People+

Friends Community (2)

Friends Community (2)
ซันชิโร่ : พี่ชาย ครู ผู้แล

หากคุณซันชิโร่คือพี่ชายในฝันของครอบครัวที่ดูแลลูกที่มีความต้องการพิเศษ เพราะเขามองเห็นตัวตนของน้องชายและตระหนักดีถึงบทบาทการเป็นผู้ดูแลหลักของคุณซีซ่าร์ในอนาคต หากแต่วิธีคิด มุมมองของเขาไม่ได้เติบโตมาตามขนบความเชื่อที่หลายครอบครัวคิด วางแผน หรือกำลังพยายามทำอยู่ 

คุณซันซิโร (กรกฎ ธีรสวัสดิ์) วัย 25ปี เป็นพี่ชายของคุณซีซ่าร์ (ธนายุ ธีรสวัสดิ์) ใช้เวลาค้นหาตัวตนในมหาวิทยาลัยกว่า 7 ปี วันนี้เขาเลือกเป็นครูและผู้ดูแลเยาวชนในชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษ และมองเห็นความจำเป็นของการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้ผู้ใหญ่พิเศษทุกคนด้วยความเคารพและเท่าเทียม

1504411_763996000281738_953358154_o.jpg

ตอนเด็กๆ เคยรู้สึกว่า แม่ให้เวลาน้องมากกว่าไหม

ไม่รู้สึกเพราะไม่ได้รับรู้ว่าน้องต้องการดูแลเป็นพิเศษ ฉะนั้นเวลาที่แม่ดูแลน้องก็ไม่รู้สึกว่าเพราะน้องมีความต้องการพิเศษเราถึงต้องสละให้ ไม่เคยรู้สึกว่าไม่พอ ส่วนตัวซันเป็นคนชอบเล่นเงียบๆ คนเดียวอยู่แล้ว มีโลกส่วนตัวสูงก็รู้สึกว่ามันก็ปกติดีในช่วงเด็ก จนจบป.6 ถึงเริ่มรู้สึกเองว่าน้องมีความต่าง แต่ไม่รู้ว่าต่างยังไงก็ยังเล่นและพูดคุยกันปกติ

ช่วงเข้าวัยรุ่นเริ่มมีคำถาม ที่โรงเรียนเวลาเพื่อนเล่าเรื่องที่เขาเล่นกับน้องกัน เราก็เออ…ทำไมเราเล่นกับน้องแบบนั้นไม่ได้ ช่วงอายุซัก 15 นี่จะเห็นความแตกต่างมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกรำคาญกับสิ่งที่น้องเป็น เราต้องการเวลาส่วนตัวเริ่มมีอารมณ์ความรู้สึกเยอะๆ แบบวัยรุ่น มันมีบางเหตุการณ์ที่เราอยากเล่นแต่น้องตอบสนองไม่ได้ หรือน้องอยากเล่นแต่เราไม่ได้อยู่ในอารมณ์อยากเล่น แล้วเขาไม่เข้าใจอ่านสัญญาณไม่ได้ก็มีความขัดแย้งมากขึ้น แต่ก็ถือเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เชื่อว่าเป็นปกติของพี่น้องไม่ว่าพี่น้องพิเศษหรือพี่น้องปกติมีความขัดแย้งกันเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่พอเป็นพี่น้องที่เป็นเด็กพิเศษฝั่งหนึ่งเขาอธิบายไม่ได้กับอีกฝั่งหนึ่งรู้เรื่องปกติทุกอย่าง การไม่เข้าใจกันมันก็เป็นความอึดอัด

ตัวอย่างช่วงที่มีความขัดแย้งชัดๆ เช่น เรานั่งเล่นคอมพิวเตอร์ในห้อง ข้างหลังเป็นห้องใหญ่ๆ ที่แบ่งครึ่งแบบไม่มีกำแพงตรงกลางมีทีวี น้องนั่งดูทีวี เราเล่นคอมฯ น้องเปิดแผ่นดูการ์ตูนเขาเปิดเสียงไม่ดังนะ แต่เรารู้สึกว่าถูกรบกวนอยากเล่นอยากอยู่ในห้องคนเดียว แต่ในบ้านมีทีวีจุดเดียวที่ดูแผ่นได้ ตอนนั้นหงุดหงิดมากที่จำได้คือหันไปตวาดให้ลดเสียง เขาก็ลดแบบไม่มีอาการไม่พอใจอะไรเลย เรานั่งเล่นต่อได้อีกพักนึง แต่รู้สึกว่ามันยังรบกวนอยู่ก็หันกลับไปอีกรอบ เป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้ง เคยมีรุนแรงแบบซันเดินไปปิดทีวีเลยด้วยซ้ำแล้วก็บอกให้น้องไปเล่นข้างนอก เวลานั่งอ่านหนังสือการ์ตูนอยู่แล้วน้องเข้ามาอยากเล่นอยากอ่านด้วย ซันก็จะไล่ไปไกลๆ คือรู้สึกอยากอยู่คนเดียว ไม่อยากให้เด็กคนนี้เขามาในขอบเขตเราเพราะเราไม่อยากเล่นด้วย ณ ตอนนั้น

