Community

Friends Community (1)

Friends Community (1)

จากโฮมสคูล สู่การสร้างชุมชนที่ยั่งยืนสำหรับบุคคลพิเศษและผู้ดูแล

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (153)

คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า) คุณแม่ของคุณธนายุ ธีรสวัสดิ์ (ซีซ่าร์ – ปัจจุบันอายุ 20ปี) ตัดสินใจทำโฮมสคูลเมื่อคุณซีซ่าร์เรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนปลายด้วยเห็นประโยชน์ของการใช้เวลาร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลสุขภาพ ฝึกทักษะการสื่อสาร การดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน และจัดกิจวัตรเรียนรู้

แต่ระหว่างทางเธอพบว่ามีบางอย่างในแววตาของคุณซีซ่าร์ที่ทำให้คนเป็นแม่ต้องใคร่ครวญ แสวงหา และเรียนรู้ อันนำไปสู่การออกแบบเส้นทางใหม่ที่เชื่อมร้อยลูกๆ คนพิเศษหลายครอบครัวเข้าไว้ด้วยกัน จนกลายเป็นชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษในวันนี้


เกี่ยวกับ ‘แม่ฟ้า’
• ผู้เขียนหนังสือ I am a Mom ซึ่งเป็นผลงานวิจัยกระบวนการดูแลสภาวะจิตใจ และกระบวนการฝึกพัฒนาการของบุคคลพิเศษ ผ่านกิจวัตรประจําวัน โดยเป็นการทํางานร่วมกันระหว่าง คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (มารดาของบุคคลพิเศษซึ่งมีความผิดปกติของพัฒนาการเนื่องจากภาวะโครโมโซม) และ ผศ.ดร.อรสา กงตาล อาจารย์ประจําสาขาวิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ ม.ขอนแก่น
• ผู้ออกแบบหลักสูตร
– การอบรมเชิงปฏิบัติการ “เยียวยาผู้ดูแล” (Healing the Caregiver) ด้วยกระบวนการโค้ชชิ่ง
– โครงการอบรมพ่อแม่ ผู้ดูแล บุคคลพิเศษ “พลังแห่งรักสู่การพัฒนาศักยภาพลูกน้อย”
– โครงการพัฒนาศักยภาพบุคคลพิเศษโดยใช้ธรรมชาติบําบัดตามแนวทางมนุษยปรัชญา
• วิทยากรกระบวนการ
– โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เยียวยาผู้ดูแล” (Healing the Caregiver)
ครั้งที่ 1 ปี 2012 ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ครั้งที่ 2 ปี 2013 ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ครั้งที่ 3 ปี 2014 ณ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ครั้งที่ 4 ปี และ ครั้งที่ 5  ณ ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษ
– โครงการอบรมพ่อ แม่ ผู้ดูแล บุคคลพิเศษ “พลังแห่งรักสู่การพัฒนาศักยภาพลูกน้อย” ณ สถาบันราชานุกูล ปี 2014
– โครงการการอบรมพ่อ แม่ ผู้ดูแลบุคคลพิเศษ “Parent as a Coach” (สำหรับบุคคลทั่วไป)
– โครงการพัฒนาศักยภาพบุคคลพิเศษโดยใช้ธรรมชาติบําบัดตามแนวทางมนุษยปรัชญา ณ ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษและครอบครัว ปี 2014 – 2017
– การอบรมเชิงปฏิบัติการ การบริหารจัดการครอบครัวบุคคลพิเศษอย่างมีประสิทธิผล โดยสมาคมเพื่อคนพิการทางทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย ณ สถาบันราชานุกูล ปี 2015
– หลักสูตรพัฒนาครู ห้องเรียนเยาวชนพิเศษ ปีกกล้าขาแข็ง 2016 -2017
• ผู้ก่อตั้งชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษและครอบครัว
• คณะกรรมการภาคีเครือข่ายฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์การศึกษาเพื่อการเยียวยาประเทศไทย
• ผู้ก่อตั้งโครงการส่งเสริมทักษะวิชาชีพผู้ดูแลและจัดทําคู่มือพัฒนาบุคคลพิเศษแบบองค์รวมบนพื้นฐานการศึกษาบําบัดและสังคมบําบัดตามแนวทางมนุษยปรัชญา (Caretaker for Special Needs Person)


โฮมสคูลสู่ฟาร์มสคูล

คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า) : “เราวางแผนทำโฮมสคูลตั้งแต่ป.4 คือเห็นแล้วว่าซีซ่าร์มีความจำกัดทั้งภาษาและคำนวณไปต่อในระบบคงไม่ไหว ก็เริ่มวางแผนแต่ยังไม่ชัดว่าทำอย่างไร ที่ไหน ก่อนจบป.6 แม่ก็เลิกทำงานประจำ มาเป็นงานที่เราจัดสัดส่วนเวลาได้ (คุณสุวรรณีเป็นโค้ชและที่ปรึกษาการเงินมืออาชีพ) จากนั้นเริ่มไปเรียนรู้เพื่อเตรียมทำโฮมสคูล กระบวนการสอนเป็นอย่างไร ขั้นตอนพัฒนาการที่ต้องเข้าใจและวางเป้าหมายเหมือนทำ IEP (แผนการศึกษารายบุคคล) ให้เขา จนจบป.6 ตอนนั้นซีซ่าร์อายุ 14 แม่ชอบศิลปะลูกก็ไปด้วยกันได้เลยเริ่มจากทำสตูดิโอศิลปะกัน ก็มีช่วงที่ต้องตามแม่ออกไปทำงานข้างนอกบ้าง ส่วนวันหยุดก็มาเที่ยวฟาร์มของครอบครัวที่ มวกเหล็ก จ.สระบุรี (ปัจจุบันคือที่ตั้งของชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขฯ)  สิ่งที่เราเห็นคือภาพเขาตอนอยู่บ้านทำงานศิลปะ กับเวลาเขามาที่ฟาร์ม มันไม่เหมือนกันเลยทั้งความสดใส แววตา ตอนแรกก็ไม่แน่ใจว่า เอ๊ะ หรือตื่นเต้นสถานที่ มาดูวัวดูแพะ แต่พอนานเข้าก็ยิ่งชัดเจน ว่าใช่

