Beaming Story

Friends Community (3)

Friends Community (3)
ขุดลึก ซีซ่าร์นักสร้างทาง

มีคนเคยกล่าวว่า “เลี้ยงเด็กคนหนึ่งอาศัยคนทั้งหมู่บ้าน”
วันนี้เราขอสร้างสำนวนใหม่

“เส้นทางเติบโตของเด็กพิเศษคนหนึ่งสร้างจิตวิญญาณใหม่ให้คนทั้งหมู่บ้าน (โลก)”

ถ้ามองเพียงชั้นเดียวแบบง่ายๆ จุดเริ่มต้นของชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษเกิดขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของคุณซีซ่าร์ (คุณธนายุ ธีรสวัสดิ์) แต่ถ้าเราขุดลึกลงไปหลายๆ ชั้นเพื่อพินิจพิเคราะห์เส้นทางการเติบโตของเขาซึ่งเป็น ‘ตัวแทนบุคคลพิเศษคนหนึ่ง’ เรากลับพบว่าเมื่อเด็กพิเศษคนหนึ่งกำเนิดขึ้นมา เขาคือผู้สร้างชุมทางส่งสัญญาณนำสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่

อยู่ที่คุณ เปิดรับสัญญาณนั้นหรือไม่…

ยี่สิบปีที่ผ่านมา…

ด.ช.ซีซ่าร์ เกิดขึ้นพร้อมกับความผิดปกติของพัฒนาการเนื่องจากภาวะโครโมโซม คุณสุวรรณี อัศวหฤทัย (แม่ฟ้า) ต้องผ่านความทุกข์ใจ แสวงหาแนวทางดูแลช่วยเหลือ บันทึกการเฝ้าติดตาม จนเกิดเป็นหนังสือ I am a Mom ซึ่งเป็นผลงานวิจัยกระบวนการดูแลสภาวะจิตใจ และกระบวนการฝึกพัฒนาการของบุคคลพิเศษ ผ่านกิจวัตรประจําวัน (ร่วมกับ ผศ.ดร.อรสา กงตาล)

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (95)

คุณสุวรรณีใช้ทักษะการโค้ชชิ่งและที่ปรึกษามืออาชีพผสมผสานกับความเป็นแม่ของลูกคนพิเศษที่ศึกษาและใช้แนวทางมนุษยปรัชญาออกแบบหลักสูตรต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการอบรมที่จำเป็นสำหรับครอบครัวและผู้ดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น “เยียวยาผู้ดูแล” (Healing the Caregiver)  “พลังแห่งรักสู่การพัฒนาศักยภาพลูกน้อย” “พัฒนาศักยภาพบุคคลพิเศษโดยใช้ธรรมชาติบําบัดตามแนวทางมนุษยปรัชญา” “Parent as a Coach” “การบริหารจัดการครอบครัวบุคคลพิเศษอย่างมีประสิทธิผล” “พัฒนาครูห้องเรียนเยาวชนพิเศษปีกกล้าขาแข็ง” และล่าสุด “Caretaker for Special Needs Person”

คุณสุพจน์ ธีรสวัสดิ์ (คุณพ่อ) เจ้าของพื้นที่หลายร้อยไร่ในอ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขฯ หันกลับมาศึกษาลงลึกการทำกสิกรรมแบบไบโอไดนามิค-เกษตรชีวพลวัต (Biodynamic Agriculture) สร้างผลผลิตที่ปลอดภัยดีต่อสุขภาพ เป็นพื้นที่เรียนรู้ให้เยาวชนและคนในชุมชนได้เห็นวัฏจักรที่งอกงามผ่านหลักการที่เคารพธรรมชาติ

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (214)

คุณกรกฎ ธีรสวัสดิ์ (พี่ชาย) ตัดสินใจเริ่มต้นอาชีพครูและผู้ดูแลในชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขฯ และริเริ่ม Extrability Club Thailand เพื่อเปิดพื้นที่ทางสังคมให้ผู้ใหญ่พิเศษได้พบปะกัน

คุณอาจคิดว่า เพราะเขาเหล่านี้คือคนในครอบครัวของคุณซีซ่าร์ พวกเขาจึงลงมือสร้างบางอย่าง…. นี่อาจเป็นชุมทางหลักชั้นแรกที่เราเห็นได้โดยง่าย ต่อจากนี้จะขอเปิดภาพที่ขุดลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง เล่าถึงเส้นทางที่แผ่ขยายออกไป…

