูด้วย ใครถนัดทำอะไรได้ก็มาสอน เช่น การฝีมือ ทำอาหาร วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ร้อยลูกปัด ถักนิตติ้ง สิ่งที่คนไม่เห็นความสำคัญนี่แหละ จริงๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก ช่วยพัฒนาเด็กๆ ได้เยอะ อย่างการทำอาหารนี่สอนตั้งแต่แรกเลย ผักแต่ละชนิดเรียกว่าอะไร พาไปเดินซื้อผักที่ตลาด ซื้อมาทุกชนิด ผักที่มีกลิ่นเราให้เขาปิดตา ดม ว่านี่คือผักอะไร หุงข้าว ทอดปลา มีผู้ปกครองพาออกไปทำสวน ทำร่องผัก ในพื้นที่จริง การเดินทาง การใช้เงิน คุณครูพาเรียนรู้จากของจริงทั้งหมด (น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้ห้องเรียนต้นรักยุติการทำงานไปแล้ว)

ก่อนจบป.๖ ธามอ่านออกเขียนได้บ้าง แต่เรื่องการใช้ชีวิตมาได้เยอะมากที่ห้องเรียนต้นรักเขาเรียนจนจบม.๖

(ชมสารคดีที่ถ่ายทอดกระบวนการเรียนการสอนบางส่วนของ ห้องเรียนต้นรัก ในช่วงที่คุณธามเรียนอยู่)

พร้อมสู่โลกกว้าง

คุณสุดารัตน์ : ธามเขาเป็นเด็กอารมณ์ดี ชอบร้องรำทำเพลง ชอบแสดงออก  แต่ถามว่า เราเห็นไหมว่าจะให้เขาไปทางไหน แม่ก็ไม่ทราบหรอก แต่รู้ว่าลูกอ่านออกเขียนได้ 70 – 80% คำยากๆ อาจยังไม่ได้ เห็นเขาชอบพวกคอมพิวเตอร์ก็พาไปเรียนที่ศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับคนพิการอยู่หนึ่งปี ก็คิดว่าดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ

งานแรกธามมีโอกาสได้ทำอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร จากคำแนะนำของคุณอาให้ลองไปสมัครโควตาคนพิการ เขาเขียนใบสมัครเอง สัมภาษณ์งานเอง ก็ได้เป็นลูกจ้างรายวันทำแผนกแพ็คกิ้งอะไหล่รถยนต์ การเดินทางที่ทำงานมีสวัสดิการ รถตู้รับ – ส่ง หน้าซอยหมู่บ้าน ก็เลยให้ไปทำซึ่งเขาชอบมากค่ะ (คุณธามเสริมว่าชอบนั่งรถตู้เพราะหลับได้) เขาชอบทำงาน ชอบที่มีเพื่อนร่วมงาน เห็นต้องเดินทางไกลๆ อย่างนี้ เขากระตือรือร้นตื่นได้เองทุกเช้า ทำได้สองปีหมดสัญญาจ้าง ตอนธามออกมีเพื่อนบางคนร้องไห้ด้วย

งานล่าสุดนี้โชคดีมากอีกครั้งคือได้ที่ทำงานใกล้บ้านมาก กรมจัดหางานแนะนำให้เราทำเรื่องเปิดแฟ้มประวัติไว้ที่สำนักงานเขต แม่ก็ขอว่าอยากให้ได้บริษัทที่ใกล้บ้าน เป็นงานที่ไม่อันตรายต่อสุขภาพ ไม่นานเขาก็โทรมาบอกว่ามีบริษัทหนึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านเลย พอไปพบสัมภาษณ์ เขาให้ธามทดสอบพิมพ์เอกสาร ทำได้เขาก็รับเลย

DSC_2074

ปัจจุบันคุณรฐนนท์ ภูวจรูญกุล (ธาม) ทำงานประจำในตำแหน่งธุรการของ บริษัทเทสท์ เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการตรวจคุณภาพน้ำจากหน่วยงาน โรงงาน องค์กรต่างๆ ทุกเช้าคุณธามจะขี่จักรยานจากบ้านออกมาฝากจอดไว้ที่ร้านค้าหน้าปากซอย เดินข้ามสะพานลอยไปฝั่งตรงข้าม ซึ่งเดินต่อไปเพียงป้ายรถเมล์เดียวก็ถึงที่ทำงาน

ธาม (47)