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (121)

เราทบทวนอยู่ระยะหนึ่งจนยอมรับว่าเขาเกิดกระบวนการเรียนรู้หลายอย่างเวลามาที่ฟาร์ม ก็ถามตัวเองว่าถ้าจะมาอยู่ที่นี่เราต้องเตรียมอะไร… และถ้าซีซ่าร์ต้องอยู่ที่นี่เขาจะอยู่อย่างไรในทุกวันอันนี้คือโจทย์ใหญ่ สิ่งที่เขาชอบคือขุดดิน มันอยู่ได้จริงๆ ไหม เราคงไม่ขุดดินทั้งวันทั้งคืน มันต้องมีอย่างอื่นด้วย การพบปะผู้คน เรียนเขียนอ่าน ก็ค่อยๆ กรอบความคิด ที่ยากกว่าคือตัวเราจะอยู่ที่นี่กับเขาได้อย่างไร อยู่แบบไหน และเราทำอะไรได้บ้าง เพราะตัวเองไม่ชอบงานฟาร์มเลย ทุกวันนี้ก็ยังไม่ชอบ.. (หัวเราะ)

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (94)

IEP ตอนนั้นวางไว้เป็นกรอบหลวมๆ หนึ่งต้องมีศิลปะ ทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกเพื่อให้เขาสื่อสารได้มากขึ้น ตอนนั้นซีซ่าร์ยังมีคำศัพท์สื่อสารได้น้อย สองภาษาไทยต้องเขียนได้ เราเลือกสอนเป็นคำเพราะเขาผสมคำเองไม่ได้ เรื่องที่สอน เช่น เรียนเรื่องทานตะวันก็เขียนคำ วาดภาพทำศิลปะ เมล็ดทานตะวันพากินพาปลูก คือสอนเป็นโครงเรื่องที่ปรับลงทุกวิชา ทำตารางเรียนจัดให้ทุกบ่ายไปตลาด ตารางนี่จัดเพื่อตัวเราเองจะได้ไม่ลอยๆ ด้วย ตื่นเช้าให้เขาเดินลงไปหยิบไข่ให้แม่ เอานมมาหนึ่งเหยือก ทำเป็นกิจวัตร จนถึงจุดนึงเราไม่ต้องบอกแล้ว แบ่งให้มีช่วงเวลาส่วนตัวของทั้งคู่ ซึ่งเขาก็ยังวนๆ อยู่บนบ้าน ตอนเย็นเป็นเวลาลงไปเดินออกกำลัง

ปีแรกๆ เขายังตามแม่ไปทำงานในกรุงเทพฯ ที่เหลือสี่ห้าวันก็มาอยู่ที่ฟาร์ม ช่วงแรกก็เหนื่อยค่ะบ้านยังทำไม่เสร็จ เรากะให้เวลาลองปรับตัวกันซักปีนึงเพราะไม่แน่ใจว่าเขาจะชอบมันจริงๆ ไหม ปีแรกผ่านไปเราเห็นว่าร่างกายเขาแข็งแรงขึ้น เรื่องสุขภาพนี่เห็นชัดเลย

พอซีซ่าร์อายุ 15  เราไปร่วมงานประชุมสภาคนพิเศษที่จัดครั้งแรกในประเทศไทย เราเห็นความร่าเริงอีกแบบเวลาเขาอยู่ในกลุ่มเพื่อนได้เห็นแววตาของเขาที่แตกต่างไปอีกครั้งซึ่งไม่มีตอนอยู่กับเรา ตอนนั้นรู้เลยว่าเขายังคงต้องเติบโตกับเพื่อนๆ และเราเป็นเพื่อนให้ลูกไม่ได้…

แม่ฟ้าคิดเรื่องการหาเพื่อนให้ซีซ่าร์อยู่ปีกว่าๆ ในขณะเดียวกันก็อยากรู้จักครอบครัวที่ดูแลบุคคลพิเศษอื่นๆ ว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร จึงทบทวนว่าตนเองมีศักยภาพอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้

เยียวยาผู้ดูแล

คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า) : กลับจากงานประชุมสภาคนพิเศษ เทอมนั้นก็เขียนๆ ออกมา เราจะเจอพ่อแม่ได้อย่างไร เรามีศักยภาพอะไรบ้าง ก่อนหน้านั้นเราทำหลักสูตรเยียวยาพ่อแม่ (การอบรมเชิงปฏิบัติการ “เยียวยาผู้ดูแล” : Healing the Caregiver ด้วยกระบวนการโค้ชชิ่ง) เราเห็นสิ่งที่ครอบครัวของคนพิเศษเป็นอยู่และความต้องการของเขาในระดับหนึ่ง เราได้เห็นข้อเท็จจริงของบุคคลพิเศษ ซึ่งทำให้เรามั่นใจคือ หนึ่ง ผู้ใหญ่พิเศษเขาเติบโตได้ ไม่ได้คิดแบบโลกสวยเขาโตได้ แต่เราต้องหล่อเลี้ยงเป็น นี่หมายถึงสำหรับกลุ่มที่ศักยภาพกลางๆ จนถึงน้อย สอง เราจำเป็นต้องทำงานเยียวพ่อแม่ พ่อแม่มี 4 เฟส หนึ่งเมื่อรู้ว่าลูกเป็นเด็กพิเศษ คือ มีความทุกข์ (Suffering) ที่ต้องการการเยียวยา เมื่อคลี่คลายแล้วจึงจะตื่นขึ้นเห็นความเป็นจริงของตัวเองของลูกและสิ่งที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงจะรู้ว่าตัวเองต้องการทักษะอะไรเพิ่ม ต้องไปเรียนอะไร จากนั้นจึงเริ่มเป็นจังหวะของการเดินต่อไป