หลายครั้งที่เราหันไปใส่อารมณ์กับน้องแต่เขาไม่เคยโกรธหรือหงุดหงิดตอบกลับมา ไม่เคยเห็นความไม่พอใจเราตวาดเขาก็ไป ตอนนั้นเราไม่ได้สนใจ รู้แค่ว่าเขาออกไปเราก็สบาย คิดแค่นั้นเป็นอย่างนี้บ่อยๆ สัปดาห์ไม่ต่ำกว่าสามสี่ครั้ง จนไปเรียนมหาวิทยาลัยแล้วได้อยู่หอเรื่องแบบนี้ถึงจบ

แล้วครอบครัวดูแลอย่างไร

ก็คุยนะแต่จำไม่ได้ชัดๆ ว่าคุยยังไง รู้แค่ว่าไม่มีการบังคับว่าน้องเราเป็นบุคคลพิเศษนะเขาช่วยตัวเองได้ไม่มากโตไปเราต้องดูแลนะ ไม่เคยมีการพูดคุยทำนองที่ว่าน้องต้องมาเป็นภาระเรา เท่าที่จำได้คือเขาบอกว่าน้องแตกต่าง บางอย่างน้องมีขีดจำกัด แต่ไม่มีว่าเราต้องทำอย่างนั้น คนเป็นพี่ต้องแบบนี้

มันเป็นตัวที่ทำให้รู้สึกว่าน้องไม่ใช่ภาระ พอโตขึ้นมาเรารู้สึกเองคิดเองว่าเออเราอยากดูแล มันผ่านช่วงที่มีข้อขัดแย้งกันเยอะๆ ก็คิดได้เองว่ามันเป็นหน้าที่เรา วันหนึ่งพ่อกับแม่ก็จะต้องไม่อยู่ เขาไม่มีทางอยู่ดูได้ตลอดแล้วเราออกไปใช้ชีวิตของเรา ความจริงคือเราก็ไม่อาจตัดน้องทิ้งไปได้มันไม่เหมือนเพื่อน ความเป็นพี่น้องมันอยู่ตลอดไป เริ่มคิดว่าเราต้องเข้าไปมีบทบาทในชีวิตของน้องเพื่อว่าวันหนึ่งถ้าเราต้องดูแลเขา เราจะไม่ได้กลายเป็นคนแปลกหน้า

ช่วงที่ไหนที่มองเห็นน้อง

อายุ 20-21 เริ่มมีความคิดว่าเราต้องกลับไปดูน้อง เนี่ยน้องชายเรา ก่อนหน้านี้เหมือนรู้แค่ในความคิด ไม่ได้รู้สึกจริงๆ แต่พอ 21 เหมือนเราเชื่อทั้งตัวทั้งใจว่านี่น้องชายเรา มันคือความรู้สึกที่ว่าไม่ว่าเขาจะเป็นอะไร คือเป็นอะไรก็ได้ จะแย่แค่ไหน จะดีแค่ไหนก็ได้ แต่คนนี้คือน้องชาย

19467986_1714723778542284_373982090986660161_o

ประสบการณ์อะไรที่ทำให้คิดได้แบบนั้น

ช่วงเขามหา’ลัยก็ใช้ชีวิตเต็มที่ แม่ให้ไปอยู่หอเลย ตอนแรกไม่ได้คิดว่าต้องอยู่หอ คือเรียนม.เกษตรฯ ก็ใกล้บ้าน แต่แม่หรือพ่อไม่รู้ถามว่าไปอยู่หอไหม ซันก็ไม่รู้คิดไงก็ไป พอไปอยู่หอก็ได้อยู่คนเดียวทำกิจกรรมเยอะ ทดลองนู่นนี่ ไปเล่น ได้เข้าสังคม ทำอะไรหลายๆ อย่าง ก็เหมือนได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น พอหลุดจากสิ่งที่ต้องเจอที่บ้าน ได้ค้นหารู้จักตัวเองมากขึ้น มันก็ทำให้คิดได้ขึ้นมา

ตอนมหา’ลัยไม่เคยถูกห้ามว่าทำอะไรไม่ได้ นี่คือสิ่งหนึ่งที่ซันนึกออก อยากทำสโมฯ ทำ (สโมสรนักศึกษา) อยากไปเที่ยวไป ไปกินเหล้า สูบบุหรี่ ที่บ้านไม่ถึงกับอนุญาตแต่ไม่ได้ห้าม

ช่วงปีสี่เกิดความรู้สึกขัดแย้งภายในตัวเองอย่างรุนแรง คือรู้สึกว่า เราเรียนไปทำไม? สิ่งที่อยากทำมันไม่ต้องใช้ที่เรียนเลย มีความคิดไม่อยากเรียนต่อ อยากไปทำนู่นทำนี่ ช่วงนั้นยืมเงินแม่มาลงทุนขายของออนไลน์ขายได้ดีจนคืนทุนหมดและมีกำไรก้อนหนึ่งเป็นช่วงที่สนุกมากและลืมเรื่องเรียนไปเลย ไปเรียนเอาแค่มันผ่านๆ ไป และช่วงนี้แหละเริ่มมีคำถามว่า เออ เราจะเรียนไปทำไม เราทำนี่ก็สนุก ทำนั่นก็ชอบ และมันไม่ได้ใช้ที่เรียนเลย พอขายของเสร็จหมดปุ๊บจะกลับมาเรียนแบบจริงจัง แต่มันทำไม่ได้ มันเรียนไม่ได้ไม่ใช่เรื่องความสามารถว่าเรียนได้ไม่ได้ แต่มันเป็นเรื่องจิตใจ ทัศนคติ ไม่ได้มีเหตุผลหรูหราว่าเพราะอะไร มันแค่เอาตัวเข้าไปนั่งในห้องเรียนไม่ได้ (คุณซันชิโร่เรียน มนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ม.เกษตรศาสตร์) เป็นอย่างนั้นอยู่นานมาก

ซันเข้าเรียนบ้างไม่เข้าบ้างอยู่สองปี ใช้ชีวิตที่เรียกว่าถ้านับว่าเรามีหน้าที่หลักคือนักเรียนก็เละเทะเลย ไม่เข้าเรียน วิชาไหนอาจารย์ให้สอบก็ไปสอบ วิชาไหนไม่ได้ก็ดรอป (ถอนการลงทะเบียนวิชาเรียน) สิ่งที่ซันไม่ทำเลยคือการกดดันบังคับตัวเองเข้าไปเรียนเพื่อให้จบสี่ปี วันไหนเกิดความรู้สึกปั่นป่วนเยอะๆ ก็ไม่เข้าเรียน คือไปมหา’ลัยแหละไปอยู่กับเพื่อน แต่ไม่ขึ้นเรียนเป็นอย่างนี้อยู่เป็นเทอมเลย

563536_336266563144472_824748003_n

ภาวะอึดอัดพวกนี้เราเล่าได้กับเพื่อนกับแฟน แต่พอเล่าให้ครูฟังมักจะเจอความคิดที่ทำให้เรารู้สึกว่าเขาไม่เข้าใจเรา พอมาคุยกับแม่ก็บอกว่าให้เรียนให้จบแค่นั้น การได้รับปริญญามันไม่ได้สำคัญที่ว่าเราจะเอาไปทำอะไร มันเป็นตัวแสดงสถานะทางสังคมชนิดหนึ่งที่อนาคตเราอาจจะต้องใช้ ที่ซันเข้าใจตอนนั้นคือเรียนให้จบก็พอจะเรียนกี่ปีก็ตามแค่ได้รับปริญญา ซึ่งเป็นคำตอบที่เรารู้สึกว่ามันช่วยได้ในช่วงที่สับสนวุ่นวาย

ซันเป็นคนประเภทต้องคลี่คลายด้วยตัวเองใช้เวลากับตัวเองค่อนข้างเยอะ แต่พอมันคลี่คลายด้วยเองได้คือจบเลย ก่อนหน้านี้ไม่รู้ทิศทางยังไม่เจอตัวเอง แต่พอจบแล้วมันก็ไปของมันเอง มันคล้ายๆ ปิ๊งแว๊บนะ เป็นส่วนหนึ่งในตัวเราที่รู้สึกว่า เออพอแล้ว รู้สึกแบบนั้นพอแล้ว และเจอแล้วว่าอยากทำอะไร ตอนนี้กลับรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่เรียนจบช้า มันได้ผ่านความสับสนข้างในตัวเอง แต่ยังมีมหา’ลัยเป็นที่ยึดให้กลับมาได้ พอเราเห็นว่าทางนี้ใช่แล้วเราก็กลับไปเรียนต่อให้จบได้เลย

ได้คำตอบให้ตัวเองว่าจะทำอะไร

ช่วงปีสี่เทอมสองเริ่มไปๆ มาๆ ที่ฟาร์มฯ แต่ยังไม่ได้มาช่วยทำงาน แค่เริ่มเห็นและกลับมาเชื่อมกับชุมชนฯ ซึ่งก่อนนี้เคยไปร่วมประชุมสภาคนพิเศษหลายครั้งก็ไม่อินเท่าไหร่ จนกระทั่ง คุณโทมัส เคราซ์ ซึ่งเป็นคนริเริ่มการประชุมสภาคนพิเศษทั่วโลกมาเยี่ยมเราที่ฟาร์มฯ พอมีโอกาสได้คุยฟังประสบการณ์ความคิดเห็น อาจเรียกว่าได้รับแรงบันดาลใจเหมือนกับมันคลิ๊กอะไรบางอย่างในตัวเรา คือเป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่าเจอทางที่ใช่ว่าเส้นทางนี้แหละ…ความเป็นชุมชน วิถีชีวิตแบบนี้ …มันแจ่มชัดมาก แต่ก็ยังไม่รู้หรอกนะว่าเราจะกลายเป็นอะไร

ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยมีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับคนพิเศษมาหลายครั้ง แม่บอกให้ไปก็รู้ว่าเราต้องไปทำหน้าที่อะไรเท่านั้นไม่ได้สนใจลงลึก ไม่ได้เก็บรายละเอียดกลับมาคิดเยอะ พอเราเริ่มอยากเรียนรู้วิถีชีวิตแบบนี้ การมีประสบการณ์มาบ้างก็ทำให้รู้เรื่องแบบไม่ได้เริ่มต้นที่ศูนย์อาจจะเริ่มที่สิบห้าแล้วไปต่อ

มองเห็นตัวเองวันนี้เป็นอย่างไร

ประมาณสองปีนี้ที่ได้มาอยู่ที่ฟาร์มฯ เห็นภาพตัวเองและจุดยืนชัดขึ้นว่าเราจะมีบทบาทอะไรในชุมชน ตอนแรกเราแค่เห็นว่าตัวเองอยู่ที่นี่ มีวิถีชีวิตเป็นส่วนหนึ่ง จนมาถึงทุกวันนี้เรามีบทบาทเป็นครู เป็นผู้ดูแล และมีความสนใจส่วนตัวคืออยากเป็นเหมือนช่างสิบหมู่ คือเป็นคนที่ทำงานศิลปะ งานประดิษฐ์ออกมาได้ และยังเป็นช่างซ่อมแซมได้ด้วย เห็นความอยากของตัวเองว่าอยากเป็นคนนั้น นอกจากนี้ครอบครัวเราเป็นเจ้าของสถานที่ทั้งหมด เราเริ่มเห็นขอบเขตความรับผิดชอบซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เห็น ตอนนี้เห็นชัดขึ้นว่าต้องทำอะไรบ้างและจะเป็นอย่างนั้นต้องมีความรู้อะไรเพิ่มบ้าง และสิ่งที่ซันคิดว่าสำคัญคือ รู้สึกสนุกมากขึ้น ไม่ได้ทำเพราะเป็นงานเป็นหน้าที่ ทำเพราะเราอยากเล่น อยากสนุก มันท้าทาย มันมีคุณค่า

แล้วซีซ่าร์ล่ะ

สิ่งที่เห็นมาตลอดคือ เขาเป็นคนที่แทบไม่มีความคิดหรือความรู้สึกด้านลบที่แสดงออกมา ความรู้สึกหงุดหงิด ไม่ชอบ เบื่อ เขามีเหมือนเราแหละ แต่เขาไม่เอาความรู้สึกนี้ไปกระทบคนอื่น อาจพูดได้ว่าซีซ่าร์ ไม่ก้าวร้าว ไม่ฉุนเฉียว สิ่งที่เขาเป็นเทียบกับทั้งคนทั่วไปและคนพิเศษนะ ทุกคนมีอารมณ์แบบนี้และเราเคยถูกกระทบ แต่ส่วนตัวซันไม่เคยถูกกระทบจากซีซ่าร์ เขาเป็นคนอารมณ์ดี และเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจสูง ไม่ได้หมายถึงระยะสมาธิจดจ่อยาวๆ แต่ความมุ่งมั่นสูงหมายถึง เขาจะทำเรื่องนี้ อันหนึ่งเช่น ได้ยินเขามาตั้งแต่เด็กๆ เลยว่าเขาจะทำทาง ทำถนน ตั้งแต่เล็ก เขาขนทรายเข้าบ้าน เอาสีไปทาถนนในหมู่บ้าน คือ ทำทาง จนถึงทุกวันนี้เขาก็ยังทำอยู่ เป็นความมุ่งมั่นอันหนึ่งที่ซันเห็น และเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรงพูดได้เต็มปากว่าแข็งแรงกว่าซัน เขาแข็งแรงผิดหูผิดตาเทียบกับเมื่อก่อนที่อยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็กท่าเดินเขาป้อแป้ ไม่มั่นคง ล้มง่าย จนมาทุกวันนี้เขาไม่ใช่คนนั้นแล้ว เขากลายเป็นซีซ่าร์ที่ร่างกายแข็งแรง มั่นคง

การเติบโตของน้องส่งผลต่อการมองบุคคลพิเศษไหม

ประสบการณ์ตรงของเราที่เห็นซีซ่าร์เปลี่ยนแปลงมาเป็นวันนี้ได้ มันก็เป็นความเชื่อว่าทุกคนเติบโตได้จะมากจะน้อยจะช้าจะเร็วก็แล้วแต่บุคคลนั้น แต่ทุกคนพัฒนาได้ จากคนที่ไม่มีภาษาพูด เขาอาจจะพูดไม่ได้ แต่เขาจะเข้าใจได้ เขาจะสื่อความต้องการได้ คนที่ขาไม่แข็งแรง เขาจะแข็งแรงขึ้นได้ คือเข้าใจขีดจำกัดและศักยภาพของเขาว่าอยู่ตรงไหน เช่น พูดไม่ได้เพราะอวัยวะร่างกายบางอย่างไม่ทำงาน เขาอาจไม่มีวันพูดได้ แต่เขาจะไม่ใช่คนที่พูดไม่ได้ ที่ไม่รู้เรื่องไปตลอดชีวิต

เราเชื่อว่าทุกคนจะพัฒนาได้จากสิ่งที่ตัวเองเป็น ไปจนถึงเปลี่ยนแปลงเติบโตได้เต็มศักยภาพที่เขามี ขึ้นอยู่กับว่าระหว่างทางเราเป็นตัวช่วยได้แค่ไหน

บทบาทของซันตอนนี้ทำอะไรบ้าง

ในห้องเรียนปีกกล้าขาแข็งเป็นครูคนหนึ่งสอนวิชางานช่าง งานสวน งานฟาร์ม หลักๆ คือสังเกต ว่าเยาวชนเขาเป็นอย่างไร อยู่จุดไหน แล้วต้องทำยังไงต่อ ซันไม่มีความรู้มากพอที่จะลงมือทำเองได้ก็สังเกตแล้วเอามาพูดคุยกับแม่ฟ้าและแม่ๆ แลกเปลี่ยนกันว่าเราเห็นอันนี้นะ

ดูแล Extrability Club Thailand (ชมรมมิตรสหายผู้ใหญ่พิเศษ) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่พิเศษได้มีพื้นที่ของพวกเขาเองจริงๆ คือเรามีธีมว่าจะทำกิจกรรมอะไรแค่ไหน แต่สิ่งที่ทำจะมาจากผู้ใหญ่พิเศษว่าเขาอยากทำอะไรก็มาคุยกันระหว่างเราคนจัดและผู้ใหญ่พิเศษ เพื่อหาจุดที่เขาอยากได้ ไม่ใช่ทำที่เราอยากทำให้ บทบาทของเราคือทำในสิ่งที่เขาอยากได้ให้เกิดขึ้น

จากการมาพบปะกัน 3 ครั้งแล้ว เราเห็นว่าการมีสังคมของผู้ใหญ่พิเศษด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญเป็นสิ่งที่เขาสมควรได้รับโอกาส เรามีสังคมตอนไหนเมื่อไหร่ก็ได้ เราเดินเข้าไปคุย แลกเปลี่ยน เข้าชมรมที่เราต้องการได้แต่สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่พิเศษหลายๆ คนเขาไม่ได้มีศักยภาพขนาดนั้น การมีพื้นที่ให้เขาเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในฐานะคนคนหนึ่ง

สิ่งที่เห็นอีกอย่างคือ มันเป็นความประหลาดใจของซันเองได้ยิน ได้เห็น ในสิ่งที่คาดไม่ถึง คือเราได้ยินความคิดของเขา เห็นแววตาเวลาเขามองกันเอง เห็นพลังงานของกลุ่มเวลาเขาอยู่ด้วยกันว่าไม่ต่างจากเราเลย เขามีความสุขมีทั้งความคิดที่ดีและไม่ดี หมายถึง ความรู้สึกด้านลบ เช่นหดหู่ แล้วเขาก็เอามาคุยกันเหมือนเรา สิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดคือ ภาษาไม่ใช่ขีดจำกัดของการสื่อสาร ที่เห็นคือมีพี่คนหนึ่งที่พูดไม่ชัดเลยฟังยากมากกับอีกคนหนึ่งที่พูดไม่ชัดเหมือนกันเขาคุยกันได้เป็นเรื่องเป็นราวนานเลย แต่เราฟังไม่รู้เรื่อง

บทบาทการเป็นผู้ดูแลในสายตาของซัน

คือการพาไปในจุดที่ไกลขึ้น การเป็นผู้ดูแลไม่ใช่แค่ดูแลให้มีชีวิตอยู่ เรื่องการกินอยู่หลับนอนให้ได้แค่นั้นแล้วจบ การเป็นผู้ดูแลคือพาเขาไปในจุดที่เขาอยากไป คือเป็นคนที่เหมือนเพื่อน เหมือนครู เหมือนพยาบาลในเวลาเดียวกัน

การเป็นผู้ดูแลในคนหนึ่งคนเราต้องรู้ว่าเขาเป็นอย่างไรเราต้องทำอะไร และเราต้องรู้ว่าเขาควรจะเป็นอย่างไรต่อไป ศักยภาพเขาได้แค่ไหนเขาควรจะถึงจุดไหน มันจะทำให้เขาพัฒนาขึ้นได้จริงๆ ถ้าผู้ดูแลตระหนักได้ว่า เขาควรจะไปถึงไหนด้วยหลักการอะไรก็แล้วแต่ที่ผู้ดูแลคนนั้นถนัด ไม่จำเป็นต้องแบบนี้เท่านั้น เอา 3 – 4 หลักการมาผสมกัน ถ้ามันทำให้ผู้ดูแลสามารถพาเขาไปได้ ‘โดยที่บุคคลคนนั้นเป็นมนุษย์หนึ่งคน’ ไม่ใช่พาไปได้ดีมาก แต่คนคนนั้นกลายเป็นหุ่นยนต์ คิดเองไม่ได้ รู้สึกไม่ได้ มันก็ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ควรจะเป็นใช่ไหมครับ

อีกอันที่เป็นความรู้สึกข้างในว่าคือ ผู้ดูแลควรสัมพันธ์กับผู้ที่ถูกดูแลในระดับเดียวกัน ไม่สูงกว่าหรือต่ำกว่า คือระดับของความเป็นคนเท่ากัน และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ผู้ดูแลต้องมีความรู้และประสบการณ์มากพอที่จะเป็นผู้ดูแลได้อย่างดี เพราะงานของผู้ดูแลคือคนหนึ่งคน คือชีวิตอีกหนึ่งชีวิต คือความเป็นมนุษย์ที่มันเล่นๆ ไม่ได้

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (217)

สังคมคนพิเศษในประเทศไทยมีอะไรที่สะกิดใจ

อาจจะฟังดูแรงที่เคยเห็นหรือสัมผัสมันให้ความรู้สึกว่า สังคมทำเหมือนบุคคลพิเศษไม่ได้เป็นคนเท่าเรา และเป็นความสงสัยในตัวด้วยว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไรทัศนคติความคิดแบบนี้ และเราต้องทำอย่างไรมันจึงจะลดน้อยลง เราเป็นส่วนหนึ่งในวิธีแก้ได้ไหม หรือต้องบอกใคร ต้องสอนอะไรกับใคร เพื่อให้มุมมองต่อคนพิเศษกลายเป็นคนหนึ่งคนที่เท่ากับเรา

อีกคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ บุคคลพิเศษที่อายุ 30-40-50 หายไปไหนหมด เราอยู่ในแวดวง เรารู้ว่าจะไปเจอเขาได้ที่ไหน แต่คำถามคือเวลาที่เราไปเดินตามสถานที่ทั่วไปทำไมเราไม่เห็น อันนี้ซันคิดเองว่า คนพิเศษไม่ได้เพิ่งมี ต้องมีมาเป็นร้อยปีแล้ว เขาหายไปไหน

สิ่งที่เห็นแล้วชอบในสังคมไทยคือความเป็นครอบครัว การดูแลกันแบบเอาใจใส่ใกล้ชิดอบอุ่น ให้ความรู้สึกว่าเขาจะไม่ถูกทิ้งซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ก็เป็นเรื่องอันตรายในเวลาเดียวกัน ถ้ามันมากไปก็ไม่เปิดโอกาสให้คนพิเศษได้เป็นอย่างที่เขาเป็น อาจจะไม่ต่างกับคนทั่วไปที่โดนตามใจหรือถูกเลี้ยงเป็นไข่ในหิน

33764431_2099477520066906_7722275185876795392_o.jpg

แผนอนาคตของซัน

แผนระยะสั้นต้องหาความรู้เพิ่ม รู้ตัวว่าเราต้องมีความรู้เยอะกว่านี้ และการทำงานกับคนเราต้องเรียนรู้ไปตลอดมันไม่มีวันเรียนจบไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม เด็กพิเศษ จิตวิทยา วิถีชีวิต ความรู้เรื่องช่าง เกษตร บริหาร คิดว่าต้องเรียนเพิ่มแต่ยังไม่ได้เรียงลำดับว่าอะไรก่อนหลัง

ส่วนตัวมองว่าชุมชนฯ ของเราอีก 5 ปี ก็จะเปิดสู่สาธารณะได้เพราะบุคลากร (ผู้ดูแล) จะเพิ่มขึ้นใน 3ปีนี้ เรื่องการปรับพื้นที่ร้านค้าก็กำลังจะเสร็จ และมีหลายครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนจริงๆ เราจะเป็นสถานที่หนึ่งที่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้สำหรับหลายคนหลายแบบ

ส่วนของฟาร์มฯ หน้าที่หลักคือทำผลิตภัณฑ์ให้ชุมชน ส่วนจะเหลือไปขายจะบริหารอย่างไรคือทีหลัง ให้คนในชุมชนในกินของดี ได้สุขภาพ ทั้งฟาร์มและทุกส่วนจะเป็นห้องเรียนที่เป็นประโยชน์แก่สังคมได้ คิดว่าตัวเองอยากเป็นคนที่ทำงานเพื่อสร้างบุคลากรด้านนี้

อะไรที่ส่งผลให้ซัน เป็นซันในวันนี้

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ครอบครัวให้เราคือ เรามีอิสระที่จะเลือกชีวิตของเราเอง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมกรอบแต่ละช่วงวัยขยายใหญ่ขึ้น คือเรารู้ว่ามันมีกรอบนะแต่ในกรอบนี้เราจะเป็นอะไรก็ได้ พอเราโตขึ้นเข้าใจมากขึ้น ว่าเรามีอิสระ พอมันไม่มีข้อจำกัดมากว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ มันทำให้เรามีความสุขกับสิ่งที่เราเลือกมากกว่าที่จะอยู่กับสิ่งที่เราถูกเลือกมาให้ วันนี้เรามีความเต็มใจที่จะอยู่ตรงนี้

ขอบพระคุณ : ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษและครอบครัว ภาพประกอบบางส่วนจาก fb: suwannee asava และ  ศูนย์ข่าวชุมชน ม.เกษตรศาสตร์
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

2 ความเห็นบน “Friends Community (2)”

ใส่ความเห็น