คุณนงนุช คัมภิรานนท์ ผู้จัดการแผนกบุคคล เล่าถึงขั้นตอนการพิจารณาจัดจ้างว่าผู้บริหารบริษัทฯ มอบนโยบายให้พิจารณาจัดจ้างบุคคลพิเศษ ด้วยสถานที่มีข้อจำกัดยังไม่พร้อมรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ และไม่มีที่พักรองรับหากพนักงานต้องเดินทางไกล เมื่อได้ชื่อคุณรฐนนท์ จากสำนักงานจัดหางานเขต และเรียกสัมภาษณ์ ผลออกมาลงตัวทั้งสองฝ่ายเพราะบ้านของคุณรฐนนท์อยู่ใกล้ที่ทำงาน และมีความสามารถทำงานตามที่ได้รับมอบหมายได้

DSC_1998

“ธามถือเป็นกรณีทดลองจ้างโควตาพิการคนแรกของบริษัทค่ะ ตอนนั้นบริษัทฯ เรายังมีพนักงานไม่ถึงร้อยคนเลย สำหรับการมอบหมายงานเราดูตามความสามารถของเขา ซึ่งทีแรกคิดว่าทีมอาจต้องช่วยปรับเรื่องการสื่อสาร แต่ปรากฎว่าเขาอ่านเขียนได้ เข้าใจงาน ทำงานตามขั้นตอนที่หัวหน้างานมอบหมายได้ เช่น สแกนงาน ติดฉลากหน้าขวดประเภทต่างๆ จัดใส่ถุง รับส่งเอกสารระหว่างชั้น เราแนะนำธามให้พนักงานชั้นต่างๆ รู้จักน้องเพื่อที่จะได้แนะนำได้ เวลาเขาไปส่งงาน ส่งเอกสาร ธามเขามีความสามารถอื่นๆ เยอะนะคะ ชอบเข้าร่วมกิจกรรมของบริษัทฯ มาก  ขยัน ไม่สบายก็ยังไม่ค่อยอยากหยุด” – คุณนงนุช คัมภิรานนท์ ผู้จัดการแผนกบุคคล

ธามเป็นฝ่ายสนับสนุนปฏิบัติงานได้ตามที่เรามอบหมาย ดูจากที่หัวหน้าเขาไม่ได้ขอคนเสริม เป็นคนขยัน เชื่อฟัง หัวหน้า ถึงงานไม่ซับซ้อนมากไม่ต้องพบลูกค้า แต่ลักษณะงานที่ทำมีความละเอียด ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องแยกฉลากสี หรือตัวอักษรช่วย เขาทำได้เหมือนผู้ปฏิบัติงานคนอื่นๆ ในระดับเดียวกัน ที่จบ ปวช.มา ก็ถือว่าคุณสมบัติเทียบเท่าคนในตำแหน่งนี้คุณณัฐวุฒิ ใจสุภาพ  ผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้า

DSC_7115

ทีแรกคิดว่าน้องจะเข้าใจช้า แต่พอได้คุยเขาเข้าใจปกติแทบทุกเรื่อง อาจมีบางเรื่องที่ช้ากว่านิดเดียวซึ่งเราไม่ต้องพูดซ้ำ พูดครั้งเดียวน้องเข้าใจปฏิบัติงานได้ เมื่อฝ่ายบุคคลส่งคนมาเรามีหน้าที่จัดสรรงานให้เหมาะสม พยายามให้ทำงานที่เป็นรูทีน (routine) และน้องทำได้ไม่เบื่อ พนักงานธุรการมีสองสามท่านที่ทำงานด้วยกัน ธามอัธยาศัยดี เข้าได้กับทุกคน ก็ค่อยๆ ดูว่าจะให้เขาทำอะไรได้อีก เดิมไม่คิดว่าเขาจะสแกนได้ แต่เขาก็ทำได้ดี – คุณรัตรินทร์ ก้องสุรินทร์ หัวหน้าส่วนสำนักงานฝ่ายบริการลูกค้า

ธามมีพัฒนาการดีขึ้น ช่วงแรกอาจจำไม่ได้ยังงงอยู่ เดี๋ยวนี้คล่องจำได้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน รู้หน้าที่ตั้งแต่เช้ามาต้องทำอะไร ถ้าไม่มีงานก็จะเดินมาถามว่า “มีอะไรให้ผมทำไหม” เขาชอบเล่นอยากเข้าร่วมทุกอย่าง ก็คิดว่าไม่มีอะไรที่ต้องปรับปรุงนะคะ –  คุณกัลยาณี บุญสูง หัวหน้างานธุรการฝ่ายบริการลูกค้า

ธามเข้ามาทำงานก่อนผมเดือนนึง เราอายุเท่ากันครับ ผมสอนเขาเรื่องสแกน เราคุยกันทั้งวัน เขาเป็นเด็กช่างพูดช่างคุยและเป็นเด็กฉลาด รู้เยอะ ในงานปีใหม่ของบริษัทเราก็แสดงด้วยกันเขาชอบร้องเพลงกับเต้น กีฬาสีก็ตีแบตฯ ด้วยกัน – คุณวสินธุ์ แทนวันดี เพื่อนเจ้าหน้าที่ธุรการและไอ.ที.