เราต้องเริ่มจากการเยียวยาก่อนเพราะถ้ายังติดอยู่ใน Suffering phase มันไม่มีทางที่จะเอาความรู้ไปใส่ให้ นี่คือสิ่งที่พบเมื่อเราพยายามให้ความรู้ คนที่ยังทุกข์จะเถียงความรู้ เถียงชุดข้อมูลบางอย่างว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะก้อนของความทุกข์มันอัดแน่นไม่ได้รับการดูแล เราให้เขียนว่าสถานการณ์ของเขา 1 – 10 อยู่ตรงไหน คำตอบออกมาวนเวียนอยู่ไม่กี่เรื่อง คือ เหนื่อย เรื่องงาน เงิน และเรื่องลูก สอง เครียด ทุกข์ เพราะไม่รู้ว่าลูกเป็นอะไร สามคือ รู้สึกว่าเหนื่อยอยู่คนเดียว คุยทีไรก็วนอยู่สามเรื่องนี้ ด้วยความเหนื่อยความเครียดที่มีจะเรียนอะไรก็ไม่รู้เรื่อง นี่ทำมาถึงรุ่นที่ 5 ก็ยังซ้ำๆ วนๆ เรื่องพวกนี้

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (80)

ทำไมคนที่ผ่านกระบวนการเยียวยาจึงตื่นขึ้น
และรู้ว่าต้องลงมือทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง …

เขาได้รับการฟังด้วยหัวใจ เขาฟังทุกคนในวง เขาจะตื่นจากการที่ได้ยินความทุกข์เดียวกันในคนอื่น ทุกข์ที่อาจใหญ่กว่าตัวเอง รู้สึกไม่โดดเดี่ยว ฟังเสียงอารมณ์เป็น รู้ว่าความทุกข์ความวิตกกังวล ความกลัวที่สุดของตัวเองคืออะไร ฟังเสียงความรักเป็นเมื่อเรียนรู้ภาษารักของตัวเองและคนใกล้ชิด เขาจะรู้ว่ามีคนรักเขาอยู่แต่ที่ผ่านมาเขาไม่ได้ยิน
จากนั้นเราจึงให้ความเข้าใจกรอบพัฒนาการเด็กทั่วๆ ไป และเด็กพิเศษ ให้กลับไปสังเกต จากนั้นกลับมาดู ทางเลือก ทางรอด จะวางแผนให้ลูกอย่างไร เขาจะเริ่มวางแผนชีวิตให้ตัวเองและลูก อะไรสำคัญ อะไรพักไว้ก่อน ในหกเดือนต่อจากนี้เขาจะมีความมั่นใจเพราะเข้าใจและสังเกตลูกเป็น เราให้กรอบเรื่องร่างกาย อารมณ์ ระบบการขับถ่าย โภชนาการ กลุ่มที่ผ่านกระบวนการเยียวยาเขาสบายใจขึ้นได้เพื่อน ได้กรอบวิธีที่เพียงพอจะเกิดความเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาเราทำได้แค่กลุ่มเล็กๆ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของคนที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ ถ้าเป็นบาดแผลก็มีความเจ็บป่วยหลายระดับ บางคนกินวิตามินก็หาย บางคนให้น้ำเกลือ ฆ่าเชื้อ บางคนต้องผ่าตัด คือโครงสร้างปัจจัยชีวิตของแต่ละคนทำให้บาดแผลหรือรอยนี้ไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่พบคือความทุกข์เดียวกัน ความทุกข์ของใครก็ยิ่งใหญ่เท่ากัน จะคลี่คลายได้เร็วหรือช้าก็คือปัจจัยชีวิตที่แตกต่าง บางคนผ่านการเยียวยาแล้วก็ไปต่อได้เลย บางคนอาจจะวนอยู่เพราะปัญหาไม่ได้แก้ได้ทันที ชีวิตหลังจากที่เราเข้าอกเข้าใจคลี่คลายยอมรับได้แล้ว ความรู้ความสามารถที่มีอยู่พอไหม ถ้าไม่พอก็ต้องหาเพิ่มความรู้ทักษะชุดใหม่ ถ้าเข้าใจแต่ยังรับมือแบบเดิมก็ได้ผลเหมือนเดิม

34741801_2111424002205591_1733226179625746432_n

เปิดบ้าน ยินดีที่ได้รู้จัก

คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า) : เมื่อสำรวจความพร้อมแล้วเราก็ทดลองเปิดบ้านที่กรุงเทพฯ ก่อน ชวนคนมาทำกิจกรรมศิลปะ ค่อยๆ ดูจนแน่ใจว่าการชวนคนมาเป็นเพื่อนลูกน่าจะเป็นไปได้ และเริ่มศึกษาโครงสร้างในต่างประเทศเกี่ยวกับแค้มป์ฮิล* ตัวอย่างความเป็นไปได้ที่คนเข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน

(*แค้มป์ฮิล ในแนวทางมนุษยปรัชญาคือชุมชนที่อยู่ร่วมกันพึ่งพากันในวิถีกสิกรรมของบุคคลพิเศษและผู้ดูแล และเป็นพื้นที่ที่รวมศาสตร์ทั้ง 5 ตามแนวทางมนุษยปรัชญา คือ ปรัชญา การศึกษา การแพทย์ กสิกรรม ชุมชน/สังคม  ไว้ด้วยกัน)

จากนั้นเริ่มเปิดตัวบ้านฟาร์มครั้งแรก คิดทำแค้มป์ 3 วัน 2 คืน เปิดรับ 15 ครอบครัว มาทำกิจกรรมด้วยกันต่อเนื่อง 6 ครั้ง วางแผนว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง ต้องใช้เงินเท่าไหร่ได้เงินสนับสนุนจากเพื่อนๆ ที่เห็นด้วยมาก้อนหนึ่งเริ่มทำ ‘ยินดีที่รู้จัก’ เป้าหมายคือพ่อกับแม่ได้รู้จักกัน ลูกก็ได้มีเพื่อน ออกแบบอยู่นานว่าทำอย่างไรให้พอดีๆ ไม่สร้างความคาดหวังสูง แต่ก็ไม่ได้ทำเล่นๆ

มีครอบครัวสนใจมาเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องพร้อมกับบุคคลพิเศษซึ่งช่วงอายุต่างกันมากเล็กสุด 8 ปี และอายุมากที่สุด 31 ปี ระหว่างหนึ่งปีมาพบกัน 6 ครั้ง พอจบเราคิดว่าถ้าจะทำต่อควรเพิ่มเป็น 12 ครั้ง ซึ่งคนที่จะมาต่อเนื่องได้คือคนที่เอาจริงประกาศรับสมัครมีคนสนใจ 50 กว่าครอบครัว แต่เราแจ้งเงื่อนไขคือพ่อแม่ต้องมาร่วมด้วยทุกครั้งก็เหลือ 14 ครอบครัว เราคัดด้วยการให้คณะทำงาน ครูที่ต้องเป็นคนใกล้ชิดทำงานด้วยร่วมสัมภาษณ์ให้เหลือ 10 ครอบครัวคือจำนวนเท่าที่เราดูแลได้

การถอดบทเรียนจากยินดีที่ได้รู้จัก ทำให้รู้ว่าเราไม่มีแรงมากพอที่จะทำทั้งกลุ่มเด็กเล็กและเยาวชนพิเศษ กลุ่มที่อายุน้อยกว่า13 เราไม่ควรทำเพราะบางกิจกรรมและพื้นที่ของเราไม่เหมาะกับการหล่อเลี้ยงกลุ่มนี้ที่เหมือนลูกนกซึ่งยังต้องการการโอบอุ้ม ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า ‘ปีกกล้าขาแข็ง’ คือเราจะทำห้องเรียนสำหรับกลุ่มเยาวชนที่จะเริ่มหัดบิน เริ่มต้นที่เยาวชนพิเศษวัย14 ปีขึ้นไป

12885724_1241269695887697_3206024125159344795_o

ห้องเรียนปีกกล้าขาแข็ง

คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า) : ห้องเรียนและชุมชนที่มีครอบครัวเข้ามาร่วมเราต้องออกแบบด้วยความเข้าใจ บางกิจกรรมทุกคนทำด้วยกัน บางกิจกรรมก็แบ่งตามสภาพความเหมาะสมของร่างกาย เช่น งานครัวทุกคนทำหมด งานสวน ถ้าใครไม่ชอบแดดก็ไม่ต้องทำ แต่ต้องลงไปร่วมกิจกรรมก่อน ถ้าไม่ชอบก็ค่อยออก คือให้เขารู้จังหวะ กติกา อย่างซีซาร์ไม่ชอบซักผ้า ชอบขุดดินก็ทำเยอะหน่อย ส่วนเรื่องที่ไม่ชอบก็ทำเท่าที่รับมอบหมาย เช่นซักถุงมือที่ใช้ทำงานไป ด้วยการออกแบบทำให้เขาต้องสัมผัสงานหลากหลายที่ไม่คุ้นชิน แล้วเราที่เป็นครูออกแบบชั้นเรียนก็คอยสังเกตว่า กิจกรรมแบบนี้สำหรับคนนี้ ช่วยพัฒนาเขาด้านใด ร่างกาย ระบบคิด การทำงานร่วมกับคนอื่น สังคม อารมณ์ ได้หรือไหม

เรามั่นใจโครงสร้างหลักสูตรห้องเรียน จากที่เห็นคือเกิดการเรียนรู้ภายในของซีซ่าร์เยอะมากก็ตอบโจทย์เรื่องการให้ลูกมีเพื่อน ลูกได้เรียนรู้ปรับตัวการดูแลความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ ซึ่งเยาวชนทุกคนได้เรียนรู้ มีขัดใจ ผลัก ทะเลาะ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเติบโตที่เด็กพิเศษมักถูกปกป้องไม่ให้เผชิญความขัดแย้ง เรื่องเหล่านี้เยาวชนได้ฝึกที่จะอยู่กับโลกจริงๆ

ปีที่สองห้องเรียน ปีกกล้า ขาแข็ง เราทำต่อในเงื่อนไขที่ไม่ง่ายเลยสำหรับครอบครัว เราเพิ่มเวลาเป็น 24 ครั้ง ซึ่งต้องเพิ่มงบประมาณ ส่วนหนึ่งเราได้เงินสนับสนุนจากมาตรา 35 แต่ก็ไม่เพียงพอเราเริ่มทำผลิตภัณฑ์ที่ให้ครอบครัวและบุคคลพิเศษมีส่วนร่วม ปัจจุบันเรากำลังทำปีที่ 3 มี 12 ครอบครัว ซึ่งพอดีกับจำนวนครูที่มีอยู่

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขฯ

คุณวุธิกา อนันต์เจริญวัฒนา (แม่แตน)  

มาที่นี่ครั้งแรก ต่อ (คุณตนุภัทร อนันต์เจริญวัฒนา) อยู่ม.1 กำลังจะขึ้น ม.2 ทีแรกจบป.6 ก็ว่าจะให้หยุดเรียนทำโฮมสคูล แต่พ่อเขายังอยากให้เรียนต่อ ลูกมีความสามารถด้านดนตรีก็เข้าโรงเรียนผ่านความสามารถพิเศษได้  ใจเราถึงรู้ว่าต้องมีปัญหาแต่ก็ให้ลองเรียนดู ลูกมีความไวเสียงบวกกับพอเข้ามัธยมแล้วมีปัญหาพฤติกรรมเยอะขึ้น สภาพแวดล้อมของโรงเรียนเสียงดังมากเพราะใกล้ทางด่วน ห้องเป็นพัดลมมีเสียงรบกวนลูกก็ป่วนห้องเรียน ป่วนเพื่อนและครู จนเขาบอกให้เราสอนลูกที่บ้านไปรอไปสอบอย่างเดียว เราก็ย้ายมาอีกโรงเรียน พอลูกมีปัญหาชัดเจนเราก็เริ่มแสวงหาข้อมูลมาเจอเฟซบุ๊คของแม่ฟ้าก็ดูข้อมูลย้อนหลังไปว่าที่นี่ทำอะไรมาบ้าง พอเห็นเขาเปิดห้องเรียนปีกกล้าขาแข็งปีแรกตัดสินใจสมัครเลย ตอนนั้นต่ออยู่ในโรงเรียนที่ไม่เคร่งครัดมาก ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ไหนที่มีห้องเรียนที่นี่เราก็หยุดเรียนมาได้

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (10)

เราสังเกตเห็นว่าลูกมาที่นี่ได้มาปล่อยพลังงานกลับไปโรงเรียนพฤติกรรมก็ดี เขาต้องการพื้นที่และตัวเราเองก็ได้เรียนรู้หลายอย่าง เดิมเวลาลูกอารมณ์ขึ้น เราก็ขึ้นไปด้วย  แม่ฟ้าบอกว่าแม่ลูกอารมณ์สัมพันธ์กัน ถ้าลูกขึ้นแต่เราไม่ขึ้นไปด้วย เขาจะลงมาได้เองโดยไม่บาดเจ็บ ใช้เวลาเรียนรู้นานเราไม่เห็นตัวเอง ก่อนหน้านี้เรารู้สึกว่าต้องเป็นคนเข้าไปจัดการให้เขาลง ถ้าเราไม่เข้าไปจัดการเหมือนกับเราไม่ได้ดูแลลูก
เด็กไม่มีสติ เพราะแม่ไม่มีสติ เราพูดด้วยอารมณ์ หรือ พูดด้วยสติ ทุกวันนี้ก็ยังลองไปเรื่อยๆ ถ้าเราเห็นใจ เข้าใจลูกอยากให้ลูกมีสติ เราจะพูดอย่างไร ตัวเองมีปัญหาไม่เข้าใจอารมณ์ตัวเอง ไม่ได้แสดงออกทางอารมณ์มากนัก เดี๋ยวนี้เราเข้าใจอารมณ์เขามากขึ้น เพราะเราเข้าใจตัวเองแล้ว ทำงานกับลูกได้ดีขึ้น ไม่คาดหวังเยอะมาก

ปีแรก ที่ห้องเรียนปีกกล้าขาแข็งเป็นปีที่หนักหน่วงมาก เพราะเรามาด้วยความหนักปัญหาของเรา ทุกคนก็มีปัญหามา แต่ก็ชอบเพราะบู๊ล้างผลาญมาก ลูกปะทะกัน พ่อแม่ก็ปะทะกัน แต่มันทำให้เราเห็นตัวเองชัด และมีบางอย่างที่เราไม่เห็นตอนที่อยู่กันเอง เรามาเห็นตัวเองผ่านแม่คนอื่น เห็นลูกเราจากลูกคนอื่น มันมีความเข้าใจในความทุกข์ และเห็นว่าความสุขเป็นเรื่องง่ายๆ

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (105)

แปลกนะตอนนั้นลูกเราก็ยังเหมือนเดิม ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่ทำไมเรามีความสุขมากขึ้น ได้เจอคนหัวอกเดียวกันมาพูดคุยกัน นอนคุยกันเข้าใจและเติมพลังซึ่งกันและกัน เรามาคนเดียว ไม่รู้จักใครเลย ต้องตื่นระวังตัวเอง แต่บรรยากาศก็ดีมาก เราอยากให้แม่ๆ คนอื่นมามีประสบการณ์อย่างเราบ้าง แต่ก็มีหลายคนที่อยู่ไม่ได้อาจไม่ตรงกับสิ่งที่คาดหวังก็แล้วแต่ปัจจัยของแต่ละคน

เป็นคนที่เข้าร่วมทำกิจกรรมทุกอย่างเพราะคิดว่ามันต้องมีเป้าหมายที่เขาออกแบบมา อย่างเรื่องการแสดง จริงๆ ไม่เคยทำอะไรพวกนี้เลย แต่พอเราเปิดตัวเองและทำเต็มที่ มันก็ได้บางอย่างซึ่งพวกนี้แม่ฟ้าก็มาอธิบายทฤษฎีภายหลังและถอดบทเรียนออกมา การผ่านกระบวนการทำให้เราผ่อนคลายและเข้าใจอะไรมากขึ้น

ปีนี้ตัดสินใจวางแผนจะใช้ชีวิตที่นี่จริงจังมากขึ้น ต่อเขามีความฝันอยากปลูกบ้านก็ให้เขาค่อยๆ คิดเองว่าเขาอยากทำอะไร บ้านจะมีอะไรบ้าง ชอบตีกลอง เปียโน ขิ่ม ระนาด อยากได้ห้องดนตรีไหม ลูกก็ยังไม่รู้หรอก วาดภาพไว้ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ให้พ่อนั่งรถไฟมาที่นี่ พอวันจันทร์เรากลับไปกรุงเทพฯ ด้วยกัน ต่อยังต้องไปเรียนดนตรี ส่วนอยู่ที่นี่ก็มีงานมัดย้อม งานทอผ้า งานช่าง เขาชอบทำได้ทุกอย่าง ต่อเป็นคนที่เรียนรู้ผ่านการทำงาน แม้แต่เรื่องอารมณ์

คนมักพูดว่าเราดึงลูกมาจากสังคม แต่เรามองว่าสังคมของลูกคือเรา ยิ่งลูกเป็นเด็กพิเศษต้นแบบของลูกคือ พ่อแม่และผู้ใหญ่ที่อยู่รอบๆ เหมือนสังคมในชนบทที่เราโตมากับผู้ใหญ่ในชุมชน เราเห็นว่าเขามีความเก่ง ความชำนาญต่างกันไป เชื่อมาตั้งแต่ลูกยังเล็กกว่านี้ว่าเขาน่าจะเติบโตในสังคมเล็กๆ ไม่ใช่สังคมเมือง ถ้าให้เด็กเราเป็นส่วนหนึ่งของงานเขาทำได้แน่นอน ก็เคยหานะว่ามีอาชีพอะไรที่เราจะทำกับลูกได้บ้าง แต่แค่เราคนเดียวมันเกิดไม่ได้ สามีก็ต้องทำงาน เราไม่มีครอบครัวใหญ่ที่คอยสนับสนุน ลูกน่าจะอยู่ในชุมชนที่ให้โอกาส เข้าใจ และทำงานแบบมีส่วนร่วม ที่นี่ก็ตรงใจ ตัวเราเองก็อยู่ได้เรียกว่าจังหวะชีวิตเรามาเจอที่นี่พอเหมาะพอดี

คุณณัฐชา สุริเตอร์ (ย่าอิ๋ว)

มาอยู่ที่นี่ก็เห็นว่ามันใช่ที่ๆ เราอยากให้แตงโม (คุณชนาภัทร ไทยเจริญ) ได้ ทั้งร่างกาย อารมณ์ การแสดงออก พัฒนาการด้านร่างกายดีขึ้น เราเองก็ดีขึ้น ที่ผ่านมาเราเลี้ยงแตงโมเหมือนเลี้ยงลูกตัวเอง พอรู้ว่าเขาไม่ปกติก็พยายามทำให้เขาทุกอย่าง เรารอไม่เป็นเอาแต่ใจ พอไม่ได้ดั่งใจก็ตี ช่วงปีแรกที่มาอยู่นี่แตงโมจะไปไหน ย่าก็เรียกตลอด ไม่เปิดโอกาสให้เขาจัดการตัวเองเลย ก็ค่อยๆ เรียนรู้ทีละนิด การแชร์กันในครอบครัวต่างๆ ทำให้เราค่อยๆ ปรับอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง รอให้เป็น อันไหนเป็นความคับข้องใจเขาทำไม่ได้ก็ดูว่าทำไม่ได้เพราะอะไร และเราจะช่วยเขาทำได้อย่างไร เรานิ่มขึ้นไม่วีนมีความสุขมากขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือ เรายอมรับได้ว่าเขาแตกต่างไม่เหมือนคนอื่นและพยายามฝึกให้เขาเดินต่อไปได้

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (30)

สิ่งที่แตงโมเปลี่ยนแปลงไปมากคือเรื่องการใช้ร่างกาย จากที่เดินยกขาไม่ได้เวลาเดินลากขา แขนยกแล้วติดใช้สองมือร่วมกันไม่ได้ ตอนนี้ดีขึ้นเขาใช้สองมือช่วยกันได้ เดินขึ้นที่สูงลงบันไดได้ (แต่ยังสลับขาไม่ได้) การเดินมั่นคงมากขึ้น ตอนนี้ดูแลเรื่องน้ำหนักและการกิน เรื่องความคิดยังไม่ปรากฏมากนักแต่ก็ดีขึ้นอันไหนทำไม่ได้ก็มีการพลิกแพลงบ้าง แสดงออกความรู้สึกได้มากขึ้นมีอารมณ์เสียใจน้อยใจเป็น ส่วนการเข้าสังคมเขาชอบอยู่แล้วแต่เริ่มรู้จักกาลเทศะมากกว่าเดิมไม่มานั่งกลางวงเหมือนเคย เขาโตขึ้นมาก

การมาอยู่เป็นชุมชนก็คือการเตรียมลูกเพื่อให้อยู่ในสังคมได้นั่นแหละ เพียงแต่เราเอาเขามาเรียนรู้กับสภาวะที่ห่างจากความวุ่นวาย เด็กเราเจอสิ่งเร้าไม่ได้ หัวเราะไปแต่ไม่รู้เรื่อง อยู่ที่นี่เป็นพื้นที่เปิดใกล้ชิดธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมดี มีผู้คนที่เข้าใจ เราต่างมีความทุกข์เหมือนกัน เรารับรู้กันและกัน บางอย่างเรามองไม่เห็นเพื่อนก็มาช่วยมองให้ จัดการบางอย่างที่เราทำเองไม่ได้กับคนของเรา บางครั้งเราก็ช่วยดูแลลูกให้เพื่อน เรารับรู้ความรู้สึกของแต่ละคน เราไม่โกรธแต่กลับมาดูแลตัวเองเป็น การได้เรียนรู้ผ่านเวิร์คช้อปอะไรมากมายด้วยกัน ทุกคนที่เข้ามาอยู่ตรงนี้เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันลูกเขาก็เหมือนลูกเรา เข้ามาแล้วมันอุ่น

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (18)

เราได้เรียนรู้จากธรรมชาติของมนุษย์จริงๆ เด็กได้ความอ่อนโยนดูแลสัตว์ สิ่งแวดล้อม ได้สภาพร่างกายที่ดีขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ อย่างแตงโมนี่ฝึกดันหญ้าสองปีกว่าถึงจะทำได้ เราให้ทำเป็นประจำทุกๆ วันฝึกทีละเล็กละน้อย อยู่ในเมืองไปห้างก็มีบันไดเลื่อนได้เห็นของต่างๆ มันก็เท่านั้นไม่ได้อะไร ถ้าเราไม่เตรียมความพร้อมสภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ เขาจะอยู่ในสังคมก็ลำบาก ก่อนที่เขาจะไปเป็นผู้ใหญ่ในสังคมได้เราก็ต้องทำให้เขาเต็มศักยภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เขาจะเป็นได้

17814422_1614828955198434_7083291469085743433_o

ทุกอย่างที่เราทำจะออกแบบงานให้เยาวชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนตามศักยภาพของเขา สินค้าเราพูดได้ว่าเด็กมีส่วนร่วมทุกชิ้นงาน เมนูอาหารอย่างซุปไก่ใช้เวลาสองปีตอนนี้เยาวชนทุกคนทำเป็นตั้งแต่ไปตลาดเลือกซื้อของได้ เราใช้กระบวนการซ้ำๆ และจำเป็นต้องใช้เวลา ในสายตาของคนที่อยู่กับความสะดวกสบายมาตลอดอาจมองว่าจะเอาลูกมาลำบากทำไม แต่เข้ามาลองสัมผัสดูจะเห็นว่าเยาวชนเองไม่มีความอึดอัด คับข้องใจ เขาทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง เขาเปิดพื้นที่ในตัวเขาเองออกมาได้ แม่ๆ ที่นี่นิ่งมีความสุข เราไม่ต้องเครียดวิ่งตามลูก

ช่วงที่เข้ามาใหม่ๆ ไม่รู้จักแค้มป์ฮิลนะ แต่อยากได้ที่ที่หลานเราอยู่ได้ มีอาชีพ ตัวเขาอาจทำเองไม่ได้แต่อยู่ในชุมชนแล้วร่วมทำได้ เลี้ยงตัวเองได้ ย่าอยากไปให้ถึง ทุ่มเททั้งกำลังกายกำลังใจนี่ใหญ่มาก อะไรที่เราทำได้ก็อยากทำเพื่อเป็นรายได้เสริมให้ชุมชนเราโตขึ้น เราพึ่งแค่มาตรา35 ไม่ได้ชุมชนของเราต้องอยู่แบบช่วยตัวเองได้มีศักยภาพไม่ต้องรอราชการหรือเอกชนมาช่วยอย่างเดียว ซึ่งเราอยู่และภูมิใจในสิ่งที่เราทำได้

คุณอัครอนันต์ จันทรศิริภณ (ครูออด)

ที่นี่ใช้กสิกรรมบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญาทำงานกับเยาวชนพิเศษ งานเกษตร ฟาร์ม ครัว ปั้นดิน มีหลายๆ วิชาที่ให้เขาเรียนรู้ พัฒนาทักษะให้เยาวชนพิเศษเติบโตได้ตามความแตกต่าง ลำพังตัวเราเข้ามาเรียนรู้ก็ได้พัฒนาตัวเองอยู่แล้ว การที่ได้เห็นเยาวชนที่นี่ยิ่งทำให้เราอยากเข้ามาเรียนรู้แนวทางเพิ่มขึ้น การทำงานที่นี่มันมีเสน่ห์คือเราก็เติบโต เยาวชนเองก็เติบโต ข้างในผมมีความอ่อนโยนเข้าอกเข้าใจมากขึ้นทำอะไรช้าลง เยาวชนเหมือนครูของผมด้วย สิ่งที่เขาเป็นมาและเป็นอยู่แต่ละคนมีความแตกต่าง เราก็ต่างเรียนรู้และก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (204)

ผมเห็นซีซาร์มาตั้งแต่เด็กๆ ในวัยนี้เขาเติบโตมีความมั่นคงมีระบบคิดและความอดทนมาก เขาใช้ฐานกายได้ดีและแข็งแรง มีความใจเย็นนิ่ง ผมเห็นความเป็นผู้ใหญ่ในตัวเขา

เมื่อต้นปีผมมีโอกาสร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานแค้มป์ฮิลที่ประเทศเวียตนามเห็นเยาวชน ครู เจ้าหน้าที่ และวิถีของเขา สิ่งแรกที่นึกถึงคือทำอย่างไรให้ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขฯ เติบโตไปเป็นอย่างที่เวียตนามบ้าง

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (111)

สร้างวิชาชีพผู้ดูแล

ก้าวสู่แค้มป์ฮิลเมืองไทย

คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า) : ที่จริงชุมชนเราไม่ได้ตั้งใจขยายเพิ่มครอบครัวหรือบุคลากร แต่มีองค์กรเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่ชุมชนฯ เขาตั้งคำถามว่า ทำไมเราไม่ขยายเพราะเรื่องที่ทำนี้มันมีประโยชน์ ติดปัญหาอะไรเพราะเห็นอยู่ว่าที่ทางของเรามีเพียงพอ พอบอกว่าเราไม่มีคน เขาก็พูดว่าไม่มีคนก็ทำเรื่องคนซิ ถ้าเป็นธุรกิจสิ่งที่มีความต้องการแต่มีไม่เพียงพอเราก็ต้องสร้างเพิ่ม และประโยคสำคัญที่เราติดใจคือ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของครอบครัว แต่เป็นเรื่องของสังคม

มันก็เปิดประเด็นให้เรามาคิดต่อว่า เราควรทำไหม และสงสัยว่าถ้าเราไม่ทำแล้วจะมีใครทำไหม

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (233)

หลักสูตร Caretaker for Special Needs Person

การออกแบบหลักสูตรเราก็ลองทบทวนตัวเองว่าเรียนรู้อย่างไร เราสนใจแค้มป์ฮิล เราทำงานโดยใช้โครงสร้างศึกษาพิเศษของมนุษยปรัชญาในออสเตรเลีย ตอนจะทำชุมชนเราก็เรียนรู้เพิ่มเติมทั้งประเภทของภาวะต่างๆ ออทิซึ่ม ดาวน์ซินโดรม ฯลฯ เทียบโครงสร้างหลักสูตรหลายๆ ที่ ดูระยะเวลาซึ่งเราวางไว้สองปี ผู้ดูแลควรเรียนความรู้พื้นฐานก่อน จากนั้นเรียนลักษณะบุคคลพิเศษแต่ละประเภท การจัดการเรียนรู้ เข้าใจเรื่องความเจ็บป่วย และการให้คำปรึกษา เราเขียนเป็นโครงร่างขึ้นมาก่อน ต่อมามีโอกาสพบคุณครูเบ็คกี้ (Becky Rutherford; Camphill Academy) ซึ่งเป็นครูที่มีประสบการณ์ในแค้มป์ฮิลเดินทางเข้ามาทำเวิร์คช้อปการศึกษาเพื่อการเยียวยาในไทย เราก็ส่งตัวโครงสร้างหลักสูตรฯ ขอให้ช่วยดู ครูเบ็คดี้ก็ตอบรับเป็นที่ปรึกษาหลักสูตร จากนั้นก็มาดูเรื่องงบประมาณ และรายชื่อผู้เชี่ยวชาญที่จะมาสอนในแต่ละกลุ่มอาการ จึงเปิดรับสมัคร

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (45)เราเป็นคนใน รู้ว่าพ่อแม่ต้องการอะไร บุคคลพิเศษที่โตแล้วควรมีความรู้ชุดไหน แต่การมาทำหลักสูตรนี้เราต้องถอยออกมาจากความเป็นแม่จากความเป็นส่วนตัว ต้องมีความพร้อมที่จะเจอกับสถานการณ์ที่แตกต่างไป ในแง่งบประมาณเหมือนเคยเราก็บอกเพื่อนๆ ถึงความตั้งใจมีคนที่เห็นด้วยว่าเรื่องนี้มีประโยชน์เขาก็สนับสนุนกันมาเพียงพอที่เราจะให้ทุนเรียนเต็มจำนวน 4 คน ส่วนคนที่สมัครเรียนมาแบบชำระเต็มจำนวนก็ได้รับส่วนต่างทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงไปส่วนหนึ่ง

ในรุ่นแรกนี้คนที่เข้ามาเรียนก็มีกลุ่มผู้ที่รับทุนแน่นอนว่าเขาต้องการอยู่ในวงการนี้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและมีอาชีพ มีกลุ่มคนที่ทำงานอยู่แล้วและอยากได้ชุดความรู้ของมนุษยปรัชญาเพื่อเอาไปทำงานให้ดีขึ้น มีกลุ่มพ่อแม่ที่ต้องการเรียนรู้และหลายคนไม่รู้จักมนุษยปรัชญาเลย สำหรับคุณครูเบ็คกี้เอาจริงเอาจังกับหลักสูตรนี้มาก สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไปต่อ การเรียนที่นี่มีบุคคลพิเศษให้ทำงานด้วยจริง เมื่อเรียนจบแล้วเขาอาจอยากลงลึกไปเรียนต่อเฉพาะด้าน

ภาพอนาคตของชุมชนเราเริ่มชัดเจนจากที่เราไปเวียตนามดูแค้มป์ฮิลที่นั่น เขามีหลายปัจจัยที่เราต้องสร้าง หนึ่งต้องมีหลักสูตรครูเพื่อสร้างคนของตัวเอง เราก็ต้องทำเพื่อความยั่งยืนของชุมชน สองเขารอถึงสิบปีก่อนที่จะเป็นแค้มป์ฮิลเพราะต้องสร้างองค์ประกอบให้ครบ หลักการแค้มป์ฮิลทั่วโลกเป็นพื้นที่ที่คนจะเข้ามาแลกเปลี่ยนแนวคิดปรัชญาการใช้ชีวิตในแนวทางเดียวกัน แนวทางมนุษยปรัชญาครอบคลุมการศึกษาวอลดอร์ฟ การศึกษาบำบัด ปรัชญา เกษตร และการแพทย์ ซึ่งทั้งห้ากลุ่มนี้รวมอยู่ในแค้มป์ฮิล ถ้าไทยเราจะเคลื่อนเรื่องมนุษยปรัชญาเพราะเราคิดว่าหลักการนี้ช่วยสังคมได้ เราจำเป็นต้องมีแค้มป์ฮิล เมื่อเรามีงานครบทั้งห้ากลุ่ม ผู้คนในชุมชนก็จะเชื่อมโยงกันโดยที่ต่างฝ่ายต่างทำงานของตัวเองที่อยู่บนแก่นการมองมนุษย์ในแนวทางเดียวกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เช่นนั้น เมื่อเราเริ่มต้นมีโรงเรียนสอนผู้แลแล้ว อนาคตเราจึงจะมีรร.เด็กพิเศษในวัยที่เล็กลงไปได้ เป็นต้น


ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขฯ ทำมาเข้าปีที่สามนี้ เราค้นพบว่าเยาวชนพิเศษเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ทุกคน เขารู้ว่าเขาจะอยู่ด้วยกันอย่างไร ในแง่ศักยภาพเราใช้ศิลปาชีพเป็นเครื่องมือในการพัฒนาให้เขาค่อยๆ เติบโต ศิลปาชีพ หมายถึง นำสิ่งที่เขาชอบมาทำให้เป็นอาชีพ และการทำงานทำให้เขาค่อยๆ เติบโตขึ้น การจะไปถึงอาชีพของบุคคลพิเศษ เรามองในแง่ให้เขาเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของการทำอาชีพนั้น และเขาอยู่ร่วมกันได้เพราะมีความเป็นชุมชนนั่นแหละ

วันหนึ่งที่นี่อาจจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย เป็นศูนย์ฝึกผู้ดูแล เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่สามารถทั้งรับทุนสนับสนุนและสร้างรายได้ยั่งยืนด้วยตัวเอง ไม่ว่าเราจะเติบโตไปเป็นอะไร บุคคลพิเศษเขายังอยู่กับกลุ่มคนที่มีความเข้าอกเข้าใจและเขาคือส่วนหนึ่งของชุมชน

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (90)

ขอบพระคุณ : ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษและครอบครัว ภาพประกอบบางส่วนจาก fb: suwannee asava  VTR: ห้องเรียนปีกกล้าขาแข็ง ของ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

2 ความเห็นบน “Friends Community (1)”

ใส่ความเห็น