เติบโตจากห้องเรียนร่วมฯ

วันหนึ่ง จู่ๆ คุณซีซ่าร์ก็พูดถึงคุณมายด์ เพื่อนจากห้องเรียนร่วมฯ ในโรงเรียนดาราทรซึ่งไม่เคยพบกันอีกเลยตั้งแต่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปกติคุณซีซ่าร์เป็นคนเงียบๆ ไม่สื่อสารมากนัก แต่เมื่อเริ่มพูดถึงคุณมายด์แล้วไม่มีทีท่าว่าจะหยุดนึกถึง เป็นครั้งแรกที่คุณซีซ่าร์พยายามขอความช่วยเหลือจากทุกคนรอบตัว (แม่ น้า อา จิตแพทย์ประจำตัว ครูปัจจุบัน ครูสมัยประถม) เพื่อหาช่องทางติดต่อเพื่อนคนนี้ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายนัก คุณซีซ่าร์ใช้เวลาสองปีในการร้องขอและติดตามโดยมีครอบครัวสนับสนุน ในที่สุดนักเรียนประถม 6 ที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ 5 คนได้กลับมาพบกัน  และนี่คือเรื่องราวที่ถ่ายทอดมุมมองของผู้ใหญ่ที่เติบโตผ่านการเรียนร่วมกับเพื่อนที่มีความต้องการพิเศษ มิใช่มุมมองจาก ครู ผู้บริหารโรงเรียน หรือ พ่อแม่ผู้ปกครอง

37684267_2183910561623601_2774388267208933376_n.jpg

ภาพห้องเรียนของเราสมัยนั้น

ห้องเรามีกัน 9 คน มีเพื่อนที่เป็นเด็กพิเศษเรียนร่วม 3 คน ครูให้เราเปลี่ยนที่นั่งจัดเก้าอี้ใหม่ทุกสัปดาห์โดยที่พี่ไนท์ พี่บิ๊ก และ ซีซ่าร์ นั่งติดกัน มีพวกเราสลับที่อยู่รอบๆ พี่บิ๊กวาดรูปแผนที่เก่งและเหมือนมากแค่บอกชื่อประเทศก็วาดได้เลย ตอนนั้นเราชอบไปรุมดูเวลาพี่เขาวาด พี่ไนท์กับซีซ่าร์เขาชอบอยู่ด้วยกัน พี่ไนท์ระบายสีสวย ซีซ่าร์เป็นคนเงียบๆ ชอบนั่งฟังถ้ามีเรื่องตลกก็หัวเราะตาม ยังจำได้ว่าซีซ่าร์ชอบเล่นดินน้ำมันและมีรถตักดิน

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (87)

เราแยกกันเรียนบางวิชา คุณครูประจำชั้นมีกิจกรรมให้ออมเงินกองกลางซึ่งทุกๆ วันพุธทุกคนจะมาตกลงว่าจะเอาเงินไปซื้อขนมอะไรมาทานด้วยกัน เวลาทำงานกลุ่ม 3คนนี้ก็จะแบ่งมาร่วมกลุ่มละคน เราก็แบ่งงานให้ทำ คุณครูพยายามให้เราอยู่ด้วยกันไม่ให้แบ่งแยกสอนให้เข้าใจเพื่อนช่วยเหลือเพื่อน ครูไม่ได้สั่งอะไรแค่บอกแล้วไปคิดเอาเอง เราก็ต้องคุยกันหาทางปรับตัวเข้าหาเพราะบางครั้งเขาปรับตัวหาเราลำบาก อย่างซีซ่าร์กับพี่ไนท์ไม่ค่อยคุยกับเพื่อน ครูก็จะบอกให้เราไปชวนคุยชวนเล่นหน่อย

มุมมองที่ต่างกัน

ผู้ใหญ่แถวบ้านหนูเขาไม่เข้าใจและไม่อยากให้ลูกมาเรียนกับเด็กพิเศษเพราะกลัวว่าจะแกล้งลูกเขา เขาสงสัยว่าจะเรียนด้วยกันได้ยังไง แต่หนูก็เรียนได้ปกติค่ะ นอกจากกลัวว่าลูกจะโดนแกล้งยังกลัวว่าลูกจะไปติดพฤติกรรมมาด้วยก็มีช่วงหนึ่งที่แม่คิดว่าหนูไปติดพฤติกรรมเด็กพิเศษมาคือหนูชอบกระพริบตาถี่ๆ แต่ที่จริงมันเป็นที่หนูเอง คนมักคิดแบบนี้ แต่พวกเขาไม่ได้เป็นโรคติดต่อ

ในมุมมองของเราตอนเด็กๆ ป.1 เราไม่เข้าใจว่าเด็กพิเศษคืออะไรภาพที่เราเห็นเขาก็ปกติเหมือนเรา มาถึง ป.6 เราก็เรียนได้มันไม่ได้แย่เลยโตมาเราก็ใช้ชีวิตปกติ เขาไม่ได้สร้างความเดือดร้อนอะไรให้เรา บางทีเขาช่วยเราด้วยซ้ำอย่างกิจกรรมต่างๆ เขาก็ช่วยล้างช่วยทำได้ เราไม่รู้สึกว่าเขาเป็นภาระ

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (3)

ของขวัญจากวัยเด็ก

มันได้ฝึกคิดแก้ปัญหาเคยต้องดูแลเพื่อนๆ เด็กพิเศษที่กลับรถโรงเรียนด้วยกันอยู่หลายปีก็ค่อนข้างชินหาวิธีจัดการหลายๆ แบบเพราะแต่ละคนพฤติกรรมของเขาไม่เหมือนกัน บางคนชอบเข้าหาชอบกัดเราต้องเอามือกันจับหัวไว้ บางทีก็หาเพลงมาเปิดให้ฟังในรถแล้วทุกคนจะสงบ ถ้าไม่มีเพลงก็อ่านหนังสือภาษาพาทีให้ฟัง

เรารู้ว่าถ้าทำแบบนี้คนนี้จะเป็นแบบนี้ เราก็ต้องไม่ทำอะไรให้เขาเป็นแบบนั้น ถ้าเขาจะกัดเราก็ต้องไม่ให้กัด และเรารู้ว่าบางคนที่จะกัดเพราะเขาอยากจะเล่นกับเราแต่ไม่รู้จะเข้าหาเราอย่างไร เรารู้วิธีสื่อสารให้เขาช่วยทำงานต้องใช้คำพูดดีๆ บอกให้เขาทำ ไม่ให้เขาเสียใจบางคนเวลาเครียดเขาจะอาละวาดร้องไห้ พวกเราก็จะระวังไม่พูดจาแบบที่จะทำให้เขาเครียด

โตขึ้นมาเราก็รู้ไปเองว่าเด็กพิเศษมีหลายประเภทไปห้างเราเจอก็ดูออกว่าแบบนี้มีลักษณะนิสัยแบบนี้ๆ ที่ผ่านมาเราก็พบเพื่อนที่เป็นเด็กพิเศษมาตลอดมัธยมก็เจอ อยู่มหาวิทยาลัยก็ยังเจอ ดูเหมือนเขาเก่งด้านใดด้านหนึ่ง เราอยู่ด้วยก็เข้าใจรู้ว่าจะรับมือหรือปรับตัวกับเขายังไง

การมีประสบการณ์เรียนร่วมกับเด็กพิเศษทำให้เราเข้าใจและเปิดรับ ทำงานกับผู้คนได้ง่าย เราจะไม่ไปว่าใครว่าทำไมเขาทำไม่ได้ เราอยู่ในสังคมที่ต้องเจอคนหลายประเภทและเรายอมรับว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่ง เจอบางเรื่องที่แก้ไขอะไรไม่ได้ก็เข้าใจและปล่อยไป

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (186)

วันนี้คุณซีซ่าร์อายุ 20ปี เป็นคนใจเย็น อารมณ์ดี ยังคงพูดเท่าที่จำเป็น ชอบทำงานท่ามกลางธรรมชาติ ร่างกายแข็งแรงกว่าชายหนุ่มทั่วไปในวัยนี้ แตกต่างจากด.ช.ซีซ่าร์คนเดิมอย่างมาก แต่เขายังคงชอบขุดดินมุ่งมั่นสร้างทางด้วยสองมือทุกวัน งานที่น่าอัศจรรย์คือเขาสื่อสารความคิดออกแบบบ้านและร้านค้าผ่านงานศิลปะตัดปะออกมาเป็นภาพแบบร่าง และเริ่มลงมือสร้างจริงตามแบบที่วางไว้

e0b88ae0b8b8e0b8a1e0b88ae0b899e0b980e0b89ee0b8b7e0b988e0b8ade0b899e0b89ee0b8b1e0b892e0b899e0b8b0e0b8aae0b8b8e0b882-57.jpgชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (35)

วันนี้ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขฯ กำลังจะมีทางน้ำที่เกิดจากการเริ่มขุดด้วยมือของเขา ไปพร้อมๆ กับงานสร้างผู้ดูแลเพื่อการเติบโตไปเป็นชุมชนที่เข้มแข็งหล่อเลี้ยงผู้คนจากครอบครัวบุคคลที่มีความต้องการพิเศษอีกหลายครอบครัว

ตั้งแต่เขากำเนิดลงมานั้นเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังดำเนินต่อไปเป็นสิ่งที่เราไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าที่สุดแล้ว มนุษย์คนหนึ่งเกิดมาเพื่อทำเรื่องยิ่งใหญ่เพียงใด พวกเขายังคงสร้างชุมทางส่งสัญญาณบางอย่าง…

อยู่ที่คุณ เปิดรับสัญญาณนั้นหรือยัง ?

ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุข (5)

ขอบพระคุณ : ชุมชนเพื่อนพัฒนะสุขเพื่อบุคคลพิเศษและครอบครัว ภาพประกอบบางส่วนจาก fb: suwannee asava
ถ่ายภาพโดย : ศุภจิต สิงหพงษ์


Beam Talks คือ ความตั้งใจสร้างพื้นที่ส่องแสงศักยภาพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แผนงาน สื่อศิลปวัฒนธรรม

1 ความเห็นบน “Friends Community (3)”

ใส่ความเห็น