สิ่งสำคัญในโลกของธาม

ตอนนี้ธามอายุ ๒๖ ปีแล้ว ทานมื้อเช้าแล้วก็ห่อข้าวเอาไปทานมื้อเที่ยงที่ทำงานด้วย ป๊าสอนธามขี่จักรยาน ธามขี่เอาไปจอดไว้ที่ร้านหน้าปากซอยคล้องโซ่ไว้ ข้ามสะพานลอยไปฝั่งนู้น เดินต่อไปไม่ไกลก็ถึงที่ทำงาน เพื่อนๆ ดีมาก แบ่งงานให้ธามทำ ตรวจคุณภาพของน้ำจากลูกค้าที่ส่งมา ธามมีหน้าที่ยกน้ำเข้าลิฟท์ ส่งไปให้ข้างบนตรวจ ส่งเอกสารชั้น ๒-๓  ธามไม่ได้ดูแลงานเอกสารที่ต้องตรวจสอบ เพราะเป็นงานสำคัญของลูกค้า

เย็นกลับมาถึงบ้าน ถ้าแม่ยังไม่กลับจากรำมวยจีน ธามก็รดน้ำต้นไม้ให้ จัดโต๊ะอาหาร พอป๊ากลับมาก็จัดน้ำ จัดอาหารให้ป๊า จัดยาให้แม่ ทำงานจันทร์ถึงเสาร์ ส่วนวันอาทิตย์ไปเรียนซ่อมคอมพิวเตอร์กับป๊าที่สวนลุม

ธามทำอาหารทานเองได้ ทำให้ที่บ้านทานได้นะ อย่างแกงจืด ข้าวผัด ไข่ดาว ไข่เจียว ทอดปลา ตอนเรียนต้นรักธามชอบทำงานไม้ แกะไม้ ชอบสีชมพู เล่นดนตรีได้หลายอย่าง เปียโน ขิม ชอบที่สุดก็ขลุ่ย

ตอนที่ไปรัสเซียพวกเราไปแสดงอะไรที่เป็นไทยๆ อย่าง รำวง ธามชอบท่าเต้นรำของอาร์เจนติน่า ไปฟังกลุ่มต่างๆ พูดคุยกัน ธามมีแฟนคลับแลกที่อยู่กัน เช่น คุณปีเตอร์ ชาวเยอรมัน ทุกคนชอบที่ธามทำ วัฒนธรรมไทยดึงดูด ชาวต่างชาติชอบที่เรารำ ชอบปุ๊บเขาก็เดินมาหาเราเอง

ธามทำงาน หาเงิน เก็บเงิน อยากเก็บไปสร้างพิพิธภัณฑ์ผีเสื้อ ผีเสื้อน่ารัก ดูดน้ำหวานทำให้ต้นไม้โตขึ้นได้ มีต้นไม้ ช่วยลดพายุน้ำท่วม ธามชอบยูริทมี่ อยากไปสอนเด็กๆ ที่ศูนย์เด็กเล็กที่ขอนแก่น พอเกษียณ แล้วจะไปทำงานที่นี่ เก็บตังค์เอาไปซื้อที่ดินทำพิพิธภัณฑ์

ธามอยากเป็นคนดี เป็นผู้ใหญ่คนช่วยเหลือในบ้าน ช่วยเหลือแม่กับป๊า ยากหรือไม่ยากไม่สำคัญ แต่เราต้องสู้ ไม่มีอะไรยาก ธามอยากให้ครอบครัวมีความสุข เพราะครอบครัวสำคัญกว่าธาม ทำให้ธามผ่านความยากไปได้

ธาม (34)


ขอขอบพระคุณ

ครอบครัวภูวจรูญกุล  บริษัทเทสท์ เทค จำกัด มูลนิธิต้นรักเพื่อบุคคลพิเศษ โรงเรียนวรรณสว่างจิต รายการโทรทัศน์ครู  (ที่มา Special Plaza)

ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์ 